จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

บทเรียนจากแขกผู้ทรงเกียรติที่จากไป


รอมฏอน ความยำเกรง

            ในวันนี้แขกผู้ทรงเกียรติได้จากเราไปแล้ว และเราคงต้องตั้งความหวังว่าจะได้ต้อนรับการกลับมาของแขกดังกล่าวนี้อีกในปีหน้า หากเป็นความประสงค์ของอัลลอฮ์ที่จะให้เรามีอายุยืนยาวไปถึงปีหน้า แขกผู้ทรงเกียรติที่ว่าก็คือรอมฏอนอัลมุบาร็อก ซึ่งตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมา เราทุกคนได้ใช้ชีวิตอยู่ในความอบอุ่นและความสิริมงคลของเดือนรอมฏอน เราได้ร่วมกันปฏิบัติอีบาดะห์หนึ่งอันเป็นอีบาดะห์ที่ถูกระบุไว้ว่าเป็นอีบาดะห์บังคับของเดือนนี้ นั้นคือการถือศิลอด ดังโองการของอัลลอฮ์ในอายะห์ 183 ซูเราะห์อัลบากอเราะห์ ที่ว่า

            ความว่า  บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! การถือศีลอดนั้นได้ถูกกำหนดแก่พวกเจ้าแล้ว เช่นเดียวกับที่ได้ถูกกำหนดแก่บรรดาผู้ก่อนหน้าพวกเจ้ามาแล้วเพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง [2: 183]

            ในอายะห์ข้างต้นนี้อัลลอฮ์ได้ทรงประทานให้มวลผู้ศรัทธาได้ทราบถึงการประกาศบทบัญญัติการถือศิลอดที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้มุสลิมในยุคประชาชาติของท่านศาสดามูฮัมมัด (ซ.ล) ได้ถือปฏิบัติเฉกเช่นประชาชาติอื่นๆ ก่อนหน้านี้ และประการสำคัญในอายะห์นี้ได้ประกาศให้มวลประชาชาติได้ทราบถึงเป้าหมายที่สำคัญของการถือศิลอดนั้นคือ ความยำเกรงและถึงแม้ว่าจะมีอีกหลายเหตุผลและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการถือศิลอด เช่น การถือศิลอดแล้วจะทำให้ได้สุขภาพที่ดี ดังที่ท่านศาสดามูฮัมมัด (ซ.ล) ได้กล่าวไว้ว่า พวกท่านทั้งหลายจงถือศิลอดเถิด เพราะการถือศิลอดนั้นทำให้สุขภาพร่างกายของท่านสุขสบายดี หรือที่มีอีกหลายท่านได้กล่าวถึงการถือศิลอดว่า จะทำให้เราจิตใจที่อ่อนโยนและเห็นใจผู้ที่ลำบากกว่าเรา หรือแม้กระทั่งทำให้เรามีความอดทนมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้กล่าวได้ว่าเป็นผลพลอยได้ที่เกิดจากการถือศิลอดเท่านั้น ไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริงของการถือศิลอดที่อัลลอฮ์ทรงแจ้งไว้แล้วในอายะห์ดังกล่าวนั่นคือ ความยำเกรง ทั้งนี้เนื่องจากความยำเกรงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับมุสลิมทั้งในโลกนี้และโลกหน้า และเช่นเดียวกันเมื่อมวลผู้ศรัทธาได้ปฏิบัติการถือศิลอดด้วยความยำเกรงแล้วผลพลอยได้อื่นๆ ก็จะตามมา นอกจากอายะห์ที่ได้ยกมาอ้างอิงข้างต้นแล้ว ยังมีอีกหนึ่งอายะห์ที่ได้กล่าวถึงเป้าหมายของการมีความยำเกรงต่ออัลลอฮ์โดยผ่านกระบวนการของการถือศิลอด นั่นคือในอายะห์ที่ 187 ซูเราะห์อัลบากอเราะห์

ความว่า ได้เป็นที่อนุมัติแก่พวกเจ้าแล้วซึ่งการสมสู่กับบรรดาภรรยาของพวกเจ้าในค่ำคืนของการถือศีลอด นางทั้งหลายนั้นคือเครื่องนุ่มห่มของพวกเจ้าและพวกเจ้าก็คือเครื่องนุ่งห่มของพวกนาง อัลลอฮ์ทรงรู้ว่าพวกเจ้านั้นเคยทุจริตต่อตัวเอง แล้วพระองค์ก็ทรงยกโทษให้แก่พวกเจ้าและอภัยให้แก่พวกเจ้าแล้ว บัดนี้พวกเจ้าจงสมสู่กับพวกนางได้และแสวงหาสิ่งที่อัลลอฮ์ได้ทรงกำหนดให้แก่พวกเจ้าเถิด และจงกินและดื่ม จนกระทั่งเส้นขาวจะประจักษ์แก่พวกเจ้าจากเส้นดำเนื่องจากแสงรุ่งอรุณ แล้วพวกเจ้าจงให้การถือศีลอดครบเต็มจนถึงพลบค่ำ และพวกเจ้าจงอย่าสมสู่กับพวกนางขณะที่พวกเจ้าเอียะติก๊าฟอยู่ในมัศยิด นั่นคือบรรดาขอบเขตของอัลลอฮ์ ดังนั้นพวกเจ้าจงอย่าเข้าใกล้ขอบเขตนั้น ในทำนองนั้นแหละ อัลลอฮ์จะทรงแจกแจงบรรดาโองการของพระองค์แก่มนุษย์เพื่อว่าพวกเขาจะได้ยำเกรง [2.187]

            จะเห็นได้ว่ามีอัลลอฮ์ทรงชี้แจงให้ผู้ศรัทธาได้ทราบถึงวิธีการปฏิบัติเกี่ยวกับการถือศิลอดแล้ว พระองค์ยังได้ทรงเน้นย้ำให้เห็นถึงเป้าหมายของการถือศิลอดอีกครั้งหนึ่งว่า เพื่อว่าพวกเขาจะได้ยำเกรง และนี้แหละคือสาระสำคัญของการถือศิลอด

            อายะห์ข้างต้นมีที่มาจากการที่รูปแบบของการถือศิลอดในประชาชาติในยุคของท่านศาสดามูฮัมมัด (ซ.ล) มีความแตกต่างจากประชาชาติก่อนหน้าที่ในหลายประเด็น และมีซอฮาบะห์หลายท่านมีความประสงค์ที่จะอดอาหารให้ยาวนานขึ้น เพื่อหวังความโปรดปรานจากอัลลอฮ์มากขึ้น เช่น จะอดอาหารเป็นติดต่อกันหลายๆ วัน หรือตลอดทั้งเดือนโดยไม่มีการละศิลอดในระหว่างนั้น ซึ่งอาจมองได้ว่า เพื่อเป็นการทรมานตนเองอันจะนำมาซึ่งความยำเกรงต่ออัลลอฮ์ แต่ท่านศาสดา (ซ.ล) เองได้ปฏิเสธแนวคิดดังกล่าวและเน้นย้ำด้วยโองการข้างต้น ซึ่งเป็นนัยยะได้ว่า การถือศิลอดไม่ใช่เป็นการทรมานตนเอง และความยำเกรงต่ออัลลอฮ์ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากการทรมานตนเอง แต่การถือศิลอดที่ถูกต้องจะนำมาซึ่งความยำเกรง ด้วยเหตุนี้ สิ่งสัญแรกที่แขกของเราได้ฝากไว้ให้กับเราในการมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเราตลอด 30 วันที่ผ่านมา นั่นคือ ความยำเกรง

            อัลลอฮ์ได้ทรงตรัสไว้ในอายะห์ที่ 197 ซูเราะห์อัลบากอเราะห์ ถึงความสำคัญของการยำเกรงต่ออัลลอฮ์ว่า          

ความว่า (เวลา)การทำฮัจญ์นั้นมีหลายเดือน อันเป็นที่ทราบกันอยู่แล้ว ดังนั้นผู้ใดที่ได้ให้การทำ ฮัจญ์จำเป็นแก่เขาในเดือนเหล่านั้นแล้ว ก็ต้องไม่มีการสมสู่และไม่มีการละเมิด และไม่มีการวิวาทใดๆ ใน(เวลา)การทำฮัจญ์ และความดีใดๆ ที่พวกเจ้ากระทำนั้น อัลลอฮ์ทรงรู้ดี และพวกเจ้าจงเตรียมเสบียงเถิด แท้จริงเสบียงที่ดีที่สุดนั้น คือความยำเกรง และพวกเจ้าจงยำเกรงข้าเถิดโอ้ผู้มีปัญญาทั้งหลาย [2.197]

            จากอายะห์ข้างต้น อัลลอฮ์ทรงแจ้งให้มวลประชาชาติได้ทราบว่า ความยำเกรงนั่นแหละคือเสบียงที่ดีที่สุด ในขณะเดียวกันผู้ที่มีความยำเกรงคือผู้ที่มีเกีรยติที่สุดในมวลผู้ศรัทธาในทัศนะของพระองค์ ดังโองการในอายะห์ที่ 13 ซูเราะห์อัลหุญร็อต

ความว่า โอ้มนุษยชาติทั้งหลาย แท้จริงเราได้สร้างพวกเจ้าจากเพศชายและเพศหญิง  และเราได้ให้พวกเจ้าแยกเป็นเผ่าและตระกูลเพื่อจะได้รู้จักกัน  แท้จริงผู้ที่มีเกียรติยิ่งในหมู่พวกเจ้า ณ ที่อัลลอฮ์นั้น คือผู้ที่มีความยำเกรงยิ่งในหมู่พวกเจ้า แท้จริงอัลลอฮ์นั้นเป็นผู้ทรงรอบรู้อย่างละเอียดถี่ถ้วน [49.13]

            และผู้ศรัทธาที่มีความยำเกรงต่ออัลลอฮ์เท่านั้นที่จะได้รับการตอบแทนที่ยิ่งใหญ่และเหลือคณานับจากพระองค์ ดังโอการในอายะห์ที่ 212 ซูเราะห์อัลบากอเราะห์ ที่ว่า

ความว่า ชีวิตความเป็นอยู่แห่งโลกนี้นั้นได้ถูกประดับให้สวยงามแก่ผู้ปฏิเสธศรัทธาทั้งหลายและพวกเขายังเย้ยหยันบรรดาผู้ที่ศรัทธาด้วย แต่บรรดาผู้ยำเกรงนั้นเหนือกว่าพวกเขาในวันกิยามะฮ์ และอัลลอฮ์จะทรงประทานปัจจัยยังชีพแก่ผู้ที่ พระองค์ทรงประสงค์โดยปราศจากการคำนวณนับ [2.212]

            จากโองการดังกล่าวข้างต้นชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่มีความยำเกรงจะเป็นผู้ที่ได้รับเกียรติและการตอบแทนที่ยิ่งใหญ่จากอัลลอฮ์ และจะเห็นได้ว่าความยำเกรงเป็นคุณสมบัติที่สำคัญสำหรับมุสลิมทุกคน ซึ่งไม่ใช่คุณลักษณะที่เกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับการเป็นมุสลิม แต่เป็นคุณลักษณะที่จะต้องสร้างขึ้นเพิ่มเติมจากการเป็นมุสลิมแล้ว และกระบวนการหนึ่งที่จะทำให้เกิดความยำเกรงต่ออัลลอฮ์ได้คือ การถือศิลอด ซึ่งเมื่อพิจารณาโดยผิวเผินในศาสนกิจนี้จะเห็นว่าไม่มีอะไรเลยนอกจากการอดอาหาร การละเว้นการร่วมประเวณีตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนกระทั่งพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า นอกจากนั้นก็ไม่เห็นมาบัญญัติอะไรเพิ่มเติมเลย แล้วความยำเกรงจะเกิดได้อย่างไร

            เนื่องจากการถือศิลอดไม่ได้มีรูปแบบปฏิบัติเหมือนอย่างศาสนกิจอื่นๆ เช่น การละหมาด การทำฮัจย์ หรืออื่นๆ แต่เป็นเพียงการละเว้นซึ่งสิ่งต้องห้ามที่กำหนดไว้เท่านั้น จึงเสมือนว่า นั่นคือการใช้ชีวิตอย่างปกติ เพียงแต่ให้บ่าวผู้ศรัทธาได้พึงระลึกอยู่เสมอว่า ตนเป็นผู้ที่ถูกสร้างและจะต้องดำรงค์ไว้ซึ่งกรอบการดำรงค์ชีวิตที่ถูกต้อง ไม่ใช่เป็นชีวิตที่อิสระและมีเพียงแต่เสรีภาพเท่านั้น และกรอบของการดำเนินชีวิตของมุสลิมคือ คำสั่งใช้และคำสั่งห้ามที่ได้ถูกนำมาแล้วโดยท่านศาสดามูฮัมมัด (ซ.ล.) และตลอดการใช้ชีวิตของมุสลิมในเดือนรอมฏอนจึงเป็นการฝึกอย่างเข้มข้นในการปฏิบัติตามหลักคำสอนของศาสนา เพื่อขยายความรู้สึก ศรัทธาและความยำเกรงที่เกิดขึ้นไปยังการใช้ชีวิตในเดือนอื่นๆ อีก 11 เดือนที่เหลือในตลอดปี

ดังนั้นหากในเดือนรอมฏอนเปรียบเสมือนหนึ่งการปลูกต้นกล้าตักวาหรือต้นกล้าความยำเกรงแล้ว ในอีก 11 เดือนที่เหลือก็จะเป็นการนำต้นกล้าดังกล่าวไปสู่การเพาะปลูกในสวนในไร่ต่อไป นั้นหมายถึงต้นกล้าความยำเกรงนี้จะเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดีในเดือนต่อๆ ไป และสำหรับบางท่านความตักวาของท่านอาจเป็นดังต้นไม้ใหญ่แล้วละก็ ในเดือนรอมฏอนนี้จะเปรียบเสมือนดังการให้ปุ๋ย ให้น้ำ บำรุงต้นตักวาของท่านซึ่งนั้นก็หมายถึงในอีก 11 เดือนต่อจากนี้ต้นตักวาของท่านจะให้ดอกให้ผล ตลอดจนขยายให้เกิดต้นตักวาต้นอื่นๆ ต่อไป แต่หากเมื่อแขกสำคัญนี้ผ่านท่านไปโดยไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นแก่ท่านเลย นั่นอาจจะเป็นเพราะตลอดเวลาที่แขกสำคัญมาเยือนท่าน ท่านยังไม่ได้ให้ความสำคัญและสร้างความประทับใจใดๆ ให้เกิดแก่แขกของท่านเลย หรือเป็นเพราะท่านได้ให้การตอนรับแขกของท่านอย่างอดเสียมิได้ หรือแค่พอผ่านๆ เท่านั้น แขกคนนี้จึงตอบแทนท่านเพียงนิดเท่านั้นเช่นกัน ซึ่งในกรณีนี้คงต้องเฝ้าวิงวอนต่ออัลลอฮ์ ให้เรามีอายุที่ยืนยาวไปถึงเดือนรอมฏอนในปีหน้า เพื่อการแก้ตัวใหม่อีกครั้ง ด้วยการให้การต้อนรับแขกคนสำคัญอย่างสมเกีรยติและจะไม่ปล่อยให้เดือนแห่งความสิริมงดลนี้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์อีกแล้ว ทั้งนี้เนื่องจากเวลาที่ผ่านพ้นไปอย่างปล่อยประโยชน์นั่นคือความขาดทุนของมวลผู้ศรัทธา ดังเช่นโองการของพระองค์ในซูเราะห์อัลอัศร์ ที่ว่า             ความว่า ขอสาบานด้วยกาลเวลา แท้จริงมนุษย์นั้นอยู่ในความขาดทุน นอกจากบรรดาผู้ศรัทธาและกระทำความดีทั้งหลายและตักเตือนกันและกันในสิ่งที่เป็นสัจธรรม และตักเตือนกันและกันให้มีความอดทน

            วัลลอฮูอะลัม

 

 

หมายเลขบันทึก: 56420เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2006 12:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2012 03:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อัสลามมูอาลัยก่ม

ผมหยิบ blog  คุณจารุวัจน์  เอาไว้ใน planet

we all are brother  เข้าไปดูหน้าต่างนี้ได้ที่

http://vrbrother.gotoknow.org

 

ถ้าสื่อให้ผู้ที่นับถือศาสนาอื่นได้อ่านและเข้าใจง่ายขึ้น จะเป็นประโยชน์ในการ ลป.รร.มากครับ แต่ที่ท่านสื่อมาก็นับว่าง่ายกว่าหลายๆท่าน ขอเป็นกำลังใจครับ

สุดยอดมากค๋ะเมื่อได้อ่านบทนี้รู้สึกว่าเข้าใจมาก และขอเป็นกำลังใจต่อไปค่ธ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท