ปัญหาสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยที่เชื่อมต่อกับสังคมโลก


บทความที่ 4 เรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยที่เชื่อมต่อกับสังคมโลก

ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นปัญหาที่ต้องได้รับความสนใจไม่เพียงเฉพาะจากประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น หากแต่เป็นประเด็นที่ทุกประเทศในโลกควรให้ความสนใจ และใส่ใจที่จะเข้าช่วยแก้ไข ในฐานะที่ผู้ถูกละเมิดก็เป็นบุคคลหรือเป็นกลุ่มบุคคลที่เป็นสมาชิกในสังคมโลกด้วยเช่นกัน

โดยปัญหาที่สมควรได้รับความสนใจเพื่อช่วยเหลือและแก้ไขเป็นอย่างยิ่งอีกปัญหาหนึ่งในปัจจุบันคือ ปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮิงยา ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่เป็นผู้ลี้ภัยความตาย ที่มีความเกี่ยวข้องกับประเทศไทยในฐานะที่ประเทศทางผ่านหรือประเทศระหว่างทางในการลี้ภัยจากประเทศต้นทางอันได้แก่ประเทศเมียนม่าร์เพื่อไปยังประเทศปลายทางอันได้แก่ประเทศทางตะวันตก ที่ให้ความยอมรับและคุ้มครองสิทธิของเหล่าผู้ลี้ภัยที่ประสบปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน

ชาวโรฮิงยาคือชาวมุสลิมเชื้อสายบังกลาเทศ ที่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ประเทศเมียนม่าร์ อันจะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างทั้งในด้านชาติพันธุ์และในทางศาสนาที่แปลกแยกไปจากชาวเมียนม่าร์ที่นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในแถบนั้น เหตุที่ทำให้เป็นเช่นนี้เพราะถูกประเทศอังกฤษแบ่งให้เข้ามาอาศัยอยู่ในพม่านับตั้งแต่ที่อังกฤษผนวกพม่าเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดินิยมอินเดียเมื่อร้อยกว่าปีก่อน โดยที่มิได้มีการคำนึงถึงความเหมาะสมในทางชาติพันธุ์และศาสนา จนเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาที่กำลังเกิดในปัจจุบัน

ชาวโรฮิงยาในเมียนม่าร์นั้นโดนกดขี่อย่างหนัก ไร้ซึ่งสัญชาติ ไม่ได้รับการศึกษา ไม่มีงาน ไม่มีอนามัย ไม่มีทรัพย์สิน ไม่มีความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตร่างกาย ทั้งยังถูกเกณฑ์ไปเป็นแรงงานเป็นประจำ เช่นนี้จึงทำให้เหลือทางเลือกเพียงถ้าไม่เสียชีวิตเพราะถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ก็ต้องหลบหนีออกนอกประเทศเช่นที่ได้กระทำอยู่นั่นเอง

จะเห็นว่าชาวโรฮิงยานั้นเป็นมนุษย์กลุ่มหนึ่ง แต่หาได้รับการปฏิบัติจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างเป็นมนุษย์ไม่ เพราะเพียงแค่สิทธิมนุษยชนอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนเมื่อเกิดมาต้องได้รับการรับรอง ส่งเสริม และคุ้มครอง แต่ชาวโรฮิงยากลับถูกละเมิดในทุกทางทั้งสิทธิในการมีชีวิต สิทธิในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิในการได้รับการศึกษา การรักษาพยาบาล สิทธิในทรัพย์สิน หรือแม้กระทั้งสิทธิในทางวัฒนธรรม ที่ควรต้องได้รับการยอมรับจากประเทศเมียนม่าร์แม้ว่ากลุ่มคนกลุ่มนี้จะมีความแตกต่าง แต่ความแตกต่างนั้นหาได้เป็นสาเหตุให้ความเป็นมนุษย์ที่ควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมต้องสูญไปไม่

ตามที่ได้กล่าวไปในตอนต้นแล้วว่าปัญหาดังกล่าวมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับความสนใจไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทยหรือบางประเทศเท่านั้น แต่มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากนานาประเทศ ทั้งจากประเทศเมียนม่าร์อันเป็นประเทศต้นทาง ที่ควรให้การยอมรับและปฏิบัติต่อชาวโรฮิงยาอย่างเป็นมนุษย์ตามหลักสิทธิมนุษยชน และให้การยอมรับว่าชาวโรฮิงยานั้นเป็นพลเมืองของประเทศที่มีต้องได้รับสิทธิต่างๆอย่างที่พลเมืองชาวเมียนม่าร์ควรได้รับ

นอกจากนั้นท่าทีของประเทศที่เป็นประเทศระหว่างทางอย่างประเทศไทย ก็มีความสำคัญ เพราะการส่งกลุ่มคนเหล่านี้กลับประเทศต้นทางในขณะที่ไม่มีการรับรองสิทธิของบุคคลกลุ่มดังกล่าว ก็รังแต่จะทำให้สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มีอยู่แล้วยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น แต่หากจะรับไว้ย่อมต้องมีระบบการจัดการที่ดีเพราะมิเช่นนั้นอาจเกิดปัญหาความวุ่นวายได้เนื่องจากยังมีบุคคลอีกเป็นจำนวนมากที่ยังประสบปัญหาเหมือนเช่นชาวโรฮิงยา หรือแม้แต่ชาวโรฮิงยาเองที่ยังคงมีอยู่อีกเป็นจำนวนมากที่อาจมีการเดินทางลี้ภัยหรืออพยพมายังประเทศไทย


เขียนเมื่อวันที่ 3พค 2557

<p>http://www.cityvariety.com/cityscoop-8587.html</p><p> </p>

หมายเลขบันทึก: 567389เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2014 10:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2014 10:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท