หัวหน้า 3 ประเภท กับวิถีของ “การใช้อำนาจ”


หัวหน้าแบบมุ่งสถาบัน เป็นหัวหน้าที่มีประสิทธิผลมากที่สุด

ต่อจากบันทึกก่อน จากผลการศึกษาวิจัยของ David McClelland และ David Burnham เพื่อหาคำตอบว่า เมื่อคนเราได้รับอำนาจแล้ว พวกเขาใช้มันอย่างไร และ มีพฤติกรรมอย่างไร  เขาทั้งสองพบว่า การเข้าถึงอำนาจของหัวหน้านั้น เกี่ยวข้องอย่างแนบแน่นกับแรงจูงใจส่วนบุคคล และ สามารถแบ่งประเภทหัวหน้าได้เป็น 3 ประเภท 

มาดูกันนะคะว่า หัวหน้าแต่ละประเภท มีพฤติกรรมการใช้อำนาจแตกต่างกันอย่างไร และ ผู้ที่เป็นลูกน้องภายใต้สถานการณ์แต่ละแบบ ควรจะต้องปรับตัวอย่างไร

หัวหน้าแบบเอาพวกเอาพ้อง การตัดสินใจของหัวหน้าประเภทนี้ ยึดโยงกับสิ่งที่จะทำให้ลูกน้องมีความสุข และเป็นฝ่ายเดียวกับเขา  ผลที่ตามมาคือ เกิดการตัดสินใจเป็นเรื่องๆ ไป มากกว่าการตัดสินที่สอดคล้องกับเนื้องาน หรือ นโยบาย   ในบรรดาหัวหน้าทั้ง 3 ประเภท หัวหน้าแบบนี้ ถือเป็นหัวหน้าที่อ่อนแอ และ มีประสิทธิผลต่ำที่สุด

สำหรับคุณซึ่งเป็นลูกน้อง อาจจะรู้สึกดี เพราะหัวหน้าแบบนี้ จะพยายามเป็นเพื่อนกับคุณ  แต่ที่จริงแล้ว มันเป็นผลลบมากกว่า  เพราะหัวหน้าแบบนี้ ไม่ได้ปฏิบัติตนตามนโยบาย คุณจะไม่สามารถคาดการณ์พฤติกรรมของเขาได้   อีกอย่างเขามีโอกาสสูญเสียตำแหน่งให้แก่บุคคลที่ใช้อำนาจได้ดีกว่า (แต่อันนี้อาจเป็นไปได้ยากในราชการ ในบางตำแหน่งที่เป็นจนเกษียณ)   สิ่งที่ตามมาก็คือ คุณกำลังทำงานให้แก่หัวหน้าที่ด้อยค่า และอาจไม่ได้รับทรัพยากร หนทางการสร้างอาชีพของคุณจึงอาจติดขัด

หัวหน้าแบบเน้นอำนาจส่วนตน  หัวหน้าแบบนี้ มีความต้องการส่วนตัวในอำนาจ มากกว่าความต้องการเป็นที่ชื่นชอบของผู้คน  เขาแสวงหาอำนาจเพื่อตนเองและผู้ที่อยู่ในทีมเพื่อให้งานนั้นสำเร็จ  เขาสร้างความเข้มแข็งให้ตนเอง และทำให้ผู้อยู่ในทีมเกิดความรู้สึกเข้มแข็งไปด้วย  ดูเหมือนจะดี  แต่ก็มีด้านลบก็คือ หัวหน้าแบบนี้ จะขยายอำนาจและสร้างอาณาเขตของตน  และไม่ปฏิบัติตนให้เป็นผู้สร้างสรรค์ที่ดีของสถาบัน

หากคุณทำงานกับหัวหน้าแบบนี้ ถึงแม้คุณจะรู้สึกถึงพลังในการทำงานในทีม  แต่ในทางตรงข้าม  หัวหน้าคุณอาจมีศัตรูกับหน่วยงานอื่นจนเกิดความติดขัดในความร่วมมือระหว่างกัน  คุณอาจพบเจอกับความกดดันให้เลือกระหว่าง ผลประโยชน์ของหน่วยงานคุณ (หรือหัวหน้าคุณนั่นเอง) กับ ผลประโยชน์ของสถาบันโดยรวม   คำแนะนำสำหรับคุณที่เป็นลูกน้องภายใต้หัวหน้าแบบนี้ ก็คือ

  • จงรักภักดี ทำงานตามหัวหน้าต้องการ แต่ไม่ควรทำในสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนว่า ขัดแย้งกับผลประโยชน์ขององค์กรส่วนรวม
  • หมั่นสร้าง และ รักษาความสัมพันธ์ที่กว้างขวางในการประสานงานภายในองค์กร
  • จงสร้างชื่อเสียงส่วนตัว ด้วยการมีคุณธรรม และ มาตรฐานระดับสูง เพราะความดีนี้ จะช่วยคุณได้ เมื่อหัวหน้าได้จากไป

หัวหน้าแบบมุ่งสถาบัน   เป็นหัวหน้าที่มีประสิทธิผลมากที่สุด  จริงๆ แล้ว หัวหน้าแบบนี้ มีคุณลักษณะหลายอย่างสอดคล้องกับหัวหน้าแบบเน้นอำนาจตน แต่ต่างตรงที่ หัวหน้าที่มุ่งเน้นสถาบัน ใช้อำนาจเพื่ออำนวยประโยชน์แก่องค์กร  หัวหน้าแบบนี้จะ:- 

  • ใส่ใจในองค์กรอย่างเต็มเปี่ยม
  • มีจริยธรรมในการทำงานสูง
  • ยินดีเสียสละประโยชน์ของตนเองบางอย่าง เพื่อประโยชน์ขององค์กร
  • เชื่อในการให้ผลตอบแทนแก่บุคคลที่ทำงานหนัก เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายขององค์กร

หากคุณเป็นคนทำงานที่ทำงานหนัก และ ทำงานได้ดี  คุณเหมาะที่จะทำงานกับหัวหน้าแบบที่ 3 นี้อย่างยิ่ง 

มีคำถามว่า  แล้วเราจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริหารให้เป็นแบบที่ควรจะเป็นได้หรือไม่   McClelland คิดว่า “ได้” แต่อันดับแรกเลยคือ คุณต้องตระหนักรู้เกี่ยวกับตนเองก่อน (รู้ว่าตนเป็นอย่างไรอยู่ และ มีความต้องการที่จะเปลี่ยน)  การเปลี่ยนแปลง อาจผ่านการชี้แนะของผู้บริหารที่เป็นแบบอย่าง หรือ ด้วยการสำรวจจากเพื่อนร่วมงาน และลูกน้อง

ก็เลือกเอานะคะว่า จะเป็นหัวหน้า และ ลูกน้องแบบไหน คุณทุกคน “เลือกได้” ค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 56260เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2006 10:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • หากสามารถประสมประสานทั้ง 3 อย่างให้เนียนเข้าด้วยกันได้ ก็สุดยอดค่ะ
  • เราเลือกให้คนอื่นเป็นไม่ได้ แต่เราเลือกตัวตนของเราได้ค่ะ
เห้นด้วยกับคุณ Bright Lily ค่ะ นำสิ่งดีๆ ของหัวหน้าแต่ละแบบ มีประสมประสานกันจะดีมาก

พยายามเป็นแบบที่สามแต่ไม่รู้ว่าลูกน้องว่าเราเป็นแบบใหน

อาจารย์น่าจะมีต่อเรื่องเราประเมินตัวเองอย่างไรต่อนะคะจะได้พัฒนาตัวเองได้ค่ะ

ขอบคุณที่ถ่ายทอดสิ่งดีๆให้อ่านค่ะ

สงสัยจังค่ะว่า หัวหน้าแต่ละแบบในสายตาของผู้อื่น จะรู้ตัวไหมว่าตัวเองเป็นแบบนั้นๆน่ะค่ะ รู้สึกว่าคนดีอ่านก็จะคิดไปแบบนึง (เหมือนอ.หมออัจฉราและอ.ปารมี) หัวหน้าแบบที่อ่านแล้วหลอกตัวเองก็คงมีไม่น้อยนะคะ

เรียน อ.หมออัจรา 

ในหนังสือมีแบบประเมินเตินเอง ว่า หัวหน้าได้ใช้วิธีใดบ้างในการใช้อำนาจ โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ เหนือมาตรฐาน ได้มาตรฐาน และ ต่ำกว่ามาตรฐาน  แต่ไม่รู้ว่า มาตรฐานคืออะไร ก็เลยไม่รู้จะใช้แบบประเมินนี้อย่างไร

คุณโอ๋

อย่างที่เขียนในย่อหน้าสุดท้าย สิ่งสำคัญคือ ความตระหนักรู้เกี่ยวกับตนเอง  เป็นรากเง้าของการพัฒนาตน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท