พิกุลดอกหอมชงชาดื่มได้น้ำชาที่หอมมาก


พิกุลชื่อไทยดอกหอมมีประโยชน์ต่อสุขภาพ

พิกุล ต้นไม้ที่มีดอกหอมมาก ชื่อก็ไทยมากนะคะ ไม่ไกลจากบ้านมีให้ได้ผ่านได้ชมมากหลายต้น ต้นไม้ยืนต้นลูกสีเหลืองน่ารักดอกสีขาวครีมเล็กๆถึงแม้จะร่วงหล่นใต้ต้นดอกเล็กๆนั้นก็ยังหอมมาก ดอกพิกุลเป็นอีกดอกไม้ที่กินได้และแพทย์แผนไทยนำไปทำยารวมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ซึ่งนำมาชงชาแบบดอกสดหรือแห้งก็ได้นะคะ ชายังคงมีกลิ่นหอมของดอกพิกุล นำมาฝากพร้อมสรรพคุณของต้นพิกุล ดังนี้ค่ะ



วิธีทำ 

ดอกพิกุลเก็บบนต้นหรือร่วงที่พื้น ล้างน้ำให้สะอาดสลัดน้ำทิ้ง แล้วใส่แก้วหรือกาชงชาใส่น้ำร้อน แช่ไว้สักพักให้กลิ่นสีของดอกออกมาแล้วก็ดื่มได้ตอนอุ่นๆ ถ้าจะทำเป็นน้ำดื่ม ให้ต้มในน้ำเดือด 2 กำมือต่อน้ำ 1 ลิตร  เพิ่มความหวานหรือไม่ตามชอบ พอเย็นแล้วใส่ขวดแช่เย็นดื่มได้หอมชื่นใจมาก 







สรรพคุณ

พิกุล  ชื่ออื่นๆ   แก้ว(เหนือ) ,กุล(ใต้), Bullet Wood 

ใบ      รสเบื่อฝาด  ฆ่าเชื้อกามโรค  แก้หืด  

ดอก    รสหอมสุขุม   แก้ลม บำรุงโลหิต

เมล็ด  รสเฝื่อน ขับปัสสาวะ

เปลือกต้น   รสฝาด  ฆ่าแมงกินฟัน แก้เหงือกอักเสบ

กระพี้          รสเมาเบื่อ  แก้เกลื้อน

แก่น           รสขมเฝื่อน   บำรุงโลหิต  แก้ไข้ 

ราก            รสขมเฝื่อน  บำรุงโลหิต  แก้เสมหะ แก้ลม 




พิกุล เป็นต้นไม้ยืนต้นที่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด พบลูกแห้งหล่นใต้ต้นเก็บไปเพาะเพื่อให้ได้ต้นใหม่ได้นะคะ

ต้นไม้ประดับตามริมถนน ฯ ที่ได้ชมพบเห็นผ่านกันนั้น มีสรรพคุณเป็นยาได้ทุกส่วนของต้น

ยังมีอีกส่วนหนึ่งซึ่งนับว่าหายากมาก คือ ขอนดอก ในต้นที่ผุ 

ซึ่งจะมีในต้น พิกุลและตะแบกเท่านั้น มีสรรพคุณป็นยาที่ดีมาก






ขอนดอก เป็นพืชวัตถุ เกิดจากเนื้อไม้ที่มีโรคภายในผุเป็นโพรงเล็กๆ สีขาวกระจายไปทั่วเนื้อไม้

เรียกว่า เกิดสารลง  นำส่วนที่สารลงมาใช้ปรุงยา มีอยู่ 2 ชนิด คือ

1. ขอนดอกไม้พิกุล

2. ขอนดอกไม้ตะแบก

สรรพคุณ  รสจืดหอม แก้ลม บำรุงหัวใจ บำรุงตับปอด บำรุงทารกในครรภ์ ทำให้หัวใจชุ่มชื่น

(ขอบคุณสรรพคุณพิกุลและขอนดอกจากหนังสือสารานุกรมสมุนไพร รวมเภสัชกรรมไทยโดย วุฒิ วุฒิธรรมเวช)







เก็บดอกพิกุลนำมาให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพบ้างนะคะ

และถ้าพบต้นที่ตายหรือถูกโค่นล้มตัดทิ้ง เก็บส่วนต่างๆไว้ทำยา

และอย่าลืมค้นหาขอนดอกที่หายากมากเก็บไว้ด้วยนะคะ



ด้วยความปรารถนาดี  กานดา แสนมณี

วันจันทร์ที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ ๒๕๕๗

หมายเลขบันทึก: 567814เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2014 13:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2014 14:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ผมปลูกไว้สองต้นที่บ้านครับ ยังไม่ค่อยโตและยังไม่ออกดอกครับ สงสัยต้องบำรุงมากกว่านี้แล้วครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์ธวัชชัย

ค่ะบำรุง จะได้ออกดอกนะคะ อบดอกให้แห้ง นำดอกผสมกับชาอื่นๆได้เลยค่ะเพราะกลิ่นหอมแรงจะทำให้ชาที่ไม่ค่อยหอมน่าดื่มมากขึ้น เช่นเดียวกับการผสมดอกมะลิในชาจีนค่ะ ถ้าใช้ดอกพิกุลอย่างเดียวก็กลิ่นหอมมากค่ะ

ชอบดอกพิกุลครับ

หอมอ่อน

ลูกเขาแก่แล้วกินได้ครับ

แต่ฝาดๆเล็กกน้อย

พี่กานดาคะ ดอกชมนาด ดอกแก้ว และดอกลั่นทมนำมาทำเป็นชาได้มั้ยคะ ที่บ้านดอกดก ขยันออกดอกมาก ๆ

หอมกลิ่นพิกุลแก้ว...สิหอมนานทั้งยามบานและร่วงโรย....



สวัสดีค่ะ  

ขอบคุณมากค่ะ เข้ามาเยี่ยมชมทักทายพร้อมมอบดอกไม้และกำลังใจให้บันทึก ชาดอกพิกุลฯ

น้องภูสุภา

ดอกชมนาดหรือชำมะนาด รสเมาเบื่อร้อน 

 ถ่ายน้ำเหลือง ทำให้อาเจียน มีฤทธิ์ถ่ายแรงมาก เป็นยาอันตรายค่ะ ไม่ควรนำมาทำอาหารนะคะ

ดอกแก้ว ไม่แน่ใจค่ะ  ทราบแต่รากกับใบที่กินได้ค่ะ ซึ่งรากกับใบกินได้ดอกก็น่าจะได้แต่ยังไม่เคยลองทำนะคะ

ดอกลั่นทม  ทราบแต่ว่าดอกสีขาวกินได้นิยมนำมาทอดกรอบ จิ้มน้ำพริกหรือกินเล่น แต่ควรเป็นดอกที่ร่วงที่พื้นค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท