คณะเกษตรฯ มข.เผยแพร่ระบบเกษตรปลูกผักคู่เลี้ยงปลาสู่ผู้นำชุมชนภาคใต้


เทศบาลตำบลทอนหงส์ อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าศึกษาดูงานคณะเกษตรศาสตร์ มข. ด้วยมีองค์ความรู้และนวัตกรรมทางด้านการเกษตรที่น่าสนใจ อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชนในเขตเทศบาลตำบลทอนหงส์ได้

          เมื่อวันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 10.00 น. คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ให้การต้อนรับ คณะกรรมการชุมชน ผู้นำชุมชนและสมาชิกในชุมชน เทศบาลตำบลทอนหงส์ อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 100 ท่าน นำโดยนายอมร แคล้วภัย นายกเทศมนตรี เข้าศึกษาดูงานเรื่องการปลูกผักคู่กับการเลี้ยงปลาโดยใช้ระบบเกษตรอินทรีย์ ณ หมวดพืชผัก ภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร โดยมีรองศาสตราจารย์ดร.กมล เลิศรัตน์ รองศาสตราจารย์ดร.สุชีลา เตชะวงค์เสถียร และนายเชาวลิต สีลาดเลา เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้
          ซึ่งเทศบาลตำบลทอนหงส์ ได้จัดทำโครงการฝึกอบรมและเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของศึกษาดูงานของคณะกรรมการชุมชน ผู้นำชุมชนและสมาชิกในชุมชน เทศบาลตำบลทอนหงส์ ประจำปีงบประมาณ 2557 ขึ้น ณ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 8-13 กุมภาพันธ์ 2557 เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาเทศบาลและเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน โดยได้พิจารณาแล้วว่า คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีองค์ความรู้และนวัตกรรมทางด้านการเกษตรที่น่าสนใจ อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชนในเขตเทศบาลตำบลทอนหงส์ได้
          รองศาสตราจารย์ดร.กมล เลิศรัตน์ กล่าวว่าโดยสรุปว่า “การปลูกผักร่วมกับการเลี้ยงปลา เป็นนวัตกรรมที่ช่วยสร้างความอยู่เย็นเป็นสุขให้คนไทยและสังคมไทยอย่างยั่งยืน ส่งเสริมสุขภาพตามแนวทาง 3 อ คือ อาหาร อารมณ์และออกกำลังกาย เหมาะสำหรับสังคมไทยที่เข้าสู่ยุคผู้สูงอายุ โดยใช้หลักการ 3 ไม่ คือ ไม่ใช้ดิน ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีสังเคราะห์ และไม่ใช้ยาฆ่าแมลง และ 3 น้อย คือ ใช้นํ้าน้อย ใช้แรงงานน้อย และใช้เวลาดูแลรักษาน้อย แต่ที่สำคัญต้องมีแดด ซึ่งทางภาคใต้มีฝนมากคงต้องใช้พลาสติกใสคลุมกันฝน หวังว่าจะได้นำไปใช้ให้เป็นประโยชน์กับตัวเอง เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพและเป็นความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม เศษสิ่งเหลือใช้ไม่สูญเปล่า สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้หมดทุกอย่าง”
          นายอมร แคล้วภัย นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลทอนหงส์ กล่าวว่า “คณะกรรมการชุมชน ผู้นำชุมชนและสมาชิกในชุมชน ที่มาดูงานในครั้งนี้ ทำอาชีพแบบเศรษฐกิจพอเพียง จะได้นำความรู้กลับไปเผยแพร่ยังพี่น้องประชาชนในเขตเทศบาลให้ได้ปลูกผักและกินผักปลอดสารพิษ เพื่อช่วยลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ซึ่งเห็นว่าโครงการปลูกผักคู่กับการเลี้ยงปลาของคณะเกษตรฯ มข.นี้ น่าจะเหมาะกับอาชีพของชุมชนเทศบาลตำบลทอนหงส์ได้ จึงได้มาดูงานที่นี่ เพื่อนำตัวอย่างไปประยุกต์ใช้กับชุมชนเทศบาลตำบลทอนหงส์ เป็นการปลูกเอง กินเอง เหลือก็ขายเพิ่มรายได้ เมื่อกินผักปลอดภัยจากสารพิษ ก็จะได้ลดโรคภัยในตัวของประชาชนได้ด้วย ซึ่งการประยุกต์ใช้อาจเป็นแนวทางในการปลูกผักและเลี้ยงปลา แล้วนำน้ำที่ใช้เลี้ยงปลาไปรดผัก ก็จะได้ปุ๋ยจากปลา โดยไม่ต้องซื้อปุ๋ยอื่น คาดว่าจะทำให้ลดต้นทุนลงไปได้มาก”
          นายอมร แคล้วภัย กล่าวต่ออีกว่า “ขอขอบคุณคณะเกษตรฯ ที่ได้เอื้อเฟื้อให้โอกาสแก่เทศบาลตำบลทอนหงส์ ได้เข้าศึกษาดูงาน และขอบคุณอาจารย์ วิทยากรที่ได้ให้ความรู้ ก็จะได้นำไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่ของเทศบาลตำบลทอนหงส์ ที่อยู่กันคนละภาคกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งภูมิอากาศก็แตกต่างกัน จึงต้องนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม”

          กิตติศักดิ์ สิงหา วิเคราะห์ สังเคราะห์และเผยแพร่

 

หมายเลขบันทึก: 561401เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2014 16:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2014 16:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ยินดีด้วย กับคณะเกษตรศาสตร์ มข. นะคะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทีมวิจัยฯ ที่ได้รับความสนใจและมีโอกาสถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เป็นผลจากการวิจัย ให้แพร่กระจายไปมากขึ้น

กลับจากอบรมดิฉันก็ได้นำภาพและข้อมูลจากการอบรมไปเผยแพร่ใน GotoKnow ด้วยค่ะ

ขอบคุณ "คุณกิติศักดิ์ สิงหา" มากนะคะ ที่นำภาพดิฉันกับผจก.ฟาร์มไอดิน-กลิ่นไม้ที่ลงทะเบียน ลงในบันทึกก่อนหน้านี้ ดิฉันเพิ่งเห็นวันนี้ด้วยความดีใจ เพราะไม่คาดคิดว่าจะมีใครถ่ายภาพ และยังนำลงให้ได้ Save เก็บไว้เป็นที่ระลึกด้วย

ฝากความระลึกถึงคณะวิทยากรและทีมงานทุกท่านด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณผศ.วิไล แพงศรี ที่ชมนะครับ

ผมยินดีที่ได้มีโอกาสเผยแพร่ผลงานทางวิชาการเกษตร ของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ออกสู่สาธารณะเพื่อให้ผู้ที่สนใจจะได้นำไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์กับอาชีพของแต่ละท่านได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท