คนต่างด้าวในประเทศไทย


คนต่างด้าวในประเทศไทย : สิทธิในการประกอบอาชีพ

      เมื่อประชากรมีจำนวนเพิ่มขึ้น ความต้องการทางผลผลิตก็มากขึ้นจึงจำเป็นที่จะต้องใช้แรงงานมากขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากแรงงานเป็นปัจจัยที่สำคัญอีกปัจจัยหนึ่งในการผลิต ในประเทศไทยแรงงานส่วนหนึ่งเป็นแรงงานต่างด้าว ซึ่งมีทั้งที่เข้ามาโดยถูกกฎหมายและลักลอบเข้ามาโดยผิดกฎหมาย

      การประกอบอาชีพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่งที่บุคคลทุกคนได้รับการรับรองจากทั้งกฎหมายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 23ทุกคนมีสิทธิในการงาน ในการเลือกงานโดยอิสระในเงื่อนไขอันยุติธรรม และเป็นประโยชน์แห่งการงาน และในการคุ้มครองต่อการว่างงาน หรือในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 43 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม

       การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการรักษา ความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ การคุ้มครองประชาชนในด้านสาธารณูปโภค การรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การจัดระเบียบการประกอบอาชีพ การคุ้มครองผู้บริโภค การผังเมือง การรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพของประชาชน หรือเพื่อป้องกัน การผูกขาดหรือขจัดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน

       อย่างไรก็ตามเมื่อมีคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทย รัฐได้มีการจำกัดอาชีพหรือวิชาชีพบางอย่างที่มีลักษณะที่อาจกระทบกระเทือนต่อความเป็นอยู่ของรัฐ โดยชอบที่จะตรากฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิไม่ให้คนต่างด้าวประกอบอาชีพบางอย่างได้แบ่งได้ดังนี้

1.กฎหมายที่มีบทบัญญัติกำหนดว่าอาชีพนั้นๆคนต่างด้าวไม่มีโอกาสทำได้ ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน กฎหมายว่าด้วยเรือไทย และกฎหมายว่าด้วยการประกอบการประมงในเขตการประมงไทย

2.กฎหมายที่บัญญัติสงวนอาชีพบางอย่างไว้สำหรับคนไทย ได้แก่ การทำหรือการหล่อพระพุทธรูป การทำเครื่องเขิน การทำเครื่องถม การขับขี่จักรยานสามล้อรับจ้าง การขับขี่จักรยานยนต์สามล้อรับจ้าง การขับรถยนต์สาธารณะ การทำนา (เว้นแต่การปลูกข้าวในร่องสวน) การทำนาเกลือ การตัดผม การเรียงพิมพ์อักษรไทย การตัดผมสตรี การแต่งผมสตรี และการตัดเย็บเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มสตรี

3.กฎหมายที่วางหลักเกณฑ์ว่าอาชีพใดที่คนต่างด้าวทำไม่ได้ ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว

       กฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศได้รับรองสิทธิในการประกอบอาชีพ ซึ่งคุ้มครองทั้งคนไทยและคนต่างด้าวเนื่องจากเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่บุคคลทุกคนได้รับ แต่สำหรับการประกอบอาชีพของคนต่างด้าวในไทยนั้นสามารถทำได้แต่เป็นงานหรืออาชีพภายใต้กฎหมายกำหนด เช่น พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2521 พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 หรือตามข้อตกลงในสนธิสัญญาระหว่างประเทศและความตกลงเขตการค้าเสรี เป็นต้น

อ้างอิงข้อมูล

ศิริพร สุวรรณรัตน์.  คนต่างด้าว.  เข้าถึงได้จาก:http://www.l3nr.org/posts/465919[ออนไลน์]. สืบค้นข้อมูลวันที่ 10 พฤษภาคม 2557

อมรินทร์ ม่วงมณี. สิทธิในการทำงานของคนต่างด้าวในประเทศไทยภายใต้กรอบสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านการค้าและข้อตกลงการค้าเสรี. เข้าถึงได้จาก:http://www.gotoknow.org/posts/48416[ออนไลน์]. สืบค้นข้อมูลวันที่ 10 พฤษภาคม 2557

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR)

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550

บันทึกวันที่ 12 พฤษภาคม 2557

หมายเลขบันทึก: 567818เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2014 15:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2014 21:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท