ยามา อุรเคนทรางกูร
นางสาว ยามา อุรเคนทรางกูร อุรเคนทรางกูร

HR-LLB-TU-2556-TPC-มนุษย์ที่ข้ามชาติ


                                        


                                                                                  มนุษย์ที่ข้ามชาติ 

                ปัญหาความไร้สัญชาติ (Nationalityless) ที่เกิดขึ้นแก่บุคคลธรรมดา ก็คือ สภาพที่บุคคลไม่มีสัญชาติของประเทศใดเลยในโลก กล่าวโดยหลักกฎหมายได้ว่า คนไร้สัญชาติมีสถานะเป็นคนต่างด้าวในทุกประเทศของลกและปัญหาไร้สัญชาติดังกล่าวจะรุนแรงมากขึ้นหากบุคคลไม่ได้รับการยอมรับให้ “สิทธิอาศัย” โดยรัฐใด โดยผลของกฎหมาย บุคคลในสถานการณ์นี้จึงตกเป็น“คนต่างด้าวผิดกฎหมาย” ในทุกประเภทของโลก บุคคลในลักษณะนี้จึงตกเป็น “คนไร้รัฐ” (Stateless)

               ปัญหาของมนุษย์ที่ข้ามชาติส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาคนไร้รัฐ คือไม่มีรัฐไหนให้การรับรอง ไม่มีเอกสารแสดงตนใดๆ และปัญหาของคนไร้สัญชาติ คือมีรัฐที่ออกเอกสารแสดงตนให้ แต่ไม่ได้รับรองสัญชาติให้แก่บุคคลนั้น โดยคนไร้รัฐไร้สัญชาติเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนได้สูงมาก เพราะการไร้สัญชาติอาจเกิดจากการที่รัฐไม่รับรองเป็นการไม่ยอมรับว่าเป็นบุคคลตามกฎหมายให้อันเป็นการขัดกับปฏิญญาสากลฯและละเมิดสิทธิมนุษยชน และส่วนมากบุคคลเหล่านั้นจะเป็นบุคคลที่ไม่รู้กฎหมายและเข้าไม่ถึงสิทธิบางประการแม้สิทธินั้นจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่คนทุกคนต้องได้รับเช่น สิทธิในการได้รับการศึกษา อีกทั้งสัญชาติยังมีความสำคัญในเรื่องสิทธิประโยชน์จากการที่มีสัญชาตินั้นๆและรัฐที่มีสัญชาติอยู่จะให้ความคุ้มครองทางการฑูตแก่บุคคลนั้นด้วย หากบุคคลหนึ่งเป็นคนไร้สัญชาติก็จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์และความคุ้มครองทางการฑูตดังกล่าวจากรัฐ

                ตัวอย่างของเด็กไร้สัญชาติที่สำคัญตัวอย่างหนึ่งคือน้องดนัย ยื่อบ๊อ น้องดนัยเกิดวันที่ 16 พฤษภาคม 2542 ที่โรงพยาบาลฝาง จังหวัดเชียงใหม่ มารดาชื่อนางหมี่ยื่ม ยื่อบ๊อ เป็นชาวอาข่าดั้งเดิม ได้รับสัญชาติไทยในวันที่ 13 พฤษภาคม 2552 มีบิดาชื่อนายอาบู เป็นชาวอาข่าที่อพยพมาจากประเทศเมียนมาร์ เป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย เนื่องจากไม่มีหนังสือเดินทาง ไม่มีการตรวจลงตราแต่อย่างใด

การได้มาซึ่งสัญชาติ บุคคลนั้นจะต้องมีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐนั้นอย่างใกล้ชิด เช่นได้ตามหลักการสืบสายโลหิต คือได้มาจากบิดามารดา หรือได้ตามหลักดินแดน คือเกิดในรัฐใดรัฐหนึ่ง ซึ่งในกรณีนี้ น้องดนัยเกิดในประเทศไทย จึงน่าจะได้สัญชาติไทยตามหลักดินแดน แต่สูติบัตรของน้องดนัยระบุว่าไม่ได้สัญชาติไทย เนื่องจากถูกพระราชบัญญัติสัญชาติดักเอาไว้ กล่าวคือ พระราชบัญญัติสัญชาติ ม.7 ทวิ วางหลักว่า "ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย ถ้าในขณะที่เกิดบิดาตามกฎหมายหรือบิดาซึ่งมิได้มีการสมรสกับมารดาหรือมารดาของผู้นั้นเป็น

(๑) ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย

(๒) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว หรือ

(๓) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

ในกรณีที่เห็นสมควร รัฐมนตรีจะพิจารณาและสั่งเฉพาะรายหรือเป็นการทั่วไปให้บุคคลตามวรรคหนึ่งได้สัญชาติไทยก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทยตามวรรคหนึ่งจะอยู่ในราชอาณาจักรไทยในฐานะใด ภายใต้เงื่อนไขใด ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรและสิทธิมนุษยชนประกอบกัน ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎกระทรวงดังกล่าว ให้ถือว่าผู้นั้นเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง"

ซึ่งตัวน้องดนัยเอง บิดามารดาของน้องดนัยไม่ได้รับสัญชาติไทยขณะที่น้องดนัยเกิด คือเป็นคนต่างด้าว และบิดามารดาของน้องดนัยเข้าเมืองชั่วคราว ดังนั้น น้องดนัยจึงถูกสันนิษฐานว่าเป็นเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองหรือเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายนั่นเอง

แม้ว่าน้องดนัยจะเกิดในประเทศไทย แต่น้องดนัยไม่ได้สัญชาติไทย และไม่มีสัญชาติอื่น ดังนั้นน้องดนัยจึงถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในเรื่องสัญชาติ น้องดนัยเสียสิทธิหลายอย่าง เพราะสิทธิบางอย่างจะได้รับก็ต่อเมื่อมีสัญชาตินั้นๆ ยิ่งไร้สัญชาติโดยการเกิดยิ่งเสียสิทธิมากยิ่งขึ้น เช่น ประเทศไทยไม่ได้ให้ความคุ้มครองทางการทูตกับคนที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย

แต่ในปัจุบันได้มีความคืบหน้าในเรื่องการได้สัญชาติของน้องดนัยแล้ว คือ ในที่สุด ทางราชการได้ยอมเพิ่มชื่อของน้องดนัยลงในทะเบียนแล้ว และจะพาไปทำบัตรประชาชนในอนาคต

                          

หมายเลขบันทึก: 568031เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2014 15:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2014 10:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท