ดร.คาเมทาโร่ โทยาม่า : นักวิทยาศาสตร์ผู้ใช้สายใยไหมสร้างสายสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น


วิโรจน์ แก้วเรือง

อุตสาหกรรมการทำไหมของญี่ปุ่นและของไทย

            อุตสาหกรรมการผลิตเส้นไหมของญี่ปุ่นในสมัยเมจิเจริญก้าวหน้าเหนือประเทศฝรั่งเศสและอิตาลี ซึ่งในเวลานั้น ญี่ปุ่นผลิตเส้นไหมขึ้นมาอยู่ในระดับโลกได้อย่างรวดเร็ว เพราะนอกจากรัฐบาลญี่ปุ่นสมัยเมจิจะทำการส่งเสริมการเลี้ยงไหมอย่างจริงจังแล้ว ในยุโรปยังเกิดโรคระบาดของตัวไหมอันนำมาซึ่งความหายนะแก่วงการอุตสาหกรรมผลิตไหมในยุโรปอีกด้วย ช่วงเวลา 14 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2411 มูลค่าเส้นไหมและสินค้าจำพวกไหมที่ส่งออกญี่ปุ่น มีมูลค่าถึง 141,556,515 เยน คิดเป็นเงิน 46 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าสินค้าส่งออกทั้งหมดซึ่งมีจำนวน 302,242,803 เยน นับได้ว่าเส้นไหมและสินค้าจำพวกไหมนี้เป็นสินค้าส่งออกที่ขึ้นหน้าขึ้นตาของญี่ปุ่นมาก ยิ่งกว่านั้นในช่วงปี พ.ศ. 2449-2453 อุตสาหกรรมการผลิตไหมของญี่ปุ่นก้าวขึ้นครองอันดับหนึ่งของโลก ปริมาณเส้นไหมที่ส่งออกมีมากกว่าประเทศจีน อนึ่ง อาจกล่าวได้ว่า สิ่งที่เป็นชนวนในการปฏิวัติอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นนั้น ที่แท้แล้วก็คือ การที่อุตสาหกรรมผลิตผ้าไหมกับอุตสาหกรรมผลิตผ้าฝ้ายสองประเภทนี้พัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมการส่งออกที่สำคัญของญี่ปุ่นอย่างรวดเร็วนั่นเอง

            ประเทศไทยแต่เดิมสั่งซื้อผ้าไหมเป็นสินค้านำเข้า อุตสาหกรรมการทอผ้าฝ้ายและผ้าไหม เป็นอาชีพรองที่ทำกันเล็กๆ น้อยๆ ในชนบทไทย ส่วนใหญ่ผลิตเพื่อใช้ภายในครอบครัวเท่านั้น ส่วนภาคกลางไม่ปรากฏว่ามีการเลี้ยงไหม จึงต้องสั่งเข้ามาจากต่างประเทศ ในช่วงปี พ.ศ. 2443 แม้แต่โคราชซึ่งเป็นแหล่งเลี้ยงไหมก็ยังต้องสั่งซื้อไหมดิบจากต่างประเทศเข้ามา ยิ่งกว่านั้นปริมาณการสั่งซื้อผ้าไหมและผ้าฝ้ายเข้ายังเพิ่มขึ้นทุกๆปี เช่น ในปี พ.ศ. 2439 สั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนเงิน 4,886,821 บาท ต่อมาในปี พ.ศ. 2444 สั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนเงิน 8,921,719 บาท เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวภายในเวลา 5 ปี รัฐบาลไทยเองก็คิดจะส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมการทำผ้าไหมและผ้าฝ้ายในประเทศ  เพื่อที่จะได้ไม่ต้องสั่งซื้อเข้ามาเป็นเงินจำนวนมากเช่นนั้น จึงมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมและหลักการค้าเส้นไหมตามแบบญี่ปุ่น โดย รัฐบาลไทยได้ว่าจ้าง ดร.โทยาม่า  คาเมทาโร่ เข้ามาเป็นที่ปรึกษาการทำไหม

            ดร. คาเมทาโร่ โทยาม่า (Dr.Kametaro  Toyoma) เป็นบุตรคนโตในจำนวน 6 คน ของนาย คานซาบูโร่ โทยาม่า (Kansaburo Toyama ) เจ้าของที่ดินแห่งหนึ่งในชนบทเมือง คานากาว่า ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเมืองโยโกฮาม่ามากนัก เกิดเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2410 และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2461 รวมอายุ 51 ปี

            ดร.คาเมทาโร่ โทยาม่า สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยเกษตรกรรมของมหาวิทยาลัยโตเกียว เมื่อปี พ.ศ. 2435 และเดือนเมษายน พ.ศ. 2439 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนหม่อนไหมฟุกุชิม่า (เมืองที่ประสบภัยสึนามิ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 เมืองที่มีชื่อเสียงในการผลิตเส้นใยไหมและสิ่งทอจากไหมมาตั้งแต่กลางพุทธศตวรรษที่ 13 และเมื่อญี่ปุ่นสร้างทางรถไฟผ่านเมืองนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2430 ก็ทำให้เมืองนี้เป็นศูนย์กลางของการค้าขายเส้นไหม)หลังจากนั้นอีก 3 ปี ได้กลับมาศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเดิมและสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก เมื่อ พ.ศ. 2445 รัฐบาลประเทศสยามก็ได้ติดต่อให้มาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงไหมของกรมช่างไหม โดยเดินทางมาประเทศสยามในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2445 ปฏิบัติงานอยู่ที่กรุงเทพฯ เป็นเวลา 3 ปี

            หลังจากเดินทางกลับประเทศญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2448 ดร.คาเมทาโร่ โทยาม่า ทำหน้าที่เป็นอาจารย์ในแผนกสัตววิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยโตเกียว และได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ในปีถัดมา ต่อมาในปี พ.ศ. 2454 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนักพันธุศาสตร์อีกตำแหน่งหนึ่งที่สถานีทดลองหม่อนไหมกรุงโตเกียว ในระหว่างเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2454 ถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2456 ทางรัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้ส่งไปดูงานตามมหาวิทยาลัยและสถาบันต่างๆ ในยุโรป

            ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2460 ดร.คาเมทาโร่ โทยาม่า เริ่มป่วยและรับการรักษาตัวมาตลอดหนึ่งปีเต็ม และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 31มีนาคม พ.ศ. 2461 ดังนั้น ถึงแม้ว่าจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์ด้านการเลี้ยงไหมตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2460 ก็ไม่มีโอกาสที่จะถ่ายทอดความรู้เช่นคนอื่นๆเลย

            ดร.คาเมทาโร่ โทยาม่า เริ่มงานวิจัยศึกษาเกี่ยวกับกายวิภาค และเนื้อเยื่อของหนอนไหม หลังจากการฟื้นฟูงานของเมนเดลไม่นานนัก ก็หันมาสนใจเรื่องการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมของหนอนไหมและได้สร้างพันธุ์ไหมใหม่ๆ ขึ้นมาจำนวนมาก โดยเฉพาะการผสมข้ามระหว่างพันธุ์ญี่ปุ่นและพันธุ์สยาม ทำให้ได้พันธุ์ไหมที่ให้เส้นใยยาวขึ้นหรือมีความแข็งแรงมากขึ้น เลี้ยงแล้วได้ผลผลิตรังไหมและเส้นใยมากขึ้น ผลการศึกษาได้พิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ เรื่อง “Studies on the hybridology of Insects on some silkworm crosses with special reference to Mendel’ s Law of heredity” ทางสภาการศึกษาแห่งชาติญี่ปุ่น ได้มอบเหรียญจักรพรรดิ ประกาศเกียรติคุณให้แก่ ดร. คาเมทาโร่ โทยาม่า ในปี พ.ศ. 2453

            ความสนใจของ ดร. คาเมทาโร่ โทยาม่า ไม่ได้จำกัดอยู่แวดวงของนักวิทยาศาสตร์เท่านั้นแต่ยังแพร่กระจายไปสู่ผู้ทำการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมด้วย และได้รับเกียรติว่าเป็นผู้ก่อให้เกิดการเลี้ยงไหมลูกผสมเป็นครั้งแรก ซึ่งช่วยพัฒนาการเลี้ยงไหมของเกษตรกรเป็นอย่างมาก ในสมัยของเขาเพียง 2-3 ปี จากปี พ.ศ. 2454 ไหมลูกผสมที่ให้เส้นใยปริมาณมากและมีคุณภาพสูงได้เข้ามาแทนที่ไหมพื้นเมืองที่ให้เส้นใยปริมาณน้อยและคุณภาพต่ำ นับว่าเป็นยุคที่สำคัญยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์การเลี้ยงไหมของญี่ปุ่น         

            ผลงานของ ดร. คาเมทาโร่ โทยาม่า ในช่วงที่อยู่ประเทศไทย

            ดร.คาเมทาโร่ โทยาม่า  โดยสารเรือ เอส. เอส. ปิงโก มารู จากเมืองท่าโยโกฮาม่า เมื่อวันที่           7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2445 โดยการเชื้อเชิญของรัฐบาลสยามให้มาทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของกระทรวง    เกษตราธิการ และมีความเห็นพ้องต้องกันที่จะตั้งกรมช่างไหมจากรัฐบาล งานในตำแหน่งก็คือหัวหน้าโครงการงานทดลองด้านหม่อนไหม เมื่อหมดสัญญาประกอบกับสุขภาพไม่แข็งแรง จึงเดินทางกลับประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2448

 

            สภาพการผลิตไหมในประเทศไทย ราวปี พ.ศ. 2448

1) การบริหาร

            ก) กระทรวงเกษตราธิการ

            รัฐมนตรี : เจ้าพระยาเทเวศร์ วงศ์วิวัฒน์ ( H.E. Cho phya Devesr Wongs Wiwadhan)

            สำนักงานกลาง              (Central Bureau)

            กรมทะเบียนที่ดิน            (Bureau of Land-Registration)

            กรมชลประทาน              (Bureau of Irrigation)

            กรมสำรวจที่ดิน              (Bureau of Land Survey)

            กรมช่างไหม                   (Bureau of Sericulture)

            กรมคลัง                        (Bureau of Treasury )

            ข) กรมช่างไหม

          อธิบดี : กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม (พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงษ์)

            สถานีทดลองหม่อนไหม (ผู้อำนวยการ  : ดร.คาเมทาโร่ โทยาม่า)

            ที่ตั้ง ศาลาแดง กรุงเทพ ฯ

            สถานี : สำนักงานตั้งอยู่ในพื้นที่ 5 ไร่ มีห้องปฏิบัติการ 1 ห้อง ที่พัก 3 ห้อง แปลงหม่อน 20 ไร่ ซึ่งปลูกหม่อนพันธุ์ญี่ปุ่น 60 พันธุ์ และพันธุ์โคราชอีกหลายพันธุ์

            งบประมาณ การดำเนินการ               26,290 บาท

            สิ่งก่อสร้างและปลูกสร้างสวนหม่อน      71,585 บาท

            บุคลากร                                   

            ผู้อำนวยการ               :    ดร.คาเมทาโร่ โทยาม่า

            หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญ        :    นายเฮโนซูเกะ โยโกตะ

            ผู้เชี่ยวชาญ                :    นายมิชิม่า, นายทากาโน่, นายโฮโซย่า

            ล่าม                       1    คน

            พนักงาน                  2    คน

            ผู้ช่วย                     6    คน

            คนงาน                   8    คน

            ค) สถานีทดลองหม่อนไหม สาขาโคราช

            วัตถุประสงค์ : เพื่อเป็นแบบอย่างสำหรับการบริหารงานหม่อนไหมและฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เทคนิคทางด้านนี้

            สิ่งอำนวยความสะดวก   :   แปลงหม่อน  180 ไร่

            เครื่องสาวไหม           :  20 ชุด (Sitting Type)

            หัวหน้าสาขา             :  นายเฮโนซูเกะ โยโกตะ

            ผู้เชี่ยวชาญ              :   นายโฮโซยา และนายนางาชิม่า

            ผู้ช่วย                    :   2 คน

        ง) แผนกแนะนำการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบุรีรัมย์ (Buriram Advisory Plant)

            จัดตั้งขึ้นเพื่อสอนเทคนิคปฏิบัติเกี่ยวกับการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและสาวไหม ให้แก่เกษตรกร

        จ) โรงเรียนช่างไหม กรุงเทพฯ

            อาจารย์ใหญ่   :  นายเคียวโนโจ้ ทาฮาร่า

             คณาจารย์    :  นายทาคาโน้ และนายนาคามูระ

            พนักงาน      :   2 คน (หญิงชาวญี่ปุ่น)

            นักเรียน       :   15 คน  

2) สภาพการผลิตไหมในประเทศไทย

            ในปี พ.ศ. 2444 มณฑลโคราชเพียงมณฑลเดียวผลิตเส้นไหมได้ 2,000 หาบ (Piculs) (1 หาบ= 60 กก.)ปริมาณเส้นไหมที่ส่งออก 1,001 หาบ มูลค่า 172,710 บาท (คิดเป็น 0.4%  ของจำนวนที่ผลิตได้ทั้งหมด) นับว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับจำนวนที่ผลิตได้ เพราะว่าประชาชนใช้ไหมที่มีคุณภาพดี ส่วนที่ส่งออกจะมีคุณภาพต่ำกว่า ไหมที่มีคุณภาพดี ราคา 700-800 บาท / หาบ ไหมที่คุณภาพต่ำราคา    150-200 บาท/หาบ ส่วนไหมที่เลวที่สุดนี้ราคาเพียง 100 บาท/หาบ โดยเฉลี่ยเส้นไหมที่ส่งออกมีราคา      172 บาท/หาบ คือราคาเป็นครึ่งหนึ่งถึงหนึ่งส่วนสามของไหมญี่ปุ่น

            เกษตรกรผู้เลี้ยงไหมในมณฑลโคราชมีทั้งหมด 3,000 ครอบครัว ผลิตเส้นไหมได้ 2,000 หาบ การเลี้ยงแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 25 วัน ซึ่งตลอดปีสามารถเลี้ยงไหม 8 ครั้งแต่ทางปฏิบัติควรเลี้ยงสูงสุดเพียง 4 ครั้ง/ปี เท่านั้น

            ไหมจะเลี้ยงในกระด้งไม้ไผ่กลมๆ ไหมวัยอ่อนจะให้ใบหม่อน 8 ครั้ง/วัน  ไหมวัยแก่ 5-6 ครั้ง/วัน รังไหมมีลักษณะหัวแหลมท้ายป้าน รังสีเหลือง รังไหม 1 กิโลกรัม จะสาวเป็นเส้นไหมดิบได้ 40-50 กรัม คิดเป็นเปอร์เซ็นต์เส้นใย (Row Silk Ratio) ได้ 4.5 % และมีคุณภาพด้อยกว่าไหมที่สาวจากรังแฝด (Doupion Silk) ของญี่ปุ่นและมีลักษณะคล้ายกับเส้นไหมที่สาวจากเส้นใยชั้นนอกของญี่ปุ่น (Japanese No-Shi-Ito)

             ผลงานที่ดร. คาเมทาโร่  โทยาม่า ดำเนินการคือ

                        1) ค้นพบหม่อนพันธุ์ดี

                        ดร.โทยาม่า นำพันธุ์หม่อนญี่ปุ่นจำนวน 60 พันธุ์ อย่างละ 10 ท่อน มาปลูกที่สถานีทดลองที่ศาลาแดง กรุงเทพฯ รวมกับหม่อนพันธุ์โคราชอีกหลายพันธุ์ หลังจากการศึกษารายละเอียดต่างๆ แล้วพบว่าหม่อนพันธุ์ญี่ปุ่นทั้งหมดด้อยกว่าหม่อนของโคราช ได้แก่ หม่อนแก้วและหม่อนน้อย ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ดีที่สุด

                        2) ปรับปรุงไหมพันธุ์ดีขึ้นมา 1 พันธุ์

                        ไหมพันธุ์พื้นเมืองของไทยเป็นไหมระหว่างไหมป่าและไหมบ้าน ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์เส้นใยเพียง 4-5 % เท่านั้น ดร.โทยาม่าจึงได้สร้างพันธุ์ไหมใหม่ขึ้นมา ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ได้จากการผสมข้ามระหว่างพันธุ์ญี่ปุ่น (J) กับพันธุ์ไทย(S) ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์เส้นใยเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าของพันธุ์พื้นเมือง และผลผลิตรังสดเพิ่มขึ้นมากกว่า 30 %

                        3) ปรับปรุงวิธีการเลี้ยง

                        นำวิธีการเลี้ยงของญี่ปุ่นมาดัดแปลงจนสามารถเพิ่มผลผลิตได้มากกว่า 30% เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการเลี้ยงแบบเดิม มากไปกว่านั้น คุณภาพเส้นไหมดิบจากรังที่ผ่านกระบวนการผลิตเส้นไหมแบบญี่ปุ่น จะยาวกว่าไหมไทยตามปกติ ทำให้ราคาสูงขึ้นเป็น 3 เท่า

                        4) ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เทคนิค

                        เขาฝึกอบรมเด็กชาย 10 คน ผู้หญิง 10 คน ที่ได้รับการคัดเลือกจากรัฐบาลและนักเรียนของโรงเรียนช่างไหม ศาลาแดงอีก 15 คน

                        ที่โคราช ผู้เชี่ยวชาญ 5 คน กับผู้ช่วยอีก 2 คน ได้สาธิตวิธีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและการสาวไหมในขณะเดียวกันก็ได้ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่อีกหลายคน

                        ที่บุรีรัมย์ ผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นทำการสอนวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและการสาวไหมแก่เกษตรกร

ความคิดเห็นของดร.โทยาม่าเกี่ยวกับการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของประเทศไทยในอนาคต

            การเลี้ยงไหมของประเทศไทยจะกระทำโดยคนอิสาน ถึงแม้เขาจะไม่ผ่านการฝึกอบรมมาก่อน แต่จะเรียกร้องค่าแรงสูง ประมาณ 15-20 บาท/เดือน สำหรับผู้หญิง ส่วนผู้ชายประมาณ 20-30 บาท/เดือน แต่ผู้ชาย 1 คน สามารถผลิตเส้นไหมได้เป็นมูลค่า 11-18 บาท/เดือน ขณะที่ค่าแรงเฉลี่ย 22-27 บาท กล่าวคือ ผลผลิตไม่พอจ่ายเป็นค่าแรง

                        เพื่อที่จะให้การเลี้ยงไหมคงอยู่คู่ประเทศไทยอย่างมั่นคง

                        1. ต้องสร้างพันธุ์ไหมใหม่ๆขึ้นมาเป็นอันดับแรก

                        2. คัดเลือกคนงานที่มีประสิทธิภาพและค่าแรงต่ำ

            การปรับปรุงวิธีการผลิตไหม ตั้งแต่การปลูกหม่อน การเลี้ยงไหม การสาวไหม และการทอผ้าไหม อย่างสม่ำเสมอ อย่างจริงจัง อย่างใหญ่หลวง ในอนาคตนั้น จะทำให้ประเทศไทยประสบผลสำเร็จ ซึ่งขึ้นอยู่กับความอุตสาหพยายามของรัฐบาลไทย ซึ่งอาจะยังหวังผลไม่ได้ในอนาคตอันใกล้นี้ก็ตาม

           วงการไหมญี่ปุ่นเป็นหนี้บุญคุณของ ดร. โทยาม่า เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะด้านพันธุศาสตร์และการปรับปรุงพันธุ์ไหมให้ได้เส้นใยที่ดีมีคุณภาพและผลผลิตสูง ในขณะที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย ความจริงข้อนี้เป็นตัวอย่างของประโยชน์ที่ได้รับจากความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่นในด้านวิทยาศาสตร์และด้านเทคโนโลยี

 

บรรณานุกรม 

 

อิชิอิ  โยเนะโอะ และโยชิกาวะ โทชิฮารุ.2542. ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น 600 ปี. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิมพ์ครั้งที่ 2.233 หน้า

 

Tadao Yokoyama.1935. Genetic.Vol.20.

ที่มา : COLOURWAY ปีที่ 17 ฉบับที่ 98 มกราคม-กุมภาพันธ์ 2555 เขียนโดย วิโรจน์  แก้วเรือง




 

หมายเลขบันทึก: 560309เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2014 08:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มกราคม 2014 08:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท