Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เป้าหมายของงานเขียน : สิทธิในทะเบียนการเกิดของมนุษย์ที่เกิดในประเทศไทย


การจดทะเบียนการเกิดเป็น “กระบวนการ” ที่รัฐเจ้าของดินแดนหรือรัฐเจ้าของบุคคลได้แสดงการรับรองเหตุการณ์อันหนึ่ง กล่าวคือ “การเกิดของมนุษย์คนหนึ่ง” เรื่องของการรับรองการเกิดของมนุษย์คนหนึ่งบนดินแดนของตนนั้น เป็นคนละเรื่องกับการยอมรับให้สัญชาติ รัฐอาจรับแจ้งการเกิด โดยที่ไม่ให้สัญชาติก็ได้ หรือรัฐอาจให้สัญชาติ โดยไม่ยอมให้การรับรองการเกิด ก็เป็นได้

        เรื่องอันเป็นเป้าหมายของงานเขียนฉบับนี้เป็นประเด็นของการศึกษาเรื่องสิทธิเด็กในปัจจุบัน หลายหน่วยงานในระดับระหว่างประเทศได้พยายามที่จะหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นเป็นวาระที่สำคัญของประชาคมระหว่างประเทศ ดังจะเห็นจากความตกลงระหว่างประเทศหลายฉบับที่ได้กำหนดถึงเรื่องนี้

          การจดทะเบียนการเกิดเป็น กระบวนการ ที่รัฐเจ้าของดินแดนหรือรัฐเจ้าของบุคคลได้แสดงการรับรองเหตุการณ์อันหนึ่ง กล่าวคือ การเกิดของมนุษย์คนหนึ่ง เรื่องของการรับรองการเกิดของมนุษย์คนหนึ่งบนดินแดนของตนนั้น เป็นคนละเรื่องกับการยอมรับให้สัญชาติ รัฐอาจรับแจ้งการเกิด โดยที่ไม่ให้สัญชาติก็ได้ หรือรัฐอาจให้สัญชาติ โดยไม่ยอมให้การรับรองการเกิด ก็เป็นได้

          ในวันนี้ ความตกลงระหว่างประเทศหลายฉบับพยายามที่จะกำหนดให้การจดทะเบียนการเกิดเป็น หน้าที่ของรัฐเจ้าของดินแดน และในทางกลับกัน บทบัญญัตินี้ย่อมส่งผลให้ เด็กมีสิทธิในทะเบียนการเกิด การที่รัฐปฏิเสธที่จะรับแจ้งเกิดและบันทึกชื่อและรายละเอียดส่วนบุคคลของเด็กลงในทะเบียนของรัฐ จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ตกตะกอนจากหลายความตกลงระหว่างประเทศในเรื่องนี้

         แล้วรัฐไทยปฏิเสธที่จะจดทะเบียนการเกิดให้แก่เด็กที่เกิดในประเทศไทยหรือไม่ ? และหากรัฐไทยเคยละเลยที่จะจดทะเบียนการเกิดให้แก่อดีตเด็ก รัฐไทยจะเยียวยาปัญหาความไร้สถานะในทะเบียนราษฎรของอดีตเด็กเหล่าอย่างไร ?

             นอกจากนั้น ปรากฏมีคนที่เป็นเด็กและอดีตเด็กจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้รับการจดทะเบียนการเกิดในประเทศที่พวกเขาเกิด แต่วันนี้ พวกเขาอพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนในประเทศไทย บางก็เพิ่งเข้ามา และบางก็เข้ามานานแล้ว จนได้กลายเป็น บุพการีของเด็กและเยาวชนที่เกิดในประเทศไทย พวกเขาทั้งหมด ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย จนถึงรุ่นลูก และผ่านไปถึงรุ่นหลานเหลน คนอพยพกลุ่มหลังนี้ต่างก็มีความกลมกลืนทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจกับสังคมไทย รัฐไทยในวันนี้จึงมีนโยบายชัดเจนที่จะให้สถานะคนต่างด้าวที่ชอบด้วยกฎหมายแก่คนอพยพรุ่นแรกที่เกิดนอกประเทศไทย และให้สัญชาติไทยแก่คนรุ่นที่สองและสาม 

             ในส่วนที่เกี่ยวกับคนอพยพนั้น คำถามที่ต้องถามตัวเองและเพื่อนร่วมคิดหลายคน ก็คือ หากฟังว่า คนอพยพไม่ได้รับการจดทะเบียนการเกิดจากรัฐต้นทาง รัฐไทยและสังคมไทยควรจะต้องผลักดันให้คนอพยพเหล่านี้ได้รับการจดทะเบียนการเกิดย้อนหลังด้วยหรือไม่ ?

          บทความนี้พยายามจะตอบคำถามทั้งหมดข้างต้น แต่ก็คงไม่สามารถตอบอย่างละเอียดละออในทุกจุดที่หยิบยกขึ้นมา โดยเจตนาของผู้เขียนเอง ผู้เขียนประสงค์ที่จะสร้างสรรค์บทความนี้ขึ้นเพื่อนำเสนอข้อค้นพบและข้อเสนอแนะทางวิชาการในประเด็นที่มีความสำคัญ ๓ ประการเกี่ยวกับการจดทะเบียนการเกิด กล่าวคือ

                 ในประการแรก ผู้เขียนใคร่จะนำเสนอบทสังเคราะห์แนวคิดด้านนิติศาสตร์ในประเด็นที่ว่า การจดทะเบียนการเกิดเป็นสิทธิของมนุษย์ที่เกิดในประเทศไทย ผู้เขียนใคร่จะยืนยันผ่านบทความนี้อีกด้วยว่า สิทธิดังกล่าวเป็นความชอบด้วยกฎหมายที่มนุษย์ซึ่งเกิดในประเทศไทย ย่อมต้องได้รับทั้งภายใต้กฎหมายไทย หรือกฎหมายระหว่างประเทศ

             ในประการที่สอง ผู้เขียนใคร่จะขอนำเสนอแนวคิดและมาตรการที่รัฐไทยควรจะใช้ในการแสดง ความรับผิดชอบต่อมนุษย์ที่ไม่ได้รับการจดทะเบียนการเกิด ซึ่งมนุษย์ในสถานการณ์ดังกล่าวอาจจะเกิดในหรือนอกประเทศไทย

             ในประการที่สาม ผู้เขียนใคร่จะขอนำเสนอแนวคิดและมาตรการเมื่อพบว่า มีการกระทำทางปกครองของเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยที่มีผลเป็นการปฏิเสธสิทธิในทะเบียนการเกิดของเด็กและอดีตเด็กที่เกิดในประเทศไทย

             ที่มาของข้อมูลในการเขียนบทความนี้ ก็คือ งานวิจัยที่ผู้เขียนทำมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๕ มาจนปัจจุบัน[1] และงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายซึ่งผู้เขียนเริ่มต้นทำอย่างจริงจังตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๗ จนถึงปัจจุบัน[2]



[1] ที่สำคัญก็คือ (๑) สถานภาพของคนไทยโดยหลักดินแดน, งานวิจัยเสนอต่อคณะกรรมการวิจัยเสริมหลักสูตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี พ.ศ.๒๕๓๕  (๒) วิวัฒนาการของแนวความคิดว่าด้วยสัญชาติไทยโดยหลักดินแดน, บทความเสนอในงานธรรมศาสตร์วิชาการประจำปี พ.ศ.๒๕๓๗  (๓) การยอมรับให้คนต่างด้าวผสมกลมกลืนในสังคมไทย : ข้อสำรวจกฎหมาย ปัญหา และทางเลือกนโยบาย, งานวิจัยเสนอต่อ สกว.ในปี พ.ศ.๒๕๔๐  (๔) สถานภาพในทางกฎหมายของชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย, งานวิจัยเสนอต่อ สกว.ในปี พ.ศ.๒๕๔๑ (๕) วิวัฒนาการของกฎหมายว่าด้วยการได้สัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดา, เขียนเพื่อหนังสือที่ระลึกวันรพีประจำปี  (๖) สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ, งานวิจัยเสนอต่อสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ในปี พ.ศ.๒๕๔๓  (๗) เด็กไร้รัฐและเด็กไร้สัญชาติในประเทศไทย  : คือใครบ้าง ? จำแนกอย่างไร ? แก้ไขอย่างไร ?,  งานเพื่อคณะอนุกรรมาธิการศึกษาหามาตรการในการแก้ไขปัญหาเด็กไร้สัญชาติตามคำสั่งคณะกรรมาธิการกิจการสตรี เยาวชน และผู้สูงอายุ วุฒิสภา เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙  (๘) พัฒนาการของแนวคิดเรื่องสัญชาติ และความพยายามที่จะขจัด ปัญหาความไร้รัฐ ในประเทศไทย, บทความเพื่อ UNHCR, เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๙
[2] โปรดดู พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, สถานภาพความเป็นบุคคลตามกฎหมาย สู่สิทธิการมีสัญชาติของเด็กที่มีปัญหาในการพิสูจน์ตน, วารสารสิทธิมนุษยชน, ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๒, สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (เมษายน มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๖, น.๑๑ ๓๖
http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=275&d_id=274 
http://www.archanwell.org/office/download.php?id=401&file=375.pdf&fol=1
-------------------------------------------
เป้าหมายของงานเขียน : สิทธิในทะเบียนการเกิดของมนุษย์ที่เกิดในประเทศไทย
โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร
บทความเพื่องานเสวนาทางวิชาการซึ่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดขึ้นเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ใน พ.ศ.๒๕๔๙
วันเสาร์ที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๙
-------------------------------------------
หมายเลขบันทึก: 56500เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2006 00:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท