เสวนาคณบดี มวล. ครั้งที่ 2/2557 : เรื่องดีๆ ของสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ฯ


ใช้งานเป็นตัวเชื่อมการทำงานสหสาขาวิชา

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2557

การเสวนาวันนี้มีสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากรเป็นเจ้าภาพ เราได้รู้ว่าสำนักวิชาฯ มีนักศึกษาระดับปริญญาตรี โท เอก รวมแล้วเกือบ 800 คน มีอาจารย์ที่มีคุณวุฒิปริญญาเอกมากกว่าปริญญาโท คะแนน IQA สูงถึง 4.71 มีเรื่องที่ยังสามารถพัฒนาได้อีก เช่น การรับนักศึกษาให้ได้จำนวนตามแผน การลดจำนวนนักศึกษาตกค้างในแต่ละรุ่น การพัฒนาอาจารย์ในด้านตำแหน่งทางวิชาการ

สำนักวิชาฯ มีการจัดทำระบบข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลด้านการบริหารจัดการ ที่สามารถแยกแยะการใช้งบประมาณและค่าใช้จ่ายหมวดต่างๆ ได้เป็นรายหลักสูตร ซึ่งสามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ ข้อมูลเงินทุนวิจัย ผลงานตีพิมพ์ ฯลฯ เป็นรายปี มีวิธีการจัดสรรงบกิจกรรมเสริมหลักสูตร ไปยังหลักสูตรต่างๆ ตาม FTES เอาจุดอ่อนจาก IQA มาพูดคุยกันแล้วคิดกิจกรรมพัฒนาต่อ และผู้บริหารได้ไป ลปรร.กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ด้วย มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของอาจารย์อย่างเป็นระบบตั้งแต่ระดับหลักสูตรจนถึงผู้บริหารสำนักวิชา

สำนักวิชาฯ ดูแลเอาใจใส่ต่อนักศึกษา มีการพบนักศึกษาทุกภาคการศึกษา คุยเรื่องการดำเนินการในภาพรวม ปรับทัศนคติ ให้กำลังใจ มีโครงการเสริมหลักสูตรในลักษณะของค่ายอาสา มีโครงการจิตอาสาที่เป็นแบบอย่างที่ดี

ด้านงานวิจัย ได้รับเงินทุนวิจัยเฉลี่ยประมาณ 300,000 บาท/อาจารย์ 1 คน มีผลงานตีพิมพ์เผยแพร่ในแต่ละปีจำนวนมาก มีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ มีหน่วยวิจัยและศูนย์วิจัยความเป็นเลิศ ซึ่งมีผลงานที่น่าชื่นชม และได้ทำงานร่วมกับชุมชนและภาคอุตสาหกรรม เช่น การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ มีงานด้านการจัดการน้ำเพื่อรับมือกับน้ำท่วม การจัดการระบบประปา

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมไม้ ที่ต้องการศึกษาไม้อย่างลึกซึ้ง ประยุกต์การใช้ไม้อย่างรู้คุณค่า เพื่อประโยชน์สูงสุดทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นตัวอย่างการทำงานร่วมกันของอาจารย์หลายสาขา ทำงานไปก็ได้เพิ่มกลุ่มต่างๆ เข้ามา ปัจจุบันมีกลุ่มต่างๆ ได้แก่ กลุ่มการแปรรูปไม้ กลุ่มผลิตภัณฑ์ไม้ประกอบ กลุ่มการป้องกันและรักษาเนื้อไม้ กลุ่มผลิตภัณฑ์โพลิเมอร์และไม้ กลุ่มการใช้ไม้ในงานโครงสร้าง ใช้งานเป็นตัวเชื่อมการทำงานสหสาขาวิชา งานปัจจุบันอยู่ที่ด้านวัสดุและวิศวกรรมศาสตร์ ต่อไปน่าจะขยายไปยังสถาปัตยกรรมศาสตร์

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมไม้นี้มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการทั้งในระดับชาติและนานาชาติ มีผลงานที่ได้ยื่นจดสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร มีการจดลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ฯลฯ ผลงานที่น่าสนใจ เช่น ไม้ที่มีไส้เป็นโฟมยาง การใช้ไม้ไผ่แทนเหล็กเส้น ฯลฯ ในด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี มีการผลิตเครื่องมือที่ช่วยปรับปรุงการผลิต เช่น ระบบควบคุมการอบไม้อัตโนมัติซึ่งติดตั้งในโรงงาน มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการนานาชาติเกี่ยวกับไม้ประกอบ การบริการวิชาการที่ผ่านมาเป็นการบริการไปยังภาคอุตสาหกรรม ยังไม่ได้ลงชุมชน บัณฑิตศึกษาเป็นแรงขับดันผลงาน ต่างฝ่ายต่างเข็นให้มีผลงานออกมา เป็นตัวอย่างที่บัณฑิตศึกษามีผลต่อการขับเคลื่อนงานวิจัยและวิชาการ

การบริการวิชาการสู่ชุมชนเกี่ยวกับเทคโนโลยีการติดตามทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เริ่มมาจากกิจกรรมการเรียนการสอน การบริการวิชาการเป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา มีความพยายามบูรณาการกิจกรรมนักศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่น นักศึกษาคิดกิจกรรมแล้วลงไปทำกิจกรรมโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วม เช่น การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ชุมชนอ่าวขนอม การทำความสะอาดคลองและชายหาดที่บ้านท่าสูง

การดำเนินงานของสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร มีตัวอย่างดีๆ ที่เราสามารถเรียนรู้ได้หลายเรื่อง

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 563185เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2014 08:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มีนาคม 2014 08:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท