BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

เช้านี้ สมภารวัดยางทองบิณฑบาต


เมื่อคืน รู้สึกปวดศรีษะเล็กน้อย จึงดูนาฬิกาผิดพลาด นึกว่าจะตี 12 เที่ยงคืนแล้ว จึงปิดเครื่อง ปิดไฟ ปูผ้า วางหมอน กางมุ้งครอบ พอกำลังจะลอดเข้าไปในมุ้ง สายตาเหลือบเห็นนาฬิกา จึงตั้งใจมองอีกครั้ง ปรากฏวาตี 11 เวลานี้ ตามปกติ ถือว่ายังไม่ถึงเวลาจำวัดของสมภารยางทอง... แต่เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว อีกทั้งปวดหัวนิดหน่อย จึงตัดสินใจนอนดีกว่า ถ้าไม่หลับค่อยลุกขึ้น...

ไม่นานก็ หลับไปงีบหนึ่ง หยิบนาฬิกามาดู ใกล้ตีสิบสองเท่านั้น "เวลา ช้าจริง ! " บอกกับตนเอง... ก็หลับไปอีกงีบ หยิบนาฬิกามาดู เพิ่งผ่านตีหนึ่งนิดๆ นึกถึงบาเซโลน่าที่จะเตะกับแอต. มาดริด ในเวลาตีหนึ่งสี่สิบห้า แต่ก็นอนอยู่ในสภาพปกติ คิดว่าสักครู่ ถ้าอยากจะดูค่อยลุกขึ้น ปรากฏว่าหลับไปอีกงีบหนึ่ง ดูนาฬิกา ตีสี่กว่าแล้ว "ค่อยยังชั่วหน่อย" บอกกับตนเอง... รู้สึกครั้งนี้ บอกกับตนเองว่า นอนเต็มตื่นแล้ว ใคร่จะลุกขึ้น แต่เห็นว่ายังอีกเกือบสองชั่วโมงกว่าจะสว่าง จึงข่มใจนอนต่อ...

รู้สึกตัวอีกครั้ง ก็ตีห้าครึ่งพอดี จึงลุกขึ้นเก็บเครื่องนอน เห็นคุณนุชเดินออกมาพอดี จึงบอกให้ไปปิดไฟที่ศาลาด้านนอก สมภารก็ปิดไฟในศาลาโรงธรรมหมดแล้วก็ ออกไปเปิดประตูวัด กลับเข้ามาเปิดไฟในห้อง เปิดเครื่องคอมฯ ดูโน้นดูนี้ แต่รู้สึกว่า สมองยังไม่ค่อยทำงาน... "ยืนบาตร ดีกว่า" ความคิดโพล่งขึ้นมา จึงดูเวลา พอหกโมงตรงจึงห่มจีวร อุ้มบาตรออกทางประตูทิศเหนือตรงข้าม สถานีดับเพลิง....

ปกติ สมภารจะตื่นเช้าใกล้ๆ หกโมง หรือหกโมงกว่าๆ หลังจากปิดไฟ เปิดประตูวัดแล้ว ก็จะเก็บมะขามสุกที่หล่นอยู่ใต้ต้น บริเวณหน้าโรงธรรม... ก็บอกกับใครต่อใครเสมอว่า เมื่อก้มๆ เงยๆ เก็บลูกขาม ถ้าไม่หน้ามืด วิงเวียนศรีษะ แสดงว่าร่างกายยังปกติ นั่นคือเป็นการตรวจสอบสภาพร่างกายตนเองในแต่ละเช้า ไม่ว่าเมื่อคืนจะนอนมากหรือน้อยก็ ตาม... แต่วันนี้ ยังไม่สว่าง อีกทั้งปิดไฟหมดแล้ว จะเก็บลูกขามก็มองไม่เห็น... อีกทั้งเมื่อคืน นอนมากเกินไป เช้านี้ สมองจึงไม่ควรแก่งาน ทั้งๆ ที่นอนเต็มตื่น จึงเปลี่ยนวิกกฤตให้เป็นโอกาส ออกบิณฑบาตให้สัตว์โปรด

หลังจากออกทางหน้าดับเพลิงก็เลี้ยวลงตะวันตก เลี้ยวซ้ายอีกครั้งเข้าถนนนครใน เดินไปเรื่อยๆ... ถนนนครในยามเช้าตรู่นั้น เงียบสนิท ยกเว้นบางบ้านที่เปิดประตูเพื่อใส่ บาตรเท่านั้น ก็เดินไปสุดถนนถึงแยกบ้านบน ซึ่งสุดหัวถนนนครใน โดยมีถนนพัทลุงขวางอยู่ ซึ่งถนนพัทลุงนี้ วางมาจากตะวันออกแล้วก็มาสิ้นสุดจุด นั้นเหมือนกัน... เลยไปจากนั้น จะเป็นถนนนครนอกต่อไป ซึ่งถนนนครนอกนี้ จะตีคู่มากับถนนครใน เมื่อถึงจุดนี้ ถนนนครในก็จะสลายกลายเป็นถนนนครนอก ดังนั้น ถ้าเลี้ยวขวาไปทางตะวันตกนิดหนึ่งแล้วเดินย้อนกลับมา ก็จะกลายเป็นถนนนครนอก...

จุดที่ถนนนครใน นครนอก และพัทลุงบรรจบกันนั้น จะเป็นลานกว้างกลางถนน สมัยก่อนเทศบาลจะตีเส้นขาวให้รถจอดได้ แต่เดียวนี้ มีการสร้างซุ้มประตูเมืองหลอกๆ เพื่อให้รู้ว่าเข้าเขตย่านเมืองเก่าสงขลา... จุดนี้ นักท่องเที่ยวผ่านไปมามักจะแวะถ่ายรูป แต่คนสงขลา ชาวบ่อยาง ผ่านไปผ่านมาไม่ค่อยมีใครคิดจะแวะถ่ายรูปกันเลย

เลยจากจุดเลี้ยวกลับถนนนครในนครนอกไปหน่อยหนึ่ง จะมีร้านขายอาหารเช้าและญาติโยมแวะซื้อใส่บาตร สมภารเห็นแล้วก็เลี้ยวกลับทางถนนนคร นอก เพราะถ้าเดินผ่านไป ญาติโยมใส่บาตรมากจะหนัก อีกทั้งย่ามก็ไม่ได้นำมาด้วย นำมาแต่เพียงบาตรลูกเดียว... เดินกลับมาประมาณร้อยเมตรได้ ก็มีเสียงรถมอเตอร์ไซด์แล่นมาจอดด้าน หลังพร้อมเสียงเรียก "นิมนต์ ค่า" จึงเหลียวกลับไป โยมผู้หญิงก็จอดรถลงมา พลางถามว่า "ท่านยางทองใช่ไหม ? ก็รับว่าใช่ โยมก็บอกว่า "เห็นแล้วว่าท่านเดินมา แต่เลี้ยวกลับ จึงตามมา ไม่ได้ไปที่วัดหลายวันแล้ว... ก็คุยกันคำสองคำตอนรับบาตร เสร็จแล้วก็เจริญพรโยมเดินต่อมา...

เดินไปก็คิดถึงสภาพถนนนครนอก เป็นตึกสองหรือสามชั้นติดต่อกันเป็นพืดทั้งสองฝั่ง เหมือนกับถนนนครใน และถนนนางงาม... บ้านเรือนย่านเมืองเก่าสงขลาเป็นศิลปะผสมระหว่างจีนกับยุโรป เรียกกันว่า "ชีโนยูโรเปี้ยน" หรือบางพวกก็เรียกว่า "ชิโนโปตูกีส"... ซึ่งเรื่องนี้สมภารเพิ่งทราบไม่นานเหมือนกัน เมื่่อยี่สิบกว่าปีก่อน เคยไปอยู่วัดควนหรือวัดวิชิตสังฆาราม ที่ภูเก็ต เมื่อบิณฑบาตในตัวเมือง มีความรู้สึกว่าสภาพบ้านเรือนเหมือนๆ กับแถวย่านเมืองเก่าสงขลา... และได้คุยเรืองนี้กับญาติที่ทำงานสำนัก ศิลปากรสงขลา ท่านก็อธิบายให้ฟัง และบอกว่าประเทศไทยมีอยู่ ๒ แห่ง คือสงขลาและภูเก็ต... อีกแห่งหนึ่งที่สมภารเคยผ่านไป มีความเห็นว่าเหมือนกัน ก็คือที่เมืองสุไหงปัตตานี ประเทศมาเลเซีย ใครผ่านไป ลองพิจารณาดูว่าเหมือนกันหรือไม่...

ฝั่งตะวันตกของถนนนครนอกนั้น แม้จะมีตึกเก่าๆ ติดต่อกันเป็นพืด แต่เมื่อผ่านตรอกเล็กๆ มองลงไปก็จะทราบได้ทันทีว่า ด้านหลังตึกเก่าๆ เหล่านี้ ก็คือทะเลสาบสงขลาตอนปากอ่าวนี้เอง... สมัยก่อนบริเวณตึกแถวนี้ จะเป็นร้านค้าวัสดุอุปกรณ์หลากหลาย และร้านรับซื้อขายสินค้าทางเรือผสมปนเปกันไป ส่วนด้านหลังบ้านนั้น บางบ้านก็เป็นท่าเทียบเรือประมงส่วนตัว บางบ้านก็เปิดขายของด้านหลังด้วย กล่าวคือ แม้ร้านจะอยู่ด้านหน้า แต่ติดต่อซื้อของทางหลังบ้านได้เลย... ต่อมากิจการประมงเริ่มซบเซา การสัญจรทางรถมีความสำคัญกว่าทางเรือ ร้านขายอุปกรณ์และร้านรับซื้อขายสินค้าอื่นๆ จึงค่อยๆ ปิดตัวไป กลายเป็นบ้านที่พักอาศัยเท่านั้น... ยังคงเหลือเพียงบางบ้านที่ขายอยู่ หรือบางบ้านยังคงมีชื่อป้ายร้านเป็นอนุสรณ์ แต่เลิกกิจการด้านนั้นมานานแล้ว...

สมภารก็เดินสำรวจมาเรื่อยๆ เพราะบ้านเกือบทั้งหมดปิดประตู และไม่เห็นพระอื่นๆ เดินผ่านบริเวณถนนนครนอกแถวนี้เลย นั่นแสดงว่า บริเวณนี้ ปัจจุบันนี้ ไม่มีใครใส่บาตร ... ก็เดินมาจนถึงแยกถนนหนองจิก จึงเลี้ยวขวาขึ้นไป... ถนนหนองจิกนี้ เป็นถนนสั้นๆ สักสองหรือสามร้อยเมตรเท่านั้น เชื่อมระหว่างถนนนครนอก ตัดผ่านนครใน และไปสิ้นสุดถนนนางงาม...สมภารก็เดินมาถึงถนนนางงาม มองไปทางด้านขวามือ เห็นร้านค้าต่างๆ ซึ่งก็เป็นร้านขายอาหารโดยมากเปิดแล้ว มีญาติโยมมาซื้อของเพื่อใส่บาตรยามเช้า... แต่สมภารก็เลี้ยวซ้าย เดินมาประมาณร้อยเมตรก็เข้าประตูวัด สิ้นสุดภารกิจ เช้านี้...

มาถึงวัด ก็วางบาตรที่โต๊ะใต้ต้นมะขาม เปิดประตูเสร็จ ก็เก็บลูกขามสุกตามปกติ เสร็จแล้วก็มาฉันเช้าใต้ต้นมะขาม สัพพะโร นิดหน่อยตามธรรมเนียมโบราณ เสร็จแล้วก็มาเปิดเครื่อง จะเขียนเล่าเรื่องบิณฑบาต... แต่พอเล่าได้นิดหน่อย เสียงระฆังทำวัตรสวดมนต์เช้าดังขึ้น จึงพักไว้ ห่มจีวรขึ้นสวดมนต์เช้าในโบสถ์ แล้วจึงมาเล่าต่อ...

ก็เล่าๆ บ่นๆ มาหลายบันทัดกว่าจะจบเรื่อง เมื่อมาถึงจุดนี้ ก็ถือว่าจบแล้ว... เอวัง ก็มีโดยประการฉะนี้

หมายเลขบันทึก: 565223เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2014 10:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 เมษายน 2014 10:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ได้อ่านเรื่องราวรับบิณฑบาตจากพระสงฆ์รู้สึกน่าสนใจดีค่ะ อ่านสนุกดีด้วยค่ะพระอาจารย์

สาธุค่ะ

นมัสการพระคุณเจ้า..

อ่านเรื่องราวบิณบาตร ได้รสชาดของเมืองเก่า

มีเรื่องอยากเรียนถาม เกี่ยวกับความเชื่อง เรื่อง พับแพว

มีคนถามความเป็นมา แต่เล่าความไม่ค่อยถูก เคยฟังมาว่าพบแพวเป็นเทวดา ที่คนมีบุญญา จะได้พบเห็น

"มาเหมือนพับแพว" เป็นคำเปรียบเทียบ

มนัสการมาด้วยคารวะ..และคิดถึง

นมัสการ พระคุณเจ้า

การได้มีโอกาส ตักบาตร เป็นอีกหนึ่งของความอิ่มเอม และความสุข สำหรับการเป็นส่วนหนึ่งของ ชาวพุทธศาสนา

แต่ที่ปัตตตานี .. บางวันดิฉันต้องตักบาตร ฝากผ่านน้องทหารที่นำ ตะกร้าไปรับอาหารจากพวกเรา

แทนการยืนบาตรของพระสงฆ์ ในบางช่วง พระคุณเจ้าที่ดิฉันไป ตักบาตร โดนระเบิดไป ๒ ครั้ง ซึ่ง ๑ ใน ๒ ครั้งนี้

ดิฉัน ก็เป็น ส่วนหนึ่งในการโดนระเบิดขณะตักบาตร ก่อนไปตักบาตรทุกครั้ง ก็ต้องไหว้พระพุทธเจ้า ในบ้าน

ขอให้ไปตักบาตร ให้กับพระสงฆ์ ในเช้านี้ด้วยความปลอดภัย ...

  • การเดินบาตรของพระสงฆ์ที่ ปัตตานี โดยการขึ้นรถกระบะ หุ้มเกราะ พร้อมทหารจำนวน ๓ -๔ นาย และไปจอดณจุดที่โยมนิมนต์ไว้ ประมาณ ๒ จุด แล้วกลับวัดทันที่ แต่บางครั้ง ก็ไม่มีโอกาสกลับวัด แต่ต้องไปโรงพยาบาลแทน
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท