ปัญหาสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยที่เชื่อมต่อกับสังคมโลก


            ปัญหาสิทธิมนุษยชนของสังคมไทยประเทศไทยนั้นเป็นอีกหนึ่งในหลายๆประเทศที่เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่บ่อยครั้งซึ่งก็มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายกรณีที่เชื่อมโยงกับสังคมโลกโดยอาจจะหมายถึงปัญหาอันเกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นฝ่ายได้รับผลกระทบจากสังคมโลกหรือเป็นปัญหาที่ประเทศไทยไปสร้างให้เกิดผลกระทบต่อสังคมระหว่างประเทศก็ได้ โดยในหลายกรณีที่เกิดขึ้นนั้นย่อมเกี่ยวข้องกับสังคมโลก เพราะทุกสังคม ทุกประเทศย่อมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก เพียงแต่อยู่ที่ประเทศใดจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับสถานการณ์นั้นๆ ณ ที่นี้ข้าพเจ้าขอยกตัวอย่างสถานการณ์ดังกรณีที่ได้ศึกษา คือปัญหาการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮิงยา

           โรฮิงญาเป็นประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามในรัฐอาระกันซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในรัฐถูกเหยียดหยามและเลือกปฏิบัติโดยรัฐบาลทหารพม่าอย่างต่อเนื่องและถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมากโดยรัฐบาลทหารพม่าตั้งแต่การบังคับไม่ให้เคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ตามกฎหมายสัญชาติพม่าปี 1982 (Burma Citizenship Law) ต้องขออนุญาตจากรัฐบาลทหารถ้าจะออกจากพื้นที่และต้องจ่ายเงินถ้าจะออกจากพื้นที่ทำให้มีสถานภาพความเป็นอยู่ที่ต่ำมากเนื่องจากไม่สามารถหางานทำหรือค้าขายได้ซ้ำร้ายยังถูกละเมิดไม่ให้รับสิทธิที่จะได้รับสัญชาติห้ามแต่งงานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลทหารพม่า

           นับว่าเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีสถานการณ์ความเป็นอยู่ที่เลวร้ายที่สุดในพม่าด้วยเหตุนี้ทำให้ชาวโรฮิงญาต้องหนีภัยจากพม่าเป็นจำนวนมากหากพิจารณาเหตุปัจจัยเหล่านี้ชาวโรฮิงญาจึงน่าจะมีสถานะเป็นผู้ลี้ภัยซึ่งโดยหลักปฏิบัติของนานาชาติแล้วผู้ลี้ภัยหรือผู้หนีภัยความตายจะต้องไม่ถูกส่งกลับเพื่อไปเผชิญหน้ากับภาวะความเสี่ยงต่อชีวิตและจะต้องได้รับการช่วยเหลือคุ้มครองจากประเทศที่เข้าไปลี้ภัยด้วยหลักมนุษยธรรมในฐานะมนุษยชนคนหนึ่ง

             แต่เมื่อชาวโรฮิงญามีสถานะที่แตกต่างกับประชาชนในรัฐอาระกันหรือชนชาติยะไข่ทั้งเชื้อชาติภาษาวัฒนธรรมและภาษาพูดอีกทั้งรัฐบาลทหารพม่ามีทัศนคติว่าชาวโรฮิงญาเข้ามาอยู่ในพม่าไม่นานทำให้รัฐบาลทหารไม่ยอมรับความเป็นประชาชนของพม่าแม้ปัจจุบันในรัฐอาระกันมีประชาชนทั้งหมดกว่า 3 ล้านคนและประมาณ 1 ล้านกว่าเป็นชาวโรฮิงญาก็ตามเมื่อรัฐบาลทหารพม่ามีนโยบาย “สร้างชาติพม่า” เพื่อจะ “กำจัดชาวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศอย่างผิดกฎหมาย" ชาวโรฮิงญาจึงได้รับผลกระทบอย่างมาก[1]

             ชาวโรฮิงญาในพม่านั้นถือเป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐบาลพม่ามากที่สุดแม้ว่าชาวโรฮิงญาเหล่านี้จะเกิดบนผืนแผ่นดินพม่าแต่พวกเขากลับถูกรัฐบาลพม่าปฏิเสธที่จะให้สัญชาติพม่าและถูกปฏิบัติอย่างโหดร้ายจากเหล่าทหาร

การละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮิงญาโดยรัฐบาลเมียนมาร์เมื่อพิจารณาปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน[2]

ข้อ 13 (1) กล่าวคือ ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งการเคลื่อนย้ายและการอยู่อาศัยภายในพรมแดนของแต่ละรัฐ แต่จากข้อเท็จจริง พม่าไม่ให้ชาวโรฮิงญาออกจากพื้นที่ที่ตนกำหนดไว้ ถ้าจะออกต้องได้รับการอนุญาตและเสียค่าใช้จ่าย เช่นนี้ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการมีอิสรภาพในการเคลื่อนย้ายและมีที่อยู่อาศัยภายในพรมแดนของประเทศเมียนมาร์

ข้อ 15 (1) กล่าวคือ ทุกคนมีสิทธิในสัญชาติ แต่ตามข้อเท็จจริง พม่าปฏิเสธการให้สัญชาติกับชาวโรฮิงญา เช่นนี้ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ข้อ 16 (1) กล่าวคือ บรรดาชายและหญิงที่มีอายุครบ บริบูรณ์แล้ว มีสิทธิที่จะสมรสและก่อร่างสร้างครอบครัวโดยปราศจากการจำกัดใด อันเนื่องจากเชื้อชาติ สัญชาติ หรือศาสนา ต่างย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกันในการสมรส ระหว่างการสมรส และในการขาดจากการสมรส จากข้อเท็จจริงพม่าไม่ให้ชาวโรฮิงญาแต่งงานโดยปราศจากการของอนุญาตซึ่งพม่าได้สร้างข้อจำกัดขึ้นมาอันเนื่องจากเหตุทางเชื้อชาติที่เป็นชาวโรฮิงญา ประการดังกล่าวพม่าได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว

"โรฮิงยาส์ไม่มีประเทศไม่มีสัญชาติแล้วจะขอลี้ภัยจากที่ใดไปที่ใดได้นี่คือข้อกีดกันให้พวกเขาต้องเป็น "ผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฏหมาย" และต้องถูกผลักดันกลับไปแต่จะที่ไหนหละที่เป็นที่ของพวกเขาในเมื่อไม่มีที่ใดรับรองพวกเขาเป็นพลเมืองไม่ว่าไปอยู่ที่ใดพวกเขาเหล่านั้นล้วนแต่ถูกเอารัดเอาเปรียบกดขี่เพราะพวกเขาไม่ใช่เป็นเพียงแต่แรงงานต่างชาติแต่พวกเขาเป็นแรงงานไร้ชาติในขณะที่พวกเขามีอารยะธรรมในด้านภาษาเป็นของตนเองซึ่งประเทศอันมีอธิปไตยบางประเทศยังไม่สามารถที่จะมีได้"[3]

ซึ่งการที่ชาวโรฮิงยาถูกกดดันภายใต้สภาวะดังกล่าว พวกเขาก็ได้อพยพหนีความรุนแรง ซึ่งไม่ได้มีความแตกต่างไปจากการอพยพหนีความรุนแรงของชนกลุ่มน้อยอื่นๆในประเทศพม่าที่เข้าสู่ประเทศไทยและประเทศอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือไม่สามารถจำแนกได้อย่างชัดเจนว่าเป็นผู้อพยพหนีภัยความรุนแรงหรือเป็นผู้อพยพด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและเป็นการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายส่วนใหญ่บางส่วนก็ได้รับการผ่อนปรนและการเจรจาเพื่อหาทางออกระหว่างรัฐบาลประเทศต้นทางซึ่งก็คือพม่าและรัฐบาลประเทศปลายทางอย่างไทยแต่สำหรับชาวโรฮิงยาที่อพยพหนีความรุนแรงเข้ามาประเทศไทยในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาไม่ได้ถูกยอมรับว่าว่าเป็นพลเมืองของประเทศพม่านำไปสู่การเข้าสู่กระบวนการและพื้นที่นอกกฎหมายอย่างไม่มีทางเลือก

            ดังนั้นจะเห็นว่า ประเทศไทยก็มีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ดังกล่าวเพราะอยู่ในสังคมโลกเดียวกันและชาวโรฮิงยาบางส่วนก็อพยพมาในประเทศไทย สถานการณ์ดังกล่าวก็ขึ้นกับว่าไทยจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร แต่อย่างไรก็ตามชาวโรฮิงยาก็มีสิทธิในชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพ อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะละเมิดไม่ได้ ย่อมได้รับการคุ้มครอง ดังนั้นก็เป็นปัญหาหนึ่งที่ไทยจะต้องหาแนวทางที่เหมาะสมในการจัดการเพื่อให้การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮิงยาได้รับการแก้ไข


[1] สรุปประเด็นโรฮิงญา เข้าถึงได้จาก, http://www.oknation.net/blog/print.php?id=447005

[2] ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน,เข้าถึงได้จาก http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/bo...

[3] "โรฮิงยาส์" หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฏหมายหรือผู้ลี้ภัย ,เข้าถึงได้จาก http://www.oknation.net/blog/print.php?id=385150

หมายเลขบันทึก: 568032เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2014 15:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 22:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท