เป้าหมายการเรียนวิชากฎหมายสิทธิมนุษยชน


บทความที่ 1 เรื่อง เป้าหมายการเรียนวิชากฎหมายสิทธิมนุษยชน

มีผู้ให้คำนิยามถึง สิทธิมนุษยชนไว้อย่างแพร่หลาย ดังต่อไปนี้[1]

  • 1.จากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน(Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR) ข้อ 1 ที่ระบุไว้ว่า บุคคลชอบที่จะมีสิทธิและเสรีภาพประดามีที่ระบุไว้ในปฏิญาณนี้ ทั้งนี้โดยไม่มีการจำแนกความแตกต่างในเรื่องใดๆ เช่น เชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความเห็นทางการเมือง หรือทางอื่นใด ชาติหรือสังคมอันเป็นที่มาเดิม ทรัพย์สิน กำเนิด หรือสถานะอื่นใด นอกจากนี้การจำแนกข้อแตกต่างโดยอาศัยมูลฐานแห่งสถานะทางการเมืองทางดุลอาณาหรือทางเรื่องระหว่างประเทศของประเทศ หรือดินแดนซึ่งบุคคลสังกัดจะทำมิได้ ทั้งนี้ไม่ว่าดินแดนดังกล่าวจะเป็นเอกราชอยู่ในความพิทักษ์ มิได้ปกครองตนเองหรืออยู่ภายใต้การจำกัดแห่งอธิปไตยอื่นใด
  • 2.ในกฎบัตรสหประชาชาติได้กล่าวถึงสิทธิมนุษยชนไว้หลายแห่ง เช่นในอารัมภบท ได้กล่าวถึงความมุ่งหมายของสหประชาชาติไว้ว่า “เพื่อเป็นการยืนยันและให้การรับรองถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ในศักดิ์ศรีและคุณค่าของมนุษยชาติ"
  • 3.นักกฎหมายบางท่านมีความเห็นว่า สิทธิมนุษยชนหมายถึงทั้งสิทธิตามกฎหมายและสิทธิที่มิใช่สิทธิตามกฎหมาย ปราชญ์ทางกฎหมายท่านหนึ่งได้กล่าวถึงสิทธิมนุษยชนไว้ว่า
  • “สิทธิมนุษยชน คือสิทธิทั้งหลายซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในประเทศที่มีอารยธรรมว่า เป็นสิทธิพื้นฐานที่จำเป็นในการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีของมนุษย์ และในการพัฒนาบุคลิกภาพของมนุษย์ เป็นสิทธิที่มีการคุ้มครองป้องกันในทางกฎหมายเป็นพิเศษสมกับความสำคัญของสิทธิดังกล่าว

จากคำจำกัดความข้างต้น สิทธิมนุษยชนจึงหมายถึง สิทธิของบุคคลที่พึงมีเนื่องจากความเป็นมนุษย์ โดยไม่จำแนกถึงความแตกต่างใดๆเช่น เชื้อชาติ สีผิว เพศ ศาสนา ความเชื่อ เป็นสิทธิที่มีการรับรองให้ในฐานะที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ในศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่มีความจำเป็นแก่การดำรงชีวิตและการพัฒนาบุคลิกภาพของมนุษย์

จึงสามารถกล่าวได้ว่าสิทธิมนุษยชนนั้นมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเราและมนุษย์ทุกคนตั้งแต่เกิดจนตาย ในฐานะเป็นสิทธิมีติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่กำเนิด ไม่สามารถจำหน่าย แจก จ่าย โอน หรือบังคับให้กับผู้หนึ่งผู้ใดได้อันเป็นสิทธิที่มีความเป็นสากลและเป็นนิรันดร์

ดังนั้นในฐานะที่เราเป็นมนุษย์และเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชน ทั้งนิยามของสิทธิดังกล่าว การจำแนกประเภท กฎหมายที่มีขึ้นเพื่อรับรองสิทธิ ตลอดจนสถาบันที่ให้ความคุ้มครองและส่งเสริมให้สิทธิดังกล่าวสามารถได้รับความเคารพอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

เนื่องจากการมีความรู้ในเรื่องดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่นไม่มากก็น้อยในฐานะเป็นผู้ทรงสิทธิ

อย่างไรก็ตามแม้สิทธิดังกล่าวนี้จะได้รับการรับรองและคุ้มครองให้แก่มนุษย์แล้วแต่ก็ยังมิได้เป็นหลักประกันว่ามนุษย์ทุกคนหรือทุกกลุ่มจะได้รับการปฏิบัติอย่างเหมาะสม หรือได้รับความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน อันเป็นปัญหาที่มีปรากฏโดยทั่วไปไม่ว่าจะในประเทศที่ด้อยพัฒนา ประเทศกำลังพัฒนา ไม่เว้นแม้ประเทศที่พัฒนาแล้ว

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชนเพื่อที่จะป้องกันมิให้เป็นบุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิทั้งยังสามารถให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำแก่บุคคลผู้ถูกละเมิดได้อีกด้วย และเมื่อมองในทางกลับกันความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวจะเป็นการเตือนสติมิให้เราใช้สิทธิจนเกิดการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนของบุคคลอื่น อันจะนำมาซึ่งความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความสงบสุขในสังคม


เขียนเมื่อวันที่ 1พค2557

เอกสารอ้างอิง

[1] ความหมายของสิทธิมนุษยชน https://sites.google.com/site/may00may00may/siththi-mnusy-chn/reuxng-thi1khwam-hmay-khxng-siththi-mnusy-chn สืบค้นเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2557

หมายเลขบันทึก: 567387เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2014 09:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 10:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท