HR-LLB-TU-2556-TPC-กฎหมายไทยว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย


กฎหมายไทยว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย

               สิทธิมนุษยชน (Human Rights) หมายถึง สิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความเท่าเทียมกันในแง่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิ เพื่อดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติ สีผิว เพศ อายุ ภาษาศาสนา และสถานภาพทางกายและสุขภาพรวมทั้งความเชื่อทางการเมือง หรือความเชื่ออื่นๆที่ขึ้นกับพื้นฐานทางสังคม สิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถถ่ายทอดหรือโอนให้แก่ผู้อื่นได้[1]

               เมื่อพิจารณากฎหมายไทยตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายอาญา หรือพระราชบัญญัติต่างๆ ซึ่งเป็นกฎ แบบแผนควบคุมความประพฤติของคนในสังคมให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข อีกทั้งยังกำหนดสิทธิหน้าที่ของคนในสังคม เช่น สิทธิที่ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน สิทธิที่จะได้รับความบริการสาธารณสุข เสรีภาพในการแสดงความเห็น การที่กฎหมายไทยกำหนดแบบแผนควบคุมความประพฤติของคนในสังคมในรูปของสิทธิและหน้าที่นั้น มีข้อสังเกตว่ากฎหมายเหล่านั้นใช้บังคับกับทุกคนในประเทศไทยหรือไม่ ตีความเฉพาะคนที่มีสัญชาติไทยเท่านั้นหรือไม่ เพราะหากกฎหมายไทยใช้ไม่รวมถึงคนต่างด้าวในลักษณะต่างๆ และสิทธิที่กำหนดในกฎหมายไทยนั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานก็จะกลายเป็นว่าประเทศไทยละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนต่างด้าวเหล่านั้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาการตีความการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน และกฎหมายไทยนั้นก็มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนหลายประการ ดังนี้

โทษประหารชีวิต

                โทษประหารชีวิตซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา18 ประมวลกฎหมายอาญาของประเทศไทยแนวคิดเบื้องหลังโทษประหารชีวิตมีหลายประการคือ แนวคิดเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่บุคคลอื่น แนวคิดการแก้แค้น คือเพื่อให้เป็นที่พึงพอใจแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหาย และโทษประหารชีวิตกำหนดสำหรับความผิดฐานที่ร้ายแรงมากๆ เช่น การฆ่าบุพการี เพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำความผิดซ้ำอีกต่อมามีแนวคิดยกเลิกโทษประหารชีวิตเพราะเห็นว่าเป็นการโหดร้ายทารุณ เหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เกินไป เป็นการพรากชีวิต แต่อย่างไรก็ตามแต่ละประเทศก็มีความเห็นไม่เหมือนกัน บางประเทศต่อต้าน เนื่องจากมีสภาพสังคมแตกต่างกัน

                 จากการศึกษาปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ3 ทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิต จะเห็นได้ว่า ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนดังกล่าวได้รับรองสิทธิในการมีชีวิตของบุคคล ไว้คือ บุคคลย่อมมีสิทธิในการมีชีวิตอยู่ การประหารชีวิตเป็นการพรากชีวิตไปจากมนุษย์ โทษประหารชีวิตจึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามข้อ3 ของปฏิญญาอย่างชัดเจน และถ้าหากว่าโทษประหารชีวิตมีวิธีการที่ทำให้ได้รับความทรมาน เช่น การแขวนคอ การตัดศรีษะหรือยิงเป้า โดยปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ5 บุคคลใดจะถูกกระทำการทรมานหรือการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีไม่ได้ การแขวนคอ การตัดศรีษะ การยิงเป้าซึ่งเป็นการกระทำที่โหดร้ายทารุณย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ นั้น จึงเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของบุคคลทั้งตามข้อ3และข้อ5ของปฏิญญา สากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

                  เมื่อศึกษาถึงโทษทางอาญาอื่นๆ คือ โทษจำคุก โทษกักขัง โทษปรับและโทษริบทรัพย์สิน สำหรับโทษจำคุกและกักขัง ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ9 บุคคลใดจะถูกจับกุมหรือกักขังตามอำเภอใจไม่ได้ จะเห็นได้ว่าการจับกุมหรือการกักขังที่จะขัดกับปฏิญญา และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กำหนดไว้ในปฏิญญาดังกล่าวนี้จะต้องเป็น การจับกุมหรือกักขังตามอำเภอใจ หากว่ามีเหตุผลก็มิได้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน การจำคุกและกักขังตามประมวลกฎหมายอาญาเป็นโทษทางอาญา จะทำได้เมื่อมีการกระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ซึ่งมิใช่ตามอำเภอใจ โทษจำคุกและกักขังจึงทำได้ ไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน[2]

                 สำหรับโทษปรับและริบทรัพย์สิน ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ17 บุคคลใดจะถูกเอาทรัพย์สินไปจากตนตามอำเภอใจไม่ได้ การปรับและริบทรัพย์สินแม้จะเป็นการเอาทรัพย์สินไปแต่กระทำต่อเมื่อมีบุคคล ทำผิดอาญาตามที่กฎหมายกำหนดและกำหนดโทษไว้ให้ปรับหรือริบทรัพย์สิน จึงมิใช่การทำตามอำเภอใจ โทษปรับและทรัพย์สินจึงกระทำได้ ไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามข้อ 17 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

                  ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าโทษประหารชีวิตควรมีอยู่ต่อไป เพราะโทษประหารชีวิตเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิต ชีวิตมนุษย์เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดจึงมิได้มีข้อบัญญัติยกเว้น แม้โทษประหารชีวิตจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เนื่องจากแนวคิดเบื้องหลังของโทษประหารชีวิตซึ่งเป็นการป้องกันการกระทำความ ผิดซ้ำ มิให้เป็นเยี่ยงอย่างและเป็นที่พึงพอใจของผุ้ที่ได้รับความเสียหาย และโทษประหารชีวิตเป็นโทษทางอาญาที่กฎหมายกำหนดเพื่อลงโทษผู้ที่กระทำความ ผิดอย่างร้ายแรง เมื่อเขาทำผิดร้ายแรงก็สมควรที่จะโดนลงโทษ เป็นการกระทำที่สมเหตุสมผล ซึ่งการสืบสวนสอบสวนก็ต้องทำอย่างมีประสิทธิภาพ มิให้มีการกลั่นแกล้งกันเพื่อให้มีการลงโทษบุคคลหรือจับบุคคลที่มิใช่ผู้ กระทำผิดมาลงโทษเพราะเป็นโทษที่ร้ายแรงมาก

การสมรสของบุคคลรักร่วมเพศ

                  ในปัจจุบันสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปในเรื่อง ลักษณะการใช้ชีวิต ความเชื่อ ค่านิยม ที่เปลี่ยนไป คนในสังคมจำนวนมากสามารถยอมรับสิ่งที่ไม่ใช่ความเชื่อหรือค่านิยมแบบเดิม กลุ่มบุคคลรักร่วมเพศเป็นกลุ่มหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าสังคมมีการยอมรับและ ให้อิสระในการดำเนินชีวิตของปัจเจกบุคคลมากขึ้น สังคมไทยเองก็เช่นเดียวกัน จากเดิมสังคมไทยไม่ยอมรับบุคคลรักร่วมเพศ ซึ่งเกิดจากความเชื่อหรือค่านิยมในสมัยก่อน เนื่องจากความรู้และความเข้าใจต่อพฤติกรรมรักร่วมเพศของสังคมไทยยัง อยู่ในกรอบความคิดอย่างเดิมว่าเป็นความผิดปกติ ในปัจจุบันแม้มีการเข้าใจและยอมรับมากขึ้นเพราะได้รับอิทธิพลทั้งจากสื่อ ต่างๆ มีการปรับมุมมองการใช้ชีวิตใหม่ แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าความเชื่อและค่านิยมแบบเดิมนั้นยังฝังรากลึกและแทรก อยู่ในทัศนคติของผู้คนอีกจำนวนมากแต่ในด้านกฎหมายนั้นยังไม่มีการให้สิทธิ โดยเฉพาะสิทธิในการมีครอบครัวของบุคคลกลุ่มนี้ ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเป็นการรับรอง สิทธิขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชน เช่น สิทธิในการมีชีวิต สิทธิในการศึกษา เป็นต้น อีกทั้งในรัฐธรรมนูญก็ได้มีการรับรองสิทธิมนุษยชนเอาไว้ด้วย โดยเฉพาะมาตรา 4 ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง มาตรา 5 ประชาชนชาวไทยไม่ว่าเหล่ากำเนิด เพศ หรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน จะเห็นได้ว่ามีการรับรองสิทธิมนุษยชนให้แก่บุคคล

                  อีกทั้งตามปฏิญญาสากลว่าด้วย สิทธิมนุษยชนและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งหัวใจสำคัญคือบุคคลย่อมได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมทุกคน โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ศาสนา สีผิว เพศหรืออื่นๆ ทำให้กลุ่มรักร่วมเพศไม่มีสิทธิหน้าที่ระหว่างกันตามกฎหมาย หรืออาจกล่าวได้ว่ากฎหมายไทยไม่รับรองคุ้มครองสิทธิการอยู่ร่วมกันของบุคคล รักร่วมเพศ เช่น ในเรื่องทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน ไม่ถือว่าเป็นสินสมรส ไม่นำหลักเกณฑ์เรื่องสินสมรสมาใช้ แต่ศาลได้แก้ปัญหาดังกล่าวโดยพิพากษาว่าทรัพย์สินที่บุคคลรักร่วมเพศทำมาหา ได้ร่วมกันให้ถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์รวม หรือปัญหาในเรื่องการรับมรดก คู่รักร่วมเพศไม่มีสิทธิรับมรดกของอีกฝ่ายหนึ่ง เพราะไม่อยู่ในฐานะทายาทโดยธรรม[3]

                   บางประเทศมีการออกกฎหมายรองรับการสมรสระหว่างบุคคลเพศเดียวกัน เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน สวีเดน อาร์เจนตินา เบลเยี่ยม แคนาดา ไอซ์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ โปรตุเกส แอฟริกาใต้ สเปน และบางมลรัฐของสหรัฐอเมริกา เป็นต้น ประเทศเดนมาร์ค ฝรั่งเศส เวอร์มอนด์ แคลิฟอร์เนีย เยอรมัน ใช้กฎหมายรับรองการใช้ชีวิตคู่ ส่วนประเทศแคนาดา เบลเยียม สเปน แอฟริกาใต้ นอร์เวย์ สวีเดน โปรตุเกส ไอร์แลนด์ อาร์เจนติน่า ก็มีการแก้กฎหมายแพ่งพาณิชย์ลักษณะครอบครัว เพื่อให้มีการจดทะเบียนสมรสระหว่างคู่รักเพศเดียวกันได้ บางประเทศให้สิทธิเช่นเดียวกับการจดทะเบียนสมรสของชายหญิง เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน เป็นต้น ส่วนบางประเทศเป็นการให้สิทธิบางประการแก่ผู้รักร่วมเพศ และมีข้อจำกัดทางกฎหมายอยู่ ไม่ได้เป็นการเทียบเท่าการจดทะเบียนสมรสแต่อย่างใด เช่น สวีเดน เป็นต้น

อ้างอิง

[1]สิทธิมนุษยชนกับสังคมไทย, สืบค้นข้อมูลวันที่6 พ.ค. 57, http://www.oknation.net/blog/oh-shit/2009/02/16/en...

[2]โทษประหารชีวิต ,สืบค้นข้อมูลวันที่6 พ.ค. 57 , http://elib.coj.go.th/Ebook/data/judge_report/jrp2...

[3]สิทธิผู้ป่วย,สืบค้นข้อมูลวันที่6 พ.ค. 57 http://www.suanprung.go.th/niti/pdf/g_2.pdf

หมายเลขบันทึก: 567549เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2014 15:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2014 15:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท