แก่นตะวัน สมุนไพรมหัศจรรย์


         หลังจากที่เราได้พบกับ "แก่นตะวัน" เราลองรับประทานหัวสดๆ เป็นเวลาหนึ่งเดือน สุขภาพดูดีขึ้น ขณะที่เพื่อนร่วมงานป่วยเป็นไข้หวัดกัน เรายังยืนหยัดอยู่ได้ คงจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากการออกกำลังกายและการรับประทานอาหารเป็นยา เราจึงชวนเพื่อนร่วมงานรับประทานแก่นตะวัน เพื่อนถามว่า แก่นตะวันคืออะไร? จึงเป็นที่มาของบันทึกหน้านี้

         แก่นตะวัน หรือ ทานตะวันหัว หรือ แห้วบัวตอง (Jerusalem artichoke หรือ sunchoke) ส่วนชื่อวิทยาศาสตร์คือ Helianthus tuberosus L. เป็นพืชดอกในตระกูลทานตะวัน ซึ่งมีต้นกำเนิดในทวีปอเมริกาเหนือ ชาวอินเดียนแดงปลูกไว้รับประทานหัว โดยเชื่อว่ามีสรรพคุณช่วยทำให้เจริญอาหาร ต่อมาจึงแพร่หลายไปในสหรัฐอเมริกาและยุโรป

         แก่นตะวัน เป็นพืชล้มลุก มีหัวสะสมอาหาร หัวเป็นตะปุ่มตะป่ำ ไม่เรียบ คล้ายหัวของขิงและข่า มีสีหลายสี เช่น สีขาว สีเหลือง สีแดง สีม่วง รับประทานได้ ผิวใบสาก ใบรีรูปไข่ บางพันธุ์มีขอบใบหยักลักษณะต้น สูง 1.5-2.0 ม. มีขนตามกิ่งและใบ ดอก เป็นทรงกลมแบน สีเหลือง คล้ายดอกทานตะวัน หรือบัวตอง ออกดอกเป็นช่อ สีเหลืองคล้ายดอกทานตะวัน มีโครโมโซมเป็น hexaploid เป็นพืชวันสั้น ช่วงแสงวิกฤตน้อยกว่า 14 ชั่วโมง การเจริญเติบโตของแก่นตะวันมีสองช่วง ช่วงแรกนับตั้งแต่ปลูกจนถึงออกดอกครั้งแรก แก่นตะวันจะสะสมอาหารในใบและลำต้น ช่วงที่สองหลังจากดอกแรกบานจนถึงระยะเก็บเกี่ยว ใบจะหลุดร่วง อาหารสะสมที่ใบถูกส่งไปที่หัว ที่หัวของแก่นตะวันนี่เอง ที่จัดว่ามีสรรพคุณดีเยี่ยม ก็เพราะที่ส่วนหัวของ"แก่นตะวัน"จะมีสารอินนูลิน (Inulin) ที่เต็มไปด้วยน้ำตาลฟรักโตสโมเลกุลยาว จึงเป็นพืชพรีไบโอติกที่มีเส้นใยสูงมาก หากรับประทานเข้าไป สารดังกล่าวจะไปช่วยดักจับยึดไขมันในเส้นเลือด ไม่ว่าจะเป็นคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ หรือ LDL ที่เรารับประทานเข้าสู่ร่างกายมากเกินไปทิ้งออกทางอุจจาระ จึงช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้เป็นอย่างดี และ ถ้าใครที่ไม่ค่อยแข็งแรงเพราะมีภูมิคุ้มกันต่ำ "แก่นตะวัน" ก็ถือเป็นสมุนไพรที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้ดีขึ้น เพราะอินนูลินจะไปช่วยลดปริมาณแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหาร เช่น โคลิฟอร์ม (Coliforms) และ อี.โคไล (E.Coli) ในขณะเดียวกัน "แก่นตะวัน" ก็จะไปเพิ่มการทำงานของแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายคือ บิฟิโดแบคทีเรีย (Bifidobacteria)และแลคโตบาซิลัส (Lactobacillus) ให้เจริญเติบโตได้ดียิ่งขึ้น

         นอกจากนี้ ใครที่อยากลดความอ้วน "แก่นตะวัน" ก็เป็นหนึ่งในตัวช่วยควบคุมน้ำหนักตัวได้เป็นอย่างดี โดยก่อนหน้านี้มีผู้ทดลองวิจัยให้หนูทานอาหารผสมอินนูลินนาน 3 สัปดาห์ และพบว่า น้ำหนักตัวของหนูลดลงจากเดิมถึง 30% เลยทีเดียว ซึ่ง หากคนรับประทานแก่นตะวันซึ่งมีอินนูลินสูงเข้าไป ก็จะช่วยเรื่องการลดน้ำหนักตัวได้เช่นกัน เพราะร่างกายเราไม่สามารถย่อยสารเส้นใยอินนูลินได้ ทำให้สารดังกล่าวตกค้างอยู่ในระบบทางเดินอาหารหลายชั่วโมง จึงทำให้ผู้รับประทาน "แก่นตะวัน" เข้าไป ไม่รู้สึกหิว และทานอาหารได้น้อยลงนั่นเอง

         ส่วนผู้ที่ไม่อยากเป็นโรคเบาหวาน การรับประทาน "แก่นตะวัน" ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานได้ เพราะ "แก่นตะวัน" มีแคลอรี่ต่ำ และไม่ไปเพิ่มน้ำตาลในเลือด โดยมีงานวิจัยระบุว่า คนที่ทานอินนูลินจะมีโอกาสเป็นเบาหวานน้อยกว่าคนที่ทานน้ำตาลถึง 40% เลยทีเดียว สำหรับสรรพคุณอื่น ๆ ของ "แก่นตะวัน" ก็มีอย่างเช่น ช่วยการทำงานของระบบขับถ่าย ลดอาการจุกเสียดแน่นท้อง แก้อาการท้องเสีย ท้องผูก ช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ ลดกลิ่นปากจากเชื้อแบคทีเรีย ป้องกันพิษของโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว ป้องกันอาการภูมิแพ้ และการแพ้อาหาร โดยเฉพาะในเด็ก กระตุ้นการดูดซึมแร่ธาตุหลายชนิด โดยเฉพาะแคลเซียม และธาตุเหล็ก ฯลฯ

        คุณค่าทางโภชนาการของแก่นตะวันดิบ ต่อ 100 กรัม

        พลังงาน 73 กิโลแคลอรี
        คาร์โบไฮเดรต 17.44 กรัม
        น้ำตาล 9.6 กรัม
        เส้นใย 1.6 กรัม
        ไขมัน 0.01 กรัม
        โปรตีน 2 กรัม
        วิตามินบี1 0.2 มิลลิกรัม 17%
        วิตามินบี2 0.06 มิลลิกรัม 5%
        วิตามินบี3 1.3 มิลลิกรัม 9%
        วิตามินบี5 0.397 มิลลิกรัม 8%
        วิตามินบี6 0.077 มิลลิกรัม 6%
        วิตามินบี9 13 ไมโครกรัม 3%
        วิตามินซี 4 มิลลิกรัม 5%
        ธาตุแคลเซียม 14 มิลลิกรัม 1%
        ธาตุเหล็ก 3.4 มิลลิกรัม 26%
        ธาตุแมกนีเซียม 17 มิลลิกรัม 5%
        ธาตุฟอสฟอรัส 78 มิลลิกรัม 11%
        ธาตุโพแทสเซียม 429 มิลลิกรัม 9%
        % ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)

        แม้จะมีข้อดีอยู่หลายประการ แต่ก็ยังมีข้อเสียอยู่บ้าง เนื่องจากแก่นตะวันมีคุณสมบัติของเส้นใยอาหารสูง การรับประทานสารสกัดในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น มีอาการไม่สบายท้อง จุกเสียดแน่นท้อง ท้องเสีย ท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือมีอาการคลื่นไส้ เป็นต้น ซึ่งอาการดังกล่าวจะพบได้น้อยและไม่มีผลกระทบต่อผู้รับประทานมากนัก หากคุณรับประทานสารสกัดดังกล่าวในปริมาณที่เหมาะสม หรือเลือกรับประทานในรูปของแก่นตะวันสดในรูปของอาหาร แถมยังช่วยคงคุณค่าของสารอาหารและเส้นใยไว้อย่างครบถ้วนอีกด้วย ดังนั้นการเลือกรับประทานแบบสดๆ จึงมีประโยชน์ต่อร่างกายมากที่สุด

        เราสามารถเลือกได้รับประทานอาหารเป็นยานะค่ะ อย่ารับประทานยาเป็นอาหาร แล้วอย่าลืมออกกำลังกายด้วย เราก็จะมีสุขภาพที่ดี

หมายเลขบันทึก: 565563เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2014 15:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2014 15:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท