ศัพท์อันตราย


เมื่อภาษาเดียวกัน ไม่ได้สื่อเรื่องเดียวกัน

ศัพท์อันตรายในที่นี้ หมายถึงศัพท์ที่คนในวงการรู้และเข้าใจ คนนอกวงการรู้แต่ไม่เข้าใจ และทำให้เกิดการตีความที่ต่างออกไป ซึ่งอาจแตกต่างกันได้ราวขาวกับดำ

ศัพท์อันตรายในที่นี้ จึงมักเป็นคำที่ดูเหมือน "พื้น ๆ"

มีนิทานของ Shah ที่ Robert E. Ornstein ยกมาเล่าไว้ใน "The Psychology of Consciousness" เพื่อกระตุกให้เราต้องฉุกคิดเรื่องการที่เราแต่ละคน ล้วนมีผัสสะ (perception) หรือการรับรู้แบบตัวใครตัวมัน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เราเห็น หรือสิ่งที่เรารับรู้ หรือเข้าใจ

นิทาน seeing double จากhttp://www.maths.qmul.ac.uk/~ade/sld/sld3.html

นิทานเรื่องนี้เล่าว่า มีเด็กตาเข มองเห็นสิ่งต่าง ๆ เป็นภาพซ้อน พ่อบอกว่าลูกเห็นทุกอย่างเป็นสอง แทนที่จะเห็นเป็นหนึ่ง ลูกก็เลยท้วงว่า ได้ไง ถ้าแบบนั้นเขาก็เห็นพระจันทร์มีสี่ดวงนะสิ (ภาพซ้อนของพระจันทร์คู่)

ยกตัวอย่างของคำศัพท์ที่เป็นแบบ "อยากรู้ก็ตีความเอง" ก็คือ เวลาอ่านข้อแนะนำว่าทานอาหารอย่างไรจึงจะเหมาะกับสุขภาพ คำศัพท์คำว่า "1 ส่วน" จะเป็นคำศัพท์ที่ทุกคนคุ้นหู และคิดว่าตัวเองรู้ แต่จะตีความไปคนละทางสองทาง โดยไม่รู้ว่าคนอื่นจะรู้เหมือนตัวเองหรือไม่ และอาจไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้ (ซึ่งเป็นนิยามความโง่โดยโซเครติส)

"ข้าว 1 ส่วน, เนื้อ 1 ส่วน, ผัก 1 ส่วน"

สิ่งที่ผมเคยรับรู้มาตลอดก็คือ 1 ส่วนในที่นี้ ต้องเป็นหน่วยมาตรฐานอะไรสักอย่าง ไม่โดยปริมาตร (ตวง) ก็โดยน้ำหนัก (ชั่ง)

เนื่องจากอาหารแข็ง ความหนาแน่นไม่ควรต่างกันมาก ผมจึงเดาเอาว่า กะปริมาตรด้วยตา น่าจะปลอดภัย

ผลคือ "ข้าว 1 ส่วน, เนื้อ 1 ส่วน, ผัก 1 ส่วน" สำหรับผม จึงมีความหมายว่า หยิบแต่ละอย่าง ตวงมาโดยมีปริมาตรเท่า ๆ กัน

แต่คนที่รู้เรื่องโภชนาการ บอกว่าไม่ใช่ !

1 ส่วน ไม่ใช่หน่วยตวง ไม่ใช่หน่วยน้ำหนัก เป็นหน่วยที่มีความหมายพิเศษที่คนในวงการต้องรู้เองว่าหมายถึงกี่กรัม หรือกี่คาลอรี

นี่เป็นตัวอย่างของการใช้คำศัพท์ที่มีอันตรายสูงมาก เพราะคนที่ไม่รู้ จะไม่รู้เลยว่าตัวเองไม่รู้ เพราะใช้คำศัพท์ที่ดูเหมือนน่าจะเข้าใจง่าย ฟังดูเหมือนง่าย แต่จริง ๆ แล้วยาก สามารถก่ออันตรายได้มากกว่าการใช้คำศัพท์หรูที่ฟังไม่รู้เรื่องตั้งแต่ต้น เพราะคนที่ไม่รู้จักศัพท์หรู เขารู้ว่าตัวเองไม่รู้ ถ้าเขาอยากเข้าใจ เขาก็จะต้องหาความหมายของคำ ทำให้ไม่สับสน

ผมนึกถึงอุบัติเหตุบนถนนที่เคยเห็นตอนนั่งรถทัวร์ตอนเด็ก เป็นภาพที่ติดตามาก  มีรถคว่ำตรงถนนโค้ง ซึ่งคนบนรถของคุยกันว่าโค้งนี้เฮี้ยน โดนกันบ่อยมาก ทำให้ดูแปลกที่โค้งไม่มาก ทำไมอุบัติเหตุเกิดบ่อย ทั้งที่โค้งหักศอกบางแห่งผมไม่เคยได้ยินเรื่องอุบัติเหตุเลย ?

โตขึ้นหน่อย ผมจึงได้เริ่มเข้าใจ สิ่งที่ดูอันตรายมาก ๆ คนกลัว ก็จะให้ความเกรงใจ ชะลอช้ามาก ก็ไม่เกิดอะไรขึ้น แต่ที่ที่ดูว่าไม่ค่อยอันตราย คนไม่เกรงใจ ซิ่งสะบัด ก็เกิดอุบัติเหตุง่ายกว่า

เราใช้คำที่ดูพื้น ๆ อย่างไม่เกรงใจ ก็คงส่งผลกระทบทำนองเดียวกัน คนที่ตั้งใจกินอาหารเพื่อสุขภาพ อาจลงเอยด้วยน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นแบบฉุดไม่อยู่ อาจยังเข้าใจว่า "ตำราไม่ดี" แต่ไม่รู้ว่า ตัวเองโง่ที่ไม่รู้ความหมายของคำอย่างถี่ถ้วน

ซวยสองต่อ คือกินผิดวิธี และถูกว่าโง่

คนที่ใช้ศัพท์อันตรายแบบนี้ ถ้ามีความรู้จริง ควรแสดงออกมาด้วยการขยายความกำกับ ให้คนไม่รู้ได้มีโอกาสรู้ เช่น ผัก 1 ส่วน ขยายความว่าเทียบเท่าผักกี่ใบ กี่ก้าน กี่กำ กี่กรัม กี่แคลอรี ก็ว่าไป

หมายเลขบันทึก: 56398เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2006 10:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท