รูปแบบการขับเคลื่อน ปศพพ. ด้านการศึกษา : โรงเรียนเชียงขวัญพิทยาคม (๑)


วันที่ ๒๐-๒๑ มีนาคม ๒๕๕๗ ทีมขับเคลื่อน ปศพพ. อีสานตอนบน ร่วมกับมูลนิธิสยามกัมมาจล (อาจารย์ศศินี ลิ้มพงศ์  อาจารย์สุจินดา งามวุฒิพร และ คุณสมเกียรติ พุทธิจรุงวงศ์) จัดกิจกรรมเพื่อถอดบทเรียน โรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา  เราทำ BAR ไว้ ๓ ประการคือ

  • ถอดบทเรียน "เรียนรู้จากโรงเรียนเชียงขวัญ"
  • เกิดการแลกเปลี่ยนแบ่งปันกันระหว่างครู และกับวิทยากร 
  • เพื่อประเมินเชิงพัฒนา และวางแผนว่าจะ "เดิน" อย่างไรต่อไป 

เราทำ AAR พบว่า ประสบผลสำเร็จทุกประการ และหลายอย่างเกินความคาดหวัง เสริมพลังของกันและกันได้อย่างดี ... บันทึกนี้ จะนำเอาประสบการณ์จากโรงเรียนเชียงขวัญมาแบ่งปันกับท่านผู้อ่านครับ

ผมเขียนเกี่ยวกับเครื่องมือถอดบทเรียนที่ใช้ในเวทีนี้ไว้ที่ "การถอดบทเรียนด้วยกระดาษ ๙ แผ่น" และเขียนวิธีการประเมินความก้าวหน้าของการขับเคลื่อน ปศพพ. ด้วยตนเองไว้ที่ "บทบาทครู ๔ ระดับ ในการขับเคลื่อน ปศพพ. ด้านการศึกษา" แนะนำว่า ท่านต้องอ่านทั้งสองบันทึก ก่อนจะอ่านบันทึกนี้ต่อไป

เมื่อเดินทางถึงโรงเรียน ทันทีที่ลงจากรถตู้ ผมเจอคุณครูไพรวัน เป็นท่านแรก ผมถามทันทีว่า ใครเป็นคนเขียนบันทึกเรื่องเล่า ๔ บทแรกที่ส่งมายังทีมขับเคลื่อนฯ  คุณครูไพรวัน ตอบแบบถ่อมตัวว่า "ช่วยๆ กันค่ะ" ผมได้คำตอบแล้วครับ ... ครูไพรวันเขียน แล้วให้ อ.ฉลาด ช่วยตรวจทานอีกที....

บันทึก ๔ ตอนแรก ที่โรงเรียนเชียงขวัญเขียนส่งถึงทีมขับเคลื่อนฯ สำหรับผมแล้ว เป็นบันทึกที่ดีมากๆ ดีที่สุดบันทึกหนึ่งที่ผมเคยอ่านมา (ผมพูดประโยคเหล่านี้ หน้าเวทีก่อนจะเริ่มกิจกรรมด้วย) ดังนั้น จึงน่าจะเป็นโยชน์อย่างยิ่ง สำหรับทุกโรงเรียนที่กำลังขับเคลื่อนฯ ที่จะเขียนเรื่องเล่าประสบการณ์ขับเคลื่อนของตนเอง เพื่อแบ่งปันสู่กันและกัน...  ผมจึงขอ "คัด ตัด มาวาง" ผลงานของโรงเรียนเชียงขวัญพิทยาคม มาไว้ให้อ่านกันครับ

ตอนที่ ๑ ก้าวสู่การผลัดใบ (เขียนโดย ไพวัน ปาโส และคณะฯ)

ก้าว สู่การผลัดใบ ก่อนอื่นขอแนะนำให้ท่านผู้อ่านรู้จักกับโรงเรียนของเราเป็นเบื้องต้น โรงเรียนเชียงขวัญพิทยาคม อำเภอเชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 27 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เป็นโรงเรียนสหศึกษารับนักเรียนประเภทไป-กลับ เปิดสอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนก่อตั้งเมื่อปีการศึกษา 2525 ชื่อเดิมคือ โรงเรียนโพธิ์กลางพิทยาคม ตั้งอยู่บ้านแมด หมู่ที่ 2ตำบลบ้านเขือง อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด บนเนื้อที่ 48 ไร่ 2 งาน ประกาศจัดตั้งเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2525 ใช้ชื่อในประกาศจัดตั้งว่า โรงเรียนโพธิ์กลางพิทยาคม เปิดสอนวันแรกเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2525 ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 กระทรวงมหาดไทยได้ปรับแยกเขตการปกครองยกฐานะขึ้นเป็น กิ่งอำเภอเชียงขวัญ เพื่อให้สอดคล้องกับชื่ออำเภอที่ตั้ง จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนเชียงขวัญพิทยาคม ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2540 เป็นต้นมา


ผู้บริหารท่านแรกคือ นายอภิชาต สืบชมพู ตำแหน่งครูใหญ่ ท่านที่ 2 คือนายทองพูน โพโสลี ตำแหน่งผู้อำนวยการเชี่ยวชาญ ท่านที่ 3 คือนายระวี ขุณิกากรณ์ ตำแหน่งผู้อำนวยการเชี่ยวชาญและผู้อำนวยการท่านปัจจุบันคือ ว่าที่ร้อยตรี พรเทพ โพธิ์พันธุ์ ผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ ย้อน หลังไปเมื่อปีการศึกษา 2550 ซึ่งตอนนั้นเรามีผู้นำคือท่านผู้อำนวยการระวี ขุณิกากรณ์ ผู้อำนวยการเชี่ยวชาญ เป็นก้าวแรกที่โรงเรียนได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้าสู่สถาน ศึกษา ในครั้งนั้น โรงเรียนประถมกับโรงเรียนมัธยมอยู่ภายใต้การบริหารเดียวกันคือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. แต่การจัดอบรมการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษาครั้งนั้นเป็น การอบรมเฉพาะโรงเรียนที่สังกัดกรมสามัญศึกษาเดิม จังหวัดร้อยเอ็ด ผู้เข้ารับการอบรมประกอบด้วย ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้และหัวหน้ากิจกรรมผู้เรียน โรงเรียนจึงอนุญาตให้บุคลากรดังกล่าวเข้ารับการอบรม ซึ่งประกอบด้วย นายระวี ขุณิกากรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียน นายฉลาด ปาโส หัวหน้าฝ่ายวิชาการ นางไพวัน ปาโส หัวหน้ากลุ่มสาระฯ ภาษาไทย นายแสน อนาราช หัวหน้ากลุ่มสาระฯ วิทยาศาสตร์ นายปาจิตร ศรีสะอาด หัวหน้ากลุ่มสาระฯ คณิตศาสตร์ นายพิชิต ศรีสุนา หัวหน้ากลุ่มสาระฯ ภาษาต่างประเทศ นายเชตวัน สุวรรณศรี หัวหน้ากลุ่มสาระฯ สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม นางเข็ม รุ่งวิสัย หัวหน้ากลุ่มสาระฯ สุขศึกษาพลศึกษา นายกิตติศักดิ์ นาคฤทธิ์ หัวหน้ากลุ่มสาระฯ การงานอาชีพและเทคโนโลยี นายทวีศักดิ์ จันทะคัด หัวหน้ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน นายสุบรรณ ไชยลาภ หัวหน้าฝ่ายแผนงาน การอบรมจัดขึ้นที่โรงแรมเพชรรัชต์การ์เด้น ร้อยเอ็ด วิทยากร คือ ดร.ปรีชานุช ธรรมปิยา และคณะวิทยากรจากโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัยเพชรบุรี นำโดย ผู้อำนวยการกัญพิมา เชื่อมชิต และคณะครูแกนนำ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ การอบรมในครั้งนั้นจึงเป็นการเริ่มต้นการเรียนรู้และน้อมนำหลักปรัชญาของ เศรษฐกิจพอเพียงเข้าสู่สถานศึกษาเป็นครั้งแรก จึงทำให้เราได้รู้จักคำว่า “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการจัดการศึกษา” และได้เห็นแนวทางเบื้องต้นของคำว่า การจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการเกริ่นนำ และ ก่อนพิธีปิดการอบรมในครั้งนั้น พิธีกรคือ ผอ. คำพันธ์ จำนงกิจ ผู้อำนวยการโรงเรียนโพนสูงประชาสรรค์ ขณะนั้นได้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนโรงเรียนมัธยมศึกษาที่เข้ารับการอบรมในครั้งนั้นสมัครเข้ารับการประเมินเป็นสถานศึกษาพอเพียง วันนั้นผู้อำนวยการระวี ขุณิกากรณ์ ได้มอบหมายให้หัวหน้าฝ่ายวิชาการ นายฉลาด ปาโส สมัครรับการประเมินเป็นสถานศึกษาพอเพียง

หลังจากอบรมผู้อำนวยการได้มอบหมายให้ฝ่ายวิชาการและหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ที่ผ่านการอบรม จัดอบรมขยายผลสู่ เพื่อนครูในโรงเรียน รูปแบบการอบรมเป็นเล่าสู่กันฟังเป็นเสียส่วนมาก เพราะทุกคนก็ยังไม่เข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเท่าไร แต่เราก็มีหนังสือและเอกสารที่ได้จากการอบรมมาเผยแพร่ให้เพื่อนครูได้เรียน รู้ไปพร้อมๆ กัน จำได้ว่าในวันอบรมผู้เข้ารับการอบรมเราได้หนังสือเล่มสีเหลืองที่มีปกเป็น พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระผู้พระราชทานพระราชดำรัส เศรษฐกิจพอเพียง หนังสือเล่มนั้นจึงเปรียบเสมือนคัมภีร์ของการเรียนรู้ ให้เรารู้จักนิยามและเข้าใจความหมายหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่เราจำได้แม่นคือ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ท่องกันขึ้นใจ ครูแต่ละคนก็พยามยามจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้บูรณาการตามแบบที่เห็น คือพอประมาณกับเวลา พอดีกับจำนวนนักเรียน เหมาะสมกับเนื้อหา ซึ่งยังไม่ได้ล้ำลึกอะไร และไม่นานก็ถึงวันประเมินซึ่งคณะกรรมการประเมินมาจากเขตตรวจราชการที่ 7 อุดรธานี เป็นการประเมินที่มีความละเอียดมาก ซึ่งท่านผู้อำนวยการและคณะครูก็จัดเตรียมรับการประเมินตามตัวชี้วัดอย่าง เต็มที่ เราจัดเตรียมการประเมินที่ห้องโสตทัศนศึกษาวันประเมินผ่านไปซึ่งเป็นช่วงที่ เรารอคอยฟังผลว่าจะออกมาเช่นไร และแล้ววันนั้นก็มาถึง ท่านศึกษานิเทศก์ วิภา ประราศี โทรมาส่งข่าวว่าโรงเรียนผ่านการประเมินเป็นสถานศึกษาพอเพียง และให้เตรียมไปรับป้ายสถานศึกษาพอเพียงที่กรุงเทพฯ ท่านผู้อำนวยการและคณะครูตื่นเต้นดีใจเพราะเป็นการประเมินที่มีความสำคัญคือ เป็นความสำเร็จเราได้เป็นส่วนหนึ่งในการน้อมนำพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัวมาสู่การพัฒนาโรงเรียน พัฒนานักเรียนให้รู้จัดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และแล้ววันที่เรารอคอยก็มาถึง ซึ่งเป็นวันที่กระทรวงศึกษาธิการให้โรงเรียนที่ผ่านการประเมินเป็นสถานศึกษา พอเพียงไปรับป้ายสถานศึกษาพอเพียงที่กรุงเทพฯ โรงเรียนให้ตัวแทนครูเข้าร่วมกับป้าย การไปรับป้ายในครั้งนี้มีท่านผู้อำนวยการระวี ขุณิกากรณ์ คุณครูฉลาด ปาโส คุณครูสุเพียบ สอนใจ คุณครูเชตวัน สุวรรณศรี คุณครูพิชิต ศรีสุนา และคุณครูไพวัน ปาโส เดินทางไปรับป้ายที่ห้องประชุมบุญยะเกษ หอประชุมคุรุสภา ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2551 มีโรงเรียนที่ผ่านการประเมินเป็นสถานศึกษาพอเพียงทั่วประเทศ จำนวน 135 โรงเรียน การรับป้ายครั้งนั้นผู้อำนวยการแต่ละโรงเรียนเข้ารับป้ายจาก นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ โดยมี คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมเป็นเกียรติแลมีท่านและแสดงความชื่นชมยินดีกับโรงเรียนที่เข้ารับป้ายใน ครั้งนี้เป็น 1 ใน 4 โรงเรียนของจังหวัดร้อยเอ็ด คือ โรงเรียนธวัชบุรีวิทยาคม โรงเรียนโคกล่ามพิทยาคม โรงเรียนโพนทองวิทยายน และโรงเรียนเชียงขวัญพิทยาคม สิ่งแรกที่โรงเรียนได้รับคือ ได้รับความชื่นชมยินดีจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาร้อยเอ็ด เขต ๑ ได้รับความยินดีจากโรงเรียนในเขตพื้นที่บริการของโรงเรียนรวมทั้งโรงเรียนใน เขตอำเภอเชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด

บทบาทและการพัฒนาหลังจากได้เป็นสถานศึกษาพอเพียง

สำหรับ บทบาทและหน้าที่หลังจากที่โรงเรียนได้รับประกาศจากกระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นสถานศึกษาพอเพียง ผู้อำนวยการ คณะผู้บริหาร 4 ฝ่าย และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียนได้ประชุมและมีมติร่วมกันคือ การสร้างความเข้มแข็งทั้งภายในและภายนอกโดยเฉพาะการนำเข้ากระบวนการจัดการ เรียนการสอน และการขายผลสู่เพื่อนครูลงสู่สถานศึกษาในเครือข่าย 3 ประเด็นนี้คือก้าวต่อไปของเราเชียงขวัญพิทยาคม

การสร้างความเข้มแข็งของครูและบุคลากรคือการส่งเสริมให้ครู นักเรียน ได้เรียนรู้และนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การจัดการเรียนการสอน โรงเรียนได้มอบหมายให้ฝ่ายวิชาการได้ออกแบบการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา ซึ่งเป็นปีแรกของการใช้นโยบายหลักสูตรแกนกลางศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ของกระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะกับโรงเรียนนำร่องและโรงเรียนที่มีความพร้อม

โรงเรียนของเราถือว่าเป็นโรงเรียนที่มีคุณสมบัติครบถ้วนดังที่ว่า ดังนั้นท่านผู้อำนวยการและฝ่ายบริหารได้ให้ฝ่ายวิชาการจัดทำหลักสูตรสถาน ศึกษา ตามแนวนโยบายของกระทรวงและ สพฐ. และช่วงนั้นหน่วย งานที่ดูแลโรงเรียนคือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาร้อยเอ็ด เขต 1 จึงได้มีการจัดอบรมปฏิบัติการเกี่ยวกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ให้กับโรงเรียน ผู้ที่เข้าไปรับการอบรมในช่วงนั้นจะเป็น รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ และโรงเรียนก็มีแนวปฏิบัติคือผู้ที่ไปรับการอบรมมาแล้วจะต้องขยายผลสู่ เพื่อนครู เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอน ตรงนี้จึง เป็นจุดเปลี่ยนในเรื่องหลักสูตร และเป็นจุดพัฒนาของครูผู้สอนในการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงบูรณาการ สู่การจัดกิจกรรมกาเรียนการสอนมากขึ้น โดยผู้อำนวยการมอบหมายให้ กลุ่มสาระการเรียนทุกกลุ่มสาระฯ จัดทำแผนการจัดการเรียนรู้บูรณาการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างน้อย ๑ รายวิชาที่ตนเองสอน สิ่งเหล่านี้คือการพัฒนาภายในโรงเรียน
รูป แบบวิธีการของการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของเชียงขวัญ พิทยาคม เป็นการก้าวเดินแห่งความพร้อมเพียง และคำนึงถึงการยกระดับของโรงเรียนให้มีความพร้อมทุกด้านอยู่เสมอ ตลอดจนตระหนักถึงการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปให้ถึงชุมชน ที่สำคัญคือการเตรียมความพร้อมและพัฒนาโรงเรียนให้พร้อมรับกับการศึกษาดูงาน การเตรียมเป็นวิทยากร และการพัฒนานักเรียนให้เป็นนักเรียนแกนนำ โรงเรียนจึงมีรูปแบบการขับเคลื่อนตามวัตถุประสงค์ “เรียนรู้ให้เข้าใจ นำไปใช้เกิดผล ดำรงตนตามหลักพอเพียง” นั่นก็คือหลักการพัฒนาทั้ง ท่านผู้บริหาร ครู และนักเรียน

เราต้องขอบอกท่านผู้อ่านก่อนว่า ในเบื้องต้นเราจะมองนิยามของเศรษฐกิจพอเพียงในรูปของการเกษตร การปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ปลูกผักสวนครัว ดังนั้นในเบื้องต้นเราจึงเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงผ่านการทำ กิจกรรมด้านการเกษตร ให้กับชาวเชียงขวัญพิทยาคม

นอกจากผู้อำนวยการระวี ขุณิกากรณ์ จะเป็นผู้นำด้านวิชาการแล้ว ท่านก็เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในด้านการเกษตร ที่บ้านของท่านจะปลูกพืชผักสวนครัวไว้รับประทานเอง และยังเผื่อแผ่สู่เพื่อนครู โดยท่านจะเก็บผัก เช่น ผักบุ้ง ผักกาด ผักคะน้า ฯลฯ มาฝากเสมอ ท่านผู้อำนวยการบอกว่า ท่านได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตด้วยการลงมือปฏิบัติและ เกิดมรรคผล ท่านจึงเป็นแบบอย่างให้กับครูและนักเรียนเสมอมา

ในส่วนของครูก็เรียนรู้หลักคิดผ่านการเกษตรเหมือนกัน โดยท่านผู้อำนวยการและฝ่ายบริหารร่วมประชุมปรึกษาหารือกับคณะครูว่า “โรงเรียนเรามีพื้นที่มากพอที่จะให้นักเรียนทำแปลงเกษตร ประกอบกับพื้นที่ด้านหลังโรงเรียน มีแปลงนา หนองน้ำ เล้าเป็ด เล้าไก่ รวมถึงคอกหมูของงานเกษตร กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพอยู่” มติที่ประชุมจึงตกลงกับว่าให้ครูและนักเรียนทำกิจกรรมการเกษตรให้ชื่อว่า “1 ห้อง 1 สวน” ไม่จำกัดว่าจะปลูกพืชผักอะไร แล้วแต่ความเห็นชอบของนักเรียนและครูที่ปรึกษาแต่ละห้อง โดย โรงเรียนส่งเสริมสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในเรื่องน้ำ มีการวางระบบเดินท่อน้ำ และนำถังน้ำมัน 200 ลิตร มาวางไว้เป็นจุดๆ และล้อมรั้วโดยใช้ไม้ไผ่ตีกรอบเป็นแผงยาว วิธีการที่กำหนดว่าใครจะได้ตรงไหนนั้น ก็จัดแบ่งเรียงตามลำดับชั้นเรียน อาณาบริเวณของแปลงเริ่มจากริมสนามโรงเรียนด้านทิศตะวันตกอาคาร 1 ยาวไปตามริมสนามไปทางด้านหน้าโรงเรียน และอีกส่วนหนึ่งคือด้านทิศตะวันออกของหน้าโรงเรียนที่เป็นส่วนของวิทยา ศาสตร์ มีนักเรียนที่เลือกเรียนสายวิทยาศาสตร์กับคุณครูแสน อนาราช ดูแล อาจมีคำถามว่าเวลาที่ให้ทำกิจกรรมนี้คือช่วงไหน เวลาที่ใช้ทำกิจกรรมตรงนี้โรงเรียนวางแผนร่วมกันว่าให้มีชั่วโมง ปศพพ. 2 ชั่วโมงต่อกัน ช่วงโมงแรกปฏิบัติกิจกรรมการเกษตรช่วงโมงสองสรุปผลและถอดบทเรียนกิจกรรมของ แต่ละห้อง
เราจึงใส่ผลงานแปลงพืชผักผลไม้ของโรงเรียน เป็นที่ชื่นชมของเราและผู้มาเยี่ยมเยือน ตรงนี้ขอถ่ายทอดให้เห็นภาพว่ามีส่วนอะไรบ้าง


สวนทางด้านทิศตะวักตกของอาคาร 2 จะเป็นสวนผัก ผลไม้ตามใจคนปลูกคือนักเรียนกับครู ดังนี้

  • สวนมะม่วง ของนักเรียน ม. 2/1 คุณครูขวัญสุดา วิเชียรศรี และคุณครูจันทะวงศ์ คำตอง.
  • สวนต้นกก ของนักเรียนชั้นม. 1 คุณคณุนริศรา บุบผาชาติ
  • สวนกล้วยน้ำว้า ของนักเรียนกับคุณครูเชตวัน สุวรรณศรี
  • สวนกล้วยน้ำว้า และต้นกกของนักเรียนกับคุณครูถาวร ศรีมุงคุล
  • สวนมะพร้าว ของนักเรียนม. 1/1กับคุณครูศุภทรารัชต์ หาอาษา
  • สวนมะนาว ของนักเรียนชั้น ม.3/1 กับคุณครูเข็ม รุ่งวิสัย กับคุณครูศรีสง่า พิพัฒนมงคล
  • สวนมะนาว ของนักเรียนกับคุณครูธนัญชัย ศรีมุงคุล
  • สวนตะไคร้ ขนุน ของนักเรียนม.2/2 กับคุณครูสุวัฒน์ชัย คุณครูพิชิต ศรีสุนา
  • สวนอ้อยดำ ของนักเรียนชั้น ม.3/2 กับคุณครูทวีศักดิ์ กับคุณครู เบญจวรรณแสนประกอบ
  • สวนกล้วยน้ำว้า ของนักเรียนชั้นม. 3/3 กับคุณครูไพวันปาโส กับคุณครูกิตติศักดิ์ นาคฤทธิ์
  • สวนมะพร้าวน้ำหอม ของนักเรียนกับคุณครูสุเพียบ สอนใจ
  • สวน มะพร้าวน้ำหอมของนักเรียนกับคุณครูสุบรรณ ไชยลาภ และสวนนาผักแขยง กล้วยน้ำว้า มะละกอ ของนักเรียนชั้นม. 6/1 กับคุณครูแสน อนาราช เป็นต้น

สวน การเพาะปลูกพืชผักเหล่านี้เป็นบันไดก้าวแรกของการเรียนรู้หลักปรัชญาของ เศรษฐกิจพอเพียง และช่วงนั้นนักเรียนก็ได้เรียนรู้หลักคิดจำได้อย่างแม่นยำคือ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข โดยการท่องจำ และการถอดบทเรียน ตอนนั้นยังไม่ลงสู่ 4 มิติและสวนผัก ผลไม้ก็เจริญเติบโตและปัจจุบันยังคงเติบโตพร้อมจะได้ผลิดอกออกผลตามฤดูกาล เป็นที่ชื่นชมของเจ้าของสวนและผู้ที่ผ่านไปผ่านมา

 


๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
โปรดติดตามตอนต่อไปครับ....

 
หมายเลขบันทึก: 564994เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2014 00:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มีนาคม 2014 15:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท