กฎหมายไทยว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย


กฎหมายไทยว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย

 

              สิทธิมนุษยชน หมายถึงแนวคิดเกี่ยวกับมนุษย์ที่ว่า มนุษย์นั้นมีสิทธิหรือสถานะสากซึ่งไม่ขึ้นอยู่กับขอบเขตของกฎหมาย หรือปัจจัยท้องถิ่นอื่นใด เช่น เชื้อชาติ หรือ สัญชาติ สิทธิ ที่มีติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่กำเนิด เป็นสิทธิทางกายภาพ ซึ่งไม่สามารถจำหน่าย แจก จ่าย โอน หรือบังคับให้กับผู้หนึ่งผู้ใดได้ สิทธิดังกล่าวนี้มีความเป็นสากลและเป็นนิรันดร์ จาก ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 1 กล่าวว่า "มนุษยทั้งหลายทั้งหลายเกิดมามีอิสระเสรี เท่าเทียมกันทั้งศักดิ์ศรีและสิทธิ ทุกคนได้รับการประสิทธิ์ประสาทเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันอย่างฉันพี่น้อง"[1]

              เมื่อได้ทำความรู้จักกับความหมายของสิทธิมนุษยชนแล้ว ในหัวข้อกฎหมายไทยว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยนั้นทำให้ข้าพเจ้านึกถึง กฎหมายเกี่ยวกับการลงโทษทางอาญาของกฎหมายไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงโทษด้วยการประหารชีวิตที่ถูกมองว่าเป็นวิธีการลงโทษที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน และได้รับการยกเลิกไปในหลายประเทศ

             ประเทศไทยยังคงเป็น หนึ่งใน ห้าสิบกว่าประเทศที่มีการลงโทษโดยการประหารชีวิต ซึ่งมักจะเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างต่อเนื่องว่าสมควรแล้วหรือไม่ที่โทษประหารชีวิตนี้ยังคงอยู่ เนื่องจากมีหลายฝ่ายเชื่อว่าโทษประหารชีวิตนั้นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเห็นได้ชัด เพราะมนุษย์ทุกคนมีสิทธิในชีวิตของตน ที่จะมีชีวิตอยู่โดยที่ไม่มีใครสามารถพรากไปได้

             โดยส่วนตัวแล้วข้าพเจ้าก็เห็นด้วยกับแนวความคิดที่ว่าการประหารชีวิตเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนจริง แต่ควรที่จะยกเลิกไปหรือไม่นั้น ข้าพเจ้ายังไม่สามารถที่จะสรุปได้แต่เพียงว่า ต้องยกเลิกเพราะละเมิดสิทธิมนุษยชนเท่านั้น เนื่องจาหากมองว่าการลงโทษเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้วจะต้องยกเลิกไป การลงโทษรูปแบบอื่นเช่น คุมขัง กักขัง ริบทรัพย์ หรือการลงโทษทางอาญาอื่นๆ ก็ดูเหมือนจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเสียทั้งนั้น ส่งผลให้ข้าพเจ้าได้มองถึง สาเหตุที่จะต้องมีการลงโทษทางอาญาขึ้นกับ นักโทษที่กระทำความผิดในประเทศไทย

              การลงโทษทางอาญาจะเกิดขึ้นได้นั้น ผู้กระทำความผิด หรือผู้ต้องหา จะต้องประทำการที่ขัดต่อกฎหมายอาญาของราชอาณาจักรไทย จึงเป็นเหตุให้ต้องได้รับการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา การลงโทษดังกล่าวนี้มีพื้นฐานแนวคิดมาจาก ทฤษฎีการลงโทษ ที่ระบุถึงวัตถุประสงค์ในการลงโทษไว้ 3 ประการด้วยกันคือ การลงโทษเพื่อแก้แค้นทดแทน การลงโทษเพื่อข่มขู่ยับยั้ง และการลงโทษเพื่อแก้ไขฟื้นฟู

              ซึ่งการลงโทษผู้กระทำความผิดในแต่ละกรณี จะต้องได้รับการไตร่ตรองถึงวิธีการอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้บรรลุทั้งสามจุดประสงค์ในการลงโทษ ตามทฤษฎีการลงโทษ เช่น จะต้องแก้แค้นให้รู้ว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดที่ผู้ถูกกระทำผิดนั้นได้รับผลร้ายอย่างไร ตามจุดประสงค์แก้แค้นทดแทน ต้องทำให้ผู้อื่นที่พบเห็น หรือรับรู้ ได้รับรู้ถึงผลร้ายที่ต้องเกิดแก่ผู้กระทำความผิดเอง เพื่อเป็นการข่มขู่ยับยั้ง ทั้งตัวผู้กระทำความผิดให้ไม่กระทำผิดซ้ำสองอีก รวมถึงผู้อื่นจะต้องเกรงกลัวที่จะได้รับโทษ และจะต้องเป็นการลงโทษที่ให้โอกาสผู้กระทำความผิด ได้แก้ไขฟื้นฟูตนเองเพื่อกลับเข้าสู่สังคมและใช้ชีวิตของตนได้อย่างปกติที่สุดโดยไม่คิดที่จะกลับไปกระทำความผิดอีก ภายหลังจากได้รับการลงโทษแล้ว ตามแนวคิดเพื่อการแก้ไขฟื้นฟู จึงจะเป็นการลงโทษที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

              กล่าวคือการลงโทษด้วยโทษประหารชีวิตนั้น แม้ว่าเป็นโทษที่บรรลุจุดประสงค์ในการแก้แค้นทดแทน และการข่มขู่ยับยั้ง แต่กลับไม่เป็นการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดแต่อย่างใด เพราะผู้ถูกลงโทษไม่ได้มีโอกาสที่จะแก้ไขตนเองภายหลังจากได้รับโทษ ทำให้นอกจากการประหารชิวิตจะเป็นการลงโทษที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน แล้วยังเป็นการลงโทษที่ไม่ได้บรรลุวัตถุประสงค์ตามทฤษฎีการลงโทษได้อย่างสูงสุด เป็นเพียงการตัดปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น หากเกิดการวินิจฉัย ตัดสินที่ผิดพลาด ทำให้ผู้บริสุทธิถูกประหารชิวิตไป ก็จะไม่สามารถแก้ไขใดๆ ได้เลย เป็นเหตุให้ข้าพเจ้าเชื่อว่าการลงโทษโดยวิธีประหารชีวิตนั้น ไม่สมควรมีอยู่ในประเทศที่มีความเจริญทางปัญญาอย่างประเทศไทย

อ้างอิง

[1] สิทธิมนุษยชน 

http://th.wikipedia.org/wiki/สิทธิมนุษยชน

ทฤษฎีการลงโทษ 

http://www.stou.ac.th/Schools/Slw/upload/41716_6.p...

สืบค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 2 พค 2557

หมายเลขบันทึก: 567807เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2014 10:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2014 21:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท