Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

สถานการณ์ด้านข้อเท็จจริงอันเป็นปัญหา : จะเกิดอะไรขึ้นหากบุคคลไม่ได้รับการแจ้งเกิด หรือได้รับการแจ้งเกิดแล้ว แต่ถูกเพิกถอนชื่อออกจากทะเบียนราษฎรภายหลัง ?


เราจึงพบว่า โดยความเป็นจริงแห่งชีวิต มนุษย์ผู้ตกหล่นหรือถูกขว้างทิ้งจากทะเบียนราษฎรย่อมเผชิญความด้อยโอกาสที่จะเข้าสู่สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานจำนวนมากมาย และเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่มีอยู่ อย่างน้อยพวกเขาจะเสี่ยงต่อการถูกจับฐานเข้าเมืองผิดกฎหมาย และอาจถูกส่งออกไปนอกประเทศไทย ซึ่งพวกเขาก็จะยังเป็นคนผิดกฎหมายในประเทศนั้นๆ อีกด้วย และอาจถูกจับฐานเข้าเมืองผิดกฎหมายในประเทศนั้นอีกครั้ง และอาจและอาจถูกส่งออกไปนอกประเทศดังกล่าวอีกครั้ง

          หลายปัญหาจะถาโถมเข้ามาเมื่อมนุษย์คนหนึ่งไม่ได้รับการแจ้งเกิดในทะเบียนราษฎร หรือถูกขว้างทิ้งออกจากทะเบียนราษฎร กล่าวคือ

๑.         อาจเป็น บุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร (Unregistered Person)         

       หากมนุษย์คนหนึ่งไม่ได้รับการแจ้งเกิดในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลก หรือหากมนุษย์คนอีกคนหนึ่งถูกขว้างทิ้งออกจากทะเบียนราษฎร มนุษย์คนนั้นก็จะตกเป็น บุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร (Unregistered Person)”

๒.           อาจเป็นคนที่ไม่มีเอกสารรับรองตัวบุคคลที่ออกโดยรัฐ (Undocumented Person) 

              เมื่อคนเกิดประสบความไร้รัฐ (Statelessness)” ก็หมายความว่า ไม่มีรัฐใดบนโลกที่ยอมรับที่จะบันทึกความเป็นบุคคลตามกฎหมายของบุคคลดังกล่าวในทะเบียนราษฎร พวกเขาจึงไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎรของประเทศใดเลยบนโลก  ผลต่อมาจากสภาวะนี้ ก็คือ คนไร้รัฐจึงเป็นคนที่ไม่มีเอกสารรับรองตัวบุคคลที่ออกโดยรัฐ (Undocumented Person)

๓.           อาจไม่มีรัฐใดยอมรับว่า เป็นรัฐเจ้าของบุคคล (Personal State)

                สถานการณ์ที่ได้รับต่อมา ก็คือ ผลกระทบทางกฎหมายที่ว่า บุคคลดังกล่าวย่อมไม่มีรัฐใดยอมรับว่า เป็นรัฐเจ้าของบุคคล (Personal State) ผลประการต่อมา ก็คือ พวกเขาจึงไม่อาจได้รับการยืนยันจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริง (Real Connecting Points) กับรัฐใดรัฐหนึ่ง อันส่งผลให้คนไร้รัฐโดยสิ้นเชิงนี้ต้องเผชิญความเป็น คนไร้สัญชาติ (Nationalityless Person) อีกด้วย[1] 

๔.           อาจต้องเผชิญกับ ความไร้รัฐ (Statelessness)”

         เมื่อมนุษย์คนหนึ่งไม่มีรัฐเจ้าของตัวบุคคล มนุษย์คนนั้นจึงต้องเผชิญกับ ความไร้รัฐ สภาวการณ์นี้ย่อมมีนัยยะทางกฎหมายว่า (๑) ไม่มีรัฐใดเลยยอมว่า มนุษย์ผู้นั้นเป็นคนชาติหรือคนสัญชาติ (national) ของตน หรือ (๒) ไม่มีรัฐใดเลยยอมว่า มนุษย์ผู้นั้นเป็นคนที่มีสิทธิอาศัย (right to reside) ในดินแดนของตน  มนุษย์ดังกล่าวย่อมมีตัวตนทางข้อเท็จจริง แต่ไม่มีตัวตนทางข้อกฎหมาย และยังนำไปสู่การถูกสันนิษฐานว่า เป็นคนผิดกฎหมายเข้าเมืองและสิ้นคุณสมบัติที่จะได้รับอนุญาตให้เข้าเมืองดังเช่นมนุษย์ที่มีเอกสารรับรองตัวบุคคลโดยรัฐโดยทั่วไป

๕.           อาจเป็น คนผิดกฎหมาย (Unlawful People) ในทุกประเทศบนโลก

       แม้กฎหมายเอกชนในระบบกฎหมายเอกชนของรัฐส่วนใหญ่ในประชาคมระหว่างประเทศ จะยอมรับให้ คนไร้สถานะทางทะเบียนราษฎร มีสถานะบุคคลตามกฎหมายเอกชน เมื่อบรรลุที่จะคลอดออกมาแล้วรอดอยู่[2]  แต่อย่างไรก็ตาม มนุษย์ผู้นั้นก็จะมีสถานะตามกฎหมายมหาชนเป็น คนผิดกฎหมาย (Unlawful Man or Unlawful People)” ในทุกประเทศบนโลก ทั้งนี้ เพราะโดยหลักกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองที่นานาอารยประเทศยอมรับ เมื่อบุคคลใดไม่ได้รับการรับรองความเป็นบุคคลตามกฎหมายมหาชนภายใต้กฎหมายของรัฐใดเลย บุคคลดังกล่าวก็จะต้องข้อสันนิษฐานทางกฎหมาย ๓ ประการดังต่อไปนี้ กล่าวคือ กฎหมายเข้าเมืองของรัฐสมัยใหม่จึงมีข้อสันนิษฐานทางกฎหมายว่า (๑) คนที่ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่า มีสัญชาติของตน ย่อมต้องข้อสันนิษฐานว่า เป็นคนต่างด้าว[3] (๒) คนที่ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่า ได้รับอนุญาตให้เข้าเมือง ย่อมต้องข้อสันนิษฐานว่า  เป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย[4] และ (๓) คนที่ไม่มีรัฐใดยอมออกเอกสารรับรองความเป็นบุคคลตามกฎหมายย่อมไม่มีคุณสมบัติที่จะได้รับการอนุญาตให้เข้าเมืองถูกกฎหมาย[5]  เป็นสิ่งที่น่าขบขันว่า ความไร้สถานะทางทะเบียนราษฎร ก็คือ ความไร้ตัวตนทางกฎหมาย แต่สิ่งที่ไม่มีตัวตนทางกฎหมาย อาจถูกกำหนดความผิดได้โดยกฎหมายของรัฐเราจึงพบว่า โดยความเป็นจริงแห่งชีวิต มนุษย์ผู้ตกหล่นหรือถูกขว้างทิ้งจากทะเบียนราษฎรย่อมเผชิญความด้อยโอกาสที่จะเข้าสู่สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานจำนวนมากมาย และเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่มีอยู่  อย่างน้อยพวกเขาจะเสี่ยงต่อการถูกจับฐานเข้าเมืองผิดกฎหมาย และอาจถูกส่งออกไปนอกประเทศไทย ซึ่งพวกเขาก็จะยังเป็นคนผิดกฎหมายในประเทศนั้นๆ อีกด้วย และอาจถูกจับฐานเข้าเมืองผิดกฎหมายในประเทศนั้นอีกครั้ง และอาจและอาจถูกส่งออกไปนอกประเทศดังกล่าวอีกครั้ง

๖.           ไม่อาจให้การคุ้มครองเด็กและเยาวชนไร้สถานะทางทะเบียนราษฎรอย่างมีประสิทธิภาพ         

           นอกจากนั้น เราตระหนักอีกว่า ความไร้รัฐไม่ได้ทำให้บุคคลนั้นตกเป็นคนผิดกฎหมายในทุกตารางนิ้วบนโลกเท่านั้น หากแต่สภาวะไร้ตัวตนทางกฎหมายนี้ ยังได้นำไปสู่ปัญหาการให้การคุ้มครองเด็กไร้รัฐอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเราจะไม่สามารถจะทราบอายุที่แน่ชัดของเด็กไร้รัฐ เพราะเราไม่ยืนยันได้ว่า เขาเป็นผู้เยาว์หรือผู้บรรลุนิติภาวะ อาทิ

·    หากเขาเป็นเเรงงานเด็ก เราก็จะต้องคุ้มครองเขามากกว่าผู้ใหญ่ แต่เมื่อเราไม่ทราบอายุของเขา เราก็คุ้มครองเขาไม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเราพิสูจน์ไม่ได้ง่ายนักว่า เขาเป็นเด็ก เขาก็อาจถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างได้ง่าย

·    หรือเมื่อเด็กและเยาวชนไร้รัฐกระทำความผิด พวกเขาก็ไม่ควรถูกพิจารณาคดีในลักษณะเดียวกับผู้ใหญ่  แต่เราไม่ทราบอายุของเขาอย่างแน่นอน หากเขามีความเติบโตทางกายภาพเกินอายุ เราก็จะคุ้มครองเขาไม่ได้ 

·    หรือเมื่อเด็กและเยาวชนไร้รัฐถูกละเมิด กฎหมายมักจะกำหนดโทษหนักต่อผู้กระทำความผิดในบางเรื่องที่ร้ายแรง เช่น อาชญากรรมทางเพศต่อเด็ก  แต่เมื่อไม่มีเอกสารแสดงอายุของเด็กและเยาวชนอย่างชัดเจน กรณีก็อาจจะถูกนำสืบไม่ง่ายนักว่า พวกเขายังเป็นผู้เยาว์ 

·         หรือพวกเขาอาจถูกเกณฑ์ทหารก่อนวัยอันควร 

·         หรือพวกเขาอาจสมรสเร็วเกินกว่าวัยอันควร

๗.     ไม่มีโอกาสประกอบอาชีพอย่างถูกกฎหมาย ต้องจำยอมประกอบอาชีพอย่างผิดกฎหมายเพื่อยังชีพ และเสี่ยงต่อการถูกชักนำเข้าสู่การกระทำที่ไม่สุจริตอื่นต่อไป         

         เมื่อบุคคลประสบความไร้รัฐ บุคคลย่อมมีสถานะเป็นคนต่างด้าว และมีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมายในทุกประเทศที่พวกเขาปรากฏตัวอยู่ ด้วยความเป็นคนผิดกฎหมายในทุกสถานการณ์นี้เองที่ทำให้พวกเขาไม่มีโอกาสประกอบอาชีพอย่างถูกกฎหมาย ต้องจำยอมประกอบอาชีพอย่างผิดกฎหมายเพื่อยังชีพ และเสี่ยงต่อการถูกชักนำเข้าสู่การกระทำที่ไม่สุจริตอื่นต่อไป อาทิ การเข้าสู่กระบวนการการค้ามนุษย์ทั้งในฐานะของเหยื่อแห่งการค้า หรือผู้ค้าเอง หรือการเข้าร่วมกระบวนการอาชญากรรมข้ามชาติระดับใหญ่ เช่น การค้ายาเสพติด มือปืนรับจ้าง การก่อการร้าย ทั้งนี้ เนื่องจากบุคคลดังกล่าวไม่มีปัญหาบุคคลในทะเบียนราษฎรของรัฐบนโลก จึงไม่อาจสืบหาตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพในทะเบียนอาชญากรรมโลก


[1] ในขณะที่สาเหตุที่ทำให้บุคคลตกเป็นคนไร้สัญชาติ ก็คือ การไม่มีสัญชาติของรัฐใดเลยบนโลก  ปัญหาทั้งสองประเภทเป็นเรื่องที่ต่างกัน แต่ทับซ้อนกัน กล่าวคือ คนไร้รัฐย่อมไร้สัญชาติ อย่างน้อยโดยข้อเท็จจริง ในขณะที่คนไร้สัญชาติอาจไม่ไร้รัฐ ซึ่งหมายความว่า เมื่อคนไร้รัฐได้รับการยอมรับในทะเบียนราษฎรของประเทศใดประเทศหนึ่ง บุคคลนี้จึงมีเอกสารรับรองความเป็นบุคคลตามกฎหมายของรัฐเจ้าของทะเบียนราษฎร และหากรัฐที่ยอมรับบุคคลดังกล่าวในทะเบียนราษฎร แต่ไม่ยอมให้สัญชาติ  บุคคลดังกล่าวก็จะมีสถานะเป็น ราษฎรประเภทคนต่างด้าว ในทะเบียนราษฎรของรัฐนั้น ประเทศไทยเอง ก็มักยอมรับคนไร้รัฐในช่วงแรกในสถานะของ ราษฎรประเภทคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยอยู่ชั่วคราว แต่ยังถือว่า เป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ต่อมา ในช่วงที่สอง ก็จะยอมรับบุคคลดังกล่าวในสถานะของ ราษฎรประเภทคนต่างด้าวที่มีสิทธิเข้าเมืองถูกกฎหมายและมีสิทธิอาศัยอยู่ถาวร และในชั้นสุดท้าย จึงจะมายอมรับในสถานะของ ราษฎรประเภทคนสัญชาติไทย
[2] อาทิ มาตรา ๖ วรรค ๔ แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑ บัญญัติว่า สำหรับบุคคลผู้ไร้สัญชาติ ให้ใช้กฎหมายภูมิลำเนาของบุคคลนั้นบังคับ ถ้าภูมิลำเนาของบุคคลนั้นไม่ปรากฏ ให้ใช้กฎหมายของประเทศซึ่งบุคคลนั้นมีถิ่นที่อยู่บังคับ และหากคนไร้สัญชาติมีภูมิลำเนาในประเทศไทย กรณีก็ต้องด้วยมาตรา ๑๕ วรรค ๑ แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไทย ซึ่งบัญญัติว่า สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็น ทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตาย
[3] ในกรณีของกฎหมายเข้าเมืองไทยที่ใช้ในปัจจุบัน ก็คือ มาตรา ๕๗ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒
[4] ในกรณีของกฎหมายเข้าเมืองไทยที่ใช้ในปัจจุบัน ก็คือ มาตรา ๕๘ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒

[5] ในกรณีของกฎหมายเข้าเมืองไทยที่ใช้ในปัจจุบัน ก็คือ มาตรา ๑๒ (๑), มาตรา ๑๓ และมาตรา ๑๕ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ แต่อย่างไรก็ตาม กรณีอาจถ฿กสั่งเป็นอย่างอื่นโดยคณะรัฐมนตรี (รัฐบาล) โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๗ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒

-------------------------------------------
สถานการณ์ด้านข้อเท็จจริงอันเป็นปัญหา : จะเกิดอะไรขึ้นหากบุคคลไม่ได้รับการแจ้งเกิด หรือได้รับการแจ้งเกิดแล้ว แต่ถูกเพิกถอนชื่อออกจากทะเบียนราษฎรภายหลัง ?
โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร
วันอังคารที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๙

-------------------------------------------

หมายเลขบันทึก: 56506เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2006 01:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท