ถอดบทเรียน 3 ห่วง 2 เงื่อนไข?


เมื่อวันจันทร์ที่  3  มีนาคม  2557  อาจารย์ ดร.ฤทธิไกร  ไชยงาม คุณสายันต์ ภูพันนา และผม  ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมโครงงานของนักเรียนโรงเรียนนาเชือกพิทยาสรรค์ อำเภอนาเชือก  จังหวัดมหาสารคาม  กิจกรรมทั้งวันดำเนินไปด้วยการนำเสนอโครงงานพร้อมกับการถอดบทเรียนโดยนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นตัวตั้ง  ที่ผมพูดว่า "ตัวตั้ง"  เพราะทุกระดับชั้นตั้งแต่ ม.1 ถึง  ม.6  นั้น ถอดบทเรียนเข้ากรอบหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงหมดเลย  ยกตัวอย่างเช่น  โครงงานการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ "เรื่อง เมทริกซ์"  นักเรียนจะเริ่มที่ทฤษฎีของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่เริ่มด้วย  3  ห่วง  2  เงื่อนไข  4  มิติ  ประกอบด้วยอะไรบ้าง  และจับกิจกรรมที่คาดว่าจะเกี่ยวหรือเชื่อมโยงกับทฤษฏีข้อนั้นๆ ดังนี้  

3 ห่วง

1. ความพอประมาณ จะต้องเรียนอย่างพอประมาณ ไม่มากหรือน้อยเกินไป

2. มีเหตุผล จะต้องเข้าใจว่าเรียนไปทำไม

3. มีภูมิคุ้มกัน จะต้องเตรียมอุปกรณ์ที่จะเรียนเมทริกซ์มาให้พร้อม

2 เงื่อนไข

1. มีคุณธรรม จะต้องตรงต่อเวลา 

2. ความรู้ จะต้องมีความรู้พื้นฐานหรือเรื่องที่จะเรียนมาบ้างแล้ว

4 มิติ
เศรษฐกิจ จะต้องเลือกใช้อุปกรณ์การเรียนที่ราคาไม่แพงแต่มีคุณภาพคุ้มค่า

สิ่งแวดล้อม จะต้องเลือกเรียนห้องที่มีความพร้อม/อุปกรณ์ครบ

สังคม การทำงานเป็นทีม มีน้ำใจ

วัฒนธรรม เคารพครูบาอาจารย์

จากตัวอย่างข้างต้นที่ผมกล่าวมานั้น  ผมไม่ได้มีเจตนาที่จะตำหนิผู้เรียนหรือผู้ใดเลย  เพียงแต่หันกลับมาถามตนเองว่า 

แล้วอะไรคือความพอเพียง? คงไม่มีถูกหรือผิดแต่ที่ผมเข้าใจนั้น  หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคือการนำหลักคิดไปสู่การปฏิบัติ  อย่างที่ อาจารย์ต๋อย (อาจารย์ ดร.ฤทธิไกร  ไชยงาม)  ท่านได้ให้ข้อเสนอแนะกับนักเรียนว่า เรียนอย่างไรถึงจะเรียกว่า  พอประมาณ ... มันไม่ใช่เพียงเพราะเราใช้เวลาเรียนมากหรือน้อย นับกันเป็นชั่วโมง  แต่พอประมาณตรงที่เราเข้าใจเนื้อหาของเมทริกซ์หรือยัง ถ้าเข้าใจแล้วนั่นแสดงว่า เรามีความพอประมาณในเนื้อหานั้นแล้ว เช่นเดียวกับภูมิคุ้มกัน ไม่ใช่แค่เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม  แต่เราต้องมองไปไกลถึง ถ้าเรียนเมทริกซ์แล้วเราจะเป็นอย่างไร  เราจะปรับใช้เมทริกซ์ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร  

ผมจึงมองว่า  โครงงานในครั้งนี้เป็นเพียงการถอดบทเรียนที่นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็น "ตัวตั้ง" แต่โดยรวมแล้ว  ผมขอชื่นชม ผู้อำนวยการและครูโรงเรียนนาเชือกพิทยาสรรค์ที่ได้เล็งเห็นความสำคัญของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และพยายามจะนำหลักนี้ไปสู่การพัฒนาการจัดการเรียนรู้สู่ผู้เรียนต่อไป  หากได้รับคำแนะนำที่ดีจะพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว

...ความจริงแล้วผมคิดว่า  หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้อยู่ไกลตัวเราเลย  การที่เรามีสติตอบคำถามของตนเองได้ว่า

เราทำสิ่งนั้นเพราะอะไร? และจะทำอย่างไร? และคำตอบที่ได้นั้น  สิ่งที่ทำไม่ได้ส่งผลเสียต่อใคร  ผมคิดว่าเราก็เริ่มใกล้หรือเฉียดความพอเพียงแล้วครับ ... 

หมายเลขบันทึก: 563426เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2014 19:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มิถุนายน 2014 17:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท