ForensicStatistic15: โอกาสผิดพลาดเกิดขึ้นหนึ่งต่อสองแสนล้านล้านคน ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีโอกาสผิดพลาดเลย.....มันผิดพลาดตั้งแต่ต้นเลยล่ะ


ดังนั้น เรื่องนี้ จึงเป็นเรื่องที่ ผู้พิพากษา ควรทำความเข้าใจกับ คำศัพท์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้ถูกพาลงเหวครับ และควรเป็นเรื่องที่พยานผู้เชี่ยวชาญ ควรศึกษา เพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ผู้เกี่ยวข้องเช่นเดียวกัน แล้วท้ายที่สุด ควรเป็นเรื่องที่ เครือข่ายนิติพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทย ควรรับไว้ ในการพิจารณา บัญญัติศัพท์ทางเทคนิค ที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นคำที่สามารถสื่อความหมายให้ถูกต้องครับ เพื่อป้องกัน การใช้วาทะกรรม เจตนาสื่อความหมายของคำศัพท์เทคนิคในเรื่องนี้ ให้คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงครับ อันจะทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบหรือเสียเปรียบในกระบวนการยุติธรรมได้ครับ

     สองวันก่อนหน้านี้ อาจารย์สุวิทย์ เรืองกิตติสกุล  นำคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9  คดีหนึ่งมาให้ เป็นคดีที่พบป้ายเขียนหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แล้วเจ้าหน้าที่เก็บวัตถุพยาน หลายชิ้น ส่งตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ แล้วเก็บข้อมูลไว้ในฐานข้อมูล ต่อมาเกิดเหตุยิงทหาร เจ้าหน้าที่จับตัวผู้ต้องสงสัย 2 คน ส่งตรวจดีเอ็นเอ แล้วพบว่ารูปแบบดีเอ็นเอของผู้ต้องสงสัยคนหนึ่ง ตรงกับรูปแบบดีเอ็นเอที่ตรวจได้จากเชือกฟางในคดีหมิ่นฯ จึงส่งฟ้องศาล  จำเลยรับสารภาพ ศาลชั้นต้น พิพากษา จำคุก 7 ปี  แต่ในชั้นอุทธรณ์ ปรากฎว่า ศาลอุทธรณ์ พิพากษา ให้ยกฟ้อง แล้วในคำพิพากษา ที่ผมอ่านพบ เป็นอะไรที่ผมเคยกลัวมาก่อนว่า สักวันหนึ่ง อาจจะเกิดขึ้น แล้ววันนี้ ก็ได้มาเห็นจริงๆครับ

     การตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ จำนวน 15 ตำแหน่ง จากผู้ต้องสงสัย มีรูปแบบดีเอ็นเอตรงกับ รูปแบบดีเอ็นเอจากวัตถุพยานเชือกฟางจากที่เกิดเหตุ ทุกตำแหน่ง   แม้ว่าการตรวจดังกล่าว จะใช้วิธีที่เป็นสากล ใช้กันทั่วโลก มีโอกาสผิดพลาดเกิดขึ้นได้หนึ่งต่อสองแสนล้านล้านคน  ก็มิได้หมายความว่า จะไม่มีโอกาสผิดพลาดเลย

     ข้อความข้างบน นี่แหละ เป็นข้อความที่คลาดเคลื่อน แล้วเขียนไว้ในคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ซึ่งต่อไปอาจถูกนำไปใช้อ้างอิงในการพิจารณาคดีอื่นๆ ซึ่งอาจนำมาซึ่งความอยุติธรรม อันเนื่องจาก การไม่เข้าใจในศาสตร์ว่าด้วยเรื่องการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอทางนิติเวชศาสตร์

     ศาสตร์ว่าด้วยเรื่อง การตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอทางนิติเวชศาสตร์ ในประเทศไทย ถือเป็นเรื่องใหม่ ยังมีผู้รู้ ไม่มากนัก แล้วยังเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับการคำนวณทางสถิติ ซึ่งเป็นยาขม ของคนทั่วไป จึงไม่ค่อยมีใคร อยากรู้ หรืออยากเข้าไปเกี่ยวข้องมากนัก จึงทำให้การใช้เรื่องดีเอ็นเอในกระบวนการยุติธรรม ถูกเบี่ยงเบน จากวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นความรู้ที่ผู้พิพากษา ควรรู้ ควรทำความเข้าใจ เพื่อให้สามารถให้คำตัดสินที่เป็นธรรม มาเป็นการใช้วาทะกรรม ของทนายความ หรือคำให้การของพยานผู้เชียวชาญ เบี่ยงเบนไปให้เข้าใจผิด จากความเป็นจริง

     จากข้อความที่ผม highlight ไว้ เป็นข้อความที่คลาดเคลื่อนครับ

     การตรวจดังกล่าวเป็นวิธีสากลที่ใช้กันทั่วโลก   ยังเป็นข้อความที่ถูกต้อง ครับ

     โอกาสผิดพลาดเกิดขึ้น หนึ่งต่อสองแสนล้านล้านคน  ข้อความนี้คลาดเคลื่อนแล้วครับ

     จึงนำมาซึ่งข้อสรุปที่ผิดพลาด ว่า ก็มิได้หมายความว่า ไม่มีโอกาสผิดพลาดเลย

  ตัวเลข หนึ่งต่อสองแสนล้านล้านคน  เป็นตัวเลขที่มีที่มาจากบทความวิชาการที่ศึกษารูปแบบดีเอ็นเอจำนวน 15 ตำแหน่ง ในคนไทยจากทุกภูมิภาค รวมจำนวน 929 ราย ศึกษาโดยรองศาสตราจารย์ บุษบา  ฤกษ์อำนวยโชค มหาวิทยาลัยมหิดล ที่พบว่า PD มีค่าเท่ากับ 0.9999999999999999943  (คำนวณจาก supplement data ของคนไทยรวมทุกภูมิภาค)

     คำว่า PD หรือ power of discrimination หมายความว่า โอกาสที่คนสองคน ที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์เป็นญาติกันเลย จะมีรูปแบบดีเอ็นเอไม่เหมือนกัน มีค่าเท่ากับ ร้อยละ 99.99999999999999943

     ดังนั้นอีกความหมายหนึ่งของค่าข้างบน คือ โอกาสที่คนสองคน ที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์เป็นญาติกัน จะมีรูปแบบเหมือนกันโดยบังเอิญ ก็จะมีโอกาสเกิดขึ้น เท่ากับ 1-0.99999999999999943  หรือเท่ากับ 0.0000000000000000057 

     โอกาสที่คนสองคนจะมีรูปแบบดีเอ็นเอเหมือนกัน เท่ากับ 0.0000000000000000057 เทียบกับคนทั่วไป เท่ากับ 1 ดังนั้นถ้าปรับตัวเลขใหม่ โดยให้โอกาสที่คนสองคนจะมีรูปแบบดีเอ็นเอเหมือนกันโดยบังเอิญ เป็น 1 เทียบกับคนทั่วไป ต้องมีจำนวน เท่ากับ 1/0.0000000000000000057  จะได้เท่ากับ 1.78 แสนล้านล้านคน  

     หรืออาจกล่าวได้ว่า โอกาสที่คนสองคนที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์เป็นญาติกัน จะมีรูปแบบดีเอ็นเอเหมือนกันโดยบังเอิญ มีโอกาสเกิดขึ้น เท่ากับ 1 ใน ประมาณ สองแสนล้านล้านคน  ซึ่งคำนี้ เป็นนิยามของคำว่า match probability ในภาษาอังกฤษ ครับ

     ดังนั้น ตัวเลข หนึ่งใน สองแสนล้านล้านคน จึงไม่ใช่ตัวเลขของ โอกาสผิดพลาด

     คำว่า โอกาสผิดพลาด จะง่ายในการสื่อความให้เข้าใจว่า โอกาสที่เราจะทำแล็บผิดพลาด หรือมีผลการตรวจผิดพลาด หรือรูปแบบดีเอ็นเอของเขา ไม่ใช่แบบนี้ แต่เราดันตรวจออกมาให้เขาเป็นแบบนี้ แล้วดันไปตรงกับข้อมูลในฐานข้อมูล ทำให้เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นจำเลย 

     ซึ่ง ต้องบอกว่า ไม่ใช่เลย เราไม่ได้ทำแล็บผิด  ผลการตรวจของเขาก็ไม่ผิด จะให้ตรวจอีกกี่ครั้ง ก็ยังคงได้ผลการตรวจเหมือนเดิม ครับ ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องของโอกาสผิดพลาด

     คำว่าโอกาสผิดพลาด หากใช้ภาษาอังกฤษ น่าจะใช้คำว่า error rate หรืออัตราการตรวจพบข้อผิดพลาด  ซึ่งหากพูดเรื่องนี้ ก็ต้องไปดูเรื่องของ accurary (ความถูกต้อง) ของวิธี หรือค่า false positive (ผลบวกปลอม) หรือ false negative (ผลลบปลอม)  ซึ่งพบว่า โอกาสผิดพลาด เข้าใกล้ 0 (ศูนย์) หรือวิธีที่ใช้ มีความน่าเชื่อถือสูงมาก ครับ

     เรื่องนี้ จึงเป็น ความผิดพลาด จากการใช้ภาษาไทย ครับ ที่สื่อคำศัพท์ทางเทคนิค ผิดพลาด ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนไป

     ดังนั้น  เรื่องนี้ จึงเป็นเรื่องที่ ผู้พิพากษา ควรทำความเข้าใจกับ คำศัพท์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้ถูกพาลงเหวครับ  และควรเป็นเรื่องที่พยานผู้เชี่ยวชาญ ควรศึกษา เพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ผู้เกี่ยวข้องเช่นเดียวกัน  แล้วท้ายที่สุด ควรเป็นเรื่องที่ เครือข่ายนิติพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทย ควรรับไว้ ในการพิจารณา บัญญัติศัพท์ทางเทคนิค ที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นคำที่สามารถสื่อความหมายให้ถูกต้องครับ เพื่อป้องกัน การใช้วาทะกรรม เจตนาสื่อความหมายของคำศัพท์เทคนิคในเรื่องนี้ ให้คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงครับ อันจะทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบหรือเสียเปรียบในกระบวนการยุติธรรมได้ครับ

 

หมายเลขบันทึก: 568183เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2014 17:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2014 19:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณบันทึกนี้มากค่ะคุณไมโตฯ เรื่องนี้เป็นเรื่อง serious มาก

การแปลคำ ความ ศัพท์ ทั่วไปหรือโดยเฉพาะที่เป็นคำ ความ ศัพท์ทางเทคนิคจากภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทยนั้น ต้องเคร่งครัด ระมัดระวังยิ่ง

แต่คนจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้สึกว่า serious หรือไม่ระมัดระวังจึงใช้แบบ ตามใจฉัน

มาร่วมแสดงความคิดเห็นเพราะอยากให้มีการรณรงค์กันใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องค่ะ

ขอบคุณมากครับ อาจารย์ ภาสุภา

     ที่ค่อนข้าง serious คือเรื่องนี้ถูกบันทึกอยู่ในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ครับ ซึ่งอาจถูกนำไปใช้อ้างอิงได้  เรื่องนี้เป็นเรื่องที่นับวันจะมีการใช้ในศาลยุติธรรมมากขึ้น แต่บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ให้เข้าใจงานดีเอ็นเอมากนัก ที่ผ่านมาจึงเป็นเรื่องของการใช้วาทะกรรมของทนาย ในการบิดเบือนความเห็น เพื่อให้ฝ่ายตนได้ประโยชน์มากที่สุด

     คำศัพท์ ในเรื่องนี้ ยังไม่มีการแปลเป็นภาษาไทยอย่างเป็นทางการ ดังนั้น แต่ละสถาบันจึงบรรญัติศัพท์ขึ้นใช้เอง หรือใช้ตามคำที่ตนเองคิดว่าน่าจะใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด  หลายคำที่เป็นคำศัพท์ที่บรรญัติขึ้น เมื่อแปลกลับไปเป็นภาษาอังกฤษปรากฎว่า ความหมายเพี้ยนไปครับ  ซึ่งคำเหล่านี้ น่าจะกลายเป็นปัญหาต่อไปในอนาคตครับ  ยกตัวอย่างคำที่มีความเสี่ยงมากที่อาจจะเข้าใจผิดคือคำว่า

     The probability of paternity  มีหลายสถาบันใช้คำว่า โอกาสที่ นาย....จะเป็นพ่อของนาย..... มีค่าเท่ากับร้อยละ 99.99 ซึ่งจะเป็นช่องให้ทนายความอีกฝ่าย บอกว่า เมื่อมีโอกาสที่นาย....เป็นพ่อของนาย....แล้วมีค่าไม่ครบ ร้อยละ 100 นั่นหมายความว่า จะมีโอกาสที่นาย....ไม่ใช่พ่อของนาย....เช่นเดียวกัน แล้วจะมาสรุปว่า ลูกความของผม เป็นพ่อของเด็กคนนี้ได้อย่างไร

     เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานี้ ม.อ. จึงใช้ศัพท์ว่า ความเชื่อมั่น ที่นาย....จะเป็นพ่อของนาย....มีค่าเท่ากับร้อยละ 99.99 ซึ่งที่ผ่านมาก็ยังไม่เจอประเด็นการโต้แย้งด้วยเหตุผลข้างต้นอีก....แต่มีอาจารย์ทางคณิตศาสตร์่บางท่านโต้แย้งว่า คำว่า ความเชื่อมั่น ถ้าแปลเป็นภาษาอังกฤษจะตรงกับคำว่า confidence ซึ่งมีความหมายแตกต่างจากคำว่า probability เรื่องนี้ก็อาจจะเป็นประเด็นโต้แย้งได้อีกในอนาคตครับ

     จริงๆแล้ว เรื่องนี้ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ควรมีการบัญญัติศัพท์ ที่ถูกต้องไว้ เพื่อป้องกันประเด็น การเข้าใจผิด แล้วโต้แย้งในเชิงของวาทะกรรมครับ

     เพราะสิ่งหนึ่งที่ผมไม่อยากได้ยิน คือสักวันหนึ่งจะมีคำพิพากษา ออกมาว่า ยกฟ้อง คดีพ่อ-ลูก ที่มีค่า CPI มากกว่า 99% เพราะเหตุว่า โอกาสที่อีตานี้จะเป็นพ่อของเด็ก ไม่ครบ 100% จึงไม่เป็นเหตุให้ศาลเชื่อโดยสนิทใจว่า สองคนนี้เป็นพ่อ-ลูกกันจริง ซึ่งเป็นเรื่องของวาทะกรรมครับ ไม่ใช่วิทยาศาสตร์

อ่านเรื่องนี้แล้วออกจะกังวลแทนประชาชนที่ไม่มีความรู้ลึกซึ้งเรื่องนี้นะคะ... หากจังหวะชีวิตต้องเข้าไปสัมผัสโดยบังเอิญ และการตีความเพี้ยนไป... คงแย่แน่เลย

ขอบคุณนะคะ ที่ทำให้ประเด็นสำคัญเล็กๆ ที่แทรกอยู่ได้ถูกนำออกมาขยายความให้เข้าใจมากยิ่งขึ้นค่ะ  ^_^

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท