พิพิธภัณฑสถานพระนครในความทรงจำ


พิพิธภัณฑสถานพระนครในความทรงจำ

วาทิน ศานติ์ สันติ 

ปริญญาโท ไทยศึกษา (รุ่น ๑๗) รามคำแหงทัศนศึกษาที่ พิพิธภัณฑสถานพระนคร เมื่อ ๑๕ กุมภาพันธ์  ๒๕๕๗  

เขียนเมื่อ ๒ เมษายน ๒๕๕๗

 

ข้าพเจ้ามีความคุ้นชินกับการไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑสถานพระนคร วังหน้ามาตั้งแต่ครั้งยังเป็นวัยรุ่นราวมัธยมปลายอันเนื่องจากมีเพื่อนที่บ้าศิลปะชักชวนไปเที่ยว ซึ่งในสมัยนั้นข้าพเจ้ายังไม่ได้ซาบซึ้งกับศิลปะไทยสักเท่าไหร่ แต่เมื่อไปบ่อยขึ้นก็ยิ่งชอบ ดูสวยงามอลังการดี หลังจากนั้นก็ไปเที่ยวชมหลายต่อหลายครั้ง ไปดูละครบ้างโขนบ้าง และไปชมงานนิทัศนการที่จัดขึ้นพิเศษ

                เมื่อเรียนมหาวิทยาลัยในภาควิชาประวัติศาสตร์มีโอกาสเรียนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะไทย อาจารย์ผู้สอนก็ได้พานักเรียนไปทัศนศึกษาพิพิธภัณฑสถานพระนคร พวกเราไปกันครั้งนั้นแบบวิชาการล้วน ๆ เริ่มตั้งแต่ศิลปกรรมสมัยทวารวดีไปจนถึงรัตนโกสินทร์โดยเน้นไปที่งานประติมากรรม เดินปวดขามาแต่ก็อิ่มเอมและทราบซึ้งไปกับความงามของงานช่างไทย แต่ห้องอื่นก็ไม่ได้เข้าชมและยังเสียดายคอยหาโอกาสครั้งต่อไป และด้วยการที่เรียนประวัติศาสตร์ด้วยก็เริ่มศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์พระนคร

                พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งอยู่ในบริเวณพระราชวังบวรสถานมงคล หรือส่วนหนึ่งของที่ประทับวังหน้า ซึ่งเป็นพื้นที่พระราชวังของสมเด็จพระบวรราชเจ้าตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ เป็นต้นมามีอาณาเขตตั้งแต่บริเวณมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สนามหลวงตอนเหนือ อนุสาวรีย์ทหารอาสา และโรงละครแห่งชาติในปัจจุบัน ประกอบด้วยหมู่พระที่นั่งต่าง ๆ ได้แก่ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย หมู่พระวิมาน พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ และ อาคารมหาสุรสิงหนาท

                หลังจากที่กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญเสด็จทิวงคต  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้ยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เป็นเหตุให้พระราชวังบวรสถานมงคล หรือ วังหน้าว่างลง พระองค์จึงโปรดฯ ให้ย้ายพิพิธภัณฑสถานจากในพระบรมมหาราชวังมาจัดแสดงโดยใช้พื้นที่ของพระราชวังบวรฯ บางส่วน ได้แก่ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๓๐

                รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดฯ ให้ ส่วนพระราชมณเฑียรของพระราชวังบวรฯ ทั้งหมดจัดเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครและหอสมุดพระวชิรญาณเพื่อจัดตั้งเป็น พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗

                ในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ได้สร้างอาคารเพิ่มขึ้นอีก ๒ หลัง คือ อาคารมหาสุรสิงหนาท และอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์   

                ปี พ.ศ. ๒๕๕๗ การเรียนปริญญาโทในสาขาไทยศึกษาทำให้ข้าพเจ้าเดินทางมาเที่ยวชม พิพิธภัณฑสถานพระนครอีกครั้งในฐานะการเรียนวิชาศิลปกรรมไทยโดยอาจารย์ศิลปะที่เป็นนายช่างไทยคือ อาจารย์สนั่น รัตนะ แห่งวิทยาลัยช่างศิลป์เป็นผู้นำชม

ข้าพเจ้ากับอาจารย์สนั่น รัตนะในห้องจัดแสดงงานศิลปกรรมลพบุรี

 

                เริ่มแรกพวกเราข้าเที่ยวชม พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ สำหรับประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติตั้งแต่แรกเริ่มไปจนถึงถวายพระเพลิงพระบรมศพเช่น และภาพเทพชุมนุม นับเป็นงานจิตรศิลปะสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่ยังคงความสวยงามแม้จะมีการบูรณะและแต่งเติมไปหลายครั้งก็ตาม พวกเราได้รับความรู้จากท่านอาจารย์ในมุมมองใหม่จากที่เคยเรียนรู้นอกเหนื่อยจากประวัติศาสตร์ศิลปะทั่วไป คือเราได้ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคในงานช่าง เช่นจะรู้ได้อย่างไรว่าส่วนไหนเป็นของเดิม ส่วนไหนซ่อมใหม่ โดยให้สังเกตรอยขีดของภาพที่เป็นเส้นตั้งหรือเส้นนอน สอนให้มองดูการซ้อนทับของการเขียนรูปทับโดยการใช้ไฟฉายส่อง เทคนิคการสร้างงานเช่นในเปลือกของต้นข่อยมาทำพุ่มไม้ และเรียนรู้เรื่องเทคนิคการผสมสีของช่างไทยโบราณและเทคนิคของการลงรักปิดทองที่แสนยุ่งยากอีกด้วย

อาจารย์สนั่น รัตนะบรรยายเรื่องจิตกรรมฝาผนังในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์

 

                 จากนั้นก็เริ่มเดินทางเข้าสู่อาคารมหาสุรสิงหนาท  จัดแสดงความเป็นมา ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และในยุคประวัติศาสตร์ตั้งแต่อาณาจักรทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี ตลอดจนอิทธิพลอารยธรรมอินเดีย และ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์   จัดแสดงศิลปวัตถุจากอาณาจักรล้านนา สุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ ตลอดจนจัดแสดงงานประณีตศิลป์ของกรุงรัตนโกสินทร์ เรื่องราวรูปลักษณ์ ความเป็นมา และอิทธิพลของพระพุทธรูปรวมถึงงานประติมากรรมต่าง ๆ นั้นข้าพเจ้าพอมีความรู้อยู่บ้างแล้ว แต่การไปครั้งนี้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเทคนิคงานช่าง เช่นการผสมเนื้อโลหะ งานหล่อที่มีขั้นตอนมากมาย นับเป็นความรู้ใหม่ที่ได้จากครูสอนศิลปะที่เป็นนายช่าง

                จากนั้นพวกเราได้เข้าชมพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ซึ่งในขณะนั้นจัดแสดงงานเกี่ยวโขน พวกเราบางคนในคณะเป็นครูสอนโขนที่มหาวิทยาลัยราชมงคลอง ๖ และนักแสดงโขน จึงได้ความรู้เกี่ยวกับโขนนอกเหนือตำรา และที่ประทับใจเราได้สนทนากับนักศึกษาฝึกงานจากมหาวิทยาลัยสารคาม เธอน่ารัก โอภาปราศรัยดี พวกเราผู้ชายหลายคนไม่อยากออกจากห้องนั้น เธอบอกว่าอยากเรียนปริญญาโทในสาขาไทยศึกษาที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก็ได้แต่หวังว่าเธอจะเข้ามาเรียนทันตอนที่พวกเรากำลังเรียน น่าเสียดายที่จำชื่อเธอไม่ได้

                ส่วนที่น่าตื่นเต้นและค่อนข้างใช้เวลานานที่สุดคือส่วนของโรง ราชรถ ซึ่งเป็นที่เก็บมหาพิชัยราชรถ ราชยาน เกรินบันไดนาค เวชยันตราชรถ พระยานมาศสามลำคาน พระโกศ ฉากบังเพลิง และการจำลองงานพระเมรุ อาจารย์สนั่น รัตนะบรรยายได้อย่างออกรส เพราะท่านเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการสร้างงานพระเมรุถึงสามครั้งในฐานะช่างลายไทยเขียนฉากบังเพลิง การเที่ยวชมส่วนนี้ข้าพเจ้าได้แรบันดาลใจในงานวิทยานิพนธ์ด้วย

อาจารย์สนั่น รัตนะกับการบรรยายเรื่องฉากบังเพลิง ผลงานที่ท่านมีส่วนร่วมในการออกแบบและการเขียน

 

                จากนั้นเราเข้าชม  พระที่นั่งภิมุขมณเฑียรที่จัดแสดงจัดแสดงเครื่องราชยาน คานหาม สัปคับ เสลี่ยงกง เสลี่ยงหิ้วและสีวิกา พระที่นั่งทักษิณาภิมุข จัดแสดงเครื่องการละเล่น หุ่น หัวโขน หนังใหญ่ เครื่องแต่งกาย ละคร เครื่องกีฬาไทย หมากรุกงา ปี้กระเบื้อง ตัวหวย กอ ขอ ตัวหนังใหญ่ พระที่นั่งวสันตพิมาน ที่ชั้นล่าง จัดแสดงเครื่องถ้วยล้านนา ลพบุรี เบญจรงค์ลายน้ำทอง เครื่องถ้วยญี่ปุ่น และเครื่องถ้วยยุโรป ชามเบญจรงค์ ศิลปะไทย – จีน ชั้นบน จัดแสดงงาช้าง งาช้างจำหลัก และเครื่องใช้ที่ทำจากงาช้าง งาช้างแกะสลักเป็นพระพุทธรูป ศิลปะพม่า พระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข จัดแสดงของใช้ประดับมุก เครื่องมุกส่วนใหญ่เป็นของสมเด็จ ฯ กรมพระนครสวรรค์พินิต พระที่นั่งปฤษฎางคภิมุข จัดแสดงหุ่นจำลองม้าและช้างทองเครื่องคชาธารอาวุธภัณฑ์สมัยโบราณและกลองศึก นับว่าเป็นการทัศนที่ทั่วถึงที่สุดนับตั้งแต่ข้าพเจ้าเข้าชมสถานที่แห่งนี้ ปวดขา แต่ก็ได้รับความรู้แบบเต็มอิ่ม

ข้าพเจ้าสนทนากับอาจารย์สนั่น รัตนะเรื่องราชรถ

 

               ก่อนกลับพวกเราถ่ายรูปหมู่ร่วมกันในสวนเล็ก ๆ กลางหมู่พระวิมาน และพระที่นั่งมังคลาภิเษกเป็นการจบทริปที่น่าประทับใจครั้งหนึ่งของข้าพเจ้า

ชาวคณะไทยศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง รุ่น 17กับอาจารย์สนั่น รัตนะที่รูปหมู่เป็นที่ระลึกก่อนกลับ

หมายเลขบันทึก: 566445เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2014 17:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2014 19:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท