ปิดเทอมนี้ หนูจะทำอะไรดี?


ปิดเทอมนี้ หนูจะทำอะไรดี? 

 

ปิดเทอมใหญ่ หัวใจไม่ว้าวุ่น

 
     “ปิดเทอมใหญ่” ช่วงเวลาสำคัญที่เด็กๆ หลายคนรอคอยที่จะได้พบกับความสุขในการเล่น หรือการพักผ่อนอยู่กับบ้าน หลังจากคร่ำเคร่งกับการเรียนหนักมายาวนาน ขณะที่โรงเรียนในหลายพื้นที่ก็เริ่มทยอยปิดเรียนให้เห็นกันบ้างแล้ว แต่สิ่งที่ตามมาเป็นเงาตามตัว คงหลีกหนีไม่พ้นกับความห่วงใยบุตรหลานที่ต้องอยู่บ้านตามลำพัง
 
     นายวันชัย บุญประชา ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว บอกว่า ก่อนอื่นคงต้องพูดแยกเด็กในแต่ละระดับช่วงวัย วัยอนุบาลนั้นแน่นอนว่าผู้ปกครอง ไม่ว่าจะเป็นปู่ ย่า ตา ยาย หรือพ่อแม่ที่ไม่ได้ทำงาน หรือสามารถดูแลลูกหลานอยู่กับบ้าน จะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด โดยไม่ปล่อยทิ้งไว้ที่บ้านตามลำพัง ซึ่งกรณีที่เด็กมีญาติคอยดูแล พ่อและแม่ของเด็กจำเป็นจะต้องบอกพฤติกรรมของเด็กว่ามีลักษณะอย่างไร เพื่อเป็นการทำความเข้าใจและเรียนรู้ไปพร้อมกันไม่ให้เป็นอันตรายต่อเด็กและตัวผู้เลี้ยงเอง เช่น เด็กไม่ชอบพูดจา หรือบางคนจะชอบเล่นมากในช่วงกลางวัน เป็นต้น
 
 
      สำหรับเด็กในระดับประถมศึกษา โดยลักษณะของเด็กนั้นจะมี ACTIVE หรือ ACTION ที่ต้องใช้พื้นที่มากขึ้น ต่างกับเด็กระดับอนุบาล โดยเด็กจะต้องมีกิจกรรมที่จะต้องใช้แรงพอสมควร ดังนั้น ควรจัดพื้นที่ให้เด็กได้ทำกิจกรรมหรือเล่นให้มากกว่าเดิม ซึ่งก็มาพร้อมกับอันตราย อย่างเด็กระดับประถมศึกษาจะมีความซุกซนมากกว่า ก็จะเกิดอุบัติเหตุได้บ่อยครั้ง
 
 
     ส่วนเด็กระดับมัธยมศึกษา ต้องจัดหากิจกรรมสาธารณประโยชน์ให้เด็กได้ทำ เช่น ให้มีส่วนรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย อาทิ การดูแลผู้ใหญ่ในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นคุณตา คุณยาย หรือการจัดทำความสะอาดห้องนอนของเด็กเอง เป็นต้น สำหรับเด็กที่ขออนุญาตออกไปนอกบ้าน พ่อแม่ควรวางกฎเกณฑ์ให้ชัดเจนว่าเด็กจะต้องกลับถึงบ้านในเวลากี่โมง ระยะที่เดินทางไปใกล้ไกลแค่ไหน ซึ่งเรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่ที่การตกลงระหว่างภายในครอบครัว
 
 
     นายวันชัย ยังบอกด้วยว่า พ่อแม่หลายคนมักจะตัดปัญหาที่ทิ้งลูกอยู่บ้านตามลำพังในช่วงปิดเทอม โดยการให้ไปเรียนพิเศษ ซึ่งแน่นอนว่าเด็กจะต้องพบกับบุคคลแปลกหน้า ดังนั้นตัวเด็กเองควรจะมีวุฒิภาวะเรื่องการปฏิบัติตัวต่อหน้าคนแปลกหน้าได้อย่างถูกต้อง ต้องสอนให้ลูกรู้จักการจัดการ การโต้ตอบ คนไหนวางใจได้ ไม่ได้อย่างไร ซึ่งถือเป็นทักษะเบื้องต้น
 
 
หลัก 4 ข้อกับทักษะพื้นฐานเมื่อหนูต้องเผชิญกับคนแปลกหน้า
 
 
1. WHY : ก่อนอื่นต้องถามความรู้สึกว่าทำไมเค้ามาทำดีกับเรา เรารู้สึกดีหรือไม่ดีอย่างไร จากนั้นต้องดูว่าเรามีเพื่อนหรือผู้ใหญ่อยู่ด้วยหรือไม่ และในรัศมีที่อยู่ใกล้กับเราสามารถช่วยเราได้หรือไม่
 
 
2. NO : การรู้จักปฏิเสธกับคนแปลกหน้า ซึ่งการปฏิเสธก็เริ่มตั้งแต่แบบนิ่มนวลไปจนถึงแข็งกร้าว โดยเฉพาะเด็กไทยต้องเรียนรู้ที่จะปฏิเสธว่าไม่-ไม่เอาให้เป็น
 
 
3. GO : เมื่อเริ่มรู้สึกไม่ดีควรไปจากพื้นที่ตรงนั้น
 
 
4. TELL : การบอกผู้ใหญ่เพื่อให้ผู้ใหญ่ช่วยเหลือปกป้องเราได้
 
 
     คุณวันชัย บอกว่าในหลัก 4ข้อนี้ถือเป็นหลักการทั่วไป โดยเฉพาะข้อ WHY นั้นสำคัญที่สุด เพราะก่อนอื่นเด็กจะต้องเริ่มต้นจากการรู้สึกให้ได้ว่าคนที่เผชิญหน้าอยู่นั้น เรารู้สึกอย่างไรต่อเขาและเขารู้สึกอย่างไรต่อเรา
 
 
     คุณวันชัย ยังได้แนะนำกิจกรรมที่พ่อแม่ควรเลือกให้ลูกๆ ทำในช่วงปิดเทอมให้ฟังว่า เด็กในแต่ละช่วงวัยนั้นคงต้องเลือกกิจกรรมทำที่แตกต่างกัน บางคนก็เลือกที่จะไปเข้าค่าย เรียนภาษาอังกฤษ ศิลปะ ดนตรี แล้วแต่ความชอบ ที่สำคัญสิ่งที่พ่อแม่ต้องคำนึงถึงคือความปลอดภัย
 
 
     “พื้นที่สร้างการเรียนรู้เป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่สำคัญเท่ากับความปลอดภัย อย่างการเลือกเรียนพิเศษ ก็ต้องดูว่าสถานที่เรียนนั้นมีความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน เส้นทางการเดินทางเป็นอย่างไร และลูกของเรามีทักษะการจัดการปัญหาได้มากน้อยแค่ไหน”
 
 
     ขณะเดียวกันปิดเทอมแบบนี้ วันเวลาว่างมีเยอะ พ่อแม่ก็ควรที่จะเลือกหากิจกรรมดีๆ ที่สร้างสรรค์ให้ลูกๆ เลือกทำ ตามความชอบของตัวเด็กเอง ลองไปดูกันว่า เด็กแต่ละวัยควรทำ หรือหากิจกรรมแบบไหนให้เหมาะสมให้กับเขา
 
ปิดเทอมนี้ หนูจะทำอะไรดี?
 
     พ่อแม่คงเป็นคนที่บอกได้ดีที่สุดว่าจะเลือกให้ลูกทำอะไรให้เหมาะสมกับวันว่างอันแสนยาวนานสำหรับปิดเทอมใหญ่นี้ หัวใจลูกจะได้ไม่ว้าวุ่นค่ะ
หมายเลขบันทึก: 564851เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2014 15:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2014 15:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท