คุณสุภาพ ผู้ป่วยไม่พูดด้วย


คุณสุภาพ : ผู้ป่วยไม่พูดด้วย

แพทย์รังสีรักษาส่งผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกระยะสุดท้ายที่ลุกลามไปกระดูกสันหลัง มาให้ฉันช่วยดูแลด้านจิตใจ เนื่องจากผู้ป่วยซึมเศร้า ท้อแท้และหมดกำลังใจ

5 วันแรก เธอไม่พูดไม่ตอบ เอาแต่ปิดตา เหมือนว่าเธอไม่ต้องการเสวนาด้วย ในใจฉันคิดว่า

จะช่วยได้ไหมนี่ ฉันจะรู้ได้อย่างไรว่า สิ่งที่เธอทุกข์และต้องการความช่วยเหลือ คืออะไร

 

วันแรก

พยาบาล : "สวัสดีค่ะ พยาบาลชื่อ กานดาวศรี เป็นพยาบาลที่ห้องฉายรังสี"

ผู้ป่วยนอนปิดตา เงียบ

พยาบาล : "ตอนนี้มีอะไรที่ทำให้ไม่สุขสบายหรือทุกข์ทรมาน"

ผู้ป่วยนอนปิดตา เงียบ

ลูกชาย : "แม่ปวดมาก นอนไม่ได้"

พยาบาล : "คุณสุภาพ (ชื่อสมมุติ) ปวดตรงไหนล่ะ"

ผู้ป่วยไม่พูด ยังคงปิดตา แต่เอามือชี้ที่เอว

พยาบาล : "คุณหมอให้ทานยาอะไรบ้าง"

ลูกชายหยิบยาให้พยาบาลดู และบอกวิธีการรับประทานยา

พยาบาล : "ช่วงนี้ต้องทานยาตามที่หมอสั่ง การฉายรังสีจะช่วยลดปวดด้วย แต่ต้องอาศัยเวลา แต่ถ้าอาการปวดไม่ทุเลา ให้บอกนะ จะได้รายงานคุณหมอให้เพื่อปรับยา"

วันที่ 2

วันนี้ผู้ป่วยต้องมารับเลือดที่ห้องฉายรังสี สภาพจิตใจยังคงท้อแท้เหมือนเดิม นอนปิดตาเงียบ และวันนี้เองที่พยาบาลได้คุยกับลูกชายของคุณสุภาพ เนื่องจากไม่ไปเอาอุปกรณ์การให้เลือด เพราะไม่มีเงิน บอกว่าตอนนี้มีเงินติดตัว 50 บาท พยาบาลจึงทราบว่า ผู้ป่วยและครอบครัวมีปัญหาด้านสังคมและเศรษฐกิจ จึงติดต่อเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือด้านการเงิน   ลูกชายผู้ป่วยเล่าว่า แม่บ่นคิดถึงและอยากพบหน้าลูกสาวที่อยู่อ. ควนกาหลง จ.สตูล มาก แต่พี่สาวของตนมาไม่ได้ เพราะไม่มีเงิน และต้องเลี้ยงลูกเล็กๆ 3 คน ฉันจึงเข้าไปสัมผัสผู้ป่วยและบอกเธอว่า

พยาบาล : "ถ้าคุณสุภาพมีปัญหาอะไร จะให้พยาบาลช่วย ก็บอกนะ อย่าได้เกรงใจ พยาบาลยินดีค่ะ"

ผู้ป่วยลืมตาขึ้นมองฉัน แล้วหลับตาต่อ ไม่พูดอะไร

พยาบาล : “รู้ข่าวจากน้องตั้ม ( ชื่อสมมุติของลูกชายผู้ป่วย) ว่า คุณสุภาพมีลูกสาวอยู่ที่ควนกาหลง อยากเจอไหม”

ผู้ป่วยพูดเป็นครั้งแรก สั้นๆ โดยไม่ลืมตา : “ไม่อยากเจอ...”

พยาบาล : “คุณสุภาพถ้าอยากเจอลูกสาว บอกได้นะ พยาบาลจะช่วยเหลือให้ได้พบกัน”

ผู้ป่วยยังเงียบและปิดตา

วันที่ 3

วันนี้ผู้ป่วยถูกรับไว้ในหอผู้ป่วยนรีเวชอย่างฉุกเฉิน เพราะมีอาการไตวายและติดเชื้อในกระแสเลือด อาการไม่น่าไว้วางใจ จนแพทย์ต้องคุยกับลูกชายผู้ป่วย “จะให้หมอปั๊มหัวใจไหม ถ้าหัวใจหยุดเต้น ใส่ท่อช่วยหายใจไหม ถ้าหายใจไม่ได้”

น้องตั้มสับสน ตัดสินใจไม่ถูก เพราะติดต่อญาติพี่น้องไม่ได้ สิ่งแรกที่ทำ คือ เดินมาหาฉันที่ห้องฉายรังสี แต่ฉันไม่อยู่ เขาร้อง ไห้ และบอกผู้ช่วยพยาบาลว่า “สับสน ตัดสินใจไม่ถูก” แล้วเดินออกไปอย่างคนเสียขวัญ

เมื่อฉันกลับมา รับทราบเรื่องราว จึงรีบโทรศัพท์หาน้องตั้มด่วน เมื่อรับฟังเรื่องราวแล้ว ฉันจึงปรึกษาแพทย์รังสีรักษาเจ้าของไข้ ได้รู้ว่า สภาพตัวโรคดำเนินไปมากที่กระดูกสันหลัง แต่ตอนนี้ไข้ลดลง ค่าการทำงานของไตดีขึ้นจาก 4 เหลือ 0.9

ฉันถามน้องตั้มว่า “ได้คุยกับแม่แล้วยัง”

น้องตั้ม : “ไม่กล้าถาม”

พยาบาล : “แล้วได้ปรึกษาญาติคนอื่นไหม”

น้องตั้มร้องไห้ บอกว่า “ติดต่อไม่ได้”

พยาบาล : “ไหน ขอบอร์โทรฯญาติผู้ใหญ่ เดี๋ยวพี่ติดต่อให้มาด่วนเพื่อมาปรึกษากัน” ทราบว่าน้องสาวผู้ป่วยอยู่ที่มาเลเซีย “ส่วนแม่ พี่จะหาวิธีคุยให้ แล้วตั้มก็ไปรับน้องสาวมานะ”

.. .. ..

ฉันจึงขึ้นไปหาป่วยที่หอผู้ป่วยนรีเวช

พยาบาล : “สวัสดีค่ะ วันนี้พยาบาลมาเยี่ยม เพิ่งทราบข่าวจากน้องตั้มว่าแม่มานอนโรงพยาบาลฉุกเฉิน”

ผู้ป่วย : “ขอบคุณ” สายตาของเธอมองสบมาอย่างเป็นมิตร

พยาบาล : “ตอนนี้สภาพร่างกายไม่มีไข้ ค่าไตก็ดีขึ้น แต่ก็นั่นแหละ ทีมแพทย์ยังวางใจไม่ได้ และจะดูแลอย่างดี แต่ถ้าสมมุติว่าเกิดวิกฤตในช่วงนี้   หัวใจหยุดเต้นหรือหยุดหายใจ คุณสุภาพจะให้ทีมแพทย์ช่วยอย่างไรค่ะ จะให้ปั๊มหัวใจ ใส่ท่อช่วยหายใจไหม”

ผู้ป่วย : “ ไม่ต้องปั๊มหัวใจ หรือใส่ท่อช่วยหายใจ”

พยาบาล: “ที่คุยเรื่องนี้ ก็เพราะหมอได้คุยกับน้องตั้ม แต่ลูกเขาไม่กล้าปรึกษาแม่ และไม่สามารถติดต่อญาติพี่น้องได้ วันนี้พยาบาลได้โทรคุยกับน้องสาวคุณสุภาพที่มาเลเซีย เธอบอกว่า คิดถึงมาก แต่จะมาก็มาไม่ได้ เพราะติดปัญหาเรื่องพาสพอร์ตหมดอายุ กำลังทำเรื่องอยู่”

หลังจากเยี่ยมผู้ป่วย ฉันได้คุยกับน้องพยาบาลที่หอผู้ป่วย และให้ข้อมูลปัญหาที่ต้องดูแลช่วยเหลือต่อ ซึ่งทางหอผู้ป่วยได้ติดต่อหน่วยสิทธิประโยชน์มาดูแลเรื่องสังคมเศรษฐกิจ และดูแลเอาใจใส่ทั้งด้านร่างกายและจิตใจเธอ

วันที่ 4

วันนี้ผู้ป่วยมาฉายรังสีตามปกติ แต่สีหน้าดูสดใสขึ้น มีรอยยิ้ม เวลาพูดคุยด้วย เธอยื่นมือมาจับพยาบาล

วันที่ 5

คุณสุภาพที่เคยท้อแท้ ซึมเศร้า เวลาพูดด้วยจะไม่ตอบ เอาแต่ปิดตา หน้าตาเหมือนคนแบกทุกข์ วันนี้เธอยิ้มทั้งน้ำตา และบอกว่า "วันนี้เพดานห้องฉายแสงเป็นเหมือนเพดานบ้านของเธอ ก่อนหน้านั้น ไม่ใช่"

ฉันถามว่า “เพราะอะไร”

ผู้ป่วย : "ที่นี่ได้ให้อะไรเธอหลายๆอย่าง รู้สึกอบอุ่นเหมือนบ้าน ไม่โดดเดี่ยว และมีผู้คนให้กำลังใจ คอยช่วยเหลือ ถึงแม้ว่าตัวโรคจะเดินไปข้างหน้า"

                คำพูดของคุณสุภาพทำให้ฉันตื้นตันใจอย่างบอกไม่ถูกตอนแรกทำใจแล้วว่า คงไม่สำเร็จ ที่จะช่วยเธอ

หมายเลขบันทึก: 563423เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2014 18:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มีนาคม 2014 18:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะพี่กานดาวศรี

ส่วนตัวชื่นชมมากกับการที่มีนักวิชาชีพ ที่เห็นความสำคัญของปัญหาอื่นๆ ที่ผู้ที่เรากำลังให้ความช่วยเหลือกำลังประสบอยู่ แม้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานในหน้าที่โดยตรง แต่ไม่นิ่งดูดายลงมือให้ความช่วยเหลือเท่าที่พอทำได้ มันทำให้รู้ว่า ยังมีเพื่อนนักวิชาชีพที่มีความคิดเช่นเดียวกับเราด้วย แฮ่ๆๆๆๆไม่โดดเดี๋ยวแล้วเรา

เข้าไปอ่านทั้ง 3 บันทึกแล้ว เป็นเรื่องที่ดีมากคะ ที่ถามเพิ่มเติมคือ

ในกรณีที่ผู้ป่วยเพศหญิงที่ประสบปัญหาในครอบครัว หรือประสบปัญหาอื่นๆ เช่นปัญหาทางเศรษฐกิจด้วย นอกจากปัญหาความเจ็บป่วยแล้ว น่าจะมีองค์กรพัฒนาเอกชนที่เขาทำงานช่วยเหลือ กลุ่มผู้หญิงที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ที่อาจให้ความช่วยเหลือในบางเรื่องที่โรงพยาบาลไม่อาจให้ความช่วยเหลือได้ คิดว่าน่าจะลองขยายเครือข่ายการทำงานออกไปรู้จักองค์กรอื่นๆ ที่จะประสานความร่วมมือกันในการทำงานบ้าง เช่นองค์ที่ให้ทุนการศึกษาเด็กที่ครอบครัวประสบปัญหา หรือองค์กรที่ให้กู้ยืมทุนประกอบอาชีพปลอดดอกเบี้ยแก่ผู้หญิงที่ประสบปัญหา อะไรทำนองนี้

ตอบคุณรังสิมันค่ะ

สำหรับการดูแลผู้ป่วยและครอบครัว พี่จะดูแลครบ 4 มิติ คือ กาย จิต สังคม และจิตวิญญาณ ฉะนั้นในการดูแลพี่จะดูแลเป็นทีมสหสาขาวิชาชีพทั้งในองค์กรรัฐ/เอกชน และมีเครือข่ายในสังคมมาช่วยเหลือ มีหลายกรณีที่ผู้ป่วยซึ่งเป็นผู้นำครอบครัวเสียชีวิต พี่หาเครือข่ายมาช่วยเรื่องอาชีพ ถ้าสุดท้ายไม่มีที่จะไปหาที่พักพิงจนเสียชีวิต การศึกษาต่อของบุตรจนจบป.ตรีมีหลายคนค่ะ เครือข่ายทางสังคมที่มีอยู่ กลุ่มไลออนฮาโมนีหาดใหญ่ กลุ่มโรตารี่ กลุ่มBIG BIKE จากมาเลเซีย ไทย สิงคโปร์ กลุมจิตอาสาในชุมชน กลุ่มจิตอาสาจากผู้ป่วยและญาตฺิ เป็นต้น ทุกกลุ่มที่เข้ามามีพลังและมีศักยภาพมากสามารถเชื่อมขอความช่วยเหลือจากกลุ่มอื่นๆได้

ผมคิดว่า

การมีเครือข่ายกันเป็นเรื่องสำคัญมาก

ความช่วยเหลือทั้งในระบบและนอกระบบควรทำไปพร้อมกัน

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท