แนวคิดการปรับปรุงโรงเรียนขนาดเล็กตามสภาพสังคมไทยในปัจจุบัน


        ผู้เขียนไม่ได้สนใจความขัดแย้งระหว่าง สี ไม่ได้สนใจเรื่องรัฐบาล ไม่เคยมีความคิดว่าเพราะความเกลียดรัฐบาล เกลียดทักษิณ เกลียดเพื่อไทย เกลียดเสื้อแดง เลยพาลเกลียดทุกอย่างที่ทำ แล้วจึงคัดค้านแนวคิดการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก แต่อยากเสนอสารคดีเชิงบทความจากมุมมองส่วนตัวดังนี้          

        ผู้เขียนมีลูกที่เรียนในโรงเรียนหมู่บ้านที่มีเด็กประมาณ 50 คน ผู้เขียนมีโอกาสได้ใกล้ชิดกับการทำงานทั้ง ผอ. ทั้งครู เห็นความตั้งใจจริงมาก ส่วนใหญ่ ครูในระดับอนุบาล หรือประถม เป็นผู้มีจิตอาสาอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้ ผู้เขียนเคยส่งลูกไปเรียนโรงเรียนขนาดใหญ่ ระดับจังหวัด แต่ปัญหา คือ ต้องเดินทางไกล ตื่น 05.45 กลับถึงบ้าน 18.30 น. นั่งรถไปกลับ สงสารลูกมาก เด็กเรียนเก่งจริง ผู้เขียนยอมรับ แต่เรื่องอื่น เช่น การใช้ชีวิตประจำวัน ความรู้รอบตัวน้อยมาก พูดภาษาชาวบ้านคือ ความรู้ท่วมหัว แต่ไม่รู้จะเอาตัวรอดหรือเปล่า เก่งหลักการ วิชาการมาก แต่หุงข้าว ทำกับข้าว ซักเสื้อผ้า ไม่เป็นเลย ในที่สุดผู้เขียนก็ย้ายลูกมาเรียนโรงเรียนใกล้บ้าน ขี่จักรยานไปกลับ ไม่ต้องตื่นแต่เช้าและกลับจนเย็นค่ำ  ซึ่งดูแล้วรู้สึกว่าเด็กมีความสุขมาก เด็กน้อย แต่มีการดูแลเอาใจใส่ที่ใกล้ชิด สอนธรรมมะ การใช้ชีวิตประจำวัน อาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน ช่วยทำงานบ้าน สอนทำอาหาร ล้างจาน ปลูกต้นไม้  เมื่อถึงวันพระ ทางโรงเรียนจะนำเด็กไปทำบุญที่วัด สอนให้สวดมนต์ รู้พิธีการและขั้นตอนการทำบุญ ใส่บาตร ตามวิถีชีวิตชุมชน

       ในความคิดของผู้เขียน ความทรงจำในวัยเด็กเป็นเรื่องสำคัญมาก โรงเรียนวัดที่ผู้เขียนจบมา ก็หล่อหลอมให้เป็นคนที่เสียสละ คิดถึงประโยชน์ส่วนรวม มากกว่าประโยชน์ส่วนตน ประทับใจคุณครูที่สอนตอนประถมมากเพราะได้เรียนวิชา หน้าที่พลเมืองและศีลธรรม ทำให้คิดว่าความรู้ทางวิชาการไม่ควรจัดให้เป็นอันดับหนึ่งสำหรับเด็กไทยในปัจจุบัน  แต่การใช้ชีวิตประจำวัน  การดำรงอยู่ได้ด้วยตนเองหรือการเอาตัวรอดได้ยามมีปัญหา มากกว่าการฆ่าตัวเองหรือฆ่าผู้อื่น หรือหันเข้าหายาเสพติด กลายเป็นปัญหาสังคมต่อเนื่องไปอีก การปลูกฝังทัศนคติ คุณธรรม จริยธรรมที่ดีให้กับเด็กไทย เสมือนการสร้างภูมิคุ้มกันมากกว่า  การศึกษาถือเป็นรากฐานสำคัญของชีวิตก็จริง แต่จะมองในมุมไหน ช่องทางการแสวงหาความรู้ในปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้วเพียงแค่ปลายนิ้วกด เพราะโลกเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์  ความรู้ทางวิชาการ จึงค้นหา เรียนรู้ด้วยตนเองได้โดยไม่ยาก เปิดคอมพิวเตอร์ อยากรู้ อยากเห็น ข้อมูลอะไร สามารถค้นหาได้ จนกลายเป็นมีความรู้มากมาย ไม่รู้เรื่องไหนจริง เรื่องไหนไม่จริง และไม่ทราบวิธีการนำมาใช้ที่ถูกต้อง เพราะเป็นการเรียนรู้ด้วยตนเอง  ผู้เขียนต้องการให้โรงเรียนขนาดเล็กตามชนบท เป็นจุดเริ่มต้นในการปลูกฝังจิตสำนึก รักและหวงแหนในแผ่นดินเกิด สามารถปลูกฝังเยาวชนในท้องถิ่นให้มีสำนึกรักบ้านเกิด  เพราะประเทศไทยมีสังคมชนบทมากกว่าสังคมเมือง ถ้าครูหนึ่งคน สอนเด็กสามคนให้เป็นคนดีได้ มีคุณภาพเชิงคุณธรรม และยังอยู่ในชุมชนเดิม เปรียบเสมือนการบ่มเพาะเม็ดพันธุ์ให้อยู่ในชุมชน จะดีกว่าหรือไม่ ควรจะรักษาอัตตลักษณ์ชุมชน ที่ไม่มีชาติใดเหมือน เพราะแต่ละชุมชน มีประวัติศาสตร์อันยาวนานอย่างน่าชื่นชม และมีเอกลักษณ์เฉพาะแห่ง ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคใต้  จึงควรรักษาอัตตลักษณ์แห่งชุมชนคงให้อยู่ตลอดไป หากโรงเรียนขนาดเล็กในชนบทที่มีประวัติยาวนาน 60 ปีกำลังจะถูกลบเลือน ด้วยเหตุเพราะมีเด็กน้อย แล้วเด็กรุ่นก่อนที่จบไปแล้ว จะรู้สึกอย่างไร ไม่นานโรงเรียนในชุมชนจะกลายเป็นอดีตไปหมดเช่นนั้นหรือ

                  คุณภาพ มาตรฐาน ในปัจจุบันใช้สิ่งใดเป็นตัวชี้วัด นโยบายการกระจายอำนาจผ่าน อบจ. อบต. เพื่อให้นำอัตตลักษณ์มาเป็นโอกาสในการพัฒนาประเทศ โดยส่งเสริมให้เกิดเป็นอัตตลักษณ์ของชุมชน แล้วใครจะเป็นผู้สืบสานต่อ ถ้าไม่ใช่เยาวชนในชุมชน และเพื่อให้สอดคล้องกัน รัฐบาลควรจะส่งเสริมให้แต่ละชุมชน มีหลักสูตรเฉพาะ มีงบประมาณในการสร้างคน เพื่อเป็นอนาคตของชาติไทย ให้ความสำคัญกับเด็ก มากกว่าจะพัฒนาแต่ระบบสาธารณูปโภค ความเจริญเพียงด้านเดียว งบประมาณของอบต.หรือท้องถิ่นในชุมชนที่ใช้สร้างถนน สาธารณูปโภค ที่มีอยู่มากมาย ควรตัดงบดังกล่าว มาสร้างคนให้กับประเทศไทยจะดีกว่าหรือไม่ เพราะสังคมไทยมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น แล้วเด็กวันนี้ คือผู้ใหญ่ในวันหน้า แทนที่จะยุบ ควรพัฒนาโดยดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ควรจะให้ความสำคัญกับโรงเรียนอนุบาลหรือประถมมากขึ้น เพราะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของอนาคตประเทศไทย จัดการเรียน การสอนโดยไม่ต้องคำนึงถึงปริมาณของเด็กนักเรียนหรือผลประโยชน์ อื่นใด แต่ควรจัดงบประมาณส่วนนี้ สำหรับสร้างเยาวชนของชาติไทยในอนาคตต่อไป หากเปลี่ยนมุมมองว่าเด็กน้อยยิ่งดี จะได้ปลูกฝังและสั่งสอน อบรมได้ง่าย ดีกว่าผลิตเด็กออกมาเป็นปริมาณที่มากตามหลักสูตรที่เปรียบเสมือนเสื้อผ้าสำเร็จรูป  แต่ไม่รักชุมชน ไม่ได้เติบโตอยู่ในชุมชน เพราะจะต้องไปเรียนนอกชุมชน หรือมุ่งหน้าสู่เมืองเจริญกันหมด สุดท้ายก็ไม่มีใครเหลืออยู่ตามชนบท และปัญหาความแออัดก็ไปเกิดตามเมืองใหญ่ ไม่มีใครทำนา ทำสวน ทำไร่ เพราะเงินน้อย งานหนัก ไม่มีเกียรติยศ  ทัศนคติสังคมไทยปัจจุบัน ที่นับถือเงิน มากกว่าคุณงามความดี ต้องเรียนเพื่อหาเงินให้มากหรือใช้วิธีการอื่นใดก็ได้เพื่อให้ได้มาซึ่ง เงิน  ไม่ว่าจะถูกต้องหรือไม่ ถ้าจุดมุ่งหมายแท้จริงคือ ความต้องการทางวัตถุที่จะตอบสนองความต้องการได้ถ้ามีการศึกษาที่สูง เช่น บ้าน รถ ฯลฯ   นั่นคือวัตถุประสงค์ของการศึกษาไทยในปัจจุบันใช่หรือไม่              

            เหตุผลที่นำมาอ้างในการยุบคือ เด็กนักเรียนน้อย ส่วนหนึ่งมีผลมาจากเพราะเคยยุบไปแล้ว ก็กลับมาเปิดใหม่อีก พอเริ่มจะปรับตัวได้ จะยุบอีกแล้วหรือ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะนำปัญหาว่าวิเคราะห์หาสาเหตุว่าทำไมนักเรียนน้อย ไม่มีนักเรียนไปเรียน ปัญหามาจากอะไร จำนวนประชากรลดลง หรือความเจริญทางสังคมที่เพิ่มมากขึ้น หรือนโยบายที่เปลี่ยนแปลงไปมา และขาดความต่อเนื่อง ขาดการประสานงานกันระหว่างหน่วยงานของกระทรวง เหมือนต่างคิด ต่างทำ ไปกันคนละแนวทาง ระบบการศึกษาของไทยที่มีหลายสังกัด  เปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนรัฐมนตรี ก็เปลี่ยนนโยบาย  ทำให้การศึกษาของประเทศไทยไม่ก้าวหน้า ต่อเนื่องเท่าที่ควร เป็นไปได้หรือไม่ที่จะวางแผนการศึกษาให้เป็นระบบ มีทั้งแผนระยะยาวและระยะสั้น ที่ปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมและสอดคล้องกัน เพื่อใช้เป็นจุดแข็งหรือโอกาสในการต่อสู้กับระบบทุนนิยมในโลกปัจจุบัน

             ควรมองเป้าหมายหรือจุดคุ้มทุนที่ไม่ใช่เชิงปริมาณ แต่ให้ความสำคัญกับอัตตลักษณ์ชุมชน วัฒนธรรมท้องถิ่นดั้งเดิม ที่กำลังจะเลือนหายไป วิถีชีวิตของไทยเปลี่ยนไปอย่างมากแล้ว ต่อไปจะไม่เหลืออะไรที่เป็นคุณลักษณะประจำชาติไทยเลย ถ้าไม่เริ่มสร้างตั้งแต่วันนี้  แทนที่จะยุบ ควรส่งเสริม หาวิธีแก้ปัญหาร่วมกัน สะท้อนปัญหาให้ชัดเจน แก้ปัญหาให้ตรงจุด จะดีกว่าหรือไม่ การปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีงามให้แก่เด็กไทย ควรทำอย่างไร เพราะมีโอกาสนำเสนอและทำได้ในช่วงเด็กเยาว์วัยเท่านั้น ถ้ายังไม่ชัดเจนในทิศทางหรือเป้าหมายในด้านการเรียนการสอน อนาคต สังคมไทยอาจจะล่มสลายได้ แล้วนโยบายรัฐบาลในการกระจายอำนาจ ความเจริญสู่ชนบท เพื่อลดปัญหาความแออัดในเมืองใหญ่ โดยส่งผ่าน อบต.อบจ. SML OTOT ฯลฯ จะเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์อันใด

              ผู้เขียนมีโอกาสเกี่ยวข้องกับนโยบายและได้มีโอกาสเป็นที่ปรึกษาในหลายหน่วยงาน เห็นนโยบายของรัฐบาลที่ดี แต่เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ทราบ เช่น กระทรวงยุติธรรมมีศูนย์ยุติธรรมชุมชน เพื่อไกล่เกลี่ยคดีความก่อนขึ้นสู่กระบวนการยุติธรรมของศาล หรือมีความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในชุมชน โดยให้ศูนย์ยุติธรรมชุมชนเป็นผู้ประสานร่วมกับหน่วยงานอื่น กระทรวงมหาดไทยมีศูนย์ดำรงธรรมที่มีแนวคิดและวัตถุประสงค์ที่ดีมาก ช่วยเหลือในด้านกฎหมายกับประชาชน เป็นต้น ก็เป็นนโยบายของรัฐบาลในเรื่องชุมชนเช่นเดียวกัน

        ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อย่างไม่อาจปฏิเสธได้ แล้วในอนาคต ปัญหาจะยิ่งมากขึ้นเกินเยียวยาหรือไม่  ควรแก้ปัญหาร่วมกันอย่างเป็นระบบ มีแผนการและขั้นตอนการปฏิบัติที่ชัดเจน จากการความร่วมมือของทุกฝ่ายมากกว่ายึดติดกับปัญหา ความขัดแย้งเดิม ประเทศไทยมีต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม มีชื่อเสียง แต่ต้นทุนดีที่สุดที่ผ่านการศึกษาวิจัยแล้ว คือ  คน จึงควรหันมาสร้างต้นทุนในเรื่องดังกล่าว โดยเริ่มไปที่การพัฒนาการเรียนการสอนทางด้านคุณธรรม จริยธรรม เป็นอันดับหนึ่งจะดีกว่าหรือไม่ พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติก็ลดน้อยลง สวนทางกับความต้องการจากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น การสร้าง คน  น่าจะลงทุนน้อยกว่าการพัฒนาความเจริญทางด้านวัตถุ เพราะโรงเรียนขนาดเล็กในชนบทมีทั้งสถานที่และบุคคลากรเดิมอยู่แล้ว เพียงแต่ควรวางแผน จัดระบบให้เหมาะสม ถ้าประเทศไทยมี คน ที่มีคุณภาพในเชิงคุณธรรม จริยธรรม จะทำให้ประเทศไทยเจริญได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะเกิดได้ ก็ต้องได้รับการปลูกฝังตั้งแต่ในวัยเยาว์หรือวัยเด็กเล็ก นั่นคือ ข้อที่ดีที่สุดของโรงเรียนขนาดเล็กตามชนบทที่ผู้เขียนมองเห็นประโยชน์

                  สังคมไทย เป็นสังคมที่มีอัตตลักษณ์เฉพาะ อัตตลักษณ์ตามความหมายของผู้เขียนมาจาก อัตตา+ลักษณะ คือลักษณะเฉพาะของตัวตน เป็นระบบอุปถัมภ์แบบเชื่อมโยงเป็นระบบเครือญาติ โครงสร้างของสังคมไทย ที่อยู่มาได้ด้วยระบบชุมชน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิม เราเรียกบุคคลภายนอกที่ไม่เคยรู้จักเลยว่า พี่ น้อง ลุง ป้า น้า ยาย ตา ซึ่งเป็นคำสรรพนามที่ใช้ทั่วไป เสมือนเราเป็นพี่น้องกัน ในขณะที่ต่างชาติใช้สรรพนาม I และ You  สองคำเท่านั้น เราอยู่ร่วมกันโดยมีวัฒนธรรมทางสังคมเป็นตัวเชื่อมโยง เป็นระบบอุปถัมภ์ที่มองแบบอย่างง่ายคือ ผู้ใหญ่ดูแลเด็ก มีความรักพวกพ้องสูง และ ข้อสำคัญคือ เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น จะมีพรรคพวกที่รักกลุ่ม รักพวกพ้อง ออกมาร่วมด้วยช่วยกันอย่างน่ารัก แต่บางครั้ง ควรมองหาสาเหตุของความขัดแย้งให้พบและแก้ปัญหาให้ตรงจุดน่าจะดีกว่าที่ใครไม่เห็นด้วยกับพวกเรา ก็คือฝ่ายตรงข้ามเพียงอย่างเดียว การจะมองว่า คนนี้ไม่ดี เพียงเพราะไม่ใช่พวกพ้องของเรา ไม่น่าจะเหมาะสม แต่ควรจะนำเสนอต่อ อย่างไรที่เรียกว่าไม่ดี ไม่ดีตรงไหน ทำอย่างไรถึงจะดี มีขั้นตอนและวิธีการอย่างไรที่จะทำดีในทัศนคติของผู้ที่มองว่าเขาไม่ดี ความเชื่อที่เกิดจากความรักและความศรัทธาส่วนตน บางครั้งเป็นความถูกใจ แต่ไม่ถูกต้องก็อาจขึ้นได้ ถ้ามองในแง่ส่วนรวม เราควรยึดหลักอะไร ความถูกต้องแต่ไม่ถูกใจ หรือความถูกใจแต่ไม่ถูกต้อง เชื่อว่าผู้ที่อ่านบทความนี้คิดได้อย่างแน่นอน ปัญหาคือ "ยอมรับกันได้หรือเปล่า" เพราะนี้คือ ขั้นตอนสุดท้าย             

               ปัญหาสังคมไทยในปัจจุบัน ผู้เขียนมองว่า เพราะเรา "เกิดการไม่ยอมรับ" ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม เมื่อไม่ยอมรับ ก็เกิดการต่อต้านตามมา  ซึ่งอาจมาจากทัศนคติส่วนตน ประสบการณ์ที่ผ่านมา หรือข้อมูลที่ได้รับ ถึงเวลาหรือยังที่สังคมไทย จะหันมามอง การนำเสนอ แบบมีเหตุ มีผล จากการคิด วิเคราะห์ แยกแยะ เสนอแนะ และแก้ไข ส่วนขั้นตอนสุดท้าย คือการยอมรับ โลกเข้าสู่กระแสโลกาภิวัตน์ รวมถึงประเทศไทยด้วย แต่ถ้ารากฐานของสังคมไทยอ่อนแอ ต่อไปชาติพันธุ์ของคนไทยก็คงจะไม่มี  จากเหตุการณ์ในอดีต ที่คนจีนนิยมเข้ามาอยู่ในไทย จนกลายเป็นกลุ่มเป็นคนไทย เชื้อสายจีน แม้แต่ตัวผู้เขียนเอง ก็มีบรรพบุรุษมาจากเมืองจีน แล้วต่อไป เมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เปิดเป็นการค้าเสรี ประเทศไทยจะเริ่มมี คนไทยเชื้อสายพม่า คนไทยเชื้อสายเขมร ฯลฯ หรือไม่ ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทยที่ลดน้อยลงไปจากการ พัฒนาประเทศไทยจนเจริญล้ำหน้าประเทศอื่นในอาเซียนด้วยกัน กำลังจะให้คนชาติอื่นเข้ามาใช้ประโยชน์ใช่หรือไม่ แล้วอะไรจะเกิดตามมา อัตราการเกิดของประชากรไทยในกลุ่มคนที่มีคุณภาพจะเกิดน้อยลง ผู้หญิงไทยมีการศึกษาสูง แต่งงานช้าลง อัตราการเป็นโสดเพิ่มมากขึ้น แต่เด็กที่เกิดใหม่ ในปัจจุบันจะอยู่ในกลุ่มที่เป็นวัยรุ่น ไม่ใช่วัยทำงาน แล้วอนาคตของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร เราควรหันมาสร้างสรรค์สังคมไทย โดยวิธีการที่ช่วยกันหาทางออก หาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกันจะดีกว่าหรือไม่ ช่วยกันเสนอแนวคิด วิธีการ ขั้นตอนที่ทำอย่างไร ที่คนรุ่นเราต้องรักษาไว้ เพื่อประเทศไทยจะยังคงอยู่ต่อไปชั่วลูกหลาน  ผู้เขียนอยากเห็นการพัฒนาประเทศไทย ที่มีนโยบายที่ชัดเจน ปฏิบัติได้จริง วัดผลได้ เห็นผลได้อย่างเป็นรูปธรรมมากกว่า คุณภาพ ประสิทธิภาพ ที่ฟังดูดี แต่ไม่เป็นจริง  มีจุดยืนที่มั่นคง เป็นระบบ และเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน ประสานความร่วมมือกัน ความจริงใจในการแก้ปัญหาที่ชัดเจน ตรงไปตรงมา โปร่งใส  เพื่อผลักดันให้เกิดเสถียรภาพขึ้นในทุกด้าน มีการประชาสัมพันธ์การทำงานให้ประชาชนโดยทั่วไปได้รับรู้รับทราบ ข้อมูล ข้อเท็จจริง ความเจริญทางวัตถุเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่ควรพัฒนาจิตใจของคนในสังคมไปด้วย เพราะเมื่อแสวงหาวัตถุมาเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเองและพวกพ้อง ก็ย่อมเกิดการแข่งขัน แย่งชิงกันมากขึ้น เกิดเป็นปัญหาสังคมในวงกว้างแล้วอะไรจะเกิดขึ้นกับอนาคตของประเทศไทย

     สารคดีเชิงวิชาการนี้เป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเอง ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง มิได้มีเจตนาอื่นใดแอบแฝง และใช้เวลาน้อยมากในการนำเสนอ หากมีข้อผิดพลาดประการใด ผู้เขียนต้องขออภัยมา ณ ที่นี้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 565637เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2014 10:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 เมษายน 2014 10:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท