ผู้ประกอบธุรกิจต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนด้วยหรือ


               

                ผู้ประกอบธุรกิจต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนด้วยหรือ? คำตอบของคำถามดังกล่าวคงเป็นไปได้มากมายหลากหลายขึ้นอยู่กับความคิดเห็นของแต่ละคน บางคนอาจบอกว่า สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความเป็นมนุษย์และใกล้ตัวเรา ดังนั้นการที่ผู้ประกอบธุรกิจจะดำเนินการใดๆในธุรกิจของตนก็จำเป็นต้องคำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วยว่าธุรกิจจะไปละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนอื่นหรือไม่ แต่บางคนอาจมองว่าการประกอบธุรกิจเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ การดำเนินกิจการจึงต้องมุ่งเน้นไปที่เรื่องของหลักเศรษฐศาสตร์เป็นสำคัญ จนมองข้ามเรื่องสิทธิมนุษยชน

                 เนื่องจากในปัจจุบันประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกมีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม จึงทำให้ผู้ประกอบธุรกิจคำนึงถึงแต่เรื่องผลประโยชน์ที่จะเกิดจากสินค้าหรือบริการต่างๆของตน และมีกลยุทย์ในการนำเสนอสินค้าของตนให้เป็นที่ดึงดูดแก่ผู้บริโภค เช่น การโฆษณาทางโทรทัศน์รวมถึงใบปิดโฆษณาตามที่ต่างๆ และวิธีการอื่นๆ ซึ่งกลยุทย์เหล่านี้เองที่ทำให้กระทบถึงสิทธิมนุษยชนของคนในสังคม

                  ในประเทศไทยได้มีการเปิดตัวโฆษณาขนมโดนัทยี่ห้อหนึ่ง โดยสื่อออกมาในลักษณะที่ว่าโดนัทรสชาติใหม่นี้มีสีดำคล้ายกับสีของถ่าน และเมื่อทานโดนัทเข้าไปสีผิวของคนกินก็กลายเป็นสีดำเหมือนกับโดนัท ซึ่งต่อมาองค์กรสิทธิมนุษยชนได้ระบุว่าโฆษณาดังกล่าวเป็นการเหยียดสีผิว เพราะทำให้นึกย้อนไปถึงทัศนคติของชาวอเมริกันที่รังเกียจคนผิวสีในช่วงศตวรรษที่19 และต้นศตวรรษที่20 ซึ่งมีภูมิหลังเกี่ยวกับการค้าทาสในยุคสมัยนั้น โดยที่ทาสที่ถูกค้าขาย และนำมาทารุณนั้นทาสใหญ่เป็นคนผิวสี จึงเป็นการแบ่งแยกชนชั้นและสถานะทางสังคมของคนผิวขาวว่าเป็นคนร่ำรวย มีเกียรติ ส่วนคนผิวดำนั้นเป็นทาสที่ยากจน ถูกกดขี่อย่างไรก็ได้ประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องที่อ่อนไหวในสังคมอเมริกาและยุโรป กลับกันกับในประเทศไทยที่เราไม่ได้รู้สึกว่าโฆษณาดังกล่าวจะเป็นการเหยียดสีผิวแต่ประการใด นั่นคงเป็นเพราะประเทศไทยไม่ได้มีภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับทาสที่เป็นคนผิวดำ ทัศนคติที่มองโฆษณาจึงแตกต่างกับคนในสังคมอเมริกาและยุโรป ดังนั้นจึงได้ข้อคิดประการหนึ่งว่าในการนำเสนอโฆษณาจะต้องคำนึงถึงทัศนคติ และภูมิหลังที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของคนในสังคมนั้นๆด้วย

                    และเมื่อย้อนไปถึงโฆษณาในอดีตของอเมริกาเองก็จะพบอคติในแง่นี้ได้ชัดเจน ซึ่งมักจะแฝงอยู่ในภาพที่ว่าคนผิวสีต้องทำงานเป็นคนรับใช้ เช่น แผ่นปิดโฆษณาพุดดิ้งยี่ห้อหนึ่งในปี1922 ซึ่งเป็นรูปของเด็กชายผิวสียืนถือขนมพุดดิ้งเตรียมบริการคนผิวขาวที่แต่งตัวดี ดูมีภูมิฐาน หรือในบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์การเกษตรยักษ์ใหญ่ ในช่วงทศวรรษที่50 ได้มีแผ่นปิดโฆษณาเป็นรูปของคนผิวสีทำงานอยู่ในไร่ฝ้ายอย่างมีความสุข เมื่อมองผ่านๆก็จะไม่พบอะไร แต่หากนำประวัติศาสตร์ของอเมริกาในยุคที่มีทาส คนผิวสีถูกใช้งานในไร่ฝ้ายอย่างโหดเหี้ยมทารุณ แม้ในยุคปัจจุบันอคติต่อคนผิวสีจะลดลงแล้ว แต่ในโฆษณาของคอมพิวเตอร์ชื่อดังได้นำเสนอสินค้าโดยมีนัยยะที่ทำให้เห็นได้ว่าลูกน้องก็ยังเป็นคนผิวสีอยู่

                     นอกจากจะมีทัศนคติว่าคนผิวสีเป็นคนรับใช้แล้ว ก็ยังได้มีการนำไปเปรียบเปรยถึงเรื่องความสะอาด ผ่านทางโฆษณาผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย ที่หากผู้ใช้ได้ทำการขัดสีฉวีวรรณแล้วก็จะทำให้สะอาดแบบคนผิวขาว และในปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจก็ยังมีการนำเสนอโฆษณาออกมาในลักษณะที่ว่า เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกายแล้วผิวจะขาวสว่างผ่องใส เป็นที่สะดุดตาของคนที่ได้พบเห็น ดึงดูดเพศตรงข้ามได้ ทำให้เห็นได้ว่านอกจากจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเรื่องของ สีผิว และเผ่าพันธุ์แล้ว ยังเป็นการปลูกฝังค่านิยมในสังคมที่ผิด

                      จากที่ได้กล่าวมาจึงเห็นได้ว่าการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการก็มีผลกระทบไปถึงสิทธิของมนุษยชนคนอื่นด้วย ทั้งนี้คือสิทธิที่จะไม่ถูกดูถูกเหยียดหยาม หรือเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมเพราะเหตุของสีผิว เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ฉะนั้นเมื่อธุรกิจของตนก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิของผู้อื่น ผู้ประกอบธุรกิจก็ต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนด้วย โดยอาจนำปัจจัยหลายๆด้านมาพิจารณาประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นทัศนคติของคนในแต่ละประเทศ ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนในแต่ละสังคม เพื่อไม่ให้การโฆษณาสินค้าที่ออกไปสู่สายตาของคนทั่วไปอย่างเป็นวงกว้างนั้นไปกระทบถึงสิทธิมนุษยชนของคนอื่น เพราะเมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้วการแก้ไข เยียวยานั้นทำจะได้ยาก

                                                                                                                                   จุฬาลักษณ์ หาญนาวี

                                                                                                                                      22เมษายน2557

หมายเลขบันทึก: 566553เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2014 23:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2014 12:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท