หลุมพรางที่ 5 และ 6 ของระบบสมรรถนะ


สวัสดีครับ

     หายไปสองสัปดาห์เนืองจากมีภารกิจที่ต่างจังหวัด กลับมาครั้งนี้มาพร้อมกับหลุมพรางของระบบสมรรถนะ เป็นหลุมพรางที่ 5 และ 6 รวดเดียวสองหลุมพรางเลยครับ ซึ่งเป็นหลุมพรางที่หลายคนมักจะตกเป็นประจำ เพราะเข้าใจไปว่าการมีสมรรถนะเยอะ ๆ หลายรายการยิ่งแสดงถึงความสามารถของคนและองค์กรได้มาก แล้วจะเป็นเช่นนั้นหรือเปล่าล่ะครับ และสมรรถนะก็ไม่ใช่ศูนย์รวมจักรวาลของงาน HR ทั้งหมดนะครับ ถ้าเช่นนั้นมาดูกันเลยครับว่า หลุมพรางที่ 5 และ 6 มีอะไรบ้าง

หลุมพรางที่ 5
       Competency ยิ่งมากยิ่งดี

        Competency ควรมีจำนวนเท่าใดในแต่ละตำแหน่งนั้นเป็นคำถามยอดนิยม เนื่องจาก Competency เป็นคุณสมบัติที่ดีทั้งสิ้น ดังนั้นการพิจารณา Competency แต่ละตัว จึงสามารถนำมากำหนดเป็น Competency ของแต่ละตำแหน่งได้เกือบทั้งสิ้น ในทางปฏิบัตินั้นการที่มีจำนวน Competency มากจนเกินไป สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผู้ปฏิบัติอาจสูญเสียการให้ความสำคัญกับ Competency ที่เราต้องการให้เกิดขึ้นจริงๆ หรือเป็น Competency ที่ผลักดันให้เกิดความสำเร็จในงาน กลาวคือ เป็น Competency ที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงานจริง ๆ เช่น พนักงานบัญชี ก็ควรจะมีสมรรถนะที่เกี่ยวกับงานบัญชี และสมรรถนะอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกันแต่อาจจะไม่ต้องถึงระดับเชี่ยวชาญก็ได้
       
        Core Competency เป็นคุณลักษณะที่ต้องการให้บุคลากรทุกคนมี การกำหนดว่าเรื่องใดควรเป็น Core Competency นอกจากจะศึกษาจากวิสัยทัศน์ พันธกิจ คุณค่า วัฒนธรรมองค์การ สัมภาษณ์ผู้บริหารแล้ว การกำหนดควรพิจารณาถึงความขาดแคลน Competency ตัวสำคัญด้วย (Gap Analysis) เพื่อให้ Competency ที่ขาดนั้น ได้รับการกำหนดเป็น Core Competency ขององค์กรต่อไป เพราะเป็นการมองถึงอนาคตและการต่อยอดความสำเร็จต่อไปในอนาคต โดยความเหมาะสมแล้ว Core Competency หรือสมรรถนะหลัก ควรมีอยู่ระหว่าง 3 - 5 Competency เลือกเฉพาะที่เป็นหลักที่ทุกคนพึงมีจริง ๆ บางแห่งที่ผมเคยเห็นมี Core Competency มากมาย เพราะคิดว่านี่คือสิ่งที่ทุกคนควรจะรู้ ควรจะเป็น แต่ในความเป็นจริงแล้ว Competency บางตัวอาจจะไม่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงานของทุกคนก็ได้ ถ้าพิจารณาดี ๆ ก็อาจเป็นเพียงแค่ Functional Competency ก็ได้ 

         Functional Competency จริง ๆ แล้วก็มีไม่มากมายสำหรับการทำงานในแต่ละส่วนงาน โดยมาก มักจะนำทักษะเล็ก ๆ น้อย ๆ ย่อย ๆ มาจับทำเป็นสมรรถนะของแต่ละส่วนงาน ทั้ง ๆ ที่จริงอาจจะเป็นเพียงแค่ทักษะหรือพฤติกรรมย่อย ๆ ที่สนับสนุนสมรรถนะก็เท่านั้นเอง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีเพียงแค่ 1 สมรรถนะในแต่ละส่วนงานหรือตำแหน่งงานเท่านั้นนะครับ ทั้งนี้ก็ต้องพิจารณาถึงความจำเป็นต่องานที่ปฏิบัติในตำแหน่งหน้าที่ความรับผิดชอบด้วยนะครับ
       
       หลุมพรางที่ 6
       Competency ใช้กับทุกงาน HR

        เมื่อกำหนด Competency ตามตำแหน่งงานเรียบร้อยแล้ว ในทางปฏิบัติได้เห็นมีผู้นำเอา Competency ชุดเดียวกันนี้ไปใช้ในงานทรัพยากรมนุษย์หลายงานด้วยกัน ซึ่งการใช้ Competency ชุดเดียวกันนี้ในทุกๆ งานด้านทรัพยากรมนุษย์ อาจทำให้การใช้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร เนื่องจากการกำหนด Competency เพื่อใช้งานแต่ละเรื่องนั้นมีจุดมุ่งหมายในการเอาไปใช้ที่แตกต่างกัน ความยากง่ายของระดับ หรือจำนวน Competency ที่นำไปใช้งานก็ไม่น่าจะเป็นชุดเดียวกัน

         ก็คือ ต้องพิจารณาถึงระดับตำแหน่งงานด้วย บางตำแหน่งงานอาจจะไม่ต้องถึงระดับเชี่ยวชาญในสมรรถนะนั้น ๆ ก็ได้ และบางสมรรถนะ ผู้บริหารก็ไม่จำเป็นต้องถึงระดับเชี่ยวชาญเสมอไป อาจจะอยู่เพียงแค่ระดับที่ 2 ก็ได้ เช่น ความสามารถด้าน IT ผู้บริหารอาจจะอยู่ในระดับที่ทำเพียงแค่เปิด ปิดเครื่อง เปิดเอกสาร เปิดไฟล์ เข้าโปรแกรม ปิดโปรแกรมได้ก็พอ แต่ตำแหน่งที่ควรจะอยู่ในระดับเชี่ยวชาญ ถึงประเมินปัญหา IT ซ่อมเครื่องได้ ก็คงจะเป็นพนักงาน IT ไปจนถึงหัวหน้างานในแผนก IT เป็นต้น แต่ถ้าเป็นผู้บริหารในองค์กรที่มีภารกิจด้าน IT ก็คงต้องมีสมรรถนะรายการนี้อยู่ในระดับเชี่ยวชาญครับ

         Competency อาจจะนำมาใช้ได้ในหลาย ๆ ส่วนของงานบุคคล เช่น ใช้ในการสัมภาษณ์งาน เรานำรายการพฤติกรรมในคำอธิบายสมรรถนะมาแปลงเป็นบทสัมภาษณ์และบททดสอบในการสอบเข้าทำงาน หรือสอบเลื่อนระดับ ซึ่งก็ต้องมีความรู้ในด้านอื่น ๆ เพิ่มเสริมเข้าไปด้วย อย่ายึดเพียงแค่คำอธิบายสมรรถนะเท่านั้น ส่วนการประเมินสมรรถนะนั้น ก็ต้องประเมินร่วมกับผลการปฏิบัติงานด้วย อย่าประเมินสมรรถนะเพียงอย่างเดียวเพื่อวัดความสามารถบุคลากร ดังนั้น ถ้านำสมรรถนะมาใช้ในงาน HR ควรจะใช้ร่วมกับวิธีการอื่น ๆ ด้วย ไม่ควรนำมาใช้แบบยึดสมรรถนะเพียงอย่างเดียว เพราะ Competency เป็นเพียงแค่การบอกว่า ความรู้ ความสามารถและอุปนิสัยที่พึงมีพึงเป็น เพื่อสนับสนุนต่อความสำเร็จในงานที่ทำมีอะไรบ้าง ไม่ใช่ศูนย์รวมของงาน HR ทั้งหมดครับ

 

          เป็นอย่างไรกันบ้างครับ ผ่านไปแล้ว 6 หลุมพราง ใครที่เคยนำระบบสมรรถนะมาใช้กับองค์กร เคยตกหลุมไหนบ้างครับ ถ้ายังไม่เคย ยินดีด้วยครับ แต่เรายังเหลืออีก 3 หลุมพรางนะครับ ติดตามต่อไปในตอนหน้านะครับ

"มองหาผลลัพธ์ ขยับหา GO"

ขอบคุณครับ

คำสำคัญ (Tags): #สมรรถนะ#competency#hr
หมายเลขบันทึก: 564268เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2014 09:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มีนาคม 2014 09:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท