CSR


ความเป็นมาของ CSR

          ความเป็นมาของ CSR นั้น มีมานานกว่า 200 ปีแล้ว แต่สมัยนั้นยังไม่มีบัญญัติคำว่า CSR ขึ้นใช้อย่างเป็นทางการ และการทำ CSR ขององค์กรในยุคนั้นโดยมากไม่ได้เกิดจากเจตนารมณ์ที่ดีขององค์กรที่จะทำสิ่งที่ดีตอบแทนสังคม แต่ทำเพราะเกิดปัญหาขึ้นในองค์กร ทำ CSR เพื่อแก้ปัญหาและเสริมสร้างภาพลักษณ์องค์กรให้ดีขึ้น

          อย่างไรก็ตามจุดกำเนิดของ CSR ส่วนหนึ่งก็มาจากการเรียกร้องของสังคมต่อการกระทำที่มุ่งเน้นผลกำไรมากเกินไปของภาคธุรกิจ เช่น ครั้งหนึ่งใน พ.ศ. 2527 (ค.ศ.1984) บริษัทเนสท์เล่ ผู้ผลิตและจำหน่าย ผลิตภัณฑ์นม ได้ออกกิจกรรมรณรงค์ให้เด็กทารกดื่มนม เนสท์เล่ แทนนมแม่ ก่อให้เกิดความไม่พอใจอย่างมากต่อประชาชน จนคว่ำบาตรสินค้าของ เนสท์เล่ ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่ประชาชนรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก เพื่อบีบให้องค์กรยักษ์ใหญ่ อย่าง เนสท์เล่ เปลี่ยนนโยบาย ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายต่อหลายครั้งกิจกรรมเพื่อสังคมของภาคธุรกิจต่างๆเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาหรือเกิดขึ้นมาภายหลังจากที่เกิดปัญหาขึ้นแล้วเรียกว่าเป็น Responsive CSR หรือ การทำ CSR แบบตอบสนอง

          ต่อมาหลายบริษัทจะพบว่า การรอให้เกิดปัญหา การประท้วงเรื่องแรงงาน สิ่งแวดล้อมฯลฯ ก่อน แล้วจึงค่อยหันมาใส่ใจประเด็นเหล่านี้ ไม่เป็นผลดีอีกต่อไป ทำไมไม่เป็นฝ่ายรุก หันมาดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ที่เรียกว่า Creative CSR พยายามแสดงตนว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และมีความปรารถนาที่ดีที่จะทำสิ่งดีดีตอบแทนสังคมที่ตนอยู่(Corporate Citizenship)

          จึงกล่าวได้ว่าจุดกำเนิดของแนวคิด CSR ส่วนหนึ่งมาจาก การเฝ้าระวังของประชาชนในฐานะผู้บริโภคที่พิทักษ์สิทธิของตนเอง ดังที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า แนวคิด CSR เริ่มต้นขึ้นจากการเกิดผลกระทบในแง่ลบจากการพัฒนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องสิ่งแวดล้อม ทั่วโลกเริ่มเป็นห่วงสภาวะสิ่งแวดล้อมที่ย่ำแย่ ประกอบกับการเรียกร้องของกลุ่มองค์กรที่เคลื่อนไหวปกป้องสิ่งแวดล้อมเริ่มมีการพูดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน และเริ่มมีการนำวาระเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าไปบรรจุในการประชุมของกลุ่มองค์กรธุรกิจ รวมไปถึงองค์กรระดับโลกต่าง ๆ มากขึ้น เช่น การประชุมระดับโลกว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (World Commission on Environment and Development) ในปี 1987 ที่กล่าวถึงเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development : SD) ซึ่งเป็นการพัฒนาที่มุ่งเน้นการสร้างสมดุลใน 3 มิติ ได้แก่ มิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เพราะการพัฒนาทุกด้านล้วนมีความเกี่ยวเนื่องกัน เป็นต้น

          ปี 1989 หลังเกิดเหตุการณ์เรือบรรทุกน้ำมันดิบของ Exxon Waldez ล่ม บริเวณทะเลอาลาสกา ทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์น้ำในทะเลแถบนั้นเป็นวงกว้าง กลุ่มธุรกิจการลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsible Investment - SRI) ซึ่ง Exxon เป็นหนึ่งในนั้น จึงรวมกันบัญญัติกฎ 10 ประการที่เรียกว่า Waldez Principle ซึ่งกำหนดแนวปฏิบัติขององค์กรให้มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ต่อมาได้เรียกชื่อใหม่เป็น CERES Principle กลุ่มธุรกิจ SRI นี้มีอัตราเติบโตสูงมากในช่วงปี 1999-2001 มีอัตราเติบโตสูงถึงร้อยละ 36 มีมูลค่าการลงทุนในสหรัฐอเมริกามากถึง 17.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ จึงมีบทบาทอย่างยิ่งต่อการผลักดันกระแส CSR ให้ธุรกิจที่ตนเองถือหุ้นอยู่นั้นให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น ทั้งในเรื่องสิทธิมนุษยชน สวัสดิการแรงงานชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม

          ต่อมา ก็มีการประชุมที่พิจารณาประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมอีกหลายครั้ง อาทิ การประชุมระดับโลกที่ว่าด้วยการลดการใช้สาร CFCs อันเป็นที่มาของพิธีสารมอนทรีออ เมื่อปี 1987 การประชุมสิ่งแวดล้อมโลก ณ กรุงริโอ เดอ จาเนโร ปี 1992 หลังการประชุมระดับโลก (Earth Summit) ครั้งแรกที่กรุงริโอเดจาเนโร ประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างก็เริ่มตื่นตัวกับแนวคิด “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งเป็นทิศทางใหม่ของการพัฒนาที่ไม่ใช่มุ่งเน้นแต่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงในเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย ในขณะเดียวกัน ก็เริ่มมีกระแสกดดันองค์กรธุรกิจให้คำนึงถึงเรื่องดังกล่าวด้วยเช่นกัน

          เมื่อปี 1996 การประชุมสร้างมาตรฐานสากลในการจัดการสิ่งแวดล้อมภายใต้อนุกรม ISO 14001 เมื่อปี 1996 และการประชุมสุดยอดผู้นำเกี่ยวกับสภาวะในชั้นบรรยากาศโลก ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 1997 ที่เป็นที่มาของพิธีสารเกียวโต เป็นต้น

          ในเวทีขององค์การสหประชาชาติ ก็เริ่มมีการพูดถึงเรื่องความรับผิดชอบขององค์กรมากขึ้นเรื่อยๆ และในปี 1999 (2542) ก็เป็นปีที่ทำให้ แนวคิด CSR ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น เนื่องจาก ในการประชุม World Economic Forum ประจำปีนั้น นายโคพี่ อันนัน (Cofi Annan) เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้เรียกร้องให้องค์กรธุรกิจในทุกประเทศแสดงความเป็นพลเมืองดีด้วยมีสำนึกรับผิดชอบมากขึ้นโดยพร้อมกันนี้ได้เสนอข้อบัญญัติ 9 ประการ ที่เรียกว่า “The UN Global compact” ซึ่งแบ่งเป็น 3 หมวดหลัก คือ หมวดสิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน และสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย

หมวดสิทธิมนุษยชน:

1. สนับสนุนและเคารพหลักสิทธิมนุษยชนที่ประกาศในระดับสากล

2. ดูแลไม่ให้มีการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนในธุรกิจของตน

หมวดว่าด้วยมาตรฐานแรงงาน:

3. สนับสนุนเสรีภาพในการรวมกลุ่มของแรงงานและยอมรับอย่างจริงจังต่อสิทธิในการเจรจาต่อรองของแรงงานที่รวมกลุ่ม

4. ขจัดทุกรูปแบบของการบังคับใช้แรงงาน

5. ยกเลิกการใช้แรงงานเด็กอย่างเป็นผล

6. กาจัดการเลือกปฏิบัติในการว่าจ้างแรงงานและอาชีพ

หมวดกากับสิ่งแวดล้อม:

7. สนับสนุนการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม

8. จัดทำกิจกรรมที่มีส่วนส่งเสริมให้มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

9. ส่งเสริมการพัฒนาและการใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

หัวข้อที่เพิ่มขึ้นภายหลัง:

10. ต่อต้านการทุจริตและต่อมาได้เพิ่มข้อบัญญัติเรื่องการต่อต้านการคอรัปชั่นไว้ด้วย

          ในระยะต่อมาได้มีการนำประเด็นสังคมมาพิจารณาควบคู่กับสิ่งแวดล้อม ดังจะเห็นได้จาก Global Compact ขององค์การสหประชาชาติเป็นแนวทางในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในเรื่องพื้นฐาน ได้แก่ สิทธิมนุษยชน แรงงาน สิ่งแวดล้อม และการต่อต้านการทุจริต คอรัปชั่น

          ปี 2000 กระแสของโลกในเรื่อง CSR เริ่มจริงจังและรุนแรงยิ่งขึ้น โดยองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD – Organization for Economic Cooperation and Development ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศพัฒนา แล้วที่ยอมรับระบบประชาธิปไตยและเศรษฐกิจการค้าเสรี มีประเทศสมาชิก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และประเทศในสหภาพยุโรป ได้ออกแนวปฏิบัติสำหรับบรรษัทข้ามชาติ หรือที่เรียกว่า OECD-Consensus ซึ่งแนวปฏิบัตินี้มีการปรับปรุงโดยเน้นในเรื่อง CSR อย่างเข้มข้น มีการเสนอแนะให้บรรษัทข้ามชาติทำธุรกิจกับคู่ค้าทั่วโลกเฉพาะที่มี CSR เท่านั้น ธุรกิจใดไม่ทำ CSR ก็จะส่งสินค้าไปขายให้บรรษัทข้ามชาติเหล่านี้ไม่ได้ (รพีพรรณ วงศ์ประเสิรฐ, 2551, น.32-34) องค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development : OECD) ได้มีการออกแบบแนวปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคมสำหรับบริษัทข้ามชาติ และในปี 2002 องค์กรมาตรฐานระหว่าประเทศ (International Organization for standardization ) ได้ดำเนินการพัฒนามาตรฐานเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม (ISO 26000) ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้ในปี 2010

           จะเห็นได้ว่า ความคิดเรื่องความรับผิดชอบขององค์กรต่อสังคม ได้รับการตอบรับจากหลายฝ่าย มีความพยายามวางมาตรการต่าง ๆ มากมายเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง จนกระทั่งมีการวางมาตรฐานสำหรับองค์กรในการดำเนินการอย่างรับผิดชอบต่อสังคม ออกมาเป็น ISO 26000 ในปี 2010 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าองค์กรต่างๆเริ่มเห็นความสำคัญของการนำเอาแนวทาง CSR มาปฏิบัติในองค์กรของตนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มาตรฐานความรับผิดชอบ ISO/CD 26000 นี้ แตกต่างออกไปจากมาตรฐานอื่น เนื่องจากเป็นเพียงแนวทางการปฏิบัติอย่างกว้าง ๆ เท่านั้น ที่องค์กรอาจพิจารณานำไปปฏิบัติ ในการดำเนินงานเพื่อเพิ่มเติมและดำเนินการกิจการของตน ด้วยความสมัครใจ ไม่ได้มีการบังคับแต่อย่างใด

           สรุป จากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับองค์กรในอดีตจึงเป็นจุดกำเนิดของการนำ CSR มาใช้ในการแก้ปัญหาต่างๆ ในองค์กร การนำ CSR มาใช้เพื่อสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรให้ดีขึ้นต่อมาการนำ CSR มาใช้กับองค์กรต่างๆ มีมากขึ้น ผู้คนในสังคมทุกกลุ่มเกิดความตระหนัก และหันมาสนใจถึงคุณธรรมความรับผิดชอบในการดำเนินธุรกิจ โดยความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ซึ่ง เป็นตัวบ่งชี้ความมีคุณธรรม จริยธรรมของผู้ดำเนินธุรกิจ ส่วนประเทศไทยแนวคิดเรื่อง CSR ได้ถือกำเนิดขึ้นมาเป็นเวลายาวนาน ในรูปของการทำบุญ การบริจาคเพื่อการกุศล หรือการอาสาช่วยเหลืองานจากการบริจาค ปัจจุบันองค์กรต่างๆได้นำ CSR มาใช้ในการปฏิบัติงานขององค์กร การเพิ่มศักยภาพการทำงานที่มีคุณภาพ ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และ สิ่งแวดล้อมจากภายในตัวองค์กร และ ทำงานอย่างมีการประสานทรัพยากรกับภาคประชาสังคม สู่การพัฒนาที่อย่างยั่งยืนมากขึ้น กว่าการให้ภาคธุรกิจจัดสรรงบประมาณและบริจาคให้สังคมซึ่งเป็นหนทางที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสู่ความยั่งยืนและสร้างสุขภาวะที่แท้จริงในสังคม

อ้างอิง

ปารีณา ประยุกต์วงศ์. (2551). CSRและนวัตกรรมการลงทุนทางสังคมของภาคธุรกิจในประเทศไทย. สืบค้น 21 เมษายน                  2557, จาก http://www.oknation.net/blog/guidelife/2008/09/09/entry-2

พิพัฒน์ นนทนาธรณ์. (2553). การจัดการความรับผิดชอบของสังคมต่อองค์กร (พิมพ์ครั้งที่ 1). นนทบุรี:

           บริษัท ธิงค์ บียอนด์ บุ๊ค จำกัด

ความเป็นมาของ CSR และการนำไปใช้. สืบค้นเมื่อ 17 เมษายน 2557, 

           จาก http://arcm.rmu.ac.th/kmcorner/wp-content/uploads/2012/07

คำสำคัญ (Tags): #csr
หมายเลขบันทึก: 567143เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2014 13:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤษภาคม 2014 13:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

-สวัสดีครับ

-ช่วงนี้ได้ยินคำว่า CSR จากสื่อบ่อย ๆ 

-ขอบคุณสำหรับข้อมูลนะครับ..

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท