ข้อสังเกต : ๒ ชื่อนั้นไม่สำคัญไฉน


อ่านข่าวเกี่ยวกับ “สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนล้านนา” หรือ สปป.ล้านนาโดยที่แท้จริงแล้ว สปป.ล้านนา นี้ เป็นชื่อย่อของ สมัชชาปกป้องประชาธิปไตยล้านนา ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2556 จุดประสงค์เพื่อสนับสนุนแนวทางของ สปป. ให้เกิดการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ในขณะที่ สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย หรือ สปป. ที่ได้เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2556 โดยกลุ่มนักวิชาการกลุ่มหนึ่งที่มีแนวทางสนับสนุนการเลือกตั้งและการตีความตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งหากผู้อ่านสนใจก็สามารถติดตามได้จาก https://www.facebook.com/Assemblyforthedefenseofdemocracy แล้วกันนะครับ ผมคงจะไม่อธิบายมาก

แต่ที่ผมติดใจจริงๆ แล้วก็คือคำว่า “สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน” ต่างหาก เพราะผมเองสมัยที่เคยสอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญอยู่ เวลาพูดถึงหัวข้อ “อุดมการณ์ทางการเมืองของรัฐ” ครั้งใด ผมก็มักจะตั้งข้อสังเกตแก่นิสิตในวิชาดังกล่าวว่า มันแปลกมากที่ประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตยส่วนใหญ่ ในชื่อของประเทศมักจะไม่มีคำว่าประชาธิปไตย แต่ประเทศที่ไม่ได้มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบประชาธิปไตย มักจะตั้งชื่อประเทศโดยมีคำว่าประชาธิปไตย เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว The Lao People’s Democratic Republic สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี Democratic People's Republic of Korea เป็นต้น นี่ก็เลยไม่แน่ใจว่าการที่ทางกองทัพออกมาเรียก สปป.ล้านนา ว่าคือสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนล้านนานั้นมีจุดประสงค์อย่างไร

ทางฝั่งกองทัพเอง สมัยที่ผู้นำเหล่าทัพออกมารัฐประหารเมื่อ ปี 49 ก็เคยตั้งชื่อคณะผู้ก่อการว่า “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” หรือ คปค. มาแล้ว ซึ่งคำว่าประชาธิปไตยในชื่อนี้ก็ไม่ได้มีความสำคัญตรงกับลักษณะการรัฐประหารซักเท่าไหร่

ในขณะเดียวกันคำว่า “กปปส.” ซึ่งย่อมากจากคำว่า “คณะกรรมการประชาชนเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ซึ่งก็มีแนวความคิดในเรื่องการปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้งนั้น ก็คงให้ผู้อ่านพิจารณากันเองว่าคำว่า “ประชาธิปไตย” ในชื่อนี้มีความหมายทางใด

แต่เราจะเห็นได้ว่า ประเทศที่มีชื่อคำว่าประชาธิปไตย ก็อาจไม่เป็นประชาธิปไตย ประเทศที่ไม่มีชื่อว่าประชาธิปไตยก็อาจเป็นประชาธิปไตย ประเทศที่ไม่มีชื่อว่าประชาธิปไตยก็อาจไม่เป็นประชาธิปไตยด้วย องค์กรหรือคณะบุคคลที่มีชื่อว่าประชาธิปไตยหรือไม่มี ท่านผู้อ่านก็พิจารณากันเอง

 

สรุปแล้ว ชื่อนั้นไม่สำคัญไฉนเลยครับ

หมายเลขบันทึก: 563478เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2014 20:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มีนาคม 2014 20:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ชื่อนั้นไม่สำคัญ แต่ข้อสำคัญคือการเลือกตั้งต้องได้ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐ ไม่เช่นนั้นคงฮั้วกันแน่นอน

ถูกต้องที่สุดเลยครับ และการได้ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลที่มีคุณภาพ จะยิ่งสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาไปอย่างระมัดระวัง คือฝ่ายรัฐเองถ้าเก่งก็สามารถกำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่มีประโยชน์และมีผลเป็นการพัฒนาประเทศชาติได้อย่างยั่งยืน ในขณะเดียวกันการทำงานเพียงฝ่ายเดียวโดยปราศจากการตรวจสอบ ย่อมอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่างๆ ได้ ฝ่ายค้านที่มีคุณภาพก็จะต้องเข้ามาตรวจสอบ และให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์แก่รัฐบาล ทีนี้มาถึงเรื่องฮั้วกันนั้น ข้อนี้ในการเมืองประชาธิปไตยเราไม่ได้รังเกียจการฮั้วกันครับ แต่ต้องเป็นการฮั้วกันแบบสร้างสรรค์ คือฮั้วกันเพื่อประโยชน์ประเทศชาติ ไม่ใช่ฮั้วเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองเองเท่านั้น ด้วยเหตุนี้รัฐธรรมนูญจึงกำหนดให้มีตำแหน่ง "ผู้นำฝ่ายค้าน" อยู่ในสภาผู้แทนตลอดเวลา เพื่อเปิดทางให้ผู้นำฝ่ายค้านได้พูดคุยและหาทางออกร่วมกัน (ฮั้ว) กับฝ่ายรัฐบาล การค้านแต่เพียงอย่างเดียวเพราะเห็นว่าฝ่ายรัฐบาลเป็นคู่แข่ง หรือเป็นศัตรูคู่อาฆาตจึงไม่ทำให้เกิดประโยชน์กับใครเลย

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท