กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย


บทความที่ 6 กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย

สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เกิดมีขึ้นพร้อมกับความเป็นมนุษย์ อันเป็นสิทธิที่รัฐต้องให้ความรับรอง คุ้มครอง และส่งเสริม เพราะหากขาดการกระทำโดยรัฐก็จะทำให้สิทธิเหล่านั้นเป็นเพียงแค่สิทธิที่เป็นนามธรรมที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้จริง และเพื่อเป็นหลักประกันการมีอยู่ของสิทธิดังกล่าวจึงมีการบัญญัติกฎหมายระหว่างประเทศที่มีเกี่ยวข้องกับสิทธิดังกล่าวทั้งหมด 9 ฉบับ ได้แก่

(1) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR)(2) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม(International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights-ICESCR)(3) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบต่อสตรี(Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women-CEDAW)(4) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child-CRC)(5) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกประติบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ(Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination-CERD)(6) อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment- CAT)(7)อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities - CRPD)(8)อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันบุคคลจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ(Convention on the Protection of All Persons from Enforced Disappearance - CED)(9)อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและสมาชิกในครอบครัว (Convention on the Protection of the Rights of Migrants Workers and Member of their Families - MWC)

ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีแล้วทั้งหมด 7 ฉบับ[1] เพื่อรับรองส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไทยทุกคน แต่มีอนุสัญญา2 ฉบับที่ไทยมิได้เป็นภาคี ได้แก่ อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันบุคคลจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับหรือCED และอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและสมาชิกในครอบครัวหรือ MWCจึงเป็นที่น่าสงสัยว่าเพราะเหตุใดประเทศไทยจึงยังมิได้ลงนามในอนุสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าว

โดยในที่นี้ข้าพเจ้าจะขอกล่าวถึงเฉพาะรายละเอียดเกี่ยวกับอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันบุคคลจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (Convention on the Protection of All Persons from Enforced Disappearance - CED)เนื่องด้วยมีความสัมพันธ์กับสถานการณ์สำคัญเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของประชาชนไทย โดยอนุสัญญาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดให้การทำให้บุคคลหายสาบสูญโดยถูกบังคับเป็นฐานะความผิดตามกฎหมายอาญา (เน้นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือการกระทำในนามเจ้าหน้าที่รัฐ) รวมทั้งกำหนดโทษของความผิดดังกล่าว โดยรัฐจะต้องกำหนดให้ตนมีเขตอำนาจศาลเหนือความผิดฐานกระทำให้บุคคลหายสาบสูญโดยถูกบังคับ ถึงแม้ว่าบุคคลที่หายสาบสูญ หรือบุคคลที่ประกอบอาชญากรรมดังกล่าวจะไม่ใช่คนชาติของตน และการทำให้หายสาบสูญก็มิได้เกิดขึ้นในดินแดนของรัฐตน ทั้งนี้ คำสั่งของผู้บังคับบัญชาจะไม่สามารถยกขึ้นเป็นข้ออ้างสำหรับการกระทำให้บุคคลหายสาบสูญได้ นอกจากนี้ ยังกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ปฏิบัติอย่างเป็นธรรมและจัดให้เหยื่อและสมาชิกในครอบครัวได้รับการเยียวยาและชดเชยอย่างเหมาะสมอนุสัญญาฯ ดังกล่าวมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2553 โดยมีประเทศที่ลงนามแล้ว 88 ประเทศ และเข้าเป็นภาคีโดยการให้สัตยาบันแล้ว 23 ประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 21 มีนาคม 2554)

เมื่อพิจารณาจะพบว่าเนื้อความของอนุสัญญาฉบับดังกล่าวนั้นมีความเกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยหลายเหตุการณ์ เช่น [3]การถูกทำให้หายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายผู้เป็นเบื้องหลังของคดีสำคัญหลายคดี โดยเฉพาะคดีทางภาคใต้ที่ประชาชนถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับ “การก่อการร้าย” ผู้สามารถทำความจริงให้ปรากฏจนจำเลยพ้นจากข้อหาได้เกือบทุกคดี หรือกรณีการหายตัวไปของนายพอละจี หรือ[2] “บิลลี่” รักจงเจริญนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน แกนนำกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย และเป็นสมาชิก อบต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นที่น่าสงสัยว่าการหายตัวหรือถูกทำให้หายตัวไปของบุคคลดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะเมื่อพิจารณาจะพบว่าบุคคลทั้งสองนั้นเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน

เพื่อแสดงให้ประชาคมระหว่างประเทศทราบถึงเจตนารมณ์และความตั้งใจจริงของรัฐบาลไทยที่จะแก้ไขปัญหาการบังคับให้บุคคลสูญหาย รัฐบาลไทยก็ควรพิจารณาเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาดังกล่าวต่อไป

เขียนเมื่อวันที่ 3พ.ค.2557

เอกสารอ้างอิง

[1]ตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ไทยเป็นภาคี

http://www.mfa.go.th/humanrights/human-rights-conventions สืบค้นเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2557

[2]การพิจารณาลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย

 http://www.ryt9.com/s/cabt/1251409สืบค้นเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2557

[3] การหายตัวไปของทนายสมชาย   นีลไพจิตร http://somchaiaward.wordpress.com/2007/03/06/2nd_1/

http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php สืบค้นเมื่อวันที่ 3พ.ค. 2557

หมายเลขบันทึก: 567392เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2014 10:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 11:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท