“ชอบกดไลค์ ใช่กดแชร์” การใช้ Social Networking Site ในการเรียนการสอนภาษา


สวัสดีค่ะ

ไม่ว่าไปไหนทุกวันนี้จะสังเกตได้ว่าการเข้าสังคมยุคปัจจุบันไม่ใช่แค่การพบปะสนทนาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันระหว่างบุคคล ต่างคนต่างมีอุปกรณ์สื่อสารของตนเองอยู่ในมือ คุยกับเพื่อนไปด้วย นิ้วก็จิ้มๆ ปาดๆ สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ตไปด้วย

ไม่เว้นแม้แต่ในห้องเรียน เมื่อสองปีก่อนอาจเคยเห็นโฆษณาที่ครูทำโทษนักเรียนที่คุยโทรศัพท์หรือเล่นสมาร์ทโฟนในห้อง 

ตอนนี้มันห้ามไม่ได้แล้ว  ไหนๆก็ห้ามไม่ได้ก็ให้ใช้ไปด้วยเลย ดีกว่านั่งคุยแข่งครู....

.....ในความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนคิดว่า เราคงจำกัดการใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บแล็ต เพื่อการติดต่อสื่อสาร โดยเฉพาะผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ได้ยาก การใช้สื่อสังคมออนไลน์นั้นนับวันยิ่งสะดวกและมีลูกเล่นเพิ่มขึ้นต่างๆ นานา ให้ผู้ใช้ได้ติดตาม รับข้อมูลข่าวสารและติดต่อกับเพื่อนฝูงครอบครัว และการแชร์ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ก็เกี่ยวข้องกับการเรียนและการทำงานในชีวิตประจำวัน 

ในมิติของการสื่อสารส่วนบุคคลนั้นก็มีการพูดถึงมารยาททางสังคมออนไลน์กันอย่างกว้างขวางแล้ว ดิฉันก็เคยเขียนบล็อกเรื่องนี้ไปแล้ว  (ตามอ่านได้ที่: http://www.gotoknow.org/dashboard/home#/posts/440857 

ในด้านการศึกษา โดยเฉพาะการเรียนภาษาอังกฤษ มีเพจที่เราเข้าไปกดไลค์(Like) และติดตาม (Following) เพื่อเรียนภาษาอังกฤษได้มากมาย ที่ดิฉันติตตามเองคือ อาจารย์อดัมAdam Bradshaw ดังนั้น เวลาเช็คเฟสนอกจากจะได้เห็นเรื่องราวเพื่อนๆ แล้ว ก็ได้รับความรู้ภาษาอังกฤษไปด้วย https://www.facebook.com/ajarnadam?fref=ts

ในบริบทการเรียนการสอนในห้องเรียน ดิฉันเป็นครูสอนภาษาอังกฤษและมีความสนใจในการใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศในการเรียนการสอน ได้ลองใช้มาหลายเครื่องมือ ตั้งแต่Email /Chat /Blog /Wiki/Youtube/Twitter/Facebook และการจัดทำe-learning โดยใช้เครื่องมือ LMS อย่างMoodle ประกอบการสอนในชั้นเรียนทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโทมาแล้ว พบว่า สื่อสังคมออนไลน์ที่มีความสะดวกและเป็นที่นิยมของนักเรียน นิสิต นักศึกษา คือFacebook นิสิตเองก็ให้ความร่วมมืออย่างดีและมีส่วนร่วมในกิจกรรม เรามาดูกันว่าถ้าอยากจะใช้สื่อสังคมออนไลน์ประกอบการเรียนการสอนภาษา จะมีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง และเราควรจะวางแผนอย่างไรในการใช้สังคมออนไลน์กับผู้เรียน ข้อมูลเหล่านี้รวบรวมมาจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องและประสบการณ์ตรงค่ะ

Social Networking Service(SNS) คืออะไรตามความหมายของ วิกิพีเดียแล้ว ให้คำนิยามว่า เป็นช่องทางหรือเป็นสื่อกลางสำหรับการสร้างเครือข่ายสังคมระหว่างบุคคลที่มีความสนใจคล้ายคลึงกัน บริการสื่อสังคมออนไลน์ทั่วไปนั้นเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานได้แสดงออกทางความคิด แชร์ความคิดเห็น แบ่งปันความสนใจ การทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นที่เชื่อมโยงถึงกันภายในกลุ่มเครือข่ายผ่านระบบอินเตอร์เน็ต

บอยด์และอัลลิสัน(Boyd and Allison, 2007) ได้กล่าวไว้ว่า ในสื่อสังคมออนไลน์นั้นผู้ใช้สามารถจะสร้างProfile หรือข้อมูลส่วนบุคคลของตนเองให้เป็นแบบสาธารณะ กึ่งสาธารณะ หรือปิดกั้นเฉพาะกลุ่มก็ได้ ในความคิดเห็นของดิฉัน การใช้SNS นั้นจำเป็นจะต้องเชื่อมโยงกับผู้อื่นหรือหน้าเพจอื่นๆ เพื่อให้เกิดกิจกรรมและการเคลื่อนไหวในเพจของตนเอง จึงเป็นลักษณะประการหนึ่งที่สื่อออนไลน์อื่นๆ ไม่มี เปรียบเทียบกับ Blog แล้ว ถ้าเราไม่ได้เข้ามาเพิ่มบันทึกในBlog ของเราก็จะไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ สื่อสังคมออนไลน์จึงเป็นการรับข้อมูลข่าวสารภายในกลุ่มและทราบถึงพฤติกรรมของบุคคลในกลุ่มและผู้ที่เกี่ยวข้องต่อข้อมูลข่าวสารนั้นๆ อีกด้วย

ในประเทศไทยพบว่าสื่อสังคมออนไลน์ที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดคือFacebook, Twitter, Socialcam, LinkedIn และPantown

ที่มา จากhttp://courtneylambert.co/top-social-media-sites-in-southeast-asia-2013

หลายคนคงคุ้นเคยกับFacebook มากที่สุด จึงจะขอยกถึงส่วนประกอบของ Facebook ที่เราสามารถเอามาจัดการเรียนการสอนได้ เด็กๆ มัยนี้เล่นเฟสกันคล่องแคล่วมากกว่าครูอีก ไหนๆ ก็เช็คเฟสกันเป็นกิจวัตรประจำวันกันแล้ว เราก็เอาวิชาที่เราเรียนเราสอนนี่แหละ ไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเด็ก (ชีวิตครู) ด้วยดีไหม

การจัดกิจกรรมโดยใช้ Facebook Group

ตัวอย่างการจัดกิจกรรมในห้อง เน้นการสอนทักษะการเขียน มีดังต่อไปนี้

1. ครูต้องสร้างกลุ่มขึ้นมาก่อนหรือให้หัวหน้าห้องสร้างกลุ่ม และเชิญชวนนักเรียนคนใดคนหนึ่งให้เข้ากลุ่ม โดยปกติแล้ว นักเรียนจะเป็นเพื่อนกันใน FB อยู่แล้ว นักเรียนคนหนึ่งสามารถส่งคำเชิญเข้ากลุ่ม ใน FB ต่อๆ กันจนครบทุกคน หลังจากนั้นต้องตั้งสถานะให้เป็นกลุ่มปิด Closed group เพื่อกันไม่ให้คนนอกกลุ่มเข้ามาฝากโฆษณาต่างๆ

2. ตั้งกฏ กติกา มารยาท ของกลุ่มนักเรียนและครูต้องเคารพในการแสดงความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่โพสดูหมิ่นหรือเสียดสีผู้อื่น ครูต้องคอยควบคุมให้การใช้ภาษาในโพสให้มีความสุภาพ และเหมาะสมกับสถานการณ์ไม่ควรโพสบ่อยเกินไป ควรเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมเท่าเทียมกัน

3. ให้นักเรียนโพสแนะนำตัว อาจจะใส่รูปที่ตนเองชอบและเขียนบรรยายตัวเองสั้นๆ เพื่อนสามารถเข้าไปกดไลค์ แสดงความคิดเห็นได้ แต่อย่าลืมกติกาข้างบน

2. ครูเริ่มโพสหัวข้อในการสนทนาในกลุ่ม อาจจะเริ่มจากเพลง โดยใช้ Youtube ที่กำลังได้รับความนิยม Link ข่าวเกี่ยวกับคนดัง ข่าวบ้านเมือง หรือบทความที่ผู้เรียนสนใจและมีพื้นความรู้มาก่อนแล้วและเชิญชวนให้นักเรียนแสดงความคิดเห็น

3. ครูอาจให้คะแนนเล็กๆ น้อยๆ ในกิจกรรม โดยที่ครูตั้งคำถามปลายเปิด (open ended question)ให้นักเรียนเข้ามาตอบภายในเวลา 1 ชม. โดยการพิมพ์ภาษาอังกฤษเป็นข้อความสั้นๆ นักเรียนสามารถกดไลค์คำตอบของเพื่อนได้ โดยกติกาคือ ผู้ที่ตอบคำถามโดยใช้ประโยคถูกต้องและได้ใจความ อ่านแล้วชอบใจ ใครที่มีผู้กดไลค์มากที่สุดจะเป็นผู้ที่ได้รับคะแนนมากที่สุด **ครูอาจหยิบตัวอย่างการโพสตอบที่ดี เขียนถูกต้องได้ใจความ มายกย่องในห้อง เป็นกลวิธีการ praise ตัวอย่างที่ดี ให้คนอื่นเห็นและทำตาม หรือปรับปรุงการโพสของตนเองให้ดีขึ้น**

4.ให้นักเรียนแบ่งเป็นกลุ่มและโพสหัวข้อในการสนทนา โดยสมาชิกกลุ่มเข้าโพสแสดงความคิดเห็นในหัวข้อของกลุ่มตนเองก่อน การโพสแสดงความคิดเห็นแต่ละคนนี้ เป็นประโยชน์ต่อนักเรียนที่ขี้อาย ในห้องอาจพูดไม่ทันเพื่อน นักเรียนได้ใช้เวลาคิดและดูว่าผู้อื่นตอบอะไร แล้วจึงประมวลความคิดของตนเอง นักเรียนอาจโพสแสดงความคิดเห็นข้ามไปที่เรื่องของกลุ่มอื่นได้

5. ครูมอบมายให้นักเรียนทำโครงงาน อาจเป็นการสำรวจโดยใช้เครื่องมือแบบสอบถามของ FB หรือ แบบสอบถามของ Google Form เช่น สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับโรงอาหารของโรงเรียน และเชิญให้สมาชิกให้ห้องเรียนเข้าทำแบบสอบถาม และสามารรถฝากข้อคิดเห็นไว้ใช่อง comment

5. นักเรียนสรุปการทำโครงงานและนำเอกสารขึ้นเผยแพร่ในกลุ่ม พร้อมมีคลิปวิดีโอ หรือ รูปภาพประกอบ ครูและนักเรียนร่วมกันให้คะแนน แบ่งเป็น เนื้อหา ความถูกต้องของภาษา การใช้สื่อผสม

6. เมื่อสิ้นสุดการจัดกิจกรรมทั้งหมดให้นักเรียนโพสแสดงความคิดเห็นต่อการเรียนการสอนที่ใช้ FB เป็นฐาน


กิจกรรมข้างต้น อาจจัดเป็นกิจกรรมเสริมจากการเรียนปกติในห้องเรียน อย่าลืมว่าผู้เรียนต้องมีทักษะทางภาษาโดยเฉพาะด้านการเขียน โครงสร้างประโยคและคำศัพท์พอสมควรก่อนที่จะเขียนแสดงความคิดเห็น

นอกจากนั้นมี FB มีบริการที่เรีกว่า Note ซึ่งนักเรียนสามารถเขียนเรื่องราวต่างๆ และแบ่งปันให้ผู้อื่นอ่านได้ กิจกรรมอาจใช้เป็นการเขียนไดอารี่ เขียนความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ที่กำลังเป็นที่นิยมหรือสนใจในสังคม
ครูอาจมอบให้นิสิตเขียนนอกเวลาเพื่อเพิ่มความคล่องแคล่วในการเขียน และเป็นการติดตามพัฒนาการของทักษะการเขียนแต่ละบุคคลได้

ข้อดี ข้อเสีย ของการใช้ Facebook

ข้อดี

  • -นักเรียนส่วนใหญ่มีความรู้เกี่ยวกับการใช้สังคมออนไลน์อยู่แล้ว ใช้กันแทบทุกคนทุกวันเป็นช่องทางการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ สามารถแจ้งข่าวได้ทั่วถึง
  • -กิจกรรมเน้นการสื่อสารโดยใช้ข้อความเป็นหลัก ทำให้เห็นหลักฐานการใช้ภาษา สิ่งที่นักเรียนเขียนเป็นทั้ง input และ output ของการเรียนการสอน
  • -มีผู้อ่านที่หลากหลาย คนๆหนึ่งเขียนเห็นทั้งห้อง ไม่ใช่แต่ครู อาจแชร์ให้สังคมอื่นได้รับทราบข้อมูลด้วย
  • -นักเรียน ครู ได้มีปฏิสัมพันธ์กันทางตัวอักษรอย่าสม่ำเสมอ ตรวจสอบได้ว่าใครเข้าร่วมกิจกรรมเมื่อไหร่ เวลาใด บ่อยแค่ไหน
  • -เชื่อมโยงกับสื่ออื่นๆ ได้อย่างง่ายดาย โดยการใช้ Link หรือการวางเนื้อหาที่ได้มาจากหน้าเว็บอื่นๆ สามารถทราบที่มาของแหล่งข้อมูล
  • -นักเรียนได้เขียนอย่างมีจุดมุ่งหมาย เป็นการเขียนเพื่อการสื่อสารโดยแท้จริง
  • -เสริมแรงจูงใจในการใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันได้ตามกระแสนิยมสังคมออนไลน์
  • -ครูและนักเรียนเข้ามาทำกิจกรรมได้ไม่จำกัดเวลาและสถานที่ ประหยัดทรัพยากร ไม่ต้องเดินทางหรือใช้ห้องเรียน ประหยัดกระดาษ

ข้อเสีย หรือข้อจำกัด

  • -ครูต้องใช้เวลานานในการวางแผนบทเรียนกิจกรรม รวมถึงการวัดและประมวลผล
  • -อาจเป็นช่องทางในการค้าขาย การสร้างความสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสม ระหว่างครู ระหว่างนักเรียน (Simon, 2008)
  • -อาจเป็นอันตรายต่อข้อมูลส่วนตัวที่ไม่ตั้งใจเปิดเผย
  • -ครูและนักเรียนอาจไม่มีเครื่องมือและเครือข่ายอินเตอร์เน็ตสำหรับใช้ FB
  • -ครูเองไม่ทราบหรือไม่คุ้นเคยกับการใช้สังคมออนไลน์ในการเรียนการสอน (Richard et al., 2008)
  • -ทำให้นิสิตเสียสมาธิ มีสิ่งล่อใจให้สนใจเรื่องอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอน เช่น การแชท หรือเล่นเกม
  • -นักเรียนมีแนวโน้มที่จะคัดลอกงานจากแหล่งอื่นๆ โดยการ copy-paste

สรุปแล้ว ข้อดีและข้อเสียข้างต้นก็เป้นสิ่งที่ครูต้องพิจารณาก่อนนำสังคมออนไลน์เข้ามาในห้องเรียน สื่อสังคมออนไลน์เปิดโอกาสให้เชื่อมโยงการเรียนกับโลกแห่งความเป็นจริง แต่ก็ควรสะท้อนจุดมุ่งหมายของวิชาและจุดประสงค์ของการเรียนการสอนด้วย (Yunus, Salehi, and Chenzi, 2012) 

ส่วนตัวดิฉันเองนำเข้ามาใช้หลายครั้งแล้ว มีข้อสังเกตุในการใช้คือ ต้องใช้เสริมการเรียนการสอนหลักในห้อง เราคงจะสอนกันทางเฟสบุ๊ค 100 เปอร์เซนต์คงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นหากใครสนใจเริ่มใช้ควรลองทำกิจกรรมเล็กๆ เสริมในห้องก่อน แล้วดูความเป็นไปได้ว่าทั้งครูและนักเรียนพร้อมหรือไม่ จะต้องเตรียมกิจกรรมอย่างไร


อ้างอิง 

ฺฺBoyd, D.,& Eliison N.(2007). Social Network sites: Definition, History and scholarship. Journal of Computer-Mediated Communication, 13(1), 210-230. 


Richard, P.R., Cobo, P.,Fortuny, J.M. & Hohenwarter, M. (2008). Training teachers to manage problem-solving classes with computer support. In J. Luca, & Weippl (Eds.), Proceedings of World Conference on Educational Multimedia, Hypermedia and Telecommunications. pp. 3520-3530. Chesapeake, VA: AACE.


Wikipedia. (2010). Social networking service. http://en.wikipedia.org/wiki/Social_networking_ser...

Melor Md Yunus, Hadi Salehi, & Chen Chenzi. (2012) Integrating Social Networking Tools into ESL Writing Classroom: Strengths and Weaknesses. English Language Teaching, 5(8), 42-48.

หมายเลขบันทึก: 567135เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2014 12:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 ตุลาคม 2014 16:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณที่แบ่งปันครับ การเลือกใช้สื่อสังคมออนไลน์ให้ถูกวิธีจำเป็นต้องพิจารณาทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยเฉพาะการได้อยู่กับปัจจุบันขณะซึ่งลดลงครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท