ปัญหาสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัย/คนหนีความตาย


หนึ่งในปัญหาทางด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญก็คือปัญหาของผู้ลี้ภัยหรือคนหนีความตายซึ่งส่วนใหญ่แล้วบุคคลดังกล่าวมักจะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ได้รับความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพซึ่งในที่นี้เราจะต้องมาพิจารณาคำว่าสิทธิมนุษยชนว่าหมายถึงอะไรสิทธิมนุษยชน” หมายถึงอำนาจหรือประโยชน์ที่คนๆหนึ่งควรที่จะรับโดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติสีผิวเพศอายุภาษาศาสนาฯลฯตลอดจนมีความเท่าเทียมกันทั้งเรื่องของศักดิ์ศรีและความเป็นมนุษย์มีอิสรภาพเสรีภาพโดยที่ไม่ได้ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น[1]

ต่อมาพิจารณา คำว่า ผู้ลี้ภัย ผู้ลี้ภัยหมายถึงบุคคลที่จำเป็นต้องทิ้งประเทศบ้านเกิดของตนเองเนื่องจากความหวาดกลัวการถูกประหัตประหารหรือได้รับการคุกคามต่อชีวิต

อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยพ.ศ. 2494 ให้คำนิยามและความหมายของสถานภาพผู้ลี้ภัยว่าผู้ลี้ภัยหมายถึงบุคคลที่จำเป็นต้องทิ้งประเทศบ้านเกิดของตนเองเนื่องจากความหวาดกลัวการถูกประหัตประหารหรือได้รับการคุกคามต่อชีวิตเนื่องจากสาเหตุข้อหนึ่งข้อใดเช่นเชื้อชาติศาสนาสัญชาติสมาชิกภาพในกลุ่มทางสังคมสมาชิกภาพในกลุ่มความคิดทางการเมือง[2]

ต่อมาพิจารณา คำว่า ผู้หนีภัยความตายซึ่งหมายถึงผู้หนีภัยที่เกิดกับชีวิตทั้งภัยโดยตรงและโดยอ้อมภัยโดยตรงเช่นภัยจากการสู้รบส่วนภัยความตายโดยอ้อมแบ่งออกเป็นสองประเภทคือภัยความตายทางกายภาพซึ่งเกิดจากการคาดการณ์ได้ว่าถ้าไม่หนีออกมาจากพื้นที่นั้นจะต้องตายเช่นเมื่อรู้ข่าวว่ามีกองทหารกำลังจะเข้ามาที่หมู่บ้านและมีข้อมูลว่าหากทหารเข้ามาในหมู่บ้านแล้วจะเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนจนถึงขั้นเสียชีวิตได้จึงหนีออกมาก่อนที่ทหารจะมาถึงหรือกรณีการหนีจากการบังคับเกณฑ์แรงงานซึ่งอันที่จริงการเกณฑ์แรงงานไม่ได้เป็นภัยความตายโดยตรงคือถ้าถูกยอมให้เกณฑ์แรงงานไปเรื่อยๆก็อาจจะไม่ถูกฆ่าตายแต่ถ้าหากปฏิเสธไม่ยอมทำงานก็มีความเสี่ยงที่จะตายได้หรือหากถูกบังคับให้ทำงานแล้วหลบหนีออกมาก็มีข้อมูลว่าคนเหล่านี้จะถูกฆ่าตายได้เช่นเดียวกับกรณีการถูกบังคับเก็บภาษีหรือการข่มขืนถ้าหากไม่ปฏิบัติตามก็มีความเสี่ยงที่จะตายได้นี่เป็นตัวอย่างของภัยความตายทางกายภาพที่เห็นได้ชัดภัยความตายอีกประเภทหนึ่งคือภัยความตายทางจิตใจเช่นการข่มขืนเป็นต้น[3]

ปัญหาสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัยหรือคนหนีภัยความตายที่เห็นได้อย่างเด่นชัดก็คือสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศซีเรีย (Syria)สงครามกลางเมืองซีเรียเป็นความขัดแย้งกันโดยใช้อาวุธในประเทศซีเรียระหว่างกำลังที่ภักดีต่อรัฐบาลพรรคบะอัษ (Ba'ath) ของซีเรียกับฝ่ายที่ต้องการโค่นรัฐบาล ซึ่งจากวิกฤตสงครามกลางเมืองทำให้มีผู้ลี้ภัยชาวซีเรียมากถึง 1.4 ล้านคนหลบหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพื่อหนีความรุนแรง ซึ่งผลจากภัยสงครามดังกล่าวก็นำมาซึ่งการถูกคุกคามต่อสิทธิในชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็นำมาสู้ผู้ลี้ภัยหรือคนหนีภัยความตาย

ส่วนประเทศซีเรียแล้ว ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัย มีดังนี้

ประการที่หนึ่ง หากพิจารณาถึงปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 25 (1)[4] กล่าวคือ ทุกคนมีสิทธิในมาตรฐานการครองชีพอันเพียงพอสำหรับสุขภาพและความอยู่ดีของตนและของครอบครัว รวมทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และการดูแลรักษาทางการแพทย์ และบริการสังคมที่จำเป็น และมีสิทธิในหลักประกันยามว่างงาน เจ็บป่วย พิการ หม้าย วัยชรา หรือปราศจากการดำรงชีพอื่นในสภาวะแวดล้อมนอกเหนือการควบคุมของตน ซึ่งผู้ลี้ภัยชาวซีเรียไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ต้องนอนกับพื้น ได้รับผลร้ายจากการไม่มีที่อยู่อาศัย เป็นการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน อีกประการที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนตาม 25(1)คือ สิทธิในการได้รับการดูแลรักษาทางการแพทย์ เนื่องจากสภาพของห้องพยาบาลเป็นเพียงแค่เต๊นท์และเตียงผ้าใบเท่านั้น ไม่มีระบบการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ ไม่มีระบบป้องกันความเสี่ยงของผู้ป่วย ทำให้ผู้ลี้ภัยไม่ได้รับการดูแลรักษาทางการแพทย์อย่างถูกวิธี ดังนั้น ผู้ลี้ภัยจึงถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในประการดังกล่าว

อีกประการหากพิจารณาถึงปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 26 (1) [5]กล่าวคือ ทุกคนมีสิทธิในการศึกษา การศึกษาจะต้องให้เปล่าอย่างน้อยในขั้นประถมศึกษาและขั้นพื้นฐาน การศึกษาระดับประถมจะต้องเป็นภาคบังคับ การศึกษาด้านวิชาการและวิชาชีพจะต้องเปิดเป็นการทั่วไป และการศึกษาระดับสูงขึ้นไป จะต้องเข้าถึงได้อย่างเสมอภาคสำหรับทุกคนบนพื้นฐานของคุณสมบัติความเหมาะสม แต่เด็กๆที่เป็นผู้ลี้ภัยจากซีเรียนั้น เมื่อเข้าไปอยู่ในประเทศผู้รับแล้ว ไม่ได้รับการศึกษาแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นแค่ขั้นประถมหรือขั้นพื้นฐาน ดังนั้น เด็กๆผู้ลี้ภัยจึงถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนตามข้อ 26(1)

สิทธิที่ตามมาจากผู้หนีภัยความตายตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแล้วตัวกฎหมายแม่บทคือตัวปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนตัวกฎหมายสิทธิมนุษยชนฉบับอื่นๆก็จะต้องใช้ฐานคิดคือความเท่าเทียมกันเมื่อผู้ลี้ภัยก็เป็นมนุษย์เช่นกันจึงไม่ได้มีความแตกต่างที่ผู้ลี้ภัยจะได้สิทธิต่างๆเช่นเดียวกับประชาชนในรัฐนั้นเช่นสิทธิการเดินทางโดยเสรีในประเทศและหากต้องการเดินทางไปต่างประเทศรัฐที่ดูแลผู้ลี้ภัยอยู่ก็ต้องออกเอกสารเดินทางให้รวมไปถึงสิทธิทางการศึกษาและสิทธิอื่นๆก็ต้องเท่าเทียมกัน

สิทธิหลักในการคุ้มครองผู้ลี้ภัยตามที่ระบุในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยค.ศ.1951 เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ดังปรากฏในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนค.ศ.1948 ได้แก่

สิทธิที่จะมีชีวิตเสรีภาพและความปลอดภัยสิทธิในการแสวงหาและพักพิงอิสรภาพจากการเป็นทาสได้รับการรับรองสถานภาพบุคคลตามกฎหมายอิสรภาพจากการถูกจับกุมและคุมขังโดยพลการ

สิทธิที่จะได้รับการศึกษาสิทธิที่จะเข้าร่วมในกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจของชุมชน

ในส่วนของประเทศไทยนั้น ประเทศไทยไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยพ.ศ.2494 ดังนั้นหากมีผู้อพยพมายังประเทศของเราผู้อพยพนั้นจะถูกเรียกว่าผู้หนีภัยความตายไม่ใช้ผู้ลี้ภัยแต่อย่างใด

จากที่ได้กล่าวมาถึงเมื่อพิจารณาถึงการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้กับผู้หนีภัยความตายหรือผู้ลี้ภัยของประเทศไทยนั้น อนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย เมื่อไทยไม่ได้เป็นภาคีของอนุสัญญาดังกล่าว ก็ต้องพิจารณาทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งข้อเสียก็คือ ถ้าไทยเป็นภาคีของอนุสัญญานี้ไทยก็จะต้องผูกมัดตนในการปฏิบัติตามอนุสัญญาดังกล่าว แต่ข้อดีคือ ไทยจะได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่มีสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานสากล ซึ่งก็ต้องชั่งน้ำหนักระหว่าง ผลดีและผลเสีย แต่อย่างไรก็ตามข้าพเจ้าคิดว่าเราก็ต้องให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมให้ที่พักพิงให้ปัจจัยสี่อย่างที่มนุษย์พอจะดำรงชีพอยู่ได้ไม่ผลักดันให้เขาเหล่านั้นกลับไปเผชิญอันตรายให้ที่พักพิงปัจจัยสี่เป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้รวมถึงสิทธิความเป็นมนุษย์ที่เราจะต้องคำนึงถึง


[1]สิทธิมนุษยชนคืออะไร ? , เข้าถึงได้จาก http://www.oknation.net/blog/print.php?id=752125

[2] ผู้ลี้ภัยคือใคร , เข้าถึงได้จาก https://www.unhcr.or.th/th/refugee/about_refugee

[3]บทสัมภาษณ์ : “สิทธิของผู้หนีภัยความตาย”จากมุมมองนักวิชาการด้านสิทธิ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://salweennews.org/home/?p=986.

[4] ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน , เข้าถึงได้จาก : http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/bo...

[5] ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน , เข้าถึงได้จาก : http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/bo...

หมายเลขบันทึก: 568030เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2014 14:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 22:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท