การลงทุนและการแบ่งปันผลประโยชน์จากการลงทุนในวิสาหกิจสหกรณ์


เงินปันผลสหกรณ์

มูลเหตุในการจัดตั้งสหกรณ์นั้น มาจากความขัดแย้งทางสังคม ที่เกิดจากความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 - ต้น ศตวรรษที่ 19  เกิดการเอาเปรียบระหว่างชนชั้นแรงงานกับเจ้าของโรงงาน และสังคมเกิดความขัดแย้งระหว่างคนจนกับคนมีฐานะร่ำรวย  จึงเกิดแนวคิดที่จะให้ผู้ที่เสียเปรียบและอ่อนแอทางเศรษฐกิจ  ร่วมมือกัน ด้วยวิธีการช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันที่เรียกว่า  สหกรณ์  เพื่อแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจและความขัดแยังทางสังคม  จึงรวบรวมคนที่ด้อยโอกาสและเสียเปรียบทางเศรษฐกิจมารวมตัวกัน และลงทุนร่วมวกันโดย  การช่วยตนเองร่วมกันด้วยการออมสิน สะสมเงิน เพื่อระดมทุนเรือนหุ้นจากสมาชิก อันเป็นหัวใจหลักในการจัดหาทุนของสหกรณ์ มาเพื่อดำเนินวิสาหกิจสหกรณ์ มีเป้าที่จะให้เกิดความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจกับสมาชิกและลดความขัดแย้งทางสังคม โดยมีข้อกำหนดว่า สมาชิกของสหกรณ์จะถือหุ้นในส่วนของผู้เป็นเจ้าของสหกรณ์ ได้ไม่เกินร้อยละยี่สิบ ของทุนเรือนหุ้นที่มีในสหกรณ์ เพื่อเป็นการกระจายการลงทุนอย่างเป็นธรรม   ความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจมักจะเกิดจากการแสวงหากำไรเกินควร  ย่อมนำมาซึ่งความขัดแย้งทางสังคม ชาวสหกรณ์จึงไม่นิยม นำเงินลงทุนมาค้าหากำไร มาแบ่งปันกันเช่นธุรกิจทั่วไป  แต่สภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน  ผู้บริหาร ซึ่งเรียกว่า "คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์" หลายสหกรณ์ อาจไม่เข้าใจในหลักการข้อนี้  หรือไม่ก็ไม่ได้ใส่ใจในเรื่องนี้ ยังคงดำเนินวิสาหกิจตามรูปแบบธุรกิจทั่วไป  จึงได้นำเงินปันผลตามหุ้นที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าของสมาชิกที่มีในสหกรณ์   มาคำนวณเข้าเป็นต้นทุน ในการกำหนดเป็นต้นทุนขายในการตั้งราคา ดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าบริการ จึงทำให้ราคาสินค้า ค่าบริการและดอกเบี้ยเงินกู้ ของสหกรณ์ที่เรียกเก็บจากสมาชิกสูง และบางครั้งต้องยั่วยุให้สมาชิกที่มีเงินทุนมากเกิดกิเลสด้วยการให้ดอกเบี้ยเงินฝากสูง ๆ เป็นการตั้งราคา ตามรูปแบบธุรกิจทุนนิยมทั่วไป จึงทำให้ประชาชนทั่วไป หรือสมาชิกสหกรณ์ส่วนใหญ่ไม่เห็นความแตกต่างระหว่างการเป็นสมาชิกสหกรณ์ กับเป็นลูกค้าธุรกิจทั่วไป เพราะถ้าทำเช่นว่านี้จะสร้างความไม่เป็นธรรมและไม่เรียกว่าการรวมกันเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในระบบสหกรณ์  เพราะสหกรณ์ยังคงแสวงหากำไร จากเงินรายจ่ายของสมาชิกที่ มีฐานะอ่อนแอทางเศรษฐกิจ แล้วเอากำไีส่วนเกินไป บำรุงสมาชิกที่มีฐานะเศรษฐกิจที่ดีกว่า ในรูปของเงินปันผลและดอกเบี้ยเงินฝากในอัตราที่สูง  การช่วยเหลือซึ่งกันและกันในรูประบบสหกรณ์ จะต้องมีการเสียสละผลประโยชน์บ้าง โดยเฉพาะสมาชิกผู้ที่ได้เปรียบจากการลงทุน ก็ควรที่จะลดการได้ประโยชน์จากการเอาเปรียบผู้อื่นลงบ้าง ในเมื่อได้ตกลงปลงใจที่จะเลือกใช้ ระบบสหกรณ์เข้ามาช่วยแก้ปัญหาการดำรงชีวิต และ ความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจและขจัดความขัดแย้งทางสังคม จึงจะเกิดขึ้นจริง  ดังนั้นการคำนวณต้นทุนขายสหกรณ์จะไม่นำเงินทุนสำรองมาคิดเป็นต้นทุน และจะไม่นำอัตราเงินปันผลตามหุ้นที่คาดว่าจะได้รับมาตั้งเป็นต้นทุน เพราะระบบสหกรณ์ไม่มีรับรองการปันผลไว้ล่วงหน้า ดังนั้นการทำธุรกิจสหกรณ์จะต้องให้ความเป็นธรรม เพื่อช่วยเหลือสมาชิก ขณะเดียวกันตัวองค์กรสหกรณ์ก็ต้องไม่ขาดทุน การกำหนดต้นทุนขายจะต้องอยู่ในเกณฑ์พอคุ้มทุนคือไม่แสวงหากำไรเป็นที่ตั้ง และสหกรณ์จะปันผลก็เมื่อปิดบัญชีแล้วมีเงินส่วนเกิน (กำไร) สหกรณ์จึงจะแบ่งปันผลในอัตราส่วนตามทุนเรือนหุ้นที่สมาชิกถือในสหกรณ์  ในส่วนของการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดจาก การดำเนินงานของสหกรณ์ ที่นำเงินรายได้หักด้วยค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้ว มีเงินเหลือ  เรียกว่า"เงินส่วนเกิน" ส่วนธุรกิจทั่วไปเรียกว่า  "เงินกำไร"  กติกาข้อนี้ของสหกรณ์จึงกำหนดไว้ว่า ถ้าสหกรณ์มีเงินส่วนเกิน ก็ให้จัดสรรปันผลตามหุ้นคืนให้กับสมาชิก  แต่ถ้าดำเนินการแล้วไม่มีกำไร ก็ไม่ต้องปันผลตามหุ้น  เพราะระบบเศรษฐกิจแบบสหกรณ์ จะไม่มีการรับรองเงินปันผลไว้ล่วงหน้า เหมือนวิธีการของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมกระแสหลัก  ถ้าเกิดว่าปีใดสหกรณ์มีเงินส่วนเกินหรือกำไร สหกรณ์ก็จะมีการแบ่งจัดสรรคืนกลับให้สมาชิก 2 รูปแบบคือ  ในรูป "เงินปันผล"ตามหุ้น ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งปัจจุบัน พ.ศ.2557 ไม่เกินร้อยละ 10 ของทุนเรือนหุ้น ที่มีอายุครบหนึ่งเดือนขึ้นไป  หรือตามประเพณีธรรมเนียมที่ตกทอดกันมาสหกรณ์มักจะจ่ายเงินปันผลให้สมาชิกได้สูงสุด ไม่เกินร้อยละของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่สหกรณ์จ่ายให้สมาชิก และส่วนที่สอง สหกรณ์ก็จะจัดสรรคืนเป็นเงินเฉลี่ยคืน เรียกว่า เงินเฉลี่ยนคืนตามส่วนธุรกิจที่ได้ทำไว้กับสหกรณ์   คิดตามร้อยละของยอดซื้อ ยอดขายและดอกเบี้ย หรือค่าบริการที่สมาชิกได้อุดหนุนสหกรณ์ และเป็นไปตามมติของที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี อนุมัติ  เงินส่วนเกินหรือกำไรที่เหลือ ก็จะถูกจัดสรรเป็นเงินสำรองและค่าบำรุงสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ตามที่กฎหมายกำหนด  เพราะสหกรณ์มีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย  หากมีเงินส่วนเกินเหลืออีก  สหกรณ์ก็อาจจะจัดสรรเป็นทุนต่าง ๆ เช่น ทุนเพื่อการขยายงานสหกรณ์ ทุนสาธารณะประโยชน์ ทุนการศึกษาอบรม ทุนรับซื้อหุ้นคืน กองทุนสวัสดิการช่วยเหลือสมาชิกและครอบครัว  จะเห็นไว้ว่าระบบสหกรณ์ส่งเสิรม ให้ทุกคนเข้ามาร่วมทุนกันเพื่อ ทำวิสาหกิจในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมให้มากทึ่สุด ด้วยการกระจายการลงทุนและแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม 

หมายเลขบันทึก: 567954เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2014 18:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 สิงหาคม 2017 22:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

...หากเข้าถึงหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง...ก็สามารถเชื่อมโยงถึงหลักสหกรณ์ที่ถูกต้อง...เป็นบันทึกที่ดีมีประโยชน์นะคะน้องวัลลภ...

ขอบคุณ ท่าน ดร.พจนา แย้มนัยนา  มากครับ คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยสนใจจะศึกษา ระบบสหกรณ์  ทั้ง ๆ ที่สหกรณ์เป็นแนวทางแห่งสันติสุข เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาร่วมมือกัน และมีการกระจายการลงทุน และแบ่งปันอย่างเป็นธรรม  ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ทรงให้ความสำคัญ มาตลอด ตั้งแต่ปลายรัฐกาลที่ 5 จนมาถึง รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเทพฯ ก็ทรงดูแลรับสั่งเรื่องงานสหกรณ์ของประเทศไทยมาโดยตลอด โดยเฉพาะ การส่งเสริมการเรียนรู้และกิจกรรมของสหกรณ์ในโรงเรียน ตำรวจตระเวนชายแดน และอีกหลาย ๆ โรงเรียน ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท