"กตัญญู รู้คุณใคร"


 

                                                                                                                  

 

                                                           

                น้อยคนนะครับที่จะรู้ว่า วันนี้คือ "วันตรุษไทย" โดยเฉพาะคนเมืองหลวง ส่วนคนต่างจังหวัดพอจะรู้บ้าง ตอนผู้เขียนอยู่สุพรรณบุรี (ศาลาขาว สวนแตง) นั้น ได้เห็นชาวบ้านคนแก่ คนเฒ่า หนุ่มสาว ชาวบ้าน เข้าวัดทำบุญในวันตรุษไทยคือ แรม ๑๔ หรือ ๑๕ ค่ำเดือน ๔ เป็นเวลา ๕ วัน สิ่งที่ชาวบ้านนำไปวัดเพื่อทำบุญคือขนม เช่น ข้าวเหนียวแดง แตงแม ฯ พวกสาวๆ จะแต่งตัวสดสวย มีสีสันสวยงาม ส่วนคนแก่ก็นุ่งโจงกระเบนกัน เด็กๆ ก็ติดตามพ่อแม่มาด้วย ทำให้เห็นบรรยากาศคติความเชื่อ กิจกรรมชุมชนของชนบทได้ชัดมาก

                คติเรื่องตรุษไทยก็คล้ายๆ ตรุษจีน "ส.พลายน้อย" ได้เขียนเรื่องนี้ไว้โดยอ้างคำวินิจฉัยของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเรื่อง ตรุษไทยว่า เป็นความเชื่อของชาวอินเดียตอนใต้ที่นับถือผี วิญญาณ เทพเจ้าต่างๆ กันในสมัยก่อน ต่อมาบางพวกก็อพยพมาที่ลังกา เรียกกลุ่มนี้ "ชาวทมิฬ" ที่นำเอาความเชื่อดั้งเดิมมาด้วย และมีการเคารพบูชาผี เทพเจ้าด้วย อีกความเชื่อหนึ่งก็อาจมาจากความเชื่อคนพื้นเมืองในลังกา ที่เชื่อผีบรรพบุรุษ ซึ่งคตินี้มีอยู่ทั่วไปในเอชีย จึงเซ่นไหว้บูชาบรรพบุรษของตนที่เชื่อว่า ตายแล้วยังวนเวียนหรือเฝ้ารักษาลูกหลานอยู่ ด้วยเหตุนี้จึงคิดกุศโลบายในการสอนให้เคารพคนตายในฐานะเทพเจ้าในที่สุด

                 ในขณะเดียวกันชาวทมิฬก็ยอมรับนับถือเอาพระเพุทธศาสนามาด้วย จึงนำมาประยุกต์ให้สอดคล้องคติของตน เพื่อให้เกิดเป็นสิริมงคลหรือเป็นสวัสดิมงคลแก่ครอบครัวของตน ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา รัชสมัยของพระเจ้าบรมโกษฐ์ ราวพ.ศ.๒๒๙๐ ส่งคณะสงฆ์เดินทางไปสร้างไมตรีหรือเพื่อกิจการทางศาสนา จึงได้เห็นหรือรับรู้ประเพณีนี้ แล้วจึงนำมาดัดแปลงเป็นของชาวอยุธยาเป็นต้นมา

                 ต่อมาราวพ.ศ.๒๔๘๐ จึงยกเลิกวันตรุษไทยในราชพิธีหรือในเมืองหลวง แต่ชาวบ้านชนบทก็ยังคงนับถือสืบทอดกันอยู่เรื่อยมา เนื่องจากว่า วันตรุษ ใกล้กับวันสงกรานต์มาก จึงยกเอาวันตรุษนี้ ไปเป็นวันสงกรานต์ สมัยก่อนเราจึงถือว่า สงกรานต์คือ วันปีใหม่ของไทย อีกอย่างคำว่า "ตรุษ" มาจากภาษาสันสกฤตว่า "ตฺรุฏ" แปลว่า "ตัด" หมายความว่า ตัดหรือขาด หรือสิ้นไปของปี ของกาล ต่อมารัชกาลที่ ๖ ได้เปลี่ยนคำว่า "ตรุฏ" มาเป็น "ตรุษ" ซึ่งตามพจนานุกรมอ่านได้สองแบบคือ "ตะรุสะ และ ตรุด" ซึ่งตรงกับคำว่า "ตะรุสะ" แปลว่า "ยินดี" สอดคล้องกับเทศกาลสงกรานต์ในวันปีใหม่ที่คนไทยต่างยินดีกัน ที่สุดก็เปลี่ยนเป็นวันที่ ๑ มกราคมของทุกปีเป็นแบบสากล โดยหลวงวิจิตรวาทการเสนอให้เปลี่ยนเมื่อปี ๒๔๘๔

                 นั่นคือ ประวัติวันตรุษไทย ส่วนที่เป็นแก่นสารของวันนี้คือ การบูชา การบวงสรวง การเซ่นไหว้บรรพบุรุษนั่นเอง หรือจะเรียกอีกอย่างว่า "ไหว้ผี" ก็ได้ เนื่องจากว่า พื้นฐานเดิมของสังคมในสมัยสุโขทัย อยุธยาล้วนมีคติความเชื่อเรื่องผีอยู่ทั่วไป ซึ่งนับว่าเป็นเครื่องหมายที่ดีที่ลูกหลานได้ที่ระลึกถึงผู้ที่วายชนม์ไป ยังมีคุณต่อตนเอง เพราะเมื่อครั้งมีชีวิตอยู่ บุคคลเหล่านั้น ก็ได้สร้างประโยชน์ให้กับลูกหลานไว้มาก ความสำนึก ความรู้สึกเยี่ยงนี้เรียกว่า "นึกถึงบุญคุณ" จึงเกิดการแสดงออกด้วยการเซ่นไหว้ด้วยอาหาร ขนม เพื่อให้วิญญาณเหล่านั้นได้มีอาหารกินอย่างสำราญ วิญญาณเหล่านั้นจึงให้คุณแก่ลูกหลาน ลูกหลานจึงตอบแทนด้วยการทำบุญให้ เรียกกิริยานี้ว่า "กตเวที" แปลว่า การตอบแทนคุณ และช่วงนี้ชาวจีนก็ไหว้เช่นกันเรียกว่า "เชงเม้ง"

                  การแสดงเช่นนี้ กลายเป็นที่ยอมรับของสังคมไทย ผนวกกับหลักการพระพุทธศาสนาที่สอนเรื่องกตัญญูไว้ด้วย ทำให้คนไทยมีคติในเรื่อง กตัญญู ต่อบิดา มารดาของตน โดยเฉพาะชาวจีนจะฝังอยู่ในสายเลือด ในจีนได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาขงจื้อ เต๋าและพุทธ ำให้เอเชียมีหลักการเรื่อง ความกตัญญูเป็นสิ่งที่ดี เป็นคุณสมบัติของคนดีไป สังคมใดก็ตามที่มีคนดี จะวัดหรือประเมิณได้ด้วยความกตัญญู รู้คุณของคนอื่นเป็นหลัก เราจึงได้ปลูกฝังเรื่องนี้ให้แก่เด็กๆ แต่สังคมยุคใหม่คำนี้ กลับมีมนต์ขลัง มีพลังน้อยลงทุกที ทำให้สังคมคนแก่ขาดการดูแลเอาใจใส่ ที่้ร้ายกว่านั้นคือ ทิ้งพ่อแม่ ให้เผชิญกับโชคชะตาที่น่าสมเพทยิ่งนัก

                   ด้วยเหตุนี้ บ้านเมือง พระสงฆ์ นักพูด จึงปลูกฝังเรื่องนี้ ให้เด็กๆ เยาวชนได้ตระหนักว่า ความดีจากการเลี้ยงดูพ่อแม่นั้น เป็นบุญ เป็นคุณต่อชีวิตของเรา จะทำให้ชีวิตไม่ตกต่ำลำบาก ตรงกันข้ามใครทำร้ายหรือฆ่าพ่อแม่ สังคมไม่ให้อภัย ขนาดพ่อแม่ยังฆ่าได้ คนอื่นเป็นเรื่องเล็กน้อย สิ่งที่สังคมยอมรับกันคือ ความกตัญญู ในฐานะเป็นเครื่องหมายของคนดี เป็นอุดมคติของครอบครัวขั้นปฐมภูมิด้วย ผู้ที่รณรงค์เรื่องนี้คือ นักพูดที่ชื่อว่า "อรพิมพ์ รักษาผล" มีชื่อเล่นว่า "เบสต์" ค้นหายูทุบจะพบคลิบของเธอได้ หรือมีพระนักพูดเรื่องนี้มากมาย

                    อนึ่ง แม้แต่สัตว์ก็รู้คุณ เราคงได้ยินนิทานดาวลูกไก่นะครับ ที่ "พร ภิรมย์" ร้องไหว้ว่า "โอ้ชีวิตคิดไฉน ว่าใครหนอใครลิขิตประกาศิตของศิวะ หรือของพระพรหมเจ้า ว่าต่างกำเนิดเกิดมา พอลืมตามองโลก บ้างมีโชคบ้างอับโชค มีสุขโศกปนเศร้า จอมนราพิสุทธ์ ท่านสอนพุทธบริษัท เป็นธรรมะปรมัต อ่านถึงอำนาจกรรมเก่า ว่ากุสะลาธรรมา มนุษย์เกิดมามีสุข อกุสะลาพาให้ทุกข์ ดังไฟที่ลุกรุมเร้า บ้างกึ่งดีกึ่งชั่ว เพราะตัวของตัวมั่ววุ่น สร้างทั้งบุญทั้งบาป เหมือนคำที่ฉาบด้วยขาว

                   ผมมิใช่บัณฑิต อันมีจิตสิเหน่หา ที่จะเป็นนักเทศนา มาเจรจายั่วเย้าจิตตั้งศรัทธาสาทก เรื่องยาจกยากจน มีตากับยายสองคน ปลูกบ้านอยู่บนเชิงเขา แกเลี้ยงแม่ไก่อู มีลูกอยู่เจ็ดตัว เช้าก็ออกริมรั้ว จิกกินเม็ดถั่วเม็ดข้าว เวลามีเหยี่ยวเฉี่ยวโฉบ นังแม่ก็โอบปีกอุ้ม กางสองปีกออกคลุม พาลูกทั้งกลุ่มเข้าเล้า แม่ไก่จะปลอบขวัญลูก เสียงกุ๊กๆปลุกขวัญ ลูกตอบเจี๊ยบๆดังลั่น ทั้งๆที่ขวัญเขย่า แล้วเขี่ยข้าวออกเผื่อ ต่างคุ้ยเหยื่อออกให้ ลูกไก่แม่ไก่ไร้ทุกข์ ซิไม่มีสุขใดเท่า ถึงคราวจะสิ้นชีวิต เมื่ออาทิตย์อัสดง ยังมีภิกษุหนึ่งองค์ เดินออกจากชายเขา ธุดงค์เดียวด้นดั้น เห็นสายัณห์สมัย หยุดกลางพลางทันใด หลังบ้านตายายผู้เฒ่า..."

                    เรื่องนี้ เป็นนิทานปริศนาธรรม ที่สื่อถึงบุคคลาธิษฐานเรื่อง "ความกตัญญู" (Gratitude) ที่สอนกันในสังคมไทยสมัยก่อน ซึ่งแตกต่างจากวัฒนธรรมฝรั่งอย่างสิ้นเชิง ปัจจุบันคติเรื่องนี้เหมือนกำลังเดินสวนทางกัน หมายความว่า คนไทยรุ่นใหม่เลียนแบบฝรั่ง คือ ออกจากครอบครัว อยู่คอนโดฯ ต่อสู้ด้วยตัวเอง ขาดการตักเตือนหรือคอยดูแลพฤติกรรมให้ลูกอยู่ในทางที่ดี ที่ควร จึงทำให้เด็กยุคใหม่มีเชื้อแบบฝรั่งมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ฝรั่งกลับมาเห็นความสำคัญวัฒนธรรมเรื่องนี้ อยากมีคติเช่นนี้ยามแก่เฒ่า จะได้ไม่เหงา ไม่เซื่องซึม จึงหันมาอยู่แบบโฮมสเตย์เมืองไทยอย่างอบอุ่นในบั้นปลายของชีวิต

                    เป็นเรื่องที่คนเอเชียควรรู้สึกถึงคุณค่าของการกตัญญู รู้คุณของคนอื่น เพราะเรื่องนี้หากคนรุ่นใหม่ละเลย เชื่อแน่ว่า อนาคต พวกเขาจะโหยหาความอบอุ่นหรือเรียกร้องหาคนดูแลเช่นกัน ฉะนั้น เราควรอนุรักษ์รักษาไว้ให้เกิดคุณประโยชน์ต่อสังคม ประเทศชาติสืบไปได้

                   คำถามที่อยากจะถามต่อมาคือ ใครคือ บุคคลหรือสิ่งใดที่เราจะต้องแสดงความกตัญญู ตอบแทนบ้าง ผู้เขียนได้วางกรอบรัศมีที่เราควรแสดงความกตัญญูตอบแทนดังนี้คือ

                 ๑) "ศาสดา" (Founder) คือ ผู้ให้กำเนิดคำสอน คำแนะแนวทางและหลักการ ให้ศาสนิกชนของศาสนานั้นๆ มาก่อน โดยการบัญญัติศีลธรรม คุณธรรมที่ควรทำ ควรแสดงออก ให้สอดคล้องกับอุดมคติของสังคม หรือเป็นแม่แบบที่สังคมควรนำไปประพฤติ ปฏิบัติ เพื่อให้เกิดผลต่อตนและคนอื่น เมื่อรู้ว่าศาสดาสร้างคุณประโยชน์ให้กับชีวิตและจิตใจเช่นนี้ เราก็ต้องแสดงออกด้วยการปฏิบัติตามคำสอนของศาสดา จึงจะได้ชื่อว่า เราเป็นสาวกหรือศาสนิกชนที่ดีเรียกว่า "กตเวที" แปลว่า การตอบแทน

                 ๒) "พระราชา" (King) คือ ผู้ปกครองประเทศชาติ ผู้นำประชาชน ผู้เป็นเจ้าของแผ่นดิน แม้ว่าประเทศไทย ไม่ได้ปกครองแบบสมบูรณญาสิทธิราชแล้วก็ตาม แต่คนไทยยังมีความเชื่อในเรื่อง พระราชาของแผ่นดินอยู่ โดยเฉพาะในหลวง ที่ทรงงานทั่วท้องถิ่นของไทย ที่ช่วยเหลือประชาชน เห็นชัดเจนเรื่องความช่วยเหลือของพระองค์คือ "เศรษฐกิจพอเพียง" ที่ช่วยเหลือคนจน ประเทศชาติ ที่รัฐไม่มีปัญญาทำ หรือทำแต่ก็ไม่มีแบร์เท้า ก้าวย่าง เดินทางไปยังถิ่นชนบทแท้จริง อยู่แต่ในห้องแอร์รอรับรายงานลูกสมุนอย่างเดียว ดังนั้น ประชาชนจึงควรสำนึกถึงบุณคุณของพระองค์ด้วยการแสดงออกถึงความจงรักภักดี และปฏิบัติตนให้เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ และที่พระองค์หวังคือ ให้พึ่งพาตัวเองให้ได้ การทำเช่นนี้ชื่อว่า เราตอบแทนคุณแผ่นดินด้วย

                 ๓) "พ่อแม่" (Parent) คือ บุคคลที่สร้างเราให้รู้จักโลกด้วยสายตา ด้วยสมอง เพราะว่า ท่านได้สร้างเลือดเนื้อ ร่างกาย ให้เราได้อาศัยเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ จนเจริญเติบโต จนเข้าใจโลก เข้าใจชีวิต รู้สิ่งๆ ต่างๆ ได้ เพราะท่านเท่านั้น ตั้งแต่เราเกิดมา ท่านเลี้ยงเรา จากนั้นเข้าโรงเรียนท่านก็คอยรับ คอยส่ง ให้เงินทอง ข้าวของ ที่อยู่อาศัย ฯ เมื่อจบได้งานทำ แต่งงาน มีสามี ภรรยา มีลูก พ่อแม่ก็คอยดูแลให้อีก เจ็บไข้ ได้ป่วยมา พ่อแม่ก็พารักษา จิตวิญญาณของพ่อแม่เหมือนเป็นหนึ่งเดียวกับลูก

                 มีผู้คนมากมากที่เห็นคนใกล้เป็นคนห่างไกล ไม่กล้าแสดงออกต่อกัน ครั้นเวลาสิ้นกาย สิ้นใจ กลับมาร้องไห้ โหยหวนอดีตที่ทำ ความซาบซึ้งจะถึงแก่นคำว่า "บุญคุณ" ก็ต่อเมื่อเราเป็นพ่อเป็นแม่เอง หากเราไม่แสดงออกให้เป็นตัวอย่างพ่อแบบแม่แบบที่ดีให้ลูกเห็น ต่อไปหากลูกเราแสดงออกต่อเราบ้าง เราจะโทษใคร ด้วยเหตุนี้ สังคมจะไม่ล่มสลายเพราะครอบมีความรัก ความสำนึกในคุณของพ่อแม่เป็นพื้นฐาน

                ๔) "ครู อาจารย์" (Teacher) คือ บุคคลที่สั่งสอนให้ศึกษา ศิลปะวิทยาการ ให้ความรู้ ทักษะในการใช้ชีวิต เป็นผู้ชี้ทาง พร่ำสอนให้รู้จักโลกกว้างขึ้น ให้รู้การเข้าสังคมวงกว้าง และยังเป็นผู้ชี้ทางให้อนาคตเราได้เดินทางถูกต้องเหมาะสมอีกด้วย จิตวิญญาณของครูคือ เมตตาอยากให้ศิษย์อ่านออก เขียนถูก คิดถูก พูดถูก ฯ ครูเปรียบเหมือนพ่อแม่คนที่สองของเรา แต่อนิจจา! ครูเป็นได้แค่ทอดสะพานให้ลูกศิษย์ได้เดินทางไปสู่เส้นทางดีๆ เมื่อเราสำเร็จการศึกษา มีงานทำ มีชีวิตอยู่ได้ด้วยอาชีพที่ได้เรียนรู้ศึกษามา ก็เพราะครูบาอาจารย์นั่นเอง ด้วยเหตุนี้ เราควรระลึกนึกถึงบุณคุณของครู อาจารย์ว่าเราเติบโตด้านปัญญาได้เพราะท่านแท้ๆ 

               ๕) "สัตว์ต่างๆ" (Animal) คือ สัตว์ที่เราเรียกว่า "เดรัจฉาน" ที่พวกมันดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการสร้างสรรค์ผลงานให้กับโลก พืช และพวกมนุษย์ทั้งหลาย ให้มีผลิตผลตามฤดูกาลต่างๆ ผลไม้ คือ สิ่งต้องการของแมลง ผลไม้คือ สิ่งต้องการของมนุษย์และสัตว์อื่นๆ พืชดำรงอยู่ได้ เพราะอาศัยการผสมพันธุ์ของแมลงเป็นผู้ช่วย การทำเช่นนั้นของแมลง คือ ความอยู่รอดของเรา นอกจากแมลงผสมพันธุ์เกสรดอกไม้ให้พืชแล้ว แมลงยังเป็นเครื่องชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติหรือสัตว์ใหญ่เช่น วัว ควาย ช้าง ม้า ฯ ที่มีคุณต่อเรา

                ยิ่งกว่านั้น พวกมันยังสร้างโลกของเรา ให้น่าอยู่ น่าชื่นชม น่าบันเทิงใจด้วย ด้วยเหตุนี้ เราจึงควรตอบแทนพวกมันด้วยการดูแล ปกป้อง อย่าทำลายแมลงจนหมดสิ้น เพราะหากเราทำลายลง ระบบนิเวศก็จะขาดลง ความสมดุลก็จะเกิดขึ้นตามมา อาจส่งผลให้เราเพาะปลูกไม่ได้ผล หรืออาจกระทบต่อบรรยากาศของโลกให้เปลี่ยนได้ด้วย

                ๖) "สิ่งของ" (Thing) คือ วัตถุ สิ่งของ เครื่องใช้ในครัวเรือน ที่ใช้เป็นอุปกรณ์ทำมาหากิน ใช้ในอาชีพเช่น เกษตรกรรม ค้าขาย ทำบ้านเรือน ทำรับจ้าง ฯ  ข้าวของเหล่านี้ถือว่ามีคุณ มีอุปการะต่อเราด้วย เราลองสำรวจในบ้าน ในครัวสิว่า มีข้าวของสิ่งใดบ้างที่เอื้อโอบ เกื้อกูลให้ชีวิตเราอยู่ได้ อยู่สะดวก สบายบ้าง เสื้อผ้า อาหาร บ้านเรือน รถยนต์ เงินทอง รองเท้า คอมพ์ มือถือ สมุด ปากกา นาฬิกา เครื่องสำอาง ฯลฯ ล้วนแต่มีคุณต่อเราทั้งสิ้น เมื่อเราใช้โดยไม่รู้คุณค่า มันอาจมีโทษแก่เราได้อีก 

                ดังนั้น การรู้จักใช้ รู้จักประหยัด รู้จักคุณค่าแท้ คุณค่าเทียมของมัน เราย่อมได้ชื่อว่า เป็นผู้รู้คุณ รู้ค่าข้าวของเหล่านั้น แล้วจะเห็นประโยชน์ที่แท้จริง จึงเกิดความรัก ความหวงแหนขึ้น บางคนที่ทำมาหากินกับอุปกรณ์ใด เมื่อตัวเองรอดพ้นจากความลำบากก็ยังเก็บอุปกรณ์เหล่านั้นไว้เป็นอนุสรณ์เตือนความทรงจำหรือเห็นคุณค่าของมันด้วยการปิดทอง ยกขึ้นบูชาคุณ กราบไหว้ก็มี

                 ๗) "เทพเจ้า" (god) คือ พวกเทพเจ้า ภูต ผี ต่างๆ ที่สิงอยู่ตามบ้านเรือน ไร่นา ป่าสวน ต้นไม้ ธรรมชาติ ฯ เทพเจ้าเหล่านี้ ผีเหล่านี้ก็มีคุณต่อเรา หรือมีโทษต่อเราด้วย หากเราแสดงหรือเคารพบูชา เซ่นไหว้ พวกเทพเหล่านี้อาจให้คุณกลับมาได้ เราจะพบว่า บ้านเมือง สังคมจะเจริญก้าวหน้าไปมากเพียงใด เราก็ยังพบศาลเจ้า ศาลบ้าน ศาลเจ้าที่ เตี่ยจู่เอี้ย ศาลเพียงตา ประจำบ้าน ประจำอาคาร เรือกสวนไร่ ป่าเขา อยู่ทุกที่ ทุกประเทศ

                สะท้อนให้เห็นว่า ความเชื่อมั่นของมนุษย์แม้จะยืนหยัด เชื่อในศักยภาพของตนก็จริง แต่อำนาจลึกลับหรือสิ่งที่มองไม่เห็น ก็ยังคงมีอิทธพลต่อวิถีชีวิตของเรา หรืออาจกลายเป็นเรื่องคอขาดบาดตายก็ได้ ด้วยเหตุนี้ เราจึงควรแสดงความเคารพ ความกตัญญูต่อเทพเจ้าทั้งหลายและวิญญาณทั้งหลาย ด้วยการทำบุญ หรือเซ่นไหว้พวกเทพเหล่านี้ด้วย เพื่อให้ชีวิตและที่อยู่อาศัยเป็นสิริมงคลต่อไป

                ๘) "ธรรมชาติ" (Nature) คือ สิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ที่แวดล้อมเรา เกื้อกูลหนุนเนื่อง ให้ชีวิตสัตว์ ดำเนินไปอย่างปกติสุข โลกอุบัติมาหลายล้านปี และดำรงอยู่ในภาวะที่สมดุล จนเอื้อให้สิ่งมีชีวิตกำเนิด สิ่งมีชีวิตก็ดำเนินไปตามกฏเกณฑ์ของสิ่งแวดล้อมด้วยเช่น ต้นไม้คายอ๊อกซิเจนออกมา สัตว์คายคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ออกมา ทั้งสองต่างก็ต้องการของเสียกันและกัน จนเกิดความสัมพันธ์กันขึ้น หรือแมลงกับพืชที่เอื้อประโยชน์ต่อกันมาหลายล้านปี จนพืชรู้ใจแมลง และแมลงก็รู้วาระใจของพืช จึงตอบสนองกันด้วยสิ่งตอบแทน พืชต้องการผู้ช่วยผสมเกสร เพราะเดินไปไหนมาไหนไม่ได้ ส่วนแมลงต้องการน้ำหวาน เพื่อเป็นพลังงานในการเที่ยวไปไหนต่อไหนได้

                ด้วยเหตุนี้ เราในฐานะผู้คอยฉวยโอกาสจากพืช แมลง และธรรมชาติ ควรจะแสดงออกถึงความเคารพหรือกตัญญูต่อสรรพสิ่งที่เป็นธรรมชาติ เช่น ดิน ป่า น้ำ ลำธาร ห้วยหนอง คลอง อากาศ ไฟ ต้นไม้ ฯ ด้วยการปลูก ดูแล รักษา เอาใจใส่ ธรรมชาติ หากเราไปก้าวก่ายหน้าที่ธรรมชาติมากไป ความสมดุลหรือระบบนิเวศขาดลง ผลที่เลวร้ายจะส่งผลถึงสิ่งมีชีวิตทุกคน ทุกตัว ถ้าทำเช่นนั้น เรากำลังทรยศหรืออกตัญญูต่อธรรมชาติ รวมไปถึงต่อตนเองด้วย

                 ๙ "ตัวเอง" (Self) คือ บุคคลที่ใกล้สุดและเป็นพยานโลกมากที่สุด สรรพสิ่ง สรรพความ ทั้งหลาย หากขาดคำว่า "ตัวตน" ที่จะมารองรับโลกความจริงแล้ว จักรวาล โลก สรรพสิ่งจะมีโทษ จะดี จะมีค่า มีคุณอย่างไร ก็เปล่าประโยชน์ เนื่องจากว่า ไม่มีฐานที่จะรองรับความจริง หรือความเป็นไปของโลกนั่นเอง การสำนึก ตรึกตรองมองตนเองให้ออก บอกตัวเองให้เป็น คือ หลักการอย่างหนึ่งที่สร้างโลกให้ปรากฏแก่ตนเอง เมื่อตนเองตระหนักรู้ในฐานแน่นดีแล้ว ก็จะเห็นโลก เห็นคูณค่าของชีวิตคนอื่นว่า มีคุณต่อตนเองด้วย

                 บุคคลที่ไม่เห็นคุณ ไม่เห็นค่าในตัวเอง มักปลดปล่อยตัวเองไปตามอำนาจฝ่ายต่ำ ให้ย่ำยีหรือคอยรบกวนตลอด จนไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ย่อมทำลายความเชื่อมั่นตนเองลง กลายเป็นดูถูกตน รังเกียจตน จนอาจพาลไปสู่การทำร้ายร่างกายตน เและอาจเลยไปถึงการอัตวิบากกรรมตนเองได้ คนที่ไม่ดูแลตนเอง เช่น เที่ยวกลางคืน ดื่มสุรายาเสพติด ติดหญิง ติดเกม ติดสิ่งบันเทิงเริงรมต่างๆ เหมือนกำลังปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามยถากิเลส แน่นอนว่า บุคคลเหล่านี้ ย่อมไม่รู้ค่าของการเกิด การอยู่ การใช้ชีวิตที่มีมูลค่ามหาศาลนี้ได้เลย

                 เมื่อไม่เคารพหรือตอบแทนตนเองได้ จึงหมดคุณค่าทางสติปัญญาที่จะเห็นคุณของคนอื่น สิ่งอื่นได้ ด้วยเหตุนี้ เราต้องศึกษาหาความรู้ ฝึกฝนปฏิบัติ เพื่อให้เข้าถึงแก่นแท้ของโลกตนข้างใน จนเข้าใจแจ่มแจ้ง แทงคุณตน จนสามารถรู้ไปถึงสายใยของพ่อแม่ และลูกๆตนเองได้

                 ดังนั้น คำว่า "กตัญญู รู้คุณ" ใคร คำตอบคือ สิ่งที่กล่าวมาแล้ว จึงขอสรุปเป็นไว้ ๓ เป้าหมาย ในฐานะผู้รู้คุณสรรพสิ่ง ที่เราจะต้องตระหนักรู้และประพฤติตามคือ

               ๑) อุดมคติของสังคมมนุษย์ เช่น ความดีงาม ความกตัญญู ความอดทน ความเมตตา ฯ

               ๒) รู้ถึงคุณค่าแท้ ของสรรพสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา เช่น ดิน น้ำ อากาศ ไฟ ฯ

               ๓) รู้ซึ้งถึงคุณค่าของร่างกาย จิตใจ สติ ปัญญา คุณธรรม ความดี ความไม่ดี ฯ ในตัวเรา

              ทั้งนี้ เพื่อจะได้ปฏิบัติตนให้ถูกต้องเหมาะสมกับคำว่า "มนุษย์" ที่รู้จักคำว่า "ตอบแทนตน คนอื่นและสรรพสิ่ง" นั่นเอง

--------------------<๓๑-๓-๕๗>------------------------

หมายเลขบันทึก: 564988เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2014 21:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มีนาคม 2014 19:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

...การแสดงความกตัญญู กตเวทีมีความเกี่ยวข้องกับบุคคลรอบๆตัวเรา สามารถนำหลักธรรม ทิศ 6 มาใช้ในการแสดงความสัมพันธ์ จะทำให้เห็นได้อย่างชัดเจน ว่าบุคคลควรมีความกตัญญู กตเวทีต่อใครบ้าง?นะคะ...

"กตัญญู รู้คุณ" ..... งดงามมากค่ะ .... ในสังคมไทยเริ่มลดน้อยลงไปนะคะ .... ควรเริ่มในครอบครัวก่อนะคะ

เป็นความดีงาม ที่มีคุณ มีค่ายิ่งยวดครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท