ปัญหาสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัย/คนหนีภัยความตาย


ที่มา : https://www.unhcr.or.th/th/refugee/about_refugee

     เมื่อมีการกล่าวถึงสิทธิมนุษยชน อาจพิจารณาปัญหาสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นได้กับบุคคลหลายประเภท และหนึ่งในประเภทของบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสิทธิมนุษยชน คือ ผู้ลี้ภัย หรือคนหนีภัยความตาย ซึ่งก่อนจะพิจารณาถึงปัญหาดังกล่าว เราต้องทราบก่อนว่าสิทธิมนุษยชนคืออะไร ผู้ลี้ภัยและคนหนีภัยความตายคืออะไรและมีความแตกต่างกันอย่างไร ดังจะกล่าวดังต่อไปนี้

     สิทธิมนุษยชน (Human Right) หมายถึง สิทธิที่มนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลที่ได้รับการรับรอง ทั้งความคิดและการกระทำที่ไม่มีการล่วงละเมิดได้ โดยได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และสนธิสัญญาระหว่างประเทศ [1]

     ในส่วนของ “ผู้ลี้ภัย” สามารถพิจารณาได้ตามอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 ซึ่งได้ให้คำนิยาม และความหมายของสถานภาพผู้ลี้ภัยว่า ผู้ลี้ภัย หมายถึง บุคคลที่จำเป็นต้องทิ้งประเทศบ้านเกิดของตนเอง เนื่องจากความหวาดกลัวการถูกประหัตประหารหรือได้รับการคุกคามต่อชีวิตเนื่องจากสาเหตุข้อหนึ่งข้อใด เช่น เชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติสมาชิกภาพในกลุ่มทางสังคม สมาชิกภาพในกลุ่มความคิดทางการเมือง [2]

     ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่สูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างรวมไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ บ้านเรือน และแม้แต่ครอบครัว ผู้ลี้ภัย แตกต่างจากแรงงานต่างด้าวเพราะแรงงานต่างด้าวเดินทางออกนอกประเทศของตนโดยสมัครใจเพื่อหาโอกาสทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ผู้ลี้ภัยไม่อาจพึ่งพาความคุ้มครองจากรัฐบาลของตนเอง พวกเขาถูกบังคับให้หนีจากประเทศของตนเอง จึงจำเป็นที่ประชาคมนานาชาติต้องให้ความช่วยเหลือ และให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยเหล่านั้น

     “ผู้หนีภัยความตาย” คือ ผู้หนีภัยที่เกิดกับชีวิต ทั้งภัยโดยตรง และโดยอ้อม ภัยโดยตรง เช่น ภัยจากการสู้รบส่วนภัยความตาย โดยอ้อม โดยสามารถแบ่งออกได้เป็นสองประเภท คือ

     1. ภัยความตายทางกายภาพ ซึ่งเกิดจากการคาดการณ์ได้ว่า ถ้าไม่หนีออกมาจากพื้นที่นั้นจะต้องตาย เช่น เมื่อรู้ข่าวว่ามีกองทหารกำลังจะเข้ามาที่หมู่บ้านและมีข้อมูลว่า หากทหารเข้ามาในหมู่บ้านแล้วจะเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนจนถึงขั้นเสียชีวิต ได้ จึง หนีออกมาก่อนที่ทหารจะมาถึง หรือ กรณีการหนีจากการบังคับเกณฑ์แรงงาน ซึ่งอันที่จริง การเกณฑ์แรงงานไม่ได้เป็นภัยความตายโดยตรง คือ ถ้าถูกยอมให้เกณฑ์แรงงานไปเรื่อย ๆ ก็อาจจะไม่ถูกฆ่าตาย แต่ถ้าหากปฏิเสธไม่ยอมทำงาน ก็มีความเสี่ยงที่จะตายได้ หรือ หากถูกบังคับให้ทำงานแล้วหลบหนีออกมาก็มีข้อมูลว่าคนเหล่านี้จะถูกฆ่าตายได้ เช่นเดียวกับกรณีการถูกบังคับเก็บภาษี หรือการข่มขืน ถ้าหากไม่ปฏิบัติตามก็มีความเสี่ยงที่จะตายได้ นี่เป็นตัวอย่างของภัยความตายทางกายภาพที่เห็นได้ชัด
     2. ภัยความตายทางจิตใจ เช่น การข่มขืน เป็นต้น [3]

ที่มา : http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?News...

     ปัญหาสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัยในปัจจุบันที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ ปัญหาความไม่สงบในประเทศซีเรีย (Syria) ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้อำนาจที่มากเกินไปและการใช้อำนาจตามอำเภอใจของผู้ปกครองในการกดขี่ข่มเหงประชาชน จนนำไปสู่การใช้ความรุนแรง รวมไปถึงการติดอาวุธ และกลายเป็นสงครามกลางเมืองในที่สุด

     จากเหตุการณ์ความไม่สงบดังกล่าวจะเห็นได้ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเนื่องจากมีการทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกายของมนุษย์ รวมไปถึงมีการดึงบุคลภายนอก เช่น ประเทศอิสราเอลเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงทำให้ความรุนแรงดังกล่าวไม่ใช่เพียงปัญหาภายในประเทศระหว่างรัฐเละประชาชนแต่เพียงเท่านั้น และทำให้ประชาชนในซีเรียต้องอพยพไปยังประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง เช่น ประเทศอิรัก เลบานอน จอร์แดน หรือตุรกี ในสถานะของ “ผู้ลี้ภัย” โดยประเทศผู้รับดังกล่าวไม่สามารถปฏิเสธความช่วยเหลือ หรือส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศได้ เนื่องจากมีกฏหมายระหว่างประเทศกำหนดไว้ว่า “ห้ามมิให้ชาติใดๆ ก็ตามส่งกลับ หรือปิดกั้นผู้ที่พยายามหนีออกจากประเทศ ซึ่งมีภัยคุกคามต่อชีวิตและเสรีภาพของบุคคลผู้นั้น” [4]

     นอกจากนี้ยังมีองค์กรที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือในการสร้างค่ายให้แก่ผู้ลี้ภัยในหลายประเทศ คือ United Nations High Commissioner for Refugees (UNHCR)แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ลี้ภัยจนทำให้เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัย ทั้งการละเมิดเพราะมีเชื้อชาติที่แตกต่างทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆและการคุ้มครองจากรัฐได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการศึกษา การทำงาน ซึ่งส่งผลให้ผู้ลี้ภัยเป็นบุคคลที่ไม่มีความรู้ และถึงแม้มีความสามารถก็ขาดโอกาสในการประกอบอาชีพที่ดี นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการถูกล่วงละเมิดทางเพศอีกด้วย

ที่มา : https://www.unhcr.or.th/th/refugee/thailand

     นอกจากปัญหาในต่างประเทศแล้ว ประเทศไทยก็ประสบปัญหาดังกล่าวเช่นกัน คือ มีผู้อพยพมาจากประเทศพม่าซึ่งมีสถานการณ์ที่ไม่สงบ มาอาศัยอยู่ในค่ายอุ้งเปรี้ยงซึ่งเป็นเพียงค่ายพักพิงชั่วคราว แต่ในกรณีของประเทศไทยจะไม่เรียกผู้ที่อพยพเข้ามาว่าผู้ลี้ภัย เพราะประเทศไทยไม่ได้ร่วมลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ.2494 รวมไปถึงไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยเป็นการเฉพาะ จึงส่งผลให้ผู้ลี้ภัยที่อพยพเข้ามาในประเทศไทเข้ามาอยู่ในประเทศโดยผิดกฎหมาย และประเทศไทยยอมรับบุคลเหล่านี้ในสถานะ “ผู้หนีภัยความตาย” แต่เพียงเท่านั้น

     ซึ่งในปัจจุบันแม้ปัญหาความไม่สงบในประเทศพม่าจะหมดไปแล้ว แต่ผู้ที่อพยพมานั้นก็ยังคงอาศัยอยู่ที่ค่ายพักพิงชั่วคราวนี้ จนอาจจะเรียกได้ว่าเป็นที่อยู่อาศัยของผู้อพยพอย่างถาวรไปแล้วก็ว่าได้ ซึ่งจากกรณีดังกล่าวประกอบกับการที่ประเทศไทยไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาที่จะมีข้อกำหนดในเรื่องผู้ลี้ภัยมารองรับจึงทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้น กล่าวคือ เมื่อผู้อพยพได้หนีภัยเข้ามาอยู่ในค่ายแล้วประเทศไทยก็ไม่ได้รับการศึกษาแต่อย่างใด ทำให้ไม่มีความรู้ความสามรถในการประกอบอาชีพหาเลี้ยงชีพตนเอง รวมไปถึงมีข้อกำหนดที่จำกัดไม่ให้ผู้อพยพชาวพม่าเคลื่อนย้ายไปยังที่ต่างๆ และห้ามมิให้ทำงานอันเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานที่บุคคลมีสิทธิเลือกประกอบอาชีพเองได้อย่างอิสระ รวมไปถึงไม่มีการฝึกอาชีพให้กับคนในค่ายพักพิงพิงชั่วคราว ซึ่งจะส่งผลให้ผู้อพยพชาวพม่าไม่มีความสามารถในการประกอบอาชีพ ไม่สามารถจะทำงานใดๆได้เลย ซึ่งจากข้อจำกัดดังกล่าวหากมีการฝ่าฝืนออกไปนอกค่ายเพื่อเหตุผลใดๆก็ตามจะถือว่ากลายเป็นคนต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย ดังนั้นผู้อพยพในค่ายจึงต้องอยู่แค่ในค่ายและต้องพึ่งพาการช่วยเหลือในเรื่องอาหารจาก UNHCR ที่จะนำข้าวสารมาแจก ซึ่งก็ยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนในค่าย นอกจากนี้ยังมีการห้ามสมรสซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกเช่นกัน

     ปัญหาดังกล่าวข้างต้นเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย ดังนั้นจึงความมีการแก้ไขพัฒนากฎหมายในเรื่องดังกล่าวของประเทศไทยต่อไป ทั้งนี้ประเทศไทยควรมีการลงนามในอนุสัญญาด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย 2494 หรือพิธีสารเกี่ยวกับสถานะภาพผู้ลี้ภัย 2510 และออกกฎหมายเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยเพื่อนำมาปฏิบัติให้ถูกต้องและไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัยซึ่งอาจะเป็นการซ้ำเติมความเลวร้ายที่ผู้ลี้ภัยได้ประสบมาให้แย่ดังเดิม


นางสาวชนากานต์ เฉยทุม

เขียนเมื่อ : วันที่ 7 เมษายน 2557


อ้างอิง

[1] ความหมายสิทธิมนุษยชน. แหล่งที่มา : http://kittayaporn28.wordpress.com/%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2-2/%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A2-5/%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A9%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%99-human-right/ 7 เมษายน 2557.

[2] ผู้ลี้ภัยคือใคร. แหล่งที่มา : https://www.unhcr.or.th/th/refugee/about_refugee 7 เมษายน 2557.

[3]“สิทธิของผู้หนีภัยความตาย” จากมุมมองนักวิชาการด้านสิทธิ. 2549. แหล่งที่มา : http://salweennews.org/home/?p=986 7 เมษายน 2557.

[4] ผู้ลี้ภัยซีเรีย “เข้าตาจน” โดนเพื่อนบ้านปิดประตูใส่ “โชคยังดี” เลบานอน “อ้าแขนรับ”. 2556. แหล่งที่มา : http://www.thaiday.com/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9560000080038 7 เมษายน 2557.

หมายเลขบันทึก: 565571เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2014 17:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 20:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท