กฎหมายไทยว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย


ตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่พัฒนามาจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนหลัก ๆ มีทั้งสิ้น 9 ฉบับได้แก่

(1) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR)

(2) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights-ICESCR)

(3) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบต่อสตรี (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women-CEDAW)

(4) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child-CRC)

(5) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination-CERD)

(6) อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment- CAT)

(7) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities - CRPD)

(8) อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันบุคคลจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (Convention on the Protection of All Persons from Enforced Disappearance - CED)

(9) อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและสมาชิกในครอบครัว (Convention on the Protection of the Rights of Migrants Workers and Member of their Families MWC)

ปัจจุบันประเทศไทยเข้าเป็นภาคีตราสารระหว่างประเทศหลักเหล่านี้แล้วทั้งสิ้น 7 ฉบับ รวมทั้งเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญา CEDAW ว่าด้วยการรับข้อร้องเรียน และอนุสัญญาสิทธิเด็กอีก 2 ฉบับคือ พิธีสารเลือกรับเรื่องการขายเด็ก การค้าประเวณีและสื่อลามกที่เกี่ยวกับเด็ก (Optional Protocol to the Convention on Rights of the Child on the Sale of Children, Child Prostitution and Child Pornography) และพิธีสารเลือกเรื่องความเกี่ยวพันของเด็กในความขัดแย้งกันด้วยอาวุธ (Optional Protocol to the Convention on Rights of the Child on the Involvement of Children in Armed Conflict ) ส่วนอนุสัญญาอีกสองฉบับที่ไทยยังไม่ได้เป็นภาคีคือ อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันบุคคลจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ และอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและสมาชิกในครอบครัว

ในที่นี้จะกล่าวถึงอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบต่อสตรี (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women-CEDAW) ไทยเข้าเป็นภาคีโดยการภาคยานุวัติ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2528 และมีผลบังคับใช้กับไทยเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2528ไทยในฐานะที่เป็นรัฐภาคีมีหน้าที่หลักในการออกกฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญา ในประเทศไทยได้ตรากฎหมายที่คุ้มครองสตรีออกมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปีพ.ศ. 2550 (มาตรา 30),พระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2542, พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 (มาตรา 15 มาตรา 16 มาตรา 38 มาตรา 39 มาตรา 40 มาตรา 41 มาตรา 42 และมาตรา 43), พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 (มาตรา 65 มาตรา 66 มาตรา 67 และมาตรา 68) และ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539[1] เป็นต้น

อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบต่อสตรีมีสาระสำคัญแบ่งออกเป็น 6 ส่วน คือ

ส่วนที่ 1 (ข้อ 1-6) กล่าวถึงคำจำกัดความของคำว่าการเลือกปฏิบัติต่อสตรี พันธกรณีของรัฐภาคี มาตรการที่รัฐภาคีต้องดำเนินการเพื่อสนับสนุนความก้าวหน้าของสตรี ฯลฯ

ส่วนที่ 2 (ข้อ 7-9) กล่าวถึงความเท่าเทียมกันระหว่างบุรุษและสตรีในด้านการเมืองและการดำรงชีวิต เช่น สิทธิในการเลือกตั้ง

ส่วนที่ 3 (ข้อ 10-14) กล่าวถึงสิทธิของสตรีที่จะต้องได้รับการดูแลทางเศรษฐกิจ การป้องกันความรุนแรงต่อสตรีในสถานที่ทำงาน และการเข้าถึงบริการสุขภาพ ฯลฯ

ส่วนที่ 4 (ข้อ 15-16) กล่าวถึงความเท่าเทียมกันของบุรุษและสตรีในด้านกฎหมาย

ส่วนที่ 5 (ข้อ 17-22) กล่าวถึงการจัดตั้งคณะกรรมการการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ พันธกรณีของรัฐในการจัดทำรายงานของรัฐภาคี และการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ

ส่วนที่ 6 (ข้อ 23-30) กล่าวถึงการมิให้มีข้อบทของอนุสัญญาที่จะขัดต่อกฎหมายภายในที่ดำเนินการมากกว่าที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาและกฎหมายระหว่างประเทศที่มีอยู่ การนำพันธกรณีไปปฏิบัติในระดับประเทศ ฯลฯ[2]

การลงนามในอนุสัญญานี้ส่งผลให้ผู้หญิงไทยสามารถมีส่วนร่วมและมีบทบาททางการเมือง ร่วมวางนโยบายของรัฐ รับตำแหน่งทางราชการ และปฏิบัติหน้าที่ราชการ อีกทั้งยังเป็นผู้แทนรัฐบาลในระดับประเทศ และเข้าร่วมในงานขององค์กรระหว่างประเทศได้ สามารถทำสัญญาและจัดการทรัพย์สินในกระบวนการศาลได้ และสามารถเลือกคู่สมรส หย่า การเป็นบิดา มารดา การตัดสินใจมีบุตร ดูแลบุตร รวมถึงการเลือกใช้นามสกุลได้ ซึ่งปัจจุบันผู้หญิงไทยก็ได้รับการยอมรับจากสังคมมากขึ้นในด้านความสามารถที่ทัดเทียมกับผู้ชาย

ปัจจุบันมีค่านิยมผิดๆของสังคมไทย ที่มองว่าผู้หญิงคือเพศที่อ่อนแอ ภรรยาเป็นสมบัติของสามี ลูกเป็นสมบัติของพ่อแม่ ผู้ชายเป็นใหญ่ เรื่องในครอบครัวกฎหมายทำอะไรไม่ได้ ทั้งหมดนี้ ส่งผลให้ผู้หญิงส่วนมากมักถูกทำร้าย ถูกกระทำความรุนแรง ผู้ที่กระทำส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ชิด อย่างพ่อ แม่ หรือสามี ด้วยเหตุนี้จึงมีการเรียกร้องสิทธิ ปกป้องผู้หญิงจากความรุนแรง ด้วยการให้มี พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 เพื่อคุ้มครองคนในครอบครัว ซึ่งระบุไว้ว่าผู้ใดกระทำการอันเป็นความรุนแรง โดยมุ่งให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ และสุขภาพ แก่บุคคลในครอบครัว ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ[3] การที่สตรีถูกทำร้าย เป็นเหยื่อของวามรุนแรงเพราะค่านิยมนั้นขัดกับอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบต่อสตรี ข้อ 5(ก) คือ รัฐภาคีจะใช้มาตรการที่เหมาะสมทั้งปวงเพื่อปรับปรุงแบบแผนความประพฤติทางสังคมและวัฒนธรรมของบุรุษและสตรี โดยมุ่งที่จะให้ได้ขจัดความเดียดฉันท์และวิธีปฏิบัติอันเป็นประเพณีและอื่น ๆ ทั้งปวง ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของความคิดเกี่ยวกับความต่ำต้อยหรือความสูงส่งของอีกเพศหนึ่ง หรือที่อยู่บนพื้นฐานของบทบาทแบบเก่าสำหรับบุรุษและสตรี

ในความเป็นจริงแล้วค่านิยมที่เห็นว่าสตรีคือเพศที่อ่อนแอกว่าผู้ชายสามารถกดขี่ข่มเหงได้ ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า เป็นค่านิยมที่มีมานานและฝังลึกในสังคมไทยแม้ว่าไทยจะเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาก็ส่งผลแต่เพียงในทางเศรษฐกิจสังคมทั่วไป เช่น การรับรองว่าสตรีเท่าเทียมกับบุรุษในการสมัครงาน แต่ในทางปฏิบัติของครอบครัว ผู้หญิงได้รับการปลูกฝังให้มีหน้าที่ทำงานบ้าน เลี้ยงดูอบรมบุตร เชื่อฟังสามี ซึ่งผู้ชายจะเห็นว่าตนเป็นผู้นำ เป็นหัวหน้าครอบครัว หน้าที่ในการดูแลบ้านและเลี้ยงดูบุตรเป็นหน้าที่ที่ผู้หญิงต้องทำ ดังนั้น การเลือกปฏิบัติเพราะค่านิยมเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ยากแม้ว่าจะได้มีการยอมรับว่าสตรีเท่าเทียมกับบุรุษในทางกฎหมายแล้วก็ตาม

[1]สุจรรยา สุจริตศรีชัยกุล. กฎหมายคุ้มครองเด็กและสตรี. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.l3nr.org/posts/365410. 22 เมษายน 2557

[2]กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศ. ตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ไทยเป็นภาคี. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.mfa.go.th/humanrights/human-rights-conventions. 22 เมษายน 2557

[3] ฐิติมา ศิรินุพงศ์. พบการละเมิดสิทธิสตรี เหตุเพราะความเคยชิน และไม่ทราบถึงสิทธิที่ตนพึงมี

. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://nntworld.prd.go.th/womenfund/article_detail.php?aid=32. 22 เมษายน 2557 ‎

หมายเลขบันทึก: 566555เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2014 00:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014 23:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท