004: แผลผ่าตัดแต่ละชนิดมีอาการปวดไม่เท่ากัน


แผลผ่าตัดแต่ละชนิดมีอาการปวดไม่เท่ากัน ดังนั้นการวางแผนรักษาอาการปวดจึงต้องเลือกวิธีให้เหมาะสมกับชนิดการผ่าตัดด้วย

แน่นอนว่าแผลผ่าตัดมีขนาดไม่เท่ากัน ตั้งแต่แผลเล็กจนถึงแผลใหญ่ (ถึงใหญ่มาก) และแผลแต่ละแบบก็ปวดไม่เท่ากัน ดังนั้นเพื่อให้การดูแลผู้ป่วย (เรื่องปวด) ง่ายขึ้น จึงมีการแบ่งชนิดแผลผ่าตัดเป็น 3 กลุ่ม คือ (มีรายละเอียดใน APS Alert: Issue 5/2006 โดยเข้าที่หน่วยระงับปวด จากนั้นเข้าข่าว APS)  1. แผลขนาดเล็ก ผู้ป่วยเหล่านี้จะปวดไม่มาก และจะสามารถรับประทานอาหารหลังผ่าตัดได้เร็ว จึงมักได้รับยาแก้ปวดชนิดรับประทาน ซึ่งก็มักจะเพียงพอ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงไม่มีปัญหาในการระงับปวดหลังผ่าตัด2. แผลขนาดปานกลาง ผู้ป่วยเหล่านี้จะปวดในระดับปานกลางถึงปวดมาก (ขึ้นกับผู้ป่วย และผีมือการผ่าตัดของแพทย์แต่ละคนด้วย) อีกทั้งวันแรกหลังผ่าตัดมักจะถูกงดอาหารด้วย การให้ยาแก้ปวดในกลุ่มนี้จึงต้องการยาฉีดในวันแรก หลังจากนั้นจึงจะให้เป็นยาชนิดรับประทาน (เมื่อเริ่มทานได้) การให้ยาควรให้ตามเวลา เช่น ทุก 4 หรือ ทุก 6 ชม. (ขึ้นกับชนิดของยาที่เลือกใช้) ไม่ควรให้ยาแบบครั้งคราวโดยให้ผู้ป่วยเป็นคนขอ (PRN) เพราะแสดงว่าผู้ป่วยปวดแผลมากแล้วจึงกล้าขอยา ทำให้การได้รับยาต่อวันน้อย ผลการระงับปวดโดยรวมจึงไม่ดี สำหรับผู้ป่วยบางรายซึ่งมีแนวโน้มว่าจะปวดมาก หรือต้องการได้รับการรักษาเป็นพิเศษ อาจเลือกใช้วิธีการระงับปวดเช่นเดียวกับกลุ่มที่มีแผลผ่าตัดขนาดใหญ่ได้ หรือเลือกใช้วิธีการระงับปวดด้วยเครื่องฉีดยาอัตโนมัติด้วยตัวผู้ป่วยเอง (Patient-controlled analgesia: PCA) (ถ้ามีเครื่อง) ซึ่งจะเล่าให้ฟังต่อไปภายหลัง3. แผลขนาดใหญ่  ผู้ป่วยเหล่านี้จะปวดมาก (ถึงมากที่สุด)  หรือมักจะต้องงดอาหารหลายวัน ทำให้การระงับปวดด้วยยาฉีดเพียงอย่างเดียวเหมือนกลุ่มแผลขนาดปานกลางจะใช้ไม่ค่อยได้ผล ดังนั้นวิธีการระงับปวดจึงควรจะเป็นการฉีดยาทางช่องไขสันหลัง ซึ่งจะสามารถระงับปวดได้ดีมาก แต่ถ้าหากไม่สามารถทำการฉีดยาทางไขสันหลังได้ เนื่องจากไม่มีวิสัญญีแพทย์ หรือด้วยสาเหตุใดก็ตาม ควรจะใช้ยาระงับปวดมากกว่า 1 ชนิด เช่นให้ มอร์ฟีน (ฉีดตามเวลา) ร่วมกับการฉีดยาชารอบแผลผ่าตัด หรือให้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ (NSAIDs) ร่วมด้วย การให้ยาระงับปวดด้วยวิธีผสมผสานแบบนี้ได้ผลดีมาก  หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า “multimodal analgesia” ซึ่งจะต้องเล่าประสบการณ์ให้ฟังในโอกาสต่อๆ ไป  

คำสำคัญ (Tags): #pain#ความปวด
หมายเลขบันทึก: 56416เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2006 11:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท