ฉบับที่ ๓๒ การสร้างคุณค่าจากงานประจำ


ผู้เขียน นำเรื่องเล่าของคุณ ราณี เตโช ซึ่งเขียนส่งมาที่ศจย. ในโครงการประกวดเรื่องเล่าประสบการณ์การทำงานช่วยคนเลิกบุหรี่ พ.ศ.2555 จึงนำมาถ่ายทอดเพื่อเป็นตัวอย่างของการทำงานที่ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค

เรื่องเล่า การสร้างคุณค่าจากงานประจำ

โดยคุณ ราณี เตโช พนักงานสร้างสุขภาพชุมชนโรงพยาบาลเรณูนคร

 

ข้าพเจ้าเป็นพนักงานสร้างสุขภาพชุมชน ของโรงพยาบาลเรณูนคร ซึ่งมีหน้าที่บริการด้านสาธารณสุขในชุมชนเป็นประจำข้าพเจ้าได้รับการส่งต่อจากคลินิกความดันโลหิตสูงให้ออกติดตามเยี่ยมผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ไม่สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตได้

ข้าพเจ้าเล่าเรื่องเล่าเรื่องผู้ป่วยรายนี้ให้ผู้ป่วยที่ข้าพเจ้าออกเยี่ยมฟัง เนื่องจากข้าพเจ้าพบว่าผู้ป่วยรายนี้สูบบุหรี่ประมาณวันละ 2 ซอง ทั้งบุหรี่ก้นกรองและบุหรี่มวนเองและดื่มกาแฟประมาณ วันละ 3 แก้ว หลังจากเล่าให้ผู้ป่วยฟังแล้ว ข้าพเจ้าจึงได้ถามผู้ป่วยว่าอยากลองเลิกบุหรี่หรือเปล่า ผู้ป่วยบอกอยากดูเหมือนกัน เพราะมีโรคประจำตัว คนในบ้านและคนใกล้ชิดบ่นประจำว่าเหม็นและยังมีหลานเล็กๆ ในบ้านถึง 2 คน ข้าพเจ้าถามต่อว่าเคยพยายามเลิกหรือไม่ ผู้ป่วยตอบว่าไม่เคย ไม่รู้จะเลิกได้หรือเปล่าเพราะสูบมานานมากแล้ว ข้าพเจ้าจึงได้ให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยว่าที่โรงพยาบาลมีคลินิกอดบุหรี่ เปิดให้บริการทุกวันเวลาราชการ หากเข้าสู่ระบบแล้วจะได้รับเทคนิคการเลิกบุหรี่ที่ง่ายต่อการนำมาปฏิบัติ เพียงมีใจอยากเลิกก็ถือว่าชนะไปครึ่งหนึ่งแล้ว ผู้ป่วยตกลงใจจะลองดู ข้าพเจ้าจึงได้ออกใบนัดให้ผู้ป่วยเพื่อนัดเข้าสู่คลินิกอดบุหรี่ ข้าพเจ้าได้ออกติดตามตามนัด พบผู้ป่วย ผู้ป่วยเล่าว่าวันที่เลิกวันแรกวุ่นวายใจ หงุดหงิดมาก เพราะมันผิดจากวิถีชีวิตปกติที่พอตื่นนอนก็ต้องหยิบบุหรี่มาสูบเลย รับประทานอาหารเช้าเสร็จก็ต้องสูบ หลังเข้าห้องน้ำก็ต้องสูบ พยายามเอาชนะใจตนเอง แต่ทำไม่ได้แต่ระลึกถึงการพูดคุยกับหมอทุกครั้งที่อยากสูบ วันที่ 2 เริ่มตั้งใจใหม่นี้สามารถลดปริมาณการสูบเหลือ 15 มวน และลดกาแฟเหลือ 2 ซอง ในวันนั้นผู้ป่วยพยายามเอาชนะตนเองอยู่ประมาณ 1 เดือน โดยพบเจ้าหน้าที่เป็นระยะๆ มีการติดตามดูแลสุขภาพในชุมชน พร้อมให้ข้อมูลและกำลังใจเป็นระยะเช่นกัน ข้าพเจ้าได้ร่วมให้คำปรึกษาและวางแผนในการเลิกบุหรี่ของผู้ป่วย และชี้ให้ผู้ป่วยเห็นความสำเร็จทุกวันของเขา เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกภาคภูมิใจกระตุ้นครอบครัวและเพื่อนบ้านให้ชื่นชมความสำเร็จผู้ป่วยด้วยหลังจากพยายามอยู่เดือนกว่าๆ ผู้ป่วยจึงสามารถหยุดสูบบุหรี่ได้ ความดันโลหิตของผู้ป่วยด้วยหลังจากพยายามอยู่เดือนกว่าๆ ผู้ป่วยจึงสามารถหยุดสูบบุหรี่ได้ ความดันโลหิตของผู้ป่วยก่อนเลิกคือ 180/100 mgลดลงเหลือ 160/80 mg, 140/78 mg จนปัจจุบันระดับความดันโลหิตของผู้ป่วยอยู่ในช่วง 128/72 – 117/74 mgตอนนี้เลิกบุหรี่ได้แล้วมากกว่า 6 เดือน

ในการเยี่ยมบ้านครั้งหลังๆ ข้าพเจ้าพบว่าผู้ป่วยอ้วนขึ้นหน้าตาสดใส คนในครอบครัวหน้าตายิ้มแย้มบอกว่าสบายใจ ตอนนี้ไม่มีกลิ่นบุหรี่ในบ้าน หลานๆ ก็คงปลอดภัย เพื่อนที่ทำงานก่อสร้างด้วยกันก็บอกว่าดี เพราะไม่มีควันบุหรี่ แต่ก่อนเขาไม่กล้าบอกเราเพราะเกรงใจ ตอนหลังเขาถึงกล้าบอกเวลาได้กลิ่นบุหรี่ทีไรรู้สึกแน่นหน้าอก หายใจไม่ทั่วท้อง แต่ไม่กล้าบอก ผู้ป่วยพูดอย่างภาคภูมิใจ ข้าพเจ้าจึงกระเซ้าผู้ป่วยว่าได้รับอะไรเป็นรางวัลจากภรรยา ผู้ป่วยยิ้มและหัวเราะเสียงดังพร้อมกับพูดเบาๆว่า เมียบอกว่าตอนนี้ตัวหอมสามารถหอมแก้มได้แล้ว ทุกคนที่อยู่บริเวณนั้นหัวเราะอย่างมีความสุข

ประสบการณ์/การเรียนรู้ที่ได้จากการดูแลคนไข้รายนี้

  • 1.การทำงานเป็นทีม
  • 2.การค้นหาสาเหตุปัญหาและแรงจูงใจของผู้ป่วยในการเลิกพฤติกรรมเสี่ยงด้านสุขภาพ
  • 3.การเสริมพลังอำนาจแห่งตนให้ผู้ป่วยและญาติ
  • 4.การให้ข้อมูลที่จำเพาะเจาะจง/การชี้ให้เห็นตัวอย่างใกล้ตัว
  • 5.การดูแลต่อเนื่อง เพื่อร่วมวางแผนแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าระยะยาว
  • 6.การจัดการในครอบครัว เช่นด้านสิ่งแวดล้อม การกำจัดอุปกรณ์การสูบ ฯลฯ

ข้าพเจ้ารู้สึกภาคภูมิใจที่มีส่วนร่วม ทำให้ผู้ป่วยสามารถเลิกบุหรี่ได้เพราะมันหมายถึงสุขภาพของคนทุกวัยในบ้านของเขา ในหมู่บ้านของเขา การเรียนรู้นี้จะเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าจะได้นำไปใช้ในการดูแลผู้ป่วยในชุมชนและพัฒนาต่อยอดต่อไป

การทำงานช่วยคนเลิกบุหรี่สำเร็จได้นั้นเป็นสิ่งที่ทำให้บุคคลที่ทำงานในด้านนี้ มีกำลังใจและภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ใครมีเรื่องราวดีๆ ที่อยากแบ่งปัน เล่าสู่กันฟังบ้างนะคะ !!

ถอดความโดย รติกร เพมบริดจ์ : [email protected]

เว็บไซต์ศจย. : http://trc.or.th/2014/2013-12-23-03-06-21/2013-12-23-04-01-32.html

29 เม.ย. 57

หมายเลขบันทึก: 566999เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2014 13:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 เมษายน 2014 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ชอบมากครับ กับประเด็นการค้นหาแรงจูงใจ-สาเหตุฯ
เพราะนี่คือปฐมบทของเรื่องทุกเรื่อง..

ชื่นชมครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท