ชุลมุนวุ่นวาย กับเหตุการณ์ "4 รุม 1..."


ผลสุดท้าย....คนที่โดนรุม "ได้ประโยชน์" เต็มๆค่ะ
คิดชื่อบันทึกได้เก๋ไก๋ (ดังใจตัวเอง) จนต้องหัวเราะออกมาดังๆเลยค่ะ.....
เหตุเกิดเมื่อวานนี้เองค่ะ  ตั้งแต่เช้าคุณ ตาค่ะ เดินเข้ามาบอกว่า อ.นุชรัตน์ (ที่ปรึกษาโครงการ Patho-otop2 ของทีมเก็บตกของคุณตาเขานั่นแหล่ะค่ะ) ถามว่า "สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลในขั้นตอนหนึ่งนั้น...แน่ใจหรือยังว่าใช้ถูกต้อง ทำไมไม่ใช้ ANOVA?"
จริงด้วย พี่เม่ยก็ไม่ได้ดูอย่างละเอียด จึงต้องเอามาดูซ้ำอีกครั้งหนึ่ง
ไอ้หยา! ข้อมูลแค่ 25 ราย แถมดูท่าทางจะไม่เป็น normal distribution เสียอีก แล้วตาเลือกใช้ paired-t test  ทดสอบทีละคู่ ได้ไงเนี่ย จึงเริ่มรุมตาเป็นคนแรกด้วยคำถามว่า...
"ทำไมตาเลือกใช้ paired-t test ล่ะ..."
"ก็...ตาใช้เป็นอยู่อย่างเดียว...อ่ะ..."
อ้อ...จริงสินะ ก็ข้อมูลก่อนๆที่ผ่านมันเหมาะสมกับการใช้ตัวนี้วิเคราะห์นี่นา พี่เม่ยก็สอนตาให้ใช้อยู่อย่างเดียว  แบบนี้เห็นทีต้องหาตัวอื่นที่เหมาะสมกว่ามาใช้เสียแล้ว
ข้อมูลมีสามกลุ่ม เป็นการนับค่าร้อยละของเซลล์เรติคูโลซัยท์ด้วยคน 3 คน  จากไสลด์ 25 ราย การกระจายของข้อมูลไม่น่าจะเป็นโค้งปกติ  สมมติฐานที่ตั้งไว้คือ ค่าเฉลี่ยที่ได้จากการนับโดยคนทั้งสามคนนั้น ไม่แตกต่างกัน เห็นทีจะต้องใช้การวิเคราะห์แบบ non-parametric ละมั้ง?
พอนึกถึง non-parametric ปุ๊บ...ปวดหัวตึ้บขึ้นมาเชียวค่ะ พี่เม่ยนึกออกแค่ใช้ตัวไหนน๊า... ที่มันคล้ายๆ ANOVA แต่ทำในข้อมูลที่เป็น nonparametric เนี่ย....เหลียวมองหาตัวช่วยก็นึกถึงท่านเอื้อผู้เชี่ยวชาญด้านสถิติขึ้นมาพอดี
ได้การล่ะ! จึงนำข้อมูลไปปรึกษา ท่านเอื้อเพื่อให้มาช่วยรุมเป็นคนที่สอง ท่านเอื้อก็แสนดีหยิบตำราเล่มสีเหลืองอ๋อยหนาสักสองนิ้วได้ มาเปิดๆพลิก แล้วแนะนำว่า ลองใช้ Man-Witney test หรือ Wilcoxon paired ดูสิ น่าจะได้ แต่ต้องทำทีละคู่นะ!
ในขณะเดียวกันนั้นเอง อ.นุชรัตน์ที่ปรึกษาที่แสนดีก็ไปค้นตำราสถิติอีกเล่มหนึ่ง ถือเดินมาช่วยรุมเป็นคนที่สาม  บอกตาว่า พี่ไปดูแล้ว น่าจะใช้ Friedman test นะ จะได้ทำพร้อมกันทีเดียวทั้งสามกลุ่มเลย
ตาหัวเราะแหะๆ บอกว่าเมื่อกี้นี้เพิ่งเดินไปปรึกษาคุณจรวยพร ที่หน่วยวิจัยมา(ให้มาช่วยรุมเป็นคนที่สี่) คุณจรวยพรแนะนำว่า ให้ใช้ t-test ก็ได้แล้ว เพราะลักษณะข้อมูลเป็นอิสระแก่กัน และอนุโลมให้เป็นโค้งปกติได้....
โธ่เอ๊ย แล้วทีนี้จะใช้อะไรดีหนอ  พี่เม่ยจึงบอกตาว่า ใจเย็นๆนะ เดี๋ยวพี่ไปอ่านตำราก่อน แล้วจะมาช่วยตัดสินใจให้ว่าใช้สถิติตัวไหนดี
แต่ไม่ต้องกังวลหรอก  ใช้ตัวไหนๆ ก็ยอมรับสมมติฐานได้ว่าข้อมูลทั้งสามกลุ่มไม่แตกต่างกันหรอก
น่าภูมิใจแทนคุณ ตาค่ะ อยู่ไม่น้อย ที่สามารถทำให้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสถิติ (ยกเว้นพี่เม่ยนะ) มาช่วยกันคลี่คลายปัญหาให้ ถึงขั้นที่เรียกว่า "4 รุม 1" เลยนะคะ
ส่วนพี่เม่ยก็ได้ประโยชน์เช่นกัน คือได้ทบทวนความรู้ทางด้านสถิติ ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับตัวเองเหลือเกินอีกครั้งหนึ่ง....
...พร้อมๆกับการคิดถึงคุณไมโต  ...นี่ถ้าไม่ไปญี่ปุ่นนะ... เหตุการณ์ครั้งนี้ก็อาจจะเป็น 5 รุม 1 แหงๆ  หรือถ้าคุณไมโตคิดว่าจะช่วยรุมผ่านทางบันทึกนี้ก็จะยินดีเป็นอย่างยิ่งค่ะ
หมายเลขบันทึก: 56819เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2006 20:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 07:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)
ผมขอทวนก่อนนะครับ
  • ข้อมูลตรวจ reticulocyte count  โดย 3 คน นับออกมาเป็นตัวเลข แล้วต้องการเปรียบเทียบว่าทั้งสามคนนับได้แตกต่างกันหรือไม่ โดยมี n = 25
ทีนี้มาดูทีละอย่างนะครับ
  • n = 25 ค่อนข้างก้ำกึ่งครับว่าจะคิดเป็น para หรือ non para ดี ทางทีดีควรวัดการกระจายตัวครับว่าเป็น normal distribution หรือไม่ (ใช้ Kolmogonov-Smirnov test) ถ้าเป็น normal distribution  ให้วิเคราะห์ด้วย ANOVA Test ครับ แล้วทำ post hoc ด้วย เพื่อดู multiple comparison โดยให้วัด variance ด้วยครับ (ใช้ Levene's test)  ถ้า variance ของแต่ละกลุ่มเท่ากัน  ให้compare โดยใช้ LSD แต่ถ้า variance ไม่เท่าให้ compare โดยใช้ Dunnette ครับ (ก็จะรู้ว่าใครอ่านผลแตกต่างจากใครครับ)
  • ถ้าข้อมูลไม่เป็น normal distribution ให้วิเคราะห์แบบ nonpara ครับ โดยใช้ Friedman test ตามที่พี่นุชแนะนำถูกต้องแล้วครับ
  • ส่วน t-test (แบบ para) กับ Man Whitney (แบบ non para) เป็นการเปรียบเทียบค่ากึ่งกลางใน สอง กลุ่มตัวอย่างครับ ในที่นี้มี สามกลุ่มตัวอย่าง
  • ผมยกมือสนับสนุนพี่นุชรัตน์ครับ
เพิ่มเติมอีกนิดครับ
  • post hoc จะทำเมื่อค่า ANOVA มีค่า p<0.05 นะครับ ซึ่งแสดงว่า ในจำนวน 3 คนที่อ่านผล มีอยู่อย่างน้อย 1 คนที่อ่านผลแตกต่างจากคนอื่น แล้วทำ post hoc เพื่อดูว่า เป็นใครบ้างที่อ่านผลแตกต่าง แต่ถ้า p >= 0.05 ไม่ต้องทำ post hoc ครับ เพราะสรุปผลว่า ทั้งสามคนอ่านผลได้ไม่แตกต่างกัน
กลับเข้ามาอีกครั้ง
หลังจากไปเปิดดู SPSS
  • ข้อมูลมี 3 กลุ่ม เป็นอิสระต่อกันให้ใช้ K-Wallis Test ครับ
  • ส่วน Friedman test ใช้กับ ข้อมูลที่ไม่เป็นอิสระต่อกันครับ
ถ้าอย่างนั้นผมแยกตัวออกมาเป็นอีกกลุ่มที่แตกต่างก็แล้วกันครับ งานนี้ถ้าเป็น normal dist ให้ใช้ ANOVA แต่ถ้าไม่เป็น normal dist ให้ใช้  K-Wallis ครับ
คุณไมโตคะ
  • ขอบคุณมากนะ  คุณตาค่ะ คงได้อ่านทั้งหมดในไม่ช้า
  • ที่แน่ๆ  ตัวเลขเพิ่มเป็น  "5 รุม 1" แล้วนะ
  • กำลังคิดจะตอบแทนคุณไมโต ด้วยการพาคุณสมจินของท่านไปหัดขับรถ แต่คุณเธอบอกว่า "ไม่....."  (ไม่เอา, ไม่กล้า, ไม่ปฏิเสธ, ไม่อยากขับ, ไม่รอช้า, หรือ.....ไม่น่ามาบอกตอนนี้เล้ย?)
พี่เม่ยครับ
  • ขอบคุณครับ คุณเธอคิด (แค่คิดนะครับ) ว่าจะหัดหลายครั้งแล้วครับ
  • สงสัยเป็นกุศโลบายของเธอครับ เวลาไปไหนจะได้มีผมอยู่ในสายตา ไม่ไปส่งก็ไม่ได้ ไม่ไปรับก็ไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องไปด้วยกัน....(ตรงนี้ผมก็แค่คิดครับ เพียงแต่คิดดังไปหน่อย)

ไม่ค่อยเก่งเรื่องสถิติค่ะ แต่ชอบอ่านชอบฟังเขาพูดคุยกัน จะได้เก็บตกนำไปใช้

ขอแจมด้วยอีกคน  ข้อมูลทั้ง 3 ชุดนี้ ไม่เป็นอิสระจากกันแน่นอน เพราะเป็น sample เดียวแล้วอ่านด้วย 3 คน 

และถ้าไม่เป็น normal distribution ก็น่าจะใช้ Friedman test

เรียนอาจารย์ปารมีครับ
     ผมขออนุญาตขยายความเพิ่มเติมครับ
  • ลักษณะข้อมูลเป็นกลุ่ม
พี่เม่ย ช่วยลบข้างบนด้วย
ตกลงครับ ผมยอมรับในความเห็นอาจารย์ปารมีครับ
ข้อมูลไม่เป็นอิสระต่อกัน ใช้ Friedman test ครับ
ขยายความเพิ่มเติม เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจครับ
  • ในกลุ่มตัวอย่างนี้ มีทั้งบางคนที่มีค่าสูง และบางคนที่มีค่าต่ำ
  • เพราะฉะนั้นการ compare mean ในที่นี้จึงไม่ใช่การหาค่าเฉลี่ยของทั้งกลุ่มมาเปรียบเทียบกัน (ถ้าเอาค่าเฉลี่ยของทั้งกลุ่มมาเทียบกันจะใช้ K-Wallis test)
  • แต่เป็นการเปรียบเทียบทีละราย เพื่อดูว่า ในรายที่ 1 คนที่หนึ่งอ่านผล กับคนที่สองและสามอ่านผล มีความแตกต่างกันหรือไม่ ในรายที่ 2 ให้คนที่ 1 อ่านผลเทียบกับคนอื่น มีความแตกต่างกันหรือไม่ ซึ่งตัวอย่างที่ 1 กับตัวอย่างที่สองมีค่าไม่เท่ากัน และอาจแตกต่างกันได้มาก การเปรียบเทียบลักษณะนี้เป็นการเปรียบเทียบค่า different ของการอ่าน ข้อมูลแบบนี้เรียกว่าเป็นข้อมูลที่ไม่เป็นอิสระต่อกัน ถ้ามีเพียงสองกลุ่มจะใช้ Wilcoxon แต่ในที่นี้มีข้อมูล สามกลุ่ม จึงต้องใช้ Friedman test
  • หมายเหตุ ค่าทางสถิติข้างต้น ทั้งหมด เป็นการวิเคราะห์แบบ non parametric ครับ
  • ขอบคุณท่านเอื้อ และคุณไมโต ที่เข้ามาช่วยตัดสินใจให้พี่เม่ยเรียบร้อยแล้ว  เดี๋ยวจะแวะไปช่วยทำแผลที่โดนรุมให้คุณ"ตาค่ะ"สักหน่อยค่ะ
  • ส่วนคุณศิริ ก็คงได้นำความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้มากนะคะ...
  • คุณไมโตคะ ตกลงว่าพี่เม่ยไม่ลบ คห. ข้างบนตามที่ท่านได้แจ้งให้ลบนะ  เหตุผลก็เพราะว่า ถ้าลบปุ๊บ! คห.ของ อ.ปารมีก็จะอยู่ข้างบน คห.ของคุณไมโตพอดี  ทีนี้พอกลับมาอ่านอีกครั้งนึง....ก็จะกลายเป็นว่า...อูย...ไม่กล้าคิดต่อแล้ว..... 
พี่เม่ย ครับ
ผมหมายถึงความเห็นของวันนี้ (2 พย) เวลา 19.27 น ยังเขียนไม่จบ แล้วมือกดพลาดเลยส่งไปก่อนครับ พร้อมความเห็นนี้ด้วยครับ
หูย...คุณไมโตเนี่ยะ...ไม่รับมุขพี่เม่ยเล้ย
  • พี่เม่ยเข้าใจตามที่คุณไมโตบอกค่ะ  ทีแรกก็จะกดลบให้แล้ว แต่บังเอิญลองคิดเล่นๆดูว่า....ถ้าลบออกไปปุ๊บ ความเห็นของคุณไมโตที่เวลา 19.53 ก็จะไปต่อท้ายของท่านเอื้อที่เวลา 19.11 ทันที
  • ทีนี้ถ้าอ่านใหม่...พออ่านของท่านเอื้อ(19.11)เสร็จปุ๊บ ก็อ่านของคุณไมโต(19.53)ต่อบรรทัดแรกว่า พี่เม่ยช่วยลบข้างบนด้วย....ก็เลยแซวว่า "อูย...ไม่กล้าคิดต่อเลย"
  • ไม่ใช่เข้าใจผิดอะไรหรอกค่ะ เพียงแต่เห็นว่าเป็นเรื่องบังเอิญที่น่ารักดี ก็เลยคงรักษาไว้...ขำ ขำ ค่ะ...
  • อิ อิ อย่างนี้แหละครับพี่เม่ย ผมน่ะอายุมากแล้ว ก็เลยรับมุขสาวรุ่นสคราญ อย่างพี่เม่ยไม่ได้ ไว้ไปหัดเล่นเบสบอลก่อน เวลาพี่เม่ยโยนมุขมาใหม่จะได้ไม่พลาดอีก
กำลังหาคำตอบเรื่องสถิติพอดี ขออนุญาตนำไปใช้นะคะ ขอบคุณค่ะ

กำลังหาคำตอบเรื่อง Friedman test เลยค่ะ ค่าสถิตินี่เป็นอะไรที่มึนมาก

ขออนุญาตนำไปใช้กับงานวิจัยนะคะ

ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท