คนต่างด้าวในประเทศไทย


         คนต่างด้าว มีความหมายตามความในมาตรา4 [1] พระราชบัญญัติการเนรเทศ พ.ศ. ๒๔๙๙ “คนต่างด้าว หมายความว่า ผู้ที่มิได้มีสัญชาติไทย “ ดังนั้นคนต่างด้าวจึงอาจเป็นได้ทั้งผู้มีสัญชาติอื่นที่มิใช่สัญชาติไทย หรือไร้สัญชาติ คือไม่มีรัฐใดรับรองสัญชาติให้ ซึ่งการไร้สัญชาติไทยนั้น อาจส่งผลให้คนต่างด้าวถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งที่สิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิที่บุคคลทุกคนได้รับ และรับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน[2] ข้อ 2 ทุกคนมีสิทธิและอิสรภาพทั้งปวงตามที่กําหนดไว้ในปฏิญญานี้โดยปราศจากการแบ่งแยกไม่ว่าชนิดใด อาทิเชื้อชาติ ซึ่งไทยได้ภาคยานุวัตรในปฏิญญาดังกล่าวจึงควรพิจารณาว่าการจำกัดสิทธิในการประกอบอาชีพของรัฐไทยต่อชาวต่างด้าวเป็นการละเมิดปฏิญญาสากลหรือไม่

         กรณีศึกษาครอบครัวหม่องภา ครอบครัวข้ามชาติที่อพยพจากเมียนมาร์เข้าประเทศไทย ที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.2543 ด้วยเหตุทางเศรษฐกิจ ที่มีความลำบากในการประกอบอาชีพหาเลี้ยงครอบครัว จากข้อเท็จจริงนายหม่อง นางภา และบุตรทั้ง 2 เกิดที่ประเทศเมียนมาร์ จึงไม่มีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทยโดยการเกิด จึงไม่อาจมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิด และยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ประเทศเมียนมาร์ได้บันทึกบุคคลทั้ง 4 ในทะเบียนราษฎร พวกเขาจึงตกเป็นคนไร้รัฐ และไร้สัญชาติ คือไม่มีรัฐใดในโลกรับรองสัญชาติให้เป็นคนในรัฐ สมาชิกในครอบครัวหม่องภาจึงเป็นคนต่างด้าว ตามกฎหมายไทย เนื่องจากไม่มีสัญชาติไทย

และเนื่องจากครอบครัวหม่องภาได้เข้าประเทศไทยโดยไม่มีหนังสือเดินทางที่ออกโดยเมียนมาร์ เพราะไม่มีสถานะเป็นคนในรัฐ จึงไม่อาจเป็นคนเข้าเมืองตามกฎหมาย พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และมีสถานะเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ไม่มีสิทธิอาศัยในประเทศไทย

แต่จากกรณีศึกษาบุคคลทั้ง 4 มีจุดเกาะเกี่ยวกับ รัฐเมียนมาร์โดยหลักดินแดนและหลักสืบสายโลหิต บุคคลทั้ง 4 จึงมีสิทธิในสัญชาติ และควรพิสูจน์สัญชาติเมียนมาร์เพื่อให้ไม่ตกเป็นคนไร้สัญชาติและมีรัฐเมียนมาร์คุ้มครอง แต่การกระทำดังกล่าวไม่อาจทำได้เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลเมียนมาร์และผู้นำชาติพันธุ์ไทยใหญ่

         พิจารณาต่อมาบุคคลในนายหม่องและนางภาแม้ไม่มีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทยโดยการเกิด แต่มีการกระทำที่เข้าเงื่อนไขการได้สัญชาติภายหลังการเกิดเนื่องจากปรากฏว่า มีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทยโดยการอาศัยในประเทศมาเป็นเวลากว่า 14 ปี มีความกลมกลืนกับวัฒนธรรม และจ่ายภาษี จึงมีสิทธิขอแปลงสัญชาติเพื่อใช้สัญชาติไทยได้ รัฐไทยจึงมีหน้าที่รับรองสัญชาติให้ นายหม่องและนางภาครอบครัวหม่องภา ตามพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา 11 ประกอบ มาตรา 10 ซึ่งสิทธิในสัญชาติเป็นสิทธิมนุษยชนที่ถูกรับรองไว้ใน ข้อ 15 (1) สิทธิในสัญชาติ ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่รัฐไทยมีหน้าที่ต่อครอบครัวหม่องภา การที่ไม่รับรอง

แต่ปัญหาดังกล่าวก็หมดไปสำหรับนายหม่องและนางภาเนื่องจากในตอนนั้นมีความตกลงร่วมกันของรัฐไทยและเมียนมาร์เพื่อ ออกหนังสือให้แรงงานไร้ฝีมือ คือ Oversea Worker Identification Card ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการที่รัฐเมียนมาร์ได้รับรองสัญชาติเมียนมาร์แก่นายหม่องและนางภา ทำให้ทั้งสองไม่ประสบปัญหาคนไร้สัญชาติ

         ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลของครอบครัวหม่องภา จึงมีหน้าที่ต้องรับรองสถานะบุคคลให้แก่คนไร้รัฐในประเทศตน ตามข้อ 6 ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับทุกแหงหนว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย ซึ่งรัฐไทยก็ได้บันทึกเด็กทั้งสองในทะเบียนราษฎรไทยแล้ว ทั้งน้องดวงตา และน้องจุลจักร บุตรของนายหม่องและนางภา ที่ไม่ใช่แรงงานที่ขึ้นทะเบียน แม้ไม่ได้รับหนังสือรับรองสัญชาติเมียนมาร์ ทั้งที่มีสิทธิในสัญชาติทั้งหลักดินแดนและหลักสืบสายโลหิต เด็กทั้งสองจึงยังประสบปัญหาความไร้สัญชาติ แต่ไม่ประสบปัญหาความไร้รัฐ เพราะน้องดวงตาได้รับการบันทึกในทะเบียน ท.ร.38 ก ในฐานะนักศึกษาไร้สัญชาติ และน้องจุลจักรได้ขึ้นทะเบียน ท.ร.38/1 ภายใต้ทะเบียน MOU ว่าด้วยการจ้างแรงงานต่างด้าว รัฐไทยจึงมิได้ละเมิดสิทธิในการรับรองความมีตัวตนของเด็กทั้งสอง และมีหน้าที่ผลักดันให้เด็กทั้งสอง ได้รับรองสัญชาติเมียนมาร์ เพราะมีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศเมียนมาร์

         เมื่อครอบครัวหม่องภาก็ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรไทย ไม่ใช่คนไร้รัฐ ในฐานะ คนต่างด้าวที่ไม่มีสิทธิอาศัย ซึ่งสถานะดังกล่าวนั้นเองที่ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิของคนต่างด้าวโดยรัฐไทย ต่อมาปัจจุบันนายหม่องและนางภาได้มีสิทธิอาศัยชั่วคราวและมีชื่อในทะเบียนบ้าน และหากใช้สิทธิดังกล่าวย่อมส่งผลให้บุตรทั้งสองได้สิทธิอาศัยตามบิดามารดาด้วย แต่นายหม่องและนางภายังมิได้ใช้สิทธิ

และการที่ไม่ได้ใช้สิทธิคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยชั่วคราวจึงส่งผลให้ นายหม่องและนางภา ไม่สามารถมีสิทธิเดินทางได้โดยอิสระ เพราะถูกจำกัดด้วยสถานะที่เป็น คนต่างด้าวที่ไม่มีสิทธิอาศัย การจะเคลื่อนย้ายก็ต้องแจ้งต่ออำเภอก่อน ในกรณีดังกล่าวแม้เป็นการละเมิดสิทธิในการเดินทาง ตามข้อ 13 ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ของคนต่างด้าว เพราะในความเป็นจริงบุคคลย่อมมีสิทธิเดินทางได้โดยไม่ถูกแทรกแซง ทางแก้คือ ทางแก้คือ นายหม่องและนางภาควรไปใช้สิทธิขึ้นทะเบียนคนต่างด้าวมีสิทธิอาศัยชั่วคราว เพื่อให้มีสิทธิเดินทางได้โดยอิสระ

         พิจารณาต่อมาในการประกอบอาชีพของบุคคลในครอบครัวหม่องภา ที่แม้ทุกคนยังมีสถานะของ คนต่างด้าวไม่มีสิทธิอาศัยนั้น แต่ก็ยังคงมีสิทธิในการประกอบอาชีพดังที่ รับรองไว้ ตาม ข้อ 23 ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และมีสิทธิการเลือกงานโดยอิสระ ดังที่ รัฐธรรมนูญไทยปี 2550 รับรองใน มาตรา 43 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพ แต่การที่คนต่างด้าวในประเทศไทยถูกจำกัดมิให้ประกอบอาชีพบางประเภท ตาม

ม.43 วรรค “การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ” โดยระบุอาชีพไว้ในบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกา กำหนดในอาชีพและวีชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ. 2522 [3]

         การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการละเมิดสิทธิในการประกอบอาชีพซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนของคนต่างด้าว ซึ่งแม้ประเทศไทยได้มีบทบัญญัติของกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนต่างด้าว แต่เนื่องด้วยสถานะความเป็นคนต่างด้าว รัฐไทยจึงต้องมีเงื่อนไขในการใช้สิทธิบางประการภายในประเทศ เพื่อความมั่นคงแห่งรัฐ และศีลธรรมอันดี ซึ่งการกระทำดังกล่าวก็ไม่ถึงขั้น ริดลอนสิทธิทั้งหมดแต่เป็นการจำกัดกิจกรรมบางอย่าง ที่จำเป็นต้องสงวนให้คนสัญชาติไทยเท่านั้น

เขียน: 14 พ.ค. 2014


[1] พระราชบัญญัติการเนรเทศ พ.ศ. ๒๔๙๙.ไทย. (ออนไลน์). แหล่งที่มา :http://www.library.coj.go.th/info/data/A26-01-001-2499.pdf. 7 พฤษภาคม 2557.

[2] ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ไทย. (ออนไลน์). แหล่งที่มา :http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/udhrt.pdf. 7 พฤษภาคม 2557.

[3] อาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ. (ออนไลน์). แหล่งที่มา :http://www.mol.go.th/employee/occupation%20_prohib... 7 พฤษภาคม 2557.

หมายเลขบันทึก: 567959เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2014 19:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2014 19:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท