เก็บมาฝากจากกิจกรรม “ตื่นรู้ 3”   ตอน 2


คุณโจ้ผ่านวันอันเลวร้าย เลิกยาเสพติดมาได้ ด้วยพลังความรักอย่างไม่มีประมาณจากผู้เป็นแม่ และพลังรักจากตัวเขาที่มีต่อแม่    และในวันนั้นคุณแม่ของคุณโจ้ก็มาร่วมเสวนาด้วย  มีตอนหนึ่งที่พิธีกรถามว่า คุณแม่ทราบได้อย่างไรว่าลูกเสพยา  คุณแม่ตอบว่า สังเกตุเห็นว่าพฤติกรรมของลูกเปลี่ยนไปจากที่เคยนิสัยดี มีระเบียบ พูดจาเรียบร้อย ก็เริ่มก้าวร้าวมีพฤติกรรมไปในทางที่ผิดไปจากเดิม  แม่ก็เลยเฝ้าระวังติดตาม แอบดู จนวันหนึ่งลูกเข้าห้องน้ำ แม่ปีนเก้าอี้แอบดูเห็นลูกเสพยากับตา  คุณแม่มีสติปัญญา ไม่โวยวาย เมื่อลูกออกมาพูดจาดี ๆ ถามว่ามีอะไรอยากจะบอก หรือพูดกับแม่ไหม และบอกว่า “ขอให้พูดความจริง ความจริงจะทำให้แก้ปัญหาได้”  ดังนั้นคุณโจ้จึงสารภาพ   

 

ลองนึกภาพตามนะคะ ถ้าเป็นตัวเรา เห็นลูกเราเสพยาคาตา เราจะสงบสติอารมณ์ได้แบบนี้ไหม  หากเรามัวแต่ถามว่า “ทำไมนะ” แทนที่จะคิดว่า “ทำอย่างไรดีนะ”  แบบแม่คุณโจ้ ปัญหาอาจจะยิ่งบานปลายไป อาจไม่ได้ลูกของเราคืนมา  เมื่อมีปัญหา ต้องมีสติปัญญาที่พร้อมจะแก้ไข ต้องมีพลังใจที่จะฝ่าฟัน คุณแม่คุณโจ้พูดย้ำว่า “ต้องรักและอดทน” ถึงจะผ่านไปได้  อีกประโยคที่ฟังแล้วก็รู้สึกว่าชอบมาก คือ “ถ้าไม่มีกรรม ไม่ต้องใช้กรรม”  คุณแม่หมายถึงว่าให้เรานึกว่า หากเราทำหน้าที่เต็มที่ที่สุดแล้ว หากเหตุจะเกิด ให้ยอมรับมันซะ คิดซะว่าชดใช้กรรม คิดพิจารณาแล้วมันก็เป็นประโยคที่ทำให้เราทำใจยอมรับได้  ก็เมื่อทำดีที่สุดแล้ว  แต่ไม่ได้หมายถึงให้ปล่อยไปตามเวรตามกรรม เราสามารถสร้างกรรมดีขึ้นมาใหม่ชดใช้ บรรเทากรรมเก่าได้จริงไหม 

 

ส่วนตัวแล้วคนเรามักมองไปถึงกรรมแต่ชาติก่อน หากพิจารณาดี ๆ จะเห็นว่ากรรมที่เราทำชาตินี้ ปัจจุบันนี้ก็ส่งผลกันเห็น ๆ เพียงแต่เราอาจไม่ได้ย้อนกลับไปทบทวนย้อนมองตัวเองดี ๆ พอเกิดเหตุก็โทษเวรโทษกรรมในอดีตชาติกันไป   แม่ดาวเองทุกวันนี้ก็ชดใช้กรรมอยู่ฮ่าๆๆๆ ทำไม่ดีตั้งแต่ตั้งท้องยันคลอดมาอีก 3 -4 ปี  ตอนนี้ก็กำลังพยายามสร้างกรรมดีเพื่อหักล้างกรรมไม่ดีที่ทำมาก่อน 

กลับมาที่เรื่องคุณโจ้ต่อ  มีช่วงหนึ่งที่คุณโจ้หนีออกจากบ้านไปอยู่กับเพื่อน ไปเป็นแก็งเด็กแว๊น คุณแม่ก็พยายามตามหา จนวันหนึ่งก็เจอ รถติดไฟแดงอยู่ข้าง ๆ กัน คุณแม่ขับรถไล่ตาม สุดท้ายที่ได้ตัวคุณโจ้กลับเพราะคุณแม่ไปยืนกลางถนนทั้ง ๆ ที่มีรถมากมาย กางแขนไว้  นี่ถ้าไม่ใช่พลังแห่งรักทำไม่ได้เช่นนี้เนาะ  คุณแม่พยายามพาคุณโจ้ไปบำบัดเป็นสิบ ๆ ที่ก็ยังไม่สามารถเลิกได้ คุณแม่ต้องใช้ทั้งพลังกายและพลังใจที่จะพาลูกให้พ้นจากขุมนรกนี้  วิธีการที่คุณแม่ทำมีมากมายไม่ว่าจะเป็น เป็นคนจัดหาซื้อมาให้ลูกเสพ เพื่อที่ลูกจะได้เสพภายใต้การดูแลของแม่ ระหว่างนั้นคุณแม่ก็ค่อย ๆ ลดการเสพของลูกโดยใช้สติปัญญาทั้งที่ปรึกษาจากจิตแพทย์ ฯลฯ หากบรรยายหมดยาวมาก ๆ ค่ะ คุณแม่ทำมาหลากหลายวิธีมาก ๆ นี่ขนาดบอกว่าแค่เล่าบางส่วนแล้วนะคะ  คุณแม่บอกว่าคนที่เสพยาแม่เชื่อว่าแต่ละคนมีจิตสำนึกที่ดี เขาอยากจะเลิก แต่เขาไม่สามารถจะยับยั่งตัวเองได้ เมื่อเกิดอาการอยากขึ้นมา ไม่ว่าอะไรก็เอาไม่อยู่ ตายเป็นตายต้องเสพให้ได้ ทำทุกอย่างได้หมดเพื่อจะได้ยา  พอเสพก็จะคิดได้ว่าอยากจะเลิก วน ๆ อยุ่เช่นนั้น คุณแม่ว่าต่อให้นักจิตวิทยาเก่งแค่ไหนก็เอาไม่อยู่ มันขึ้นอยู่กับกำลังใจเขาเองจริง ๆ  ฟังแล้วก็ต้องบวกกับพลักรักและวิธีการที่ดีของคนในครอบครัวด้วยเนาะ  

 

คุณโจ้เองก็ทุกข์ทรมานมาก ไหนจะเห็นแม่ต้องมาเสพกับเขา เพื่อที่เราจะเลิกไปด้วยกันแม่บอกไว้ นี่เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่คุณแม่คิดและทำ  คุณโจ้ คิดจะฆ่าตัวตายหลายครั้งมาก ๆ ด้วยความรักที่มีต่อแม่  รู้สึกไม่อยากอยู่เป็นภาระ เห็นแม่ต้องมาเสพยา ต้องมาทุกข์ด้วย คงรุ้สึกว่าตัวเป็นเป็นตัวปัญหา  แต่ไม่ว่าจะกี่ครั้งก็ยังไม่ตายสักที  ลองคิดถึงหัวอกคนเป็นพ่อแม่ดูนะคะ จะรู้สึกทุกข์ขนาดไหน สุดท้ายคุณโจ้ตัดสินใจเลิกได้เพราะมีเหตุครั้งหนึ่ง คุณโจ้เห็นภาพหลอนเป็นแม่ตัวเองโทรศัพท์ไปแจ้งความกับตำรวจบอกให้มาจับคุณโจ้ไป เลี้ยงไม่ไหวแล้ว คุณโจ้คิดว่าเขาจะฆ่าแม่ซะ ไม่ใช่เพราะโกรธที่แม่แจ้งจับแต่เพราะรักแม่มาก ตลอดมาไม่ว่าจะเกิดเรื่องเลวร้ายขนาดไหนเขาจะเห็นแม่มายืนอยู่ข้าง ๆเขาเสมอ แม่คงไม่รักเขาแล้วจึงแจ้งจับ  เขารักแม่และอยากที่จะอยู่กับแม่ไปตลอด หากฆ่าแม่แล้วก็จะฆ่าตัวเองตาม  เหล่านี้คือความคิดและภาพในความคิด  เขาหันไปดูจริง ๆ อีกครั้งที่โทรศัพท์ว่างเปล่าไม่มีใคร เขาคิดไปเอง  เขาคิดว่าหากปล่อยให้ตัวเองเป็นเช่นนี้ต่อไป เขาอาจจะทำร้ายแม่ที่เขารักจริง ๆ ก็ได้ จึงมีพลังใจแรงฮึดจะเลิกให้ได้จริง ๆ  เรื่องร้ายผ่านไปบัดนี้คุณโจ้เป็นคนใหม่ ปฏิบัติธรรมนั่งกรรมฐาน นี่แค่เรื่องราวบางส่วนของพลังรักจากแม่

 

อีก 1 เรื่องเล่าเร้าสติ เรื่องของคุณแป้งที่ตั้งท้องตอนจบม.6   คุณแป้งมีครอบครัวสมบูรณ์ มีทั้งพ่อและแม่ คุณแป้งเป็นลูกสาวคนเดียว คุณแป้งถูกเลี้ยงมาแบบอยู่ในกรอบ (เธอว่าเช่นนั้น)  สมัยเรียนที่บ้านก็จะไปส่งที่โรงเรียน ตกเย็น ก็จะมีรถตู้โรงเรียนส่งถึงบ้าน คุณแป้งรู้สึกว่าอยากมีอิสระ อยากเป็นแบบเพื่อนบ้าง คือเพื่อนบางคนก็ไปเที่ยวไหนต่อไหนได้  ชีวิตฟังคล้ายจะฟังและทำตามคุณแม่บอก  พอจบม.6 ได้มีโอกาสไปเที่ยวกับเพื่อน ๆ ดื่มเหล้า คุณแป้งมีแฟนที่แอบคบกันมาเป็นเพื่อนชายต่างโรงเรียน ตอนกลับบ้านแฟนอาสาไปส่งคุณแป้งที่บ้าน แต่เหมือนในละคร แฟนที่รักและไว้ใจทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ  คุณแป้งเสียใจมากแต่ก็ไม่กล้าบอกใคร จนผ่าน 3 เดือน ตอนนั้นกำลังจะเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยแล้ว ปรากฎว่าทราบว่าตัวเองตั้งท้อง คุณแป้งเครียดและเสียใจมาก สับสน คิดว่าหากปรึกษาเพื่อน ๆ ต้องบอกให้เอาเด็กออกแน่ ๆ ตัวคุณแป้งไม่อยากทำเช่นนั้น คนแรกและคนเดียวที่คุณแป้งนึกถึงคือ “คุณพ่อ” ตั้งแต่เด็กคุณพ่อเป็นคนที่คุณแป้งรักและไว้ใจมากที่สุด  คุณพ่อเลี้ยงคุณแป้งมาด้วยความรักและเหตุผล ไม่ดุ ให้อิสระในการตัดสินใจกับคุณแป้งในการตัดสินใจ เพียงแต่จะให้คำแนะนำว่า สิ่งนั้นดีอย่างไร ไม่ดีอย่างไร พูดคุยได้สนิทใจแบบเพื่อน  และคุณแป้งเชื่อว่า “ความจริงเท่านั้นถึงจะแก้ไขปัญหาได้”

 

คุณแป้งเตรียมตัวตัวใจ ไปสารภาพกับคุณพ่อ  พอได้พูดไปแล้ว แทนที่คุณพ่อจะดุด่าว่ากล่าวทุบตี ไม่มีสักนิด คุณพ่อนิ่งเงียบไปสักพักซึ่งคงนานมาก  และคุณพ่อก็มาบอกว่า “ชีวิตเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ เราจะผ่านปัญหานี้ไปด้วยกัน”  ณ ตอนที่นั่งฟัง มันตื้นตัน จนกลั้นน้ำตาไม่ได้ นี่ขนาดตัวเราไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ ณ ตอนนั้น พลังคำพูดประโยคนี้ยังมีพลังมากมายขนาดนี้ นี่พิมพ์อยู่ก็ยังรู้สึกเช่นนั้น คุณแป้งพูดประโยคนี้ทั้งน้ำตา เชื่อว่ามันต้องเป็นน้ำตาแห่งความรักความตื้นตัน ความรู้สึกขอบคุณที่คุณพ่อมีต่อเธอ   ส่วนในด้านคุณแม่ของเธอไม่สามารถยอมรับได้ด่าทอด้วยคำที่ทำร้ายจิตใจเธออย่างมาก บอกให้เอาเด็กออก ณ เวลานั้นคุณแป้งโกรธคุณแม่มาก คงเพราะเสียใจ น้อยใจ คิดว่าคุณแม่ไม่รักเธอเหมือนที่พ่อรัก ในเวลาที่คนเราอ่อนแอที่สุด ก็อยากให้พลังรักมากที่สุดในการเดินต่อไปเนาะ  ณ ปัจจุบันเธอให้อภัยแม่ได้หมดแล้ว เธอเข้าใจแล้วว่าที่แม่ทำเช่นนั้นเพราะอะไร  ก็เพราะรัก เช่นกัน

 

การแก้ไขปัญหาครั้งนั้นคือการให้คุณแป้งได้แต่งงานกับผู้ชายคนนั้นซึ่งอยู่ในวัยเดียวกัน คือ 18 ปี  สุดท้ายก็ต้องเลิกกัน เพราะฝ่ายชายไม่พร้อมที่จะมีครอบครัว คุณแป้งโดนทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจตลอดที่อยุ่ด้วยกัน  และพลังแห่งรักอีกครั้งที่ทำให้เธอก้าวผ่านออกมาจากชีวิตครอบครัวแบบนั้น  ด้วยคำพูดของลูกสาววัย 3 ขวบมาปลอบใจขณะที่เธอกำลังนั่งร้องไห้ “ไม่เป็นไรค่ะแม่ ถึงยังไงหนูก็จะอยู่กับแม่” ประมาณนี้นะคะ ตอนนั้นมือไม่ทำงาน ต่อมน้ำตาทำงาน เลยไม่ได้จดสด ๆ ด้วยคำพูดประโยคนี้ด้วยมือน้อย ๆ ของสาวน้อยวัย 3 ขวบส่งพลังอย่างมหาศาลให้คุณแป้งลุกขึ้นได้อีกครั้ง เธอตัดสินใจก้าวขาเดินออกจากบ้านนั้นมา กลับมาสู่ครอบครัวแรกของเธอ และแน่นอนประตูบ้านหลังนั้นยังยินดีต้อนรับเธอเสมอ 

 

มีอีกเรื่องหนึ่งที่ประทับใจมาก ๆ คือ เมื่อเหตุการณ์นั้นผ่านพ้นไปแล้ว เธอได้ย้อนกลับไปถามพ่อของเธอว่า ทำไมครั้งนั้นที่เธอสารภาพ  พ่อจึงไม่ดุไม่ตีเธอ  คำตอบของคุณพ่อคือ “ถ้าพ่อตีลูก แล้วลูกจะคิดได้ไหม ถ้าพ่อตีลูก ลูกก็แค่เจ็บ และพ่อนั้นเจ็บกว่า”  อืม....น้ำตาซึมอีกแล้ว มันอาจฟังดุเป็นคำพูดที่ดูเท่ห์ๆ หากเป็นในละคร แต่นี่ชีวิตจริง คำพูดพวกนี้มันกลั่นออกมาจากใจ ไม่ใช่จากมีใครมาเขียนบทให้พูด    และอีกเรื่องคือเมื่อตอนที่เธอเรียนอยู่ประมาณชั้น ม5 (ไม่แน่ใจ) เธอประสบอุบัติเหตุนิดหน่อยแค่ถลอก ๆ คุณครูโทร.ไปแจ้งคุณพ่อ ซึ่งคุณพ่อของเธอทำงานอยู่จังหวัดประจวบ เธอบอกว่าเธอไม่รู้หรอกนะว่า ประจวบ-กทม.ไกลแค่ไหน ต้องขับรถนานเท่าไหร่ รู้แต่ว่าเมื่อวางสาย พ่อเธอใช้เวลา 1 ชั่วโมงครึ่งบึ่งมาถึงที่โรงเรียนได้  มาเพื่อดูให้เห็นกับตาว่าลูกของท่านไม่เป็นอะไรมากจริง ๆ และมาไกลเพื่อพูดแค่ว่า “ลูกเจ็บไหม เป็นอะไรมากหรือเปล่า ไปหาหมอไหม” เมื่อสบายใจว่าลูกปลอดภัยจริง ๆ ก็ขับรถกลับไปทำงานประจวบต่อ สุดยอดคุณพ่อจริง ๆ...อ่านแล้วคุณคงไม่แปลกใจว่าทำไมคุณแป้งถึงคิดถึงคุณพ่อของเธอเป็นคนแรกและเป็นคนเดียวที่คิดถึงเมื่อเกิดปัญหา   

 

ฟังแล้วตัวเองก็มีคำถามคาใจลึก ๆ ว่าแล้วสาเหตุมันอยู่ที่ความอยากมีอิสระจริงหรือ พอดีมีคนถามอะไรบางอย่างจำไม่ได้ ทำให้เธอเล่าว่า คุณแม่ของเธอติดบุหรี่และสูบบุหรี่จัดมาก มักสูบในบ้าน และเธอไม่ชอบกลิ่นของบุหรี่ เธอขอให้แม่เลิก แต่แม่ไม่เลิก เธอเลยบอกว่างั้นเธอจะสูบบ้าง แม่เธอก็บอกว่าบุหรี่ไม่ดี สูบไม่ได้  เธอจึงย้อนถามว่า บุหรี่ไม่ดี แล้วแม่สูบทำไม  แม่เธอให้คำตอบเธอไม่ได้ สุดท้ายแม่เธอก็เลิกสูบเอง   แม่ของเธอมักจะบอกเธอว่าสิ่งนั้น สิ่งนี้ “ไม่ดี” แต่ “ไม่มีเหตุผล”ว่าเพราะอะไรทำไม และเธอก็อยู่กับแม่มากกว่าอยุ่กับพ่อ  เพราะพ่อทำงานต่างจังหวัด

 

นั่งคิดเองทบทวนเอง กับ 2 เรื่องเล่านี้  ได้ข้อคิด เพื่อนำไปคิดต่อเป็นข้อปฏิบัติได้ดังนี้

  1.     เมื่อลูกทำผิด ให้อภัย ยอมรับและเรียนรู้ที่จะแก้ไขไปกับเขาด้วยใจเบาๆ ไม่ใช้อารมณ์
  2.     การพูดความจริงและยอมรับความจริง เมื่อเราหรือลูกทำผิด
  3.     เลี้ยงลูกแบบให้อิสระทางความคิด โดยมีเราเป็นผู้ช่วยคอยแนะนำอยู่ข้าง ๆ ไม่ใช่ผู้สั่งการ บงการชีวิต
  4.     ซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกข้างในใจเราเอง  รักและต้องแสดงออกให้ชัดเจนว่านี่คือ “ความรัก” ไม่ใช่คิดอย่าง แสดงออกอีกอย่าง  ระวัดระวังในการสื่อสารกันและกัน จากใจให้ถึงใจ
  5.     ใกล้ชิดแบบให้ใจ ให้ความอบอุ่น ไม่ใช่ให้ความร้อน ใกล้แต่ต้องไม่ทำให้ลูกอึดอัดและอยากหนีไปไกล ๆ  เป็นทั้งแม่และเพื่อนของลูกให้ได้ 
  6.     เวลาที่อยู่กับลูกมากหรือน้อยเท่าไหร่ไม่สำคัญเท่ากับว่าเวลาที่อยุ่ด้วยกันเราใช้มันให้มีคุณภาพแค่ไหน
  7.     เลี้ยงลูกแบบใช้เหตุผล และเป็นต้นแบบที่ดี

 

โอ้.......ยังไม่จบนะคะ   แต่ว่าเวลาหมด หมดเวลาอีกแล้ว  ครั้งหน้ามาต่อเกี่ยวกับกิจกรรม workshopกิจกรรม workshop “เท่าทัน” การพาลูกเรียนรู้วิเคราะห์สื่อให้เป็นคุณกับชีวิต

และworkshop “I Love U” เรียนรู้วิธีการสื่อสาร “จากใจถึงใจ” กับลูกอย่างมีประสิทธิภาพ

และมีปุจฉา วิสัชฉนากับพระอาจารย์ขยสาโร  เรื่องมันยาว..........

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 562775เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2014 10:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มิถุนายน 2014 13:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณภาพดอกไม้แทนใจงาม ๆ จาก Dr.Ple ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท