การจัดการของเสียของห้องปฏิบัติการ


การจัดการของเสียของห้องปฏิบัติการ

          กระบวนการทดสอบต่างๆ ในห้องปฏิบัติการ ทำให้มีของเสียและขยะเกิดขึ้นมากมาย ของเสียและขยะจากการปฏิบัติการ เป็นปัจจัยเสี่ยงอีกอย่างหนึ่งที่ต้องมีการจัดการอย่างเป็นระบบ เพื่อป้องกันมิให้สารเคมีรั่วไหลและแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อมภายนอกห้องปฏิบัติการ โดยการดำเนินงานเกี่ยวกับของเสียและขยะ ประกอบด้วย

          - การคัดแยกประเภทของของเสีย

          - การรวบรวมและจัดเก็บของเสีย

          - การบำบัดและกำจัดของเสีย

 การคัดแยกประเภทของของเสีย

          การคัดแยกของเสียจากห้องปฏิบัติการ นอกจากจะทำให้การกำจัดทำได้ง่ายและปลอดภัยยิ่งขึ้นแล้ว ยังลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดของเสียอีกด้วย ไม่มีวิธีการกำจัดของเสียแบบใดแบบหนึ่งที่เหมาะสมกับของเสียทุกประเภท ดังนั้น การคัดแยกของเสียจึงทำให้สามารถเลือกใช้วิธีที่เหมาะสม ตามประเภทของของเสีย ควรแยกของเสียทั่วไป ของเสียที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตรายออกจากกัน คุณสมบัติความเป็นอันตรายหลักของสารที่ต้องพิจารณาเป็นอันดับต้นๆ ได้แก่ คุณสมบัติการติดไฟ การระเบิด และการออกซิไดซ์ คุณสมบัติรองของสารที่นำมาพิจารณา ได้แก่ ความเป็นพิษ การกัดกร่อน ของเสียติดเชื้อ ของเสียกัมมันตรังสี เป็นต้น โดยต้องมีการศึกษาข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมีแต่ละประเภทก่อน

          ของเสียที่เกิดขึ้นจากห้องปฏิบัติการต่างๆ จำแนกประเภทและระดับความเป็นอันตราย ได้ดังนี้

          1. ของเสียประเภทที่ไม่เป็นอันตราย (Non-Hazardous Waste Stream) หรือของเสียอันตรายต่ำ

                   1.1 ของเสียทั่วไป เช่น ถุงพลาสติก กระดาษชั่งสาร กระดาษทิชชู กระดาษปูโต๊ะภายในห้องปฏิบัติการ วัสดุที่ทำจากพลาสติก และวัสดุที่ไม่เป็นอันตราย เป็นต้น

                   1.2 พลาสติกที่รีไซเคิลได้ (Recyclable Plastic Product) ได้แก่ ขวดพลาสติกสำหรับใส่อาหารเลี้ยงเชื้อ และขวดพลาสติกสำหรับใส่สารเคมีที่ไม่มีอันตราย เป็นต้น

                   1.3 ขวดแก้วที่มีการปนเปื้อน (Glass) ได้แก่ ขวดแก้วสำหรับเก็บตัวอย่าง ขวดแก้วสำหรับใส่สารเคมีที่เตรียมภายในห้องปฏิบัติการ และขวดใส่สารเคมีที่ไม่มีอันตราย เป็นต้น

                   1.4 ของเสียที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว (Autoclaved Wastes) ได้แก่ ของเสียที่เกิดจากการทดสอบทางจุลชีววิทยา

          2. ของเสียประเภทที่เป็นอันตราย (Hazardous Waste Stream) ส่วนใหญ่จะเป็นของเสียอันตรายที่เป็นของเหลวหรือของแข็ง โดยจัดกลุ่มได้ดังนี้

                   2.1 กลุ่มไซยาไนด์

                   2.2 กลุ่มปรอท

                   2.3 กลุ่มสารอินทรีย์

                   2.4 กลุ่มออกซิแดนซ์

                   2.5 กลุ่มโลหะ

                   2.6 กลุ่มกรด-เบส

                   2.7 ของเสียกลุ่มพิเศษ ได้แก่ ของเสียติดเชื้อจุลินทรีย์ ของเสียกัมมันตรังสี หรือของเสียที่เป็นสารพิษอื่นๆ ที่ไม่เข้าข่ายของเสียประเภทใดประเภทหนึ่ง แต่อาจทำให้เกิดอันตรายแก่มนุษย์และสิ่งแวดล้อมได้ เป็นต้น

การรวบรวมและจัดเก็บของเสีย

          เพื่อให้เกิดความปลอดภัยควรแยกเก็บของเสียสารเคมีไว้ในห้องเก็บของเสียหรือตู้ควันโดยเฉพาะ เพราะหากภาชนะบรรจุมีการรั่วไหลหรือหกหล่น อาจทำให้เกิดปฏิกิริยารุนแรง เกิดเป็นก๊าซพิษปริมาณมาก จนก่อให้เกิดเพลิงไหม้หรือระเบิดขึ้นได้ ของเสียสารเคมีบางชนิดแม้ว่าจะแยกเก็บต่างภาชนะแล้วก็ตาม แต่ไม่ควรวางไว้ใกล้กัน เช่น ไม่ควรเก็บกรดและด่าง หรือกรดและของเสียอินทรีย์ไว้ในห้องเก็บเดียวกัน นอกจากนี้ต้องพิจารณาถึงสมบัติการเข้ากันได้ของสารเคมีด้วย โดยมีรายละเอียดการจัดเก็บ ดังนี้

          1. จำแนกของเสียให้ถูกต้องตามเกณฑ์การคัดแยก และจัดเก็บในภาชนะบรรจุของเสียที่เหมาะสมตามประเภทความเป็นอันตรายของของเสีย เช่น ไม่ใช้ภาชนะโลหะในการเก็บของเสียประเภทกรด หากใช้ขวดสารเคมีที่ใช้หมดแล้วมาบรรจุของเสีย สารเคมีในขวดเดิมต้องไม่ใช่สารที่เข้ากันไม่ได้กับของเสียนั้น เป็นต้น

          2. ตรวจสอบสภาพภาชนะบรรจุของเสีย เช่น รอยรั่ว หรือ แตกร้าวอย่างสม่ำเสมอ

          3. ภาชนะทุกชนิดที่บรรจุของเสียต้องมีฉลากที่เหมาะสม หากใช้ขวดสารเคมีเก่าบรรจุของเสีย ต้องลอกฉลากเดิมออกก่อนและติดฉลากใหม่ที่มีข้อมูลครบถ้วน คือ

                    - มีคำว่า “ของเสีย” ระบุไว้อย่างชัดเจน

                    - ระบุประเภทของเสีย/ประเภทความเป็นอันตราย

                    - ส่วนประกอบของของเสีย (ถ้าเป็นไปได้)

                    - วันที่เริ่มบรรจุของเสีย

                    - ชื่อห้องปฏิบัติการ/ชื่อเจ้าของ

 

          4. ข้อความบนฉลากมีความชัดเจน ไม่จาง ไม่เลือน

          5. ตรวจสอบสภาพของฉลากบนภาชนะของเสียอย่างสม่ำเสมอ

          6. ห้ามบรรจุของเสียเกินกว่า 80% ของความจุของภาชนะ หรือปริมาณของเสียต้องอยู่ต่ำกว่าปากภาชนะอย่างน้อย 1 นิ้ว

          7. มีการกำหนดพื้นที่/บริเวณจัดเก็บของเสียอย่างชัดเจน

 

 

          8. จัดเก็บ/จัดวางของเสียที่เข้ากันไม่ได้โดยอิงตามเกณฑ์การเข้ากันไม่ได้ของสารเคมี สามารถใช้เกณฑ์เดียวกับการจัดเก็บสารเคมีที่เข้ากันไม่ได้

          9. มีภาชนะรองรับ (secondary container) ภาชนะบรรจุของเสียที่เหมาะสม

 

             

         

          10. ห้ามวางภาชนะบรรจุของเสียใกล้ท่อระบายน้ำ ใต้ หรือ ในอ่างน้ำ หากจำเป็นต้องมีภาชนะรองรับ

          11. ห้ามวางภาชนะบรรจุของเสียใกล้บริเวณอุปกรณ์ฉุกเฉิน เช่น ฝักบัวฉุกเฉิน

          12. ห้ามวางภาชนะบรรจุของเสียปิดหรือขวางทาง เข้า-ออก

          13. วางภาชนะบรรจุของเสียให้ห่างจากความร้อน แหล่งกำเนิดไฟ และเปลวไฟ

          14. ห้ามเก็บของเสียประเภทไวไฟไว้ในห้องปฏิบัติการมากกว่า 50 ลิตร หากจำเป็นต้องเก็บไว้ในตู้สำหรับเก็บสารไวไฟโดยเฉพาะ

          15. ห้ามเก็บของเสียไว้ในตู้ควันอย่างถาวร

 

 

          16. มีการกำหนดระยะเวลาในการจัดเก็บของเสียในห้องปฏิบัติการ

                   - กรณีที่ของเสียพร้อมส่งกำจัด (ปริมาตร 80% ของภาชนะ) : ไม่ควรเก็บไว้นานกว่า 90 วัน

                   - กรณีที่ของเสียไม่เต็มภาชนะ (ปริมาตรน้อยกว่า 80% ของภาชนะ) : ไม่ควรเก็บของเสียไว้นานกว่า 1 ปี

 การบำบัดและกำจัดของเสีย

           ห้องปฏิบัติการควรมีกระบวนการจัดการเบื้องต้นก่อนทิ้งหรือส่งกำจัด ได้แก่

           1. การบำบัดของเสียก่อนทิ้ง หมายถึง ห้องปฏิบัติการควรมีการบำบัดของเสียที่มีความเป็นอันตรายน้อยที่สามารถกำจัดได้เองก่อนทิ้งลงสู่ระบบสุขาภิบาลสาธารณะ เช่น การสะเทินของเสียกรดและเบสให้เป็นกลางก่อนทิ้งลงท่อน้ำสุขาภิบาล ส่วนของเสียที่มีเชื้อจุลินทรีย์ให้กำจัดโดยการอบฆ่าเชื้อที่อุณหภูมิ 121 องศาเซลเซียส 15 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว เป็นเวลา 30-70 นาที เป็นต้น

           2. การบำบัดของเสียก่อนส่งกำจัด หมายถึง ห้องปฏิบัติการควรบำบัดของเสียอันตรายที่ไม่สามารถกำจัดได้เองเบื้องต้นก่อนส่งบริษัทหรือหน่วยงานที่รับกำจัด เพื่อลดความเป็นอันตรายระหว่างการเก็บรักษาและการขนส่ง

           3. การลดปริมาณก่อนทิ้ง (waste minimization) หมายถึง ห้องปฏิบัติการควรมีแนวทางจัดการที่ต้นทางก่อนเกิดของเสีย เพื่อลดปริมาณของเสียปลายทางหรือทำให้เกิดของเสียอันตรายปลายทางน้อยที่สุด เช่น การใช้สารเคมีตั้งต้นที่ไม่เป็นอันตรายทดแทนสารเคมีอันตราย และ/หรือการลดปริมาณสารเคมีที่ทำปฏิกิริยา เป็นต้น

           4. การลดปริมาณก่อนส่งกำจัด หมายถึง ห้องปฏิบัติการควรมีแนวทางในการลดปริมาณของเสียอันตรายที่ไม่สามารถกำจัดได้เอง ก่อนส่งบริษัทรับกำจัด เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการกำจัด เช่น การทำให้ของเสียที่มีโลหะหนักในปริมาณน้อยๆ เข้มข้นขึ้น เช่น การทำให้ตัวทำละลายระเหย หรือตกตะกอนเพื่อแยกส่วนที่เป็นโลหะหนักออกมาจากสารละลายก่อนส่งกำจัดในสภาพสารละลายเข้มข้น หรือตะกอนของโลหะหนัก เป็นต้น

           5. การ Reuse, Recovery, Recycle ของเสียที่เกิดขึ้น

                   - Reuse คือ การนำวัสดุที่เป็นของเสียกลับมาใช้ใหม่ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือกระทำการใดๆ ยกเว้นการทำความสะอาดและการบำรุงรักษาตามวัตถุประสงค์เดิม

                   - Recovery คือ การแยกและการรวบรวมวัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ได้จากวัสดุของเสีย เล่น แร่ธาตุ พลังงาน หรือน้ำ โดยผ่านกระบวนการและ/หรือการสกัด ซึ่งสิ่งที่ได้มาไม่จำเป็นต้องใช้ตามวัตถุประสงค์เดิม

                   - Recycle คือ การนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ โดยที่มีสมบัติทางกายภาพเปลี่ยนไป แต่มีองค์ประกอบทางเคมีเหมือนเดิม โดยการผ่านกระบวนการต่างๆ เช่น การกลั่นตัวทะละลาย แก้ว/โลหะมาหลอมใหม่ เป็นต้น

คำสำคัญ (Tags): #ของเสีย
หมายเลขบันทึก: 564776เขียนเมื่อ 27 มีนาคม 2014 11:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มีนาคม 2014 11:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

... เป็นการบริหารความเสี่ยงและการจัดการความเสี่ยง นะคะ

อยากทราบว่า..ระบบจัดการ..ขยะประเภทนี้ที่อ่านมา..สุดท้าย..ไปที่ไหน..มีการจัดการอย่างไร..หรือสุดท้ายก็ไปกองๆอย่างที่เห็น..และได้เห็นภาพ..ในขอบๆกรุงเทพ..เพราะปริมาณขยะนี้..คงมีไม่น้อยต่อวันทั่วประเทศ....ระบบขยะกำลังเป็นปัญหาใหญ่....ที่จะต้องมีการกระทำการอย่างจริงจัง..ระดับประเทศ..(ใช่ไหมเนี่ยะ)...เพราะปัดสวะพ้นหน้าบ้าน..คงใช้ไม่ได้แล้ว..ตอนนี้...เวลานี้ประเทศนี้...(มีเวลาทะเลาะกันใช้งบประมาณกันอย่างที่เห็นๆ...แต่...)

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท