การจัดการคุณภาพของหลักสูตร


          ผมมีความเห็นว่า มหาวิทยาลัยไทยมีการจัดการคุณภาพของหลักสูตรน้อยมาก เรามักแค่ทำตาม ข้อกำหนดของ สกอ. ซึ่งเป็นการจัดการ input คือดูความพร้อมที่การมีอาจารย์ที่มีคุณวุฒิ การเขียนเอกสารตาม TQF แต่เมื่ออนุมัติหลักสูตรแล้ว ก็ปล่อยให้ภาควิชาและอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรดำเนินการ ไม่มีการ ติดตามดูแลว่ากระบวนการเรียนการสอนมีคุณภาพหรือไม่ ดำเนินการได้มาตรฐานตามที่เสนอไว้หรือไม่

          สภามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ตั้งคำถามว่าหลักสูตรจัดการศึกษาพิเศษที่มหาวิทยาลัยนั้นจัด หลักสูตรใดมีคุณภาพ หลักสูตรใดคุณภาพต่ำ โดยตั้งสมมติฐานว่าหลักสูตรจัดการศึกษาพิเศษ คือเรียนนอกเวลา เสี่ยงต่อคุณภาพต่ำ ไม่ได้มาตรฐาน และตั้งผมเป็นประธานคณะทำงานไปตรวจสอบหาข้อมูล เพื่อประเมินคุณภาพ ของแต่ละหลักสูตร โดยให้ผมไปปรึกษากับอธิการบดี เพื่อหาทีมคณะทำงานเพิ่ม

          ผมเสนอต่ออธิการบดี ให้ทีมบริหารของท่านไปคิดเกณฑ์ประเมิน แล้วเสนอมาว่าใน ๓๒ หลักสูตรการศึกษาพิเศษ หลักสูตรใดบ้างจัดเป็น Top 5 และหลักสูตรใดบ้างจัดเป็น Bottom 5 พร้อมทั้งเสนอเกณฑ์ประเมินด้วย

          ท่านอธิการบดีมอบหมายให้ฝ่ายแผนเป็นเจ้าของเรื่อง เขาไปคิดเกณฑ์ ๕ ข้อ สำหรับใช้ประเมิน คือ (๑) การบรรลุเป้าหมายการรับนักศึกษา (๒) การออกกลางคันของนักศึกษา (๓) รายงานทางการเงิน ที่เป็นไปตามที่เสนอไว้ (๔) ตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์ ที่มีตำแหน่ง ผศ. ขึ้นไป (๕) ผลการตีพิมพ์วิทยานิพนธ์/สารนิพนธ์

          ตอนแรก เมื่อผมได้รับรายงานว่า ฝ่ายบริหารมอบหมายให้ฝ่ายแผนเป็นผู้ดำเนินการเรื่องนี้ ผมสงสัยว่า ทำไมไม่ให้ฝ่ายวิชาการเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะเป็นผู้ดูแลงานวิชาการ และงานนี้เป็นงานด้านวิชาการ ผมได้รับทราบภายหลังว่า รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการไม่ได้ดูแลบัณฑิตศึกษา คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยเป็นผู้ดูแล ผมก็คิดว่า สองท่านนี้ควรจะร่วมกันรับผิดชอบดำเนินการตรวจสอบคุณภาพของหลักสูตรทั้งหมด รวมทั้งหลักสูตรพิเศษ

          แต่เมื่อไปรับฟังรายงาน และข้อมูลที่นำมาเสนอตามเกณฑ์ ๕ ข้อ ก็เห็นว่า นี่เป็นข้อมูลที่เป็นรูปธรรม ที่ฝ่ายแผนเป็นผู้รับผิดชอบเก็บรวบรวม เมื่อนำมาวางเกณฑ์เพื่อให้เกรด A, B, C ในแต่ละข้อ แล้วนำเกรดของ ๕ ข้อมาเฉลี่ย ก็ได้คะแนนที่มีข้อมูลยืนยัน ถือเป็น Evidence-based Review ที่เราได้ Top 5 และ Bottom 5 เป็นข้อมูลเชิง objective ที่น่าจะใช้ได้ทีเดียว แม้ว่าในรายละเอียดของวิธีให้เกรดในแต่ละข้อจะมีประเด็น ถกเถียงโต้แย้งได้มากมาย ที่ฝ่ายบริหารน่าจะเอาไปคุยกันกับเจ้าของหลักสูตร

          เราตกลงกันว่าเราได้ Top 5 ซึ่งมีคะแนนรวม 3.80 ขึ้นไป และได้ Bottom 8 ซึ่งมีคะแนนรวมต่ำกว่า 3.10 ให้ฝ่ายบริหารนำไปปรึกษาหารือกันกับเจ้าของหลักสูตรว่าจะดำเนินการปรับปรุงอย่างไร หรือจะปิดหลักสูตร ในกรณี Bottom 8 แล้วนำเสนอสภามหาวิทยาลัย คิดกันไว้ว่า หลักสูตรที่ตกลงกันไม่ได้ จะจัดให้มี Peer Review เป็น Subjective Review ต่อไป

          ผมเน้นที่การพัฒนาระบบ และวัฒนธรรมประเมินเพื่อปรับปรุง เอามาใช้ในการบริหารคุณภาพ วิชาการในมหาวิทยาลัย ไม่ใช่เน้นประเมินได้-ตก

          เอามาเล่า เพื่อ ลปรร. มหาวิทยาลัยใด มีการจัดการติดตามคุณภาพของหลักสูตรที่รัดกุมจริงจัง กรุณานำมาแลกเปลี่ยนกันบ้างนะครับ

วิจารณ์ พานิช

๑๑ เม.ย. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 567815เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2014 14:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2014 14:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กราบเรียนท่านนายกสภาที่นับถือ ตามระบบ ที่ กกอ วางไว้ กรรมการประจำหลักสูตร ต้องเป็นทีมงานที่ควบคุมคุณภาพ การจัดการเรียนรู้ทั้งหมด และต้องมีการวางแผน ติดตาม และ ทบทวน ทั้งหมด เพื่อการพัฒนา ทุกภาคการศึกษา ครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท