ปัญหาสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัย/คนหนีภัยความตาย


                  ในความหมายของผู้ลี้ภัยตามอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 หมายถึง บุคคลที่จำเป็นต้องทิ้งประเทศบ้านเกิดของตนเอง เนื่องจากความหวาดกลัวการถูกประหัตประหารหรือได้รับการคุกคามต่อชีวิตเนื่องจากสาเหตุข้อหนึ่งข้อใด เช่น เชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติสมาชิกภาพในกลุ่มทางสังคม สมาชิกภาพในกลุ่มความคิดทางการเมือง ส่วนผู้หนีภัยความตาย คือ ผู้หนีภัยที่เกิดกับชีวิต ทั้งภัยโดยตรง และโดยอ้อม ภัยโดยตรง เช่น ภัยจากการสู้รบ ส่วนภัยความตาย โดยอ้อม ผมแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ ภัยความตายทางกายภาพ ซึ่งเกิดจากการคาดการณ์ได้ว่า ถ้าไม่หนีออกมาจากพื้นที่นั้นจะต้องตาย เช่น เมื่อรู้ข่าวว่ามีกองทหารกำลังจะเข้ามาที่หมู่บ้านและมีข้อมูลว่า หากทหารเข้ามาในหมู่บ้านแล้วจะเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนจนถึงขั้นเสียชีวิต ได้ จึง หนีออกมาก่อนที่ทหารจะมาถึง หรือ กรณีการหนีจากการบังคับเกณฑ์แรงงาน ซึ่งอันที่จริง การเกณฑ์แรงงานไม่ได้เป็นภัยความตายโดยตรง คือ ถ้าถูกยอมให้เกณฑ์แรงงานไปเรื่อย ๆ ก็อาจจะไม่ถูกฆ่าตาย แต่ถ้าหากปฏิเสธไม่ยอมทำงาน ก็มีความเสี่ยงที่จะตายได้ หรือ หากถูกบังคับให้ทำงานแล้วหลบหนีออกมาก็มีข้อมูลว่าคนเหล่านี้จะถูกฆ่าตายได้ เช่นเดียวกับกรณีการถูกบังคับเก็บภาษี หรือการข่มขืน ถ้าหากไม่ปฏิบัติตามก็มีความเสี่ยงที่จะตายได้ นี่เป็นตัวอย่างของภัยความตายทางกายภาพที่เห็นได้ชัด ภัยความตายอีกประเภทหนึ่งคือภัยความตายทางจิตใจ เช่น การข่มขืน เป็นต้น

               สิทธิที่ตามมาจากผู้หนีภัยความตายตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ปฏิญญาสากลที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน รวมไปถึงกติการะหว่างประเทศ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีได้ให้สิทธิต่าง ๆ กับมนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งสิทธิในการดำรงชีวิต สิทธิในการไม่ถูกเลือกปฏิบัติ สิทธิในการทำงาน สิทธิในการรักษาพยาบาล สิทธิในการศึกษา สิทธิในการมีสถานะบุคคล สิทธิในการมีเอกสารพิสูจน์ตน สิทธิเหล่านี้มีอยู่ในกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ ในอีกส่วนหนึ่งก็คือ กฎหมายไทย ถ้าพูดโดยกว้างก็คือ กฎหมาย รัฐธรรมนูญซึ่งให้สิทธิความเท่าเทียมกันเอาไว้ และกระทรวงต่างประเทศของไทยก็พูดไว้ชัดเจนว่า สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยไม่เลือกปฏิบัติ ทุกคน เท่าเทียมกันไม่ว่าจะมีสถานะบุคคลที่ถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย

              นอกจากนี้ ในส่วนของกฎหมายไทย เช่น ประมวลกฎหมายอาญาก็ให้ความคุ้มครองสิทธิในชีวิตของบุคคลเท่ากันไม่ว่าจะถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย ถ้า ถูกทำร้ายร่างกายก็สามารถที่จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้และได้รับการคุ้ม ครองเช่นกัน ในส่วนของกฎหมายหรือนโยบายของรัฐฉบับอื่น ๆ ด้วย เช่น เรื่องสิทธิในการรักษาพยาบาล สิทธิทางการศึกษา ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยก็ได้ให้สิทธิต่าง ๆ เหล่านี้อย่างทั่วถึงโดยไม่จำกัดสถานะบุคคลตามกฎหมาย

              ท่าทีของประเทศไทยตลอดเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ยังมีเรื่องของงบประมาณที่ยังเป็นข้อสำคัญในการจัดการผู้ลี้ภัย ที่ใช้ดูแลผู้ลี้ภัยประมาณ 150,000 คน อยู่ในประเทศไทยเกือบทั้งหมดได้รับการสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศ ทั้ง เรื่องอาหาร ที่พัก การรักษาพยาบาล การศึกษา เสื้อผ้า การดูแลจัดการภายใน รวมถึงเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐในการให้ความช่วยเหลือ ดูแลผู้ลี้ภัย โดยที่องค์กรต่าง ๆ รวมทั้งยูเอ็นเอชซีอาร์ให้การสนับสนุนผ่านทางกระทรวงมหาดไทย ถ้าพูดถึงภาระที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในเรื่องของงบประมาณมีน้อยมาก ดังนั้น ถ้าไทยจะเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยก็ไม่ต้องกังวลเรื่องภาระค่าใช้จ่าย เพราะที่ผ่านมารัฐไทยก็ไม่ได้รับภาระตรงนี้อยู่แล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่า การมีผู้ลี้ภัยอยู่ในประเทศไทยนั้นเป็นภาระของประเทศในเรื่องของพื้นที่และสิ่งแวดล้อม ตรงนี้เป็นภาระที่จะต้องยอมรับ

            หากประเทศไทยเป็นภาคีตัวปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ตัวกฎหมายสิทธิมนุษยชน ฉบับอื่น ๆ ก็จะต้องใช้ฐานคิด คือ ความเท่าเทียมกัน เมื่อผู้ลี้ภัย ก็เป็นมนุษย์เช่นกัน จึงไม่ได้มีความแตกต่างที่ผู้ลี้ภัยจะได้สิทธิต่างๆ เช่นเดียวกับประชาชนในรัฐนั้น เช่น สิทธิการเดินทางโดยเสรี ในประเทศและหากต้องการเดินทางไปต่างประเทศ รัฐที่ดูแลผู้ลี้ภัยอยู่ก็ต้องออกเอกสารเดินทางให้ รวมไปถึงสิทธิทางการศึกษาและสิทธิอื่น ๆ ก็ต้องเท่าเทียมกัน

      [1] "อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย." (1951). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: https://www.unhcr.or.th/sites/default/files/Refugee%20Convention%201951%20(Thai).pdf. สืบค้น 6 พฤษภาคม 2557.

      [2] "พิธีสารเกี่ยวกับสถานภาพผู้ลี้ภัย." (1967). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: https://www.unhcr.or.th/sites/default/files/Refugee%20Protocol%201967%20(Thai).pdf. สืบค้น ุ 6 พฤษภาคม 2557.

หมายเลขบันทึก: 567542เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2014 11:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2014 11:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท