ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย : กรณีศึกษา เด็กชายนิวัฒน์ จันทร์คำ


        บุคคลย่อมมีสิทธิในการเดินทาง ตามที่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนคุ้มครองและรับรองไว้ใน ข้อ 13 (1) [1]ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งการ เคลื่อนย้ายและการอยู่อาศัยภายในพรมแดนของแต่ละรัฐ เมื่อสิทธิในการเดินทางเป็นสิทธิมนุษยชนแล้ว ทุกคนที่เป็นมนุษย์จึงสามารถเป็นผู้ทรงสิทธิดังกล่าวได้ รวมถึงคนไร้สัญชาติ คนไร้รัฐ หรือต่างด้าว

แต่เมื่อพิจารณาตามกฎหมายภายในแล้ว ใน พระราชบัญญัติ คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522[2] ก็ได้มีการกำหนดเงื่อนไขการใช้สิทธิในการเดินทางเข้ารัฐไทยไว้แก่บุคคลที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทยไว้ คือ บุคคลต่างด้าว (มาตรา4ในพระราชบัญญัตินี้ คนต่างด้าว หมายความว่า บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย)

  • มาตรา11 “บุคคลซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรจะต้องเดินทางเข้ามาหรือออกไปตามช่องทาง ด่านตรวจคนเข้าเมือง เขตท่าสถานี หรือท้องที่และตามกำหนดเวลา ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีจะได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา”
  • มาตรา12“ห้ามมิให้คนต่างด้าวซึ่งมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้เข้ามาในราชอาณาจักร (1)ไม่มีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางอันถูกต้องและยังสมบูรณ์อยู่ หรือมีแต่ไม่ได้รับการตรวจลงตราในหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางเช่นว่านั้นจากสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยในต่างประเทศหรือจากกระทรวงการต่างประเทศ เว้นแต่กรณีที่ไม่ต้องมีการตรวจลงตราสำหรับคนต่างด้าวบางประเภทเป็นกรณีพิเศษ”

ซึ่งจะเห็นได้ว่าหากคนต่างด้าวมิได้ดำเนินการตามเงื่อนไขดัง พระราชบัญญัติ คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 คนต่างด้าวก็จะกลายเป็นคนต่างต้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายในรัฐไทย แต่แม้จะมีสถานะดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้คนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ไร้ซึ่งสิทธิพื้นฐานที่มาจากความเป็นมนุษย์คือสิทธิมนุษยชนได้

         จากกรณีศึกษา เด็กชายนิวัฒน์ จันทร์คำ น้องนิก เกิดที่ประเทศเมียนมาร์ ปัจจุบันอายุ 19 ปี ไม่มีหนังสือรับรองการเกิด และไม่ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย จึงไม่มีแม้แต่ทะเบียนบ้านหรือทะเบียนประวัติ ตกเป็นคนไร้รัฐและไร้สัญชาติ

น้องนิคเกิดจากพ่อแม่ชาวไทยลื้อ ไม่มีเอกสารแสดงตน พ่อแม่พาน้องนิคอายุ 3-4 ปีที่ไม่มีเอกสารแสดงตนเข้าประเทศไทยมาฝากป้าจันทร์ และในขณะนั้นก็ไม่ได้มีการดำเนินการใดๆเพื่อรับการสำรวจและมีบัตรประจำตัว น้องนิคจึงตกเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติ คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 เพราะมิได้เข้าเมืองไทยตามด่านตรวจคคนเข้าเมือง ตามมาตรา 11 และไม่มีเอกสารแสดงตน ตามมาตรา 12 แต่อย่างไรก็ดีขณะนั้นน้องนิคยังเป็นเด็กอายุ 3 ขวบ จึงยังไม่สามารถกำหนดเจตนได้ คือไม่มีเจตนา จึงไม่สามารถดำเนินคดีในความผิดฐานเข้าเมืองผิดกฎหมาย

ในปี 2552-2555 น้องนิคศึกษาที่โรงเรียนสิเกาประชาผดุงวิทย์ ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่จังหวัดตรัง และได้กรอกแบบสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีทะเบียน (แบบ 89) นโยบายยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ตามมติคณะรัฐมนตรี ปี 2548 ประกอบ มาตรา 38 พระราชบัญญัติ การทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔

มาตรา 38 “ ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนบ้านสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และบุตรของบุคคลดังกล่าวที่เกิดในราชอาณาจักร ในกรณีผู้มีรายการในทะเบียนบ้านพ้นจากการได้รับอนุญาตหรือผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักร ให้นายทะเบียนจำหน่ายรายการทะเบียนของผู้นั้นโดยเร็ว

ให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางจัดให้มีทะเบียนประวัติสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ตามวรรคหนึ่งตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด”

แต่อำเภอสิเกาปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่า อำเภอสิเกาไม่มีชนกลุ่มน้อย น้องนิคจึงยังเป็นคนไร้รัฐ คือไม่มีรัฐใดในโลกบันทึกน้องนิคในทะเบียนราษฎร

ต่อมาน้องนิคศึกษาต่อในโรงเรียนสายประสิทธิ์ศาสตร์ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยอาศัยกับป้าเอื้อยคำ และได้ติดต่อครูเรื่องการสำรวจและบันทึกชื่อในทะเบียนราษฎร พร้อมทำบัตรประจำตัว เพื่อจะแก้ปัญหาไร้รัฐ แต่ครูปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่าต้องทำเป็นช่วงเวลาเท่านั้น

         ดังนั้นการกระทำของอำเภอสิเกาและ โรงเรียนสายประสิทธิ์ศาสตร์ จึงได้ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานในการมีสถานะตามกฎหมาย ของน้องนิค ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 6 ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับทุกแห่งหนว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง [3] ข้อ ๑๖ บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับว่า เป็นบุคคลตามกฎหมายในทุกแห่งหน เพราะน้องนิคเป็นผู้ทรงสิทธิมนุษยชนแม้เป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายในประเทศไทย แต่ก็มีสถานะบุคคลตามกฎหมายเอกชน คือเป็นมนุษย์

         และแม้น้องนิคตกเป็นคนไร้รัฐนั้น และ เข้าเมืองผิดกฎหมายนั้น ก็ไม่ทำให้น้องนิคสิ้นสิทธิในการศึกษาในรัฐไทยเพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ที่ถูกรับรองใน ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 26(1) ทุกคนมีสิทธิในการศึกษา และยังมีกฎหมายภายในรับรอง ตามพระราชบัญญัติการศึกษา 2542[4] มาตรา ๑๐ การจัดการศึกษา ต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และ มาตรา 49รัฐธรรมนูญไทยปี 2550 “บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย”

เมื่อตีความคำว่าบุคคลแล้วจึงหมายถึงบุคคลทุกคนไม่จำกัดเฉพาะบุคคลสัญชาติไทย น้องนิคคนเข้าเมืองผิดกฎหมายจึงเป็นผู้ทรงสิทธิในการศึกษา และจากข้อเท็จจริงน้องนิคสามารถใช้สิทธิในการศึกษาได้ รัฐไทยจึงมิได้ทำการละเมิดสิทธิของน้องนิค

         พิจารณาต่อมาในการร่วมกิจกรรมในโรงเรียน น้องนิคได้รับคัดเลือกเป็นประธานนักเรียน ซึ่งสิทธิดังกล่าวนั้นเป็นสิทธิในการมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้ถูกรับรองใน ข้อ 27 (1) ทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าร่วมโดยอิสระ ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 52 “เด็กและเยาวชน มีสิทธิในการอยู่รอดและได้รับการพัฒนาด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา ตามศักยภาพในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ”

น้องนิคสามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้โดยไม่ถูกละเมิดโดยอ้างความไร้รัฐ โรงเรียนจึงไม่กระทำละเมิดสิทธิในการมีส่วนร่วมของน้องนิค

         ต่อมาหากน้องนิคโตขึ้นก็มีสิทธิในการประกอบอาชีพดังที่ รับรองไว้ ตาม ข้อ 23 ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และมีสิทธิการเลือกงานโดยอิสระ และรัฐธรรมนูญไทยปี 2550 รับรองใน มาตรา 43 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพ แต่การที่น้องนิคเป็นคนต่างด้าวที่ไม่มีสัญชาติไทยในประเทศไทยจึงถูกจำกัดมิให้ประกอบอาชีพบางประเภท ตาม ม.43 วรรค “การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ” โดยระบุอาชีพไว้ในบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกา กำหนดในอาชีพและวีชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ. 2522 [5]

แม้บทบัญญัติดังกล่าวละเมิดสิทธิมนุษยชนของน้องนิคคนต่างด้าว แต่เนื่องด้วยไม่มีสัญชาติไทย รัฐไทยจึงต้องมีเงื่อนไขในการใช้สิทธิบางประการภายในประเทศ เพื่อความมั่นคงแห่งรัฐ และศีลธรรมอันดี และจำเป็นต้องสงวนให้คนสัญชาติไทยเท่านั้น

         ต่อมาจากข้อเท็จจริงพบว่า น้องนิคได้พบแม่ที่ ในปัจจุบันได้ผ่านการพิสูจน์สัญชาติและได้รับรองสัญชาติเมียนมาร์แล้ว ทางที่ดืคือ น้องนิคควรจะพิสูจน์สัญชาติพม่าเนื่องจากมีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศเมียนมาร์ตามหลักสืบสายโลหิตจากมารดา และหลักดินแดนคือเกิดที่เมียนมาร์ เพื่อไม่ตกเป็นคนไร้สัญชาติ และจะไม่ตกเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายดังที่ประสบปัญหาอยู่

เขียน: 14 พ.ค. 2014 


[1] ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน. (ออนไลน์). แหล่งที่มา :http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/book.pdf. 12 พฤษภาคม 2557

[2] พระราชบัญญัติ คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.immigration.go.th/nov2004/doc/act_imm_2... 12 พฤษภาคม 2557

[3] กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง. (ออนไลน์). แหล่งที่มา :(International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/ic... 12 พฤษภาคม 2557

[4] พระราชบัญญัติ การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒. (ออนไลน์). แหล่งที่มา :http://www.wbtvonline.com/pdf/9-04-201409-25-55.pd... 12 พฤษภาคม 2557

[5] อาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ. (ออนไลน์). แหล่งที่มา :http://www.mol.go.th/employee/occupation%20_prohib... 12 พฤษภาคม 2557

หมายเลขบันทึก: 567961เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2014 19:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2014 20:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท