ศิลปกรรมพื้นบ้าน ภาพสะท้อนวิถีชีวิตของมนุษย์กับสัังคม


 

 

งคม

 

“ชีวิตสั้น ศิลปะยืนยาว”

                ศิลปกรรมคือเครื่องบ่งบอกถึงความเจริญทางด้านวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ อีกทั้งยังเป็นเครื่องวัดคุณค่าทางจิตใจ เป็นเครื่องสะท้อนประวัติความเป็นมาของประเทศนั้น ๆ อีกด้วย ประเทศที่เจริญแล้วจะมีศิลปะประจำชาติของตนเอง เช่นศิลปะกรีก ศิลปะอินเดีย ศิลปะจีน ศิลปะเขมร ศิลปะไทย ในแต่ละประเทศรูปแบบงานศิลปกรรมก็จะแต่แขนงรูปแบบและแนวคิดไปตามแต่ละชุมชน อันเนื่องจากวิถีชีวิต ภูมิประเทศ ความเชื่อแลอีกหลาย ๆ อย่างที่ต่างกัน

                รูปแบบงานศิลปกรรมรวมถึงความคิดที่มีต่องานศิลปกรรมจะสามารถส่งต่อให้กับชุมชนต่าง ๆ ประเทศต่าง ๆ อันเนื่องมาจากการค้าขาย การไปมาหาสู่กัน การทำสงคราม การค้าทาส การไปเที่ยว ฯลฯ ชุมชนหรือประเทศที่รับจะประยุกต์ใช้ให้เข้ากับวิถีชีวิตของตนเองแล้วเกิดเป็นศิลปกรรมรูปแบบใหม่ไปเรื่อย ๆ อย่างไม่รู้จบ

                แม้ประเทศจะสลายไปตามกาลเวลา แต่งานศิลปกรรมก็ยังเป็นเครื่องยืนยันความมีอยู่และความยิ่งใหญ่ประเทศนั้น ๆ ได้ เช่น อาณาจักรอียิปต์จะล่มสลาย แต่ศิลปกรรมอียิปต์ยังคงอยู่ แม้อาณาจักรกรีกจะล่มสลาย แต่ศิลปกรรมกรีกยังคงอยู่ แม้อาณาจักรพุกามล่มสลายแล้ว แต่ศิลปกรรมพุกามยังคงอยู่ แม้อาณาจักรหลาย ๆ อาณาจักรในโลกนี้จะล่มสลายไปแล้ว แต่งานศิลปกรรมของแต่ละอาณาจักรเหล่านั้นยังคงอยู่

                นี่จึงเป็นเครื่องพิสูจน์คำพูดของ ศิลป์ พีระศรี ศิลปินและบรมครูที่ยิ่งใหญ่ที่กล่าวไปข้างต้น

                แน่นอนว่าศิลปกรรมไทยนั้นไม่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยตัวเองทั้งหมด ล้วนเกิดขึ้นจากการถ่ายทอดวัฒนธรรมและความคิดแทบทั้งสิ้น เพราะศิลปกรรมคือสิ่งที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ มีผู้สร้าง มีผู้เสพ มีผู้ส่งต่อ

                จะว่าไปแล้วศิลปกรรมไทยเริ่มต้นไปพร้อม ๆ กับการที่มีมนุษย์เกิดขึ้นในแผ่นดินไทย เริ่มแรกเป็นศิลปกรรมเพื่อการดำรงชีวิตเช่นการสร้างเครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องมือล่าสัตว์ อาวุธ เครื่องนุ่งห่ม หลังจากนั้นก็เริ่มขีดเขียนสีตามตามผนังถ้ำ ตามเครื่องปั้นดินเผา ตามแผ่นไม้ อาจจะเกี่ยวข้องกับวิถีการดำรงชีวิต สิ่งที่เขาเห็น รวมไปถึงความเชื่อไม่ว่าจะเป็นโลกปัจจุบันหรือโลกหลังความตาย งานศิลปกรรมที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ ศาสนาจะมีความพิถีพิถันเป็นพิเศษ และงานศิลปกรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้นำหรือกษัตริย์ด้วยแล้วจะมีความพิถีพิถันและพีรีตรองในการสร้างเป็นอย่างมากและเคร่งครัดไปตามลำดับชั้น ดังนั้นงานศิลปกรรมจึงกลายเป็นเครื่องบ่งบอกถึงอำนาจอีกด้วย

                ส่วนชาวบ้านธรรมดาก็จะมีงานศิลปกรรมเป็นของตนเอง แต่จะเน้นไปที่การใช้งานมากกว่าการตั้งแสดง แต่ความประณีต วัสดุ อุปกรณ์ สีที่ใช้อาจจะเทียบไม่ได้กับงานศิลปกรรมในพระมหากษัตริย์ แต่ในด้านคุณค่าจะมีความหมายไม่แตกต่างกัน ผู้สร้างสรรค์งานศิลปกรรมพื้นบ้านอาจะเป็นผู้เฒ่าผู้ทรงความรู้ พระสงฆ์ และจะมีการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ศิลปกรรมพื้นบ้านจะไม่มีพิธีรีตองมากนัก ช่างสามารถดัดแปลงใส่อารมณ์ขันลงไปในงานศิลปกรรมได้ตามแต่ช่างจะสร้างสรรค์ เช่น การเขียนรูปในสิม แม้จะเป็นพุทธสถาน ช่างก็สามารถเขียนเรื่องเพศลงไป เขียนการละเล่นต่าง ๆ ลงไป ในสิมได้โยไม่ผิดแปลกจากวิถีชาวบ้านเลย ดังนั้นหากศึกษางานศิลปกรรมพื้นบ้านอย่างลงลึกเราก็จะสามารถมทราบถึงวิถีชีวิต คติความเชื่อ สภาพสังคมในช่วงเวลาที่เขียนงานนั้น ๆ ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับการตีความของผู้ศึกษา

                งานศิลปกรรมพื้นบ้านไทยมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องที่ แต่ละชุมชน ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพภูมิศาสตร์ ความเชื่อ และการดำรงชีวิต ซึ่งจะสอดแทรกไปทุกกิจกรรมของผู้คนในชุมชนนั้น ๆ การศึกษางานศิลปกรรมพื้นบ้านจึงเป็นเรื่องใหญ่และกว้างราวกับหยิบใบไม้ในป่าใหญ่หรือการหว่านแหในมหาสมุทร มีงานศิลปกรรมพื้นบ้านไม่กี่ชิ้นที่เป็นรู้รู้จักของคนหมู่มากและเลื่องชื่อลือข้ามดินแดนจนกลายเป็นที่ต้องการจากต่างแดนเช่น หม้อจากเกาะเกร็ด เครื่องทองจากศรีสัชนาลัย ร่มจากบ่อสร้าง พลอยจากจันทบุรี งานศิลปกรรมเหล่านั้นจึงง่ายแก่การศึกษาหาข้อมูล แต่ก็ไม่ได้หมายความว่างานศิลปกรรมพื้นบ้านที่คนต่างชุมชนไม่รู้จักจะไม่มีคุณค่า งานศิลปกรรมของแต่ละพื้นบ้านล้วนแต่เกี่ยวข้องกับวิถีชุมชนการดำรงชีวิตทั้งสิ้น ซึ่งทรงคุณค่าในตัวเองเสมอ เพียงแต่รอให้ใครสักคนไปศึกษาแล้วเผยแพร่สู่สาธารณชน

                งานศิลปกรรมพื้นบ้านหลาย ๆ ชิ้นแม้จะมีการใช้สอยน้อยลงหรือเลิกใช้ไปแล้ว กลายเป็นของเชย เช่นของเล่นที่ทำจากกะลา ของเล่นจากเศษไม้ จากวัสดุธรรมชาติ ซึ่งก็เป็นไปตามกระแสโลกที่มีของใหม่มาทดแทน งานศิลปกรรมเหล่านั้นให้กลายเป็นวัฒนธรรมทางวัตถุที่ควรอนุรักษ์เอาไว้ เพื่อให้รู้ว่า ประเทศของเรา ชุมชนของเรามีรากเหง้า

                แต่การอนุรักษ์ที่สำคัญไม่ใช้การเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ แต่คือการใช่สอยอยู่สม่ำเสมอนั่นเอง

                รายงานเรื่องศิลปกรรมพื้นบ้านนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเพื่อความเข้าใจ เพื่อการปลูกจิตสำนึกในความซาบซึ้งของคุณค่า และเพื่อการอนุรักษ์ เพื่อให้ดำรงคงอยู่กับประเทศนี้ต่อไปให้ยืนยาว

                “ชีวิตสั้น ศิลปะยืนยาว”

วาทิน ศานติ์ สันติ 

19 เมษายน 2557

หมายเลขบันทึก: 566441เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2014 16:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2014 19:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท