ครอบครัวข้ามชาติ


เบื้องต้นพิจารณาความหมายของคำว่า มนุษย์ที่ข้ามชาติ มนุษย์ที่ข้ามชาติ หมายถึงบุคคลที่มีการกระทำในลักษณะที่ข้ามชาติคือมีถิ่นที่อยู่หรือเคยอยู่อาศัยในประเทศประเทศหนึ่งอยู่แล้วแต่ได้มีการข้ามหรือเคลื่อนย้ายมายังอีกประเทศหนึ่งไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆก็ตามบุคคลเหล่านี้ได้แก่นักท่องเที่ยวแรงงานข้ามชาตินักลงทุนข้ามชาตินักศึกษาและผู้หนีภัยความตายเป็นต้น[1] และพิจารณาคำว่า ครอบครัวข้ามชาติ ซึ่งครอบครัวข้ามชาติก็คือเป็นคำเรียกครอบครัวที่มีความสัมพันธ์หรือมีความเกี่ยวเนื่องกับประเทศอื่นๆนอกเหนือจากประเทศที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยมีความหมายในหลายลักษณะด้วยกันไม่ว่าจะเป็นครอบครัวที่มีการสมรสระหว่างสามีและภรรยาต่างสัญชาติกันหรือครอบครัวที่อพยพจากถิ่นฐานเดิมเพื่อหลบหนีสถานการณ์อันตรายหรือเพื่อประกอบอาชีพ

กรณีศึกษาเรื่องครอบครัวข้ามชาติ ข้าพเจ้าจะยกตัวอย่างของครอบครัวเจดีย์ทอง ซึ่งมีข้อเท็จจริงดังนี้[2]นายอาทิตย์เจดีย์ทองเป็นคนสัญชาติไทยที่พบรักกับนางสาวแพทริเซียหญิงชาวมาเลเซียที่ทั้งสองเดินทางไปทำงานที่ไต้หวันต่อมาหลังจากที่นายอาทิตย์ได้กลับมาอยู่ที่ประเทศไทยที่จังหวัดตากต่อมานางสาวแพทริเซียได้เดินทางเข้ามาประเทศไทยเพื่ออยู่กินฉันสามีภรรยากับนายอาทิตย์โดยเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองบันทึกลงในหนังสือเดินทางของนางสาวแพทริเซียว่าเธอสามารถอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้จนถึงวันที่ 5 มิถุนายน 2556 ต่อมานางสาวแทริเซียและนายอาทิตย์ได้มีบุตรด้วยกัน 3 คนโดยเด็กทั้งสามคนได้รับการแจ้งเกิดและมีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยและได้รับการรับรองว่ามีสถานะสัญชาติไทยโดยไม่ได้รับการแจ้งเกิดในทะเบียนราษฎรของรัฐมาเลเซีย

ต่อมานางสาวแพทริเซียต้องการจะอยู่กับนายอาทิตย์และลูกๆตลอดไปจึงต้องการที่จะมีเอกสารของรัฐไทยในการที่จะอยู่ในรัฐไทยต่อไปนางสาวแพทริเซียจึงไปแสดงตนต่อรัฐไทยว่าตนเป็นคนไร้รัฐเพื่อที่จะได้รับการสำรวจในสถานะของ “บุคคลที่ไม่มีสถานะตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร” และต่อมาได้รับการบันทึกในทะเบียนประวัติประเภทท.ร.38 ก. (ทะเบียนราษฎรที่ใช้สำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนหรือคนไร้รัฐ) และได้รับการออกบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางการเมือง (บัตรเลข 0) และเมื่อไปขอสิทธิทำงานเธอจึงได้รับสถานะในการทำงานเป็น ‘คนไร้สัญชาติ’ เกิดเป็นปัญหาเรื่องสิทธิในสถานะบุคคลในลักษณะที่กลายเป็นคนไร้สัญชาติไร้รัฐทั้งๆที่ตามข้อเท็จจริงแล้วนางสาวแพทริเซียก็เป็นบุคคลที่มีสัญชาติมาเลเซียแต่พอมาขอรับการสำรวจสถานะในไทยจึงทำให้กลายเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติตามกฎหมายไทย

โดยหลักการได้มาซึ่งสัญชาติของบุคคลนั้นบุคคลนั้นจะต้องมีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐนั้นๆ ซึ่งไม่ว่าจะโดยการเกิด หรือหลักดินแดน ซึ่งกรณีของบุตรทั้ง 3 คน เป็นบุตรที่เกิดจากบิดา มารดาซึ่งไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันแต่เมื่อเด็กเกิดในประเทศไทยและได้ทำการแจ้งเกิดและมีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยจึงทำให้เด็กได้รับสัญชาติไทยตามหลักดินแดนและในขณะเดียวกันเด็กทั้งสามคนก็มีสิทธิได้รับสัญชาติมาเลเซียตามหลักสายโลหิตเนื่องจากมารดาเป็นคนสัญชาติมาเลเซียแต่การจะได้รับสัญชาติมาเลเซียอาจต้องดำเนินการตามกฎหมายสัญชาติของมาเลเซียก่อนและจากข้อเท็จจริงนางสาวแพทริเซียไม่ได้เดินทางกลับประเทศมาเลเซียอีกเลยอีกทั้งก็ไม่ได้ดำเนินการติดต่อกับสถานทูตมาเลเซียในไทยจึงทำให้ในปัจจุบันบุตรทั้ง3มีเพียงสัญชาติไทยเท่านั้นซึ่งแท้จริงแล้วเด็กมีสิทธิถือสัญชาติได้2สัญชาติอันจะนำมาซึ่งการคุ้มครองและรับรองสิทธิมนุษยชนจากทั้ง2ประเทศ ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์ต่อเด็กๆมากกว่า

ดังนั้นกรณีของครอบครัวเจดีย์ทองก็เป็นครอบครัวข้ามชาติที่มีจุดเกาะเกี่ยวในหลายประเทศ ซึ่งก็เป็นปัญหาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนซึ่งประเทศไทยก็ควรที่จะเข้ามาช่วยแก้ไข เยียวยา พัฒนาเรื่องนี้ต่อไป


[1] ภัทรธนาฒย์ศรีถาพร."เด็กข้ามชาติ"

มนุษย์ข้ามชาติที่มาจากหลากหลายสาเหตุเข้าถึงได้จาก , http://www.l3nr.org/posts/535656

[2] เอกสารประกอบการสอนวิชากฎหมายสิทธิมนุษยชน ,รองศาสตราจารย์ ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

หมายเลขบันทึก: 568068เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2014 20:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 22:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท