ผู้ประกอบธุรกิจต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนด้วยหรือ


บทความที่ 7 เรื่อง ผู้ประกอบธุรกิจต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนด้วยหรือ?

แม้ว่าในระบบกฎหมายระหว่างประเทศฉบับต่างๆ อันเกิดเนื่องมาจากหลักการของ UDHR นั้น ผู้มีหน้าที่รับรอง ปกป้องและเคารพสิทธิมนุษยชนมีเพียงการบัญญัติถึงรัฐเท่านั้น ซึ่งมิได้มีการกล่าวถึงภาคธุรกิจให้มีหน้าที่รับรอง หรือปกป้องสิทธิมนุษยชน แต่ก็มิได้หมายความว่าเอกชนหรือผู้ประกอบธุรกิจจะสามารถเพิกเฉยต่อสิทธิดังกล่าวหรือกระทำการใดๆโดยมิได้คำนึงถึงผลกระทบที่อาจเป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชน เพียงเพื่อให้บรรลุตามความประสงค์หรือหวังผลทางธุรกิจเท่านั้น หากแต่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคำนึงถึง และเคารพในสิทธิมนุษยชนของบุคคลทุกกลุ่มของสังคม

เนื่องด้วยการประกอบธุรกิจของภาคเอกชนนั้นมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับบุคคลเป็นจำนวนมากหากมีการกระทำการใดๆก็ย่อมส่งผลเป็นวงกว้างต่อประชาชนแทบทุกกลุ่มโดยที่ผลจากการประกอบธุรกิจนั้นแม้จะเกิดผลดีหรือประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่งแต่ก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบแก่บุคคลอีกกลุ่มหนึ่งอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของบุคคลกลุ่มดังกล่าวแม้ว่าผู้ประกอบการจะมีเจตนาหรือไม่มีเจตนาก็ตาม และหากเกิดผลกระทบอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว ผู้ประกอบการไม่อาจปฏิเสธที่จะปัดความรับผิดชอบต่อผู้ต้องเสียหายได้

ตัวอย่างของการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ประกอบธุรกิจ เช่น [1]กรณีงานเปิดตัว Galaxy S4 แฝงการเหยียดเพศด้วยการให้ตัวแสดงหญิงแสดงบทบาทที่สื่อไปได้ว่า เพศหญิงเป็นแค่คนที่ไม่มีความรู้ในเรื่องของเทคโนโลยี แถมยังพูดมาก ใช้คุณสมบัติการสั่งงานด้วยท่าทางของมือถือเป็นก็เพราะว่าเธอต้องรอให้ยาทาเล็บที่ทาไว้แห้งเท่านั้น กรณีเช่นนี้ถือเป็นเรื่องที่อันตรายมาก และถูกวิพากย์วิจารณ์เป็นวงกว้าง จนทำให้ Samsung ต้องออกมาประกาศขอโทษต่อการนำเสนอดังกล่าว

จะเห็นว่าการนำเสนอดังกล่าวของซัมซุงนั้นแสดงออกถึงการเหยียดเพศหญิงว่าไม่มีความสามารถทางเทคโนโลยีเท่ากับเพศชายหรือเพศอื่นๆในสังคมเพราะการมีทัศนคติในเรื่องความสามารถของบุคคลนั้นไม่สมควรเป็นอย่างยิ่งที่จะนำเอาความแตกต่างในเรื่องเพศมาเป็นตัวชี้วัด แม้ว่าคนบางกลุ่มอาจเห็นว่าความกังวลดังกล่าวเป็นเรื่องไร้สาระ แต่เมื่อมองให้ดีจะพบว่าในปัจจุบันแม้นานาประเทศได้ให้การยอมรับแล้วว่าชายหญิงมีความเท่าเทียมกัน แต่ก็ยังมีบุคคลที่มิได้มีความคิดที่เปิดกว้างอย่างที่ควรจะเป็นแต่กลับมีความคิดในเรื่องความแตกต่างทางเพศที่ยังคงล้าหลังและแฝงอยู่ในการกระทำต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่ภาคธุรกิจ อันเป็นการขัดต่อหลักการได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันระหว่างเพศชายและหญิง

การออกมาขอโทษแม้ว่าจะเป็นวิธีการแสดงถึงความรับผิดชอบต่อการกระทำของภาคธุรกิจ แต่ก็เป็นเพียงวิธีการหนึ่งเท่านั้นหาใช่วิธีการที่ดีที่สุดไม่ เพราะวิธีการที่ดีที่สุดที่จะแสดงถึงความรับผิดชอบต่อประชาชน คือการที่ภาคธุรกิจคำนึงถึงประชาชนทุกกลุ่มก่อนที่จะมีการนำเสนอหรือการกระทำเชิงธุรกิจใดๆ เพราะหากต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบโดยการขอโทษก็ย่อมแสดงให้เห็นแล้วว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนไปแล้ว

เขียนเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2557

เอกสารอ้างอิง

[1] ข่าวงานเปิดตัวซัมซุงกาแล็กซีs4 http://news.sanook.com/social/1/social_189377.php สืบค้นเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2557

หมายเลขบันทึก: 567393เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2014 10:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 11:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท