ทฤษฎีอันหลากหลายในสื่อใหม่ศึกษา


เอกสารงานวิจัย เรื่องทฤษฎีอันหลากหลายในสื่อใหม่ศึกษา

สำหรับการตอบโจทย์เรื่อง “การใช้ทฤษฎีในสื่อใหม่ศึกษา” จากข้อมูลงานวิจัยสื่อใหม่ของไทยนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2530 มาจนถึงปัจจุบัน (กลางทศวรรษ 2550) คงพอจะตอบโจทย์ที่ผู้เขียนได้ตั้งไว้แต่แรกเรื่องของข้อเขียนชิ้นนี้ ที่ว่าด้วยจุดยืนทางทฤษฎีในงานวิจัยสื่อใหม่ศึกษาว่า แม้ว่าสื่อใหม่จะมีคุณลักษณะบางประการที่แตกต่างอย่างตรงกันข้ามกับสื่อมวลชนแบบเดิม แต่ทว่าในงานวิจัยสื่อใหม่ศึกษาของไทยก็ยังคงสามารถที่จะเอาทฤษฎีสื่อสารมวลชนที่มีอยู่มาเป็นไฟฉายส่องนำทางการวิจัยได้เช่นเดิม

          แต่ทว่าในการนำมาใช้นี้ ในอีกด้านหนึ่งเราก็ได้พบการเปลี่ยนแปลงบางประการ เช่น การปรับแต่งหรือขยับขยายแง่มุมของทฤษฎีเดิมออกไปให้สอดรับหรือครอบคลุมกับคุณลักษณะของสื่อใหม่ เช่น การปรับแต่ง Impact Theory หรือการเลื่อนลำดับความสำคัญของทฤษฎีเสียใหม่ เช่น ในขณะที่ Social Functionalism มีความสำคัญน้อยลง Uses and Gratifications Approach กลับถูกนำมาใช้ศึกษาสื่อใหม่มากยิ่งขึ้น

          โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของทฤษฎี Communication Technology Determinism ของสำนัก Toronto ที่แทบจะถูกลืมเลือนไปในยุคสมัยแรกของสื่อมวลชน (The First Media Age) ก็กลับเป็นทฤษฎีที่หวนกลับฟื้นคืนชีพมาส่องประกายแวววาวในยุคของงานวิจัยสื่อใหม่ในยุคสมัยที่สองของสื่อ (The Second Media Age)

          และดูเหมือนทฤษฎีที่จะมีดวงสมพงศ์อย่างยิ่งกับสื่อใหม่ก็คือกลุ่มทฤษฎีวัฒนธรรมศึกษาที่ถือกำเนิดตกฟากมาในช่วงเวลาเดียวกับการเกิดขึ้นของสื่อใหม่ ความนิยมในการใช้ทฤษฎีวัฒนธรรมศึกษาสื่อใหม่นั้นก็น่าจะสืบเนื่องมาจากเหตุผลที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วว่า บรรดาข้อตกลงเบื้องต้น (Basic assumption) ไม่ว่าจะเป็นส่วนที่ว่าด้วยองค์ประกอบส่วนใดของการสื่อสารเช่น ตัวสื่อ เป้าหมายของการใช้สื่อ เนื้อหาสาร อำนาจระหว่างผู้รับสาร ฯลฯ ทั้งของทฤษฎีวัฒนธรรมศึกษาและสื่อใหม่นั้นมีส่วนที่ส้อดคล้องต้องกันอยู่อย่างมาก

          สำหรับทฤษฎีที่ดูแปลกใหม่ไปจากทฤษฎีสื่อมวลชนที่เคยมีอยู่และถูกนำมาใช้ในงานสื่อใหม่บางทฤษฎี เช่น ทฤษฎีคลื่นลูกที่สาม (TER Third Wave) และทฤษฎีสังคมสารสนเทศ (Information society) ของ A. Toffler นั้นผู้เขียนมีข้อสังเกตว่า แม้จะมีการนำทฤษฎีใหม่ๆ ดังกล่าวมากล่าวถึงเอาไว้ในงานวิจัยหลาย ๆชิ้น แต่ก็มีบทบาทในเชิงการขีดเส้นใต้เน้นความสำคัญของประเด็น/สื่อใหม่ที่จะศึกษา หากทว่าสถานะของทฤษฎีใหม่ ๆเหล่านี้ยังไม่ได้ก้าวเข้ามาในฐานะเป็น “เครื่องมือช่วยการวิเคราะห์” เท่าใดนักและจากข้อเขียนชิ้นนี้ ผู้เขียนได้จำแนกและประมวลงานวิจัยเรื่องสื่อใหม่ของไทยที่มากมายและกระจัดกระจายโดยใช้แนวคิดเรื่อง “ประเภททฤษฎี” มาเป็นเกณฑ์ในการจำแนก และนอกเหนือจากประเภททฤษฎีแล้ว เรายังอาจจะใช้แนวคิดอื่น ๆ มาเป็นเกณฑ์ในการสังเคราะห์งานวิจัยสื่อใหม่ เช่น ในประเภทของสื่อใหม่ (ตั้งแต่ดาวเทียม เพจเจอร์ โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต Social media แบบต่าง ๆ ฯลฯ) หรือใช้ “ประเด็น” เช่น เรื่องเพศ ศาสนา/จริยธรรม การศึกษา กีฬา การเมือง ท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ฯลฯ และประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่าง “สื่อใหม่” กับ “สื่อมวลชนแบบเดิม” ที่มีอยู่ที่น่าจะมีการสังเคราะห์ให้เห็นภาพรวมต่อไปในอนาคต

 

หมายเลขบันทึก: 562126เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2014 23:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2014 15:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ศึกษากันมากก็ต้องนำมาใช้ได้ ควรปฏิรูปประเทศการศึกษาจะพัฒนา

สวัสดีค่ะอัญชลี อารีโอ๊ด

สื่อใหม่คือ การเรียนรู้

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ คุณ อัญชลี อารีโอ๊ด

ขอบคุณสำหรับความรู้นะครับ :))

ขอบคุณนะครับ

เข้ามาเพื่อตรวจสอบและให้กำลังใจ ขยัน อดทน ตรงต่อเวลา รับผิดชอบ แต่งกายให้เรียบร้อยนะครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท