การใช้กฎหมายไทยเพื่อพิจารณาการมีอำนาจรัฐเหนือข้อเท็จจริงทางครอบครัวที่มีองค์ประกอบระหว่างประเทศ


          ในตำรากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลทั่วไปนั้นมักจะอธิบายถึงปัญหาการมีเขตอำนาจรัฐเหนือข้อเท็จจริงที่มีองค์ประกอบระหว่างประเทศ เฉพาะการมีเขตอำนาจรัฐในทางตุลาการ อันหมายถึงการพิจารณาว่าศาลของรัฐนั้นจะมีอำนาจพิจารณาคดีที่มีองค์ประกอบระหว่างประเทศที่ขึ้นสู่ศาลหรือไม่ เพราะโดยทั่วไปแล้วในขั้นตอนการก่อนิติสัมพันธ์ระหว่างบุคคลนั้นเป็นเรื่องที่ปัจเจกบุคคลแสดงเจตนาต่อกันนอกศาล และเมื่อมีปัญหาการอ้างสิทธิหรือการปฏิบัติตามหนี้อันเกิดแต่นิติสัมพันธ์นั้น จึงนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของศาลที่มีเขตอำนาจเหนือคดีนั้น แต่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยนิติสัมพันธ์ทางครอบครัวนั้น รัฐสามารถใช้อำนาจเข้ามามีส่วนร่วมได้ตั้งแต่ขั้นตอนของการก่อนิติสัมพันธ์ เห็นได้ชัดเจนจากกรณีของการให้บุคคลจดทะเบียนครอบครัว เช่น ทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่า หรือทะเบียนรับบุตรบุญธรรม เป็นต้น โดยใช้ประเด็นความชอบด้วยกฎหมายของสถานภาพทางครอบครัวเป็นเงื่อนไขในการชักจูงใจให้บุคคลจดทะเบียนครอบครัว

          ดังนั้นในชั้นนี้ผู้เขียนจึงขออธิบายการใช้กฎหมายไทยเพื่อพิจารณาการมีอำนาจรัฐเหนือข้อเท็จจริงทางครอบครัวที่มีองค์ประกอบระหว่างประเทศใน ๒ ประเด็น กล่าวคือ การใช้อำนาจรัฐในทางตุลาการเพื่อพิจารณาว่าศาลไทยจะสามารถรับคดีครอบครัวที่มีองค์ประกอบระหว่างประเทศไว้พิจารณาได้หรือไม่ ภายใต้เงื่อนไขทางกฎหมายอย่างไรประเด็นหนึ่ง และการใช้อำนาจรัฐทางบริหาร (อำนาจรัฐทางปกครอง) เพื่อพิจารณาว่าหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ทางปกครองของไทย (นายทะเบียนครอบครัว) จะสามารถรับจดทะเบียนครอบครัวที่มีองค์ประกอบระหว่างประเทศได้หรือไม่ ภายใต้เงื่อนไขทางกฎหมายอย่างไรอีกประเด็นหนึ่ง

 

๑. การใช้อำนาจรัฐในทางตุลาการเหนือคดีครอบครัวที่มีองค์ประกอบระหว่างประเทศ

          มีข้อพิจารณาเป็นเบื้องต้นก่อนว่า “คดีครอบครัว” มีนิยามทางกฎหมายอย่างไร ในที่นี้ผู้เขียนขอยึดตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓ มาตรา ๔ ซึ่งบัญญัติว่า

          ““คดีครอบครัว” หมายความว่า คดีแพ่งที่ฟ้องหรือร้องขอต่อศาลหรือกระทำการใดๆ ในทางศาลเกี่ยวกับผู้เยาว์หรือครอบครัว ซึ่งจะต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับครอบครัว”

          หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือเป็นคดีแพ่งที่ว่าด้วยบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ทั้งบรรพ อันได้แก่ การหมั้น การสมรส ความสัมพันธ์ระหว่าสามีภริยาทั้งทางส่วนตัวและทางทรัพย์สิน ความเป็นโมฆะของการสมรส การสิ้นสุดการสมรส ความสัมพันธ์ระหว่าบิดามารดาและบุตร อำนาจปกครองผู้เยาว์ บุตรบุญธรรม และค่าอุปการะเลี้ยงดู และด้วยเหตุนี้คดีครอบครัวที่มีองค์ประกอบระหว่างประเทศ จึงหมายถึงคดีแพ่งที่ว่าด้วยบทบัญญัติในบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และมีข้อเท็จจริงในคดีส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับกฎหมายของรัฐต่างประเทศนั่นเอง

          ในการพิจารณาว่าศาลไทยจะมีเขตอำนาจเหนือคดีครอบครัวที่มีองค์ประกอบระหว่างประเทศหรือไม่นั้น มิได้มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะใดวางเงื่อนไขเอาไว้ ดังนั้นในการพิจารณาการมีเขตอำนาจศาลในกรรีดังกล่าวจึงเป็นไปตามหลักทั่วไปในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประกอบกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีครอบครัว พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งอาจประมวลเงื่อนไขในการมีเขตอำนาจของศาลไทยเหนือคดีครอบครัวที่มีองค์ประกอบระหว่างประเทศได้เป็น ๕ เงื่อนไข ดังนี้

          ๑) โจทก์เป็นผู้มีสัญชาติไทย ในกรณีที่เป็นคดีครอบครัวที่มีข้อพิพาท แต่ในคดีนั้นจำเลยไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย และมูลคดีมิได้เกิดขึ้นในประเทศไทย และเป็นคำฟ้องที่มิได้เกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิประโยชน์เกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์[1]

          ๒) โจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย ในกรณีที่เป็นคดีครอบครัวที่มีข้อพิพาท แต่ในคดีนั้นจำเลยไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย และมูลคดีมิได้เกิดขึ้นในประเทศไทย และเป็นคำฟ้องที่มิได้เกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิประโยชน์เกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์[2] หรือผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย ในกรณีที่เป็นคดีครอบครัวที่ไม่มีข้อพิพาท

          ๓) จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย หรือเคยมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยภายในระยะเวลา ๒ ปีก่อนวันที่มีการเสนอคำฟ้อง ในกรณีที่เป็นคดีครอบครัวที่มีข้อพิพาท ไม่ว่าการฟ้องคดีดังกล่าวจะเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์หรือไม่ก็ตาม[3]

          ๔) มูลคดีเกิดขึ้นในประเทศไทย หรือเกิดในเรือไทยหรืออากาศยานไทยที่อยู่นอกประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นคดีครอบครัวที่มีข้อข้อพิพาทหรือไม่มีข้อพิพาทก็ตาม[4]

          ๕) ทรัพย์สินอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ตั้งอยู่ในประเทศไทย ในกรณีที่เป็นคดีครอบครัวที่มีข้อพิพาทอันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์[5]

          จากเงื่อนไขทั้ง ๕ ข้อข้างต้นนั้น จะเห็นได้ถึงลักษณะของการมีอำนาจรัฐของประเทศไทย ๒ ลักษณะซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในทางระหว่างประเทศ ได้แก่

          - การมีเขตอำนาจรัฐเหนือบุคคล (Personal Jurisdiction) คือ กรณีที่รัฐสามารถใช้อำนาจรัฐเหนือบุคคลผู้มีสัญชาติของรัฐนั้นไม่ว่าบุคคลดังกล่าวจะอยู่ ณ ที่ใดในโลกก็ตาม ซึ่งมีลักษณะสอดคล้องกับเงื่อนไขของการมีเขตอำนาจศาลเหนือคดีครอบครัวที่มีองค์ประกอบระหว่างประเทศในข้อ ๑) ข้างต้น

          - การมีเขตอำนาจรัฐเหนือดินแดน (Territorial Jurisdiction) คือ กรณีที่รัฐสามารถใช้อำนาจรัฐเหนือบุคคลใดที่อาศัยอยู่[6], ทรัพย์สินใดที่ตั้งอยู่ หรือเหตุการณ์ใดที่เกิดขึ้นภายในดินแดนของรัฐนั้น ซึ่งมีลักษณะสอดคล้องกับเงื่อนไขของการมีเขตอำนาจเหนือคดีครอบครัวที่มีองค์ประกอบระหว่างประเทศในข้อ ๒) ถึงข้อ ๕)

 

๒. การใช้อำนาจรัฐในทางบริหาร (อำนาจรัฐทางปกครอง) เหนือนิติกรรมทางครอบครัวที่มีองค์ประกอบระหว่างประเทศ

          การใช้อำนาจในทางบริหาร หรืออำนาจในทางปกครองของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับนิติกรรมทางครอบครัวนั้นปรากฏอยู่ในลักษณะของการลงบันทึกนิติกรรมทางครอบครัวที่คู่กรณีได้ทำขึ้นลงในทะเบียนที่เป็นเอกสารราชการ ได้แก่[7]

          ๑) การจดทะเบียนสมรส (คร.๒)

          ๒) การจดทะเบียนหย่า (คร.๖) ทั้งการหย่าโดยความยินยอมและการหย่าโดยคำพิพากษาของศาล[8]

          ๓) การจดทะเบียนรับรองบุตร (คร.๑๑) ทั้งการรับรองบุตรโดยสมัครใจและโดยคำพิพากษาของศาล

          ๔) การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม (คร.๑๔)

          ๕) การจดทะเบียนเลิกรับบุตรบุญธรรม (คร.๑๗) ทั้งการเลิกรับบุตรบุญธรรมโดยความตกลงและโดยคำสั่งของศาล

          ๖) การบันทึกฐานะแห่งภริยา[9] (คร.๒๐)

          ๗) การบันทึกฐานะแห่งครอบครัว[10] (คร.๒๒)

          ซึ่งเมื่อพิจารณาจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์, พระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัวพ.ศ.๒๔๗๘, พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ.๒๕๒๒ ตลอดจนกฎหมายลำดับรองต่างๆที่เกี่ยวข้องแล้วปรากฏว่าไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่วางเงื่อนไขการมีเขตอำนาจรัฐในทางบริหาร จึงเข้าใจได้ว่าประเทศไทยนั้นอาศัยหลักทั่วไปในกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการใช้อำนาจรัฐในทางบริหารทั้งเหนือตัวบุคคล และเหนือดินแดนต่อนิติกรรมทางครอบครัวที่มีองค์ประกอบระหว่างประเทศ กล่าวคือหากคู่กรณีนิติกรรมทางครอบครัวนั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย หรือคู่กรณีไม่ว่าจะเป็นคนสัญชาติไทยหรือคนต่างด้าวประสงค์จะทำและจดแจ้งนิติกรรมทางครอบครัวนั้นในประเทศไทย หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ทางปกครองของไทยย่อมสามารถใช้อำนาจตามกฎหมายลงบันทึกนิติกรรมทางครอบครัวนั้นได้ หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขในกฎหมายไทย[11]

 

[1] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๔ ตรี

[2] เพิ่งอ้าง

[3] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๓(๒), มาตรา ๔(๑) และมาตรา ๔ ทวิ

[4] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๓(๑) และมาตรา ๔

[5] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๔ ทวิ

[6] โดยมีข้อยกเว้นว่า ประเทศไทยย่อมไม่มีอำนาจในทางตุลาการเหนือบุคคลผู้มีเอกสิทธิ์หรือความคุ้มกันทางการทูต อันได้แก่ ประมุขของรัฐต่างประเทศ หัวหน้ารัฐบาลของรัฐต่างประเทศ บุคลากรทางการทูตและการกงสุล และบุคลากรขององค์การระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นหลักของกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง โปรดดู คนึง ฦๅไชย, คำอธิบายว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย, พิมพ์ครั้งที่ ๔, (กรุงเทพมหานคร: วิญญูชน, ๒๕๕๕), น.๒๕

[7] ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.๒๕๔๑

[8] การหย่าโดยคำพิพากษาของศาลนั้นจะมีผลนับแต่เวลาที่คำพิพากษาถึงที่สุด แต่ทั้งนี้หากมิได้จดทะเบียนการหย่านั้น จะอ้างการหย่าดังกล่าวเพื่อเป็นเหตุให้บุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตต้องเสื่อมสิทธิไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๓๑ ดังนั้นพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.๒๔๗๘ มาตรา ๑๖ บัญญัติให้สามารถจดทะเบียนหย่าโดยผลของคำพิพากษาได้เพื่อให้ความรับกัน

[9] คือเอกสารใช้บันทึกสถานะของภริยา ในกรณีที่สามีภริยานั้นสมรสกันตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย ก่อนที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ จะมีผลใช้บังคับ (ก่อนวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๗๘) โดยชายจะมีเอกภริยา (ภริยาหลวง) ได้เพียง ๑ คนเท่านั้น ส่วนภริยาคนอื่นจะอยู่ในฐานะอนุภริยา (ภริยาน้อย) ตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.๒๔๗๘ มาตรา ๒๔ ประกอบระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.๒๕๔๑ หมวด ๗

[10] ในกรณีที่คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย และประสงค์ที่จะให้นายทะเบียนครอบครัวบันทึกการใดๆอันเกี่ยวกับฐานะแห่งครอบครัวที่ได้ทำขึ้นในต่างประเทศตามแบบแห่งกฎหมายต่างประเทศนั้น เช่น การสมรส การหย่า การรับบุตรบุญธรรม ฯลฯ ลงในทะเบียนครอบครัวของประเทศไทย อันเป็นการร้องขอความตามในพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.๒๔๗๘ มาตรา ๑๗

[11] เช่น เงื่อนไขเกี่ยวกับอายุ เพศ ความยินยอม เป็นต้น

อนึ่ง ในกรณีที่คู่กรณีเป็นคนต่างด้าว อาจต้องพิจารณาความสามารถในการทำนิติกรรมทางครอบครัวตามหลักเกณฑ์แห่งกฎหมายขัดกันที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑ ด้วย

หมายเลขบันทึก: 565660เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2014 15:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 เมษายน 2014 15:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท